แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

'คอลัมนิสต์' คิดอะไร ? (12พ.ย.55)

ที่มา Voice TV

 'คอลัมนิสต์' คิดอะไร ? (12พ.ย.55)


'คอลัมนิสต์' คิดอะไร ? ประจำวันจันทร์ ที่ 12 พฤศจิกายน 2555
 
 
คอลัมน์ 'ซูม'เหะหะพาที :  หน้าผาอะไรเอ่ย? โอบามากลัวที่สุด! (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
 
 
ผมรู้จักคำว่า "หน้าผา" มาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตอนมาเรียนหนังสือที่ปากน้ำโพ เพราะก่อนถึงปากน้ำโพเล็กน้อย มีตลาดเล็กๆแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ตลาดหน้าผา"
          ตลาดหน้าผาปากน้ำโพดังมา 40-50 ปีแล้ว เพราะมีร้านทอดมันปลากราย (ชาวบ้านเรียกปลาเห็ด) อยู่ร้านหนึ่งเป็นที่รู้จักของนักกินทั่วประเทศที่เดินทางผ่านจังหวัดนี้
          พอผมโตขึ้นมาเป็นหนุ่ม ผมก็เริ่มรู้จักหน้าผาอื่นๆมากขึ้น โดยเฉพาะหน้าผาสวยๆที่คนไทยเรียกย่อๆว่า "ผา" เช่น ผาเงิบ ที่เชียงใหม่ ผาแต้ม ที่ อุบลราชธานี และ ผานกเค้า ที่ภูกระดึง ฯลฯ
          นึกไม่ถึงว่าพออายุ 70 กว่าๆ ผมจะต้องมารู้จักกับหน้าผาแห่งใหม่ ที่ดูเหมือนจะดังที่สุดในโลกขณะนี้
          เท่าที่อ่านจากข่าว หน้าผานี้ไม่น่าจะมีอะไรสวยงามเหมือนผาเงิบ, ผาแต้มหรือผานกเค้า มีแต่ความน่ากลัว มีแต่ความสยองขวัญ เพราะทำให้หุ้นสหรัฐตกระเนนระนาดเมื่อ 2-3 วันก่อน
          หน้าผาแห่งนี้เรียกกันว่า Fiscal Cliff หรือ "หน้าผาการคลัง" ครับ...บ้างก็เรียกให้เจาะจงมากขึ้นว่า "หน้าผาการคลังสหรัฐอเมริกา" เพราะเป็นหน้าผาที่เกิดขึ้นในระบบการคลังของสหรัฐอเมริกาโดยตรง
          เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้เอง ท่านประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา คุณ เบน เบอร์นานเก เป็นคนแรกที่หยิบยกคำนี้มาใช้ และกลายเป็นถ้อยคำเขย่าโลกมานับตั้งแต่นั้น
          ท่านประธานเบอร์นานเก รายงานต่อคณะกรรมาธิการการคลังของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯว่า "Fiscal Cliff" หรือหน้าผาการคลัง จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2013 ซึ่งจะมีผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของอเมริกา
          มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า "หน้าผาการคลัง" ก็คือภาวการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งจะต้องสูญเสียแรงขับ เคลื่อนลงอย่างฉับพลันทันด่วน อันเป็นผลมาจากมาตรการการคลังชั่วคราวที่ให้กระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง ประกอบกับมาตรการที่จะต้องประหยัดรัดเข็มขัด ก็จะต้องเริ่มขึ้นตามกำหนดเวลารัดเข็มขัดที่วางไว้
          ด้วย 2 แรง หรือ 2 เด้งพร้อมๆกันเช่นนี้แหละ ที่ทำให้เกิดภาวะ "หน้าผาการคลัง" ขึ้น อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆถดถอยลงอย่างแรง เหมือนการร่วงลงจากหน้าผา
          นี่คือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2013 เป็นต้นไป เพราะมาตรการการคลังชั่วคราวหลายประการจะสิ้นสุดลง ควบคู่กับการใช้งบประมาณใหม่ที่ต้องประหยัดรัดเข็มขัดจะเริ่มขึ้น
          ตัวอย่างของมาตรการการคลังชั่วคราวที่จะสิ้นสุดอายุตามกฎหมายก็เช่นมาตรการ ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั่วไปที่ออกไว้ในสมัยประธานาธิบดีบุช, มาตรการปรับลดภาษีเงินได้จากการลงทุนในยุคของประธานาธิบดีบุช, มาตรการลดหย่อนภาษีที่หักจากค่าจ้างเพื่อไปใช้ในสวัสดิการสังคม ฯลฯ เป็นต้น
          มาตรการเหล่านี้จะมีผลทำให้ประชาชนจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะการลดหย่อนจะสิ้นสุดลงดังกล่าว อันจะทำให้เม็ดเงินในมือประชาชนลดลง การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะหมดลง
          ขณะเดียวกัน มาตรการในการประหยัดรัดเข็มขัด เพราะรัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลมาตลอด ถึงวาระที่จะต้องลดการขาดดุลลงบ้าง ก็จะต้องเริ่มขึ้น ส่งผลให้หน่วยราชการจำนวนมากถูกตัดงบประมาณลงไป ซึ่งก็จะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐลดน้อยลง ฯลฯ
          ทั้ง 2 ด้านและ 2 เด้งเช่นนี้เอง ที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯหมดแรง ขับเคลื่อน และเสี่ยงต่อการตกหน้าผา ถ้าประธานาธิบดีโอบามากับรัฐสภาไม่สามารถตกลงกันได้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2013
          เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นตกระเนนระนาด หลังรู้ข่าวว่า ประธานาธิบดีโอบามาได้รับเลือกตั้ง
          ประธานาธิบดีโอบามาก็รู้ตัวและเดินหน้าแก้ปัญหาโดยคุยกับประธานสภาทั้ง 2 สภา และสมาชิกอื่นๆแล้วว่าจะต้องตกลงกันให้ได้
          เพื่อที่จะนำเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ผ่านพ้นจาก "หน้าผาการคลัง" โดยไม่ตกลงลงสู่หุบเหวเศรษฐกิจอย่างที่หลายๆคนหวั่นเกรง
          บอกแล้วไงว่า "หน้าผา" หรือ "ผา" ของประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย ล้วนสวยงามทั้งสิ้น...จะมีก็แต่ "หน้าผาการคลัง" ของสหรัฐฯนี่แหละครับ ที่นอกจากไม่สวยแล้วยังน่ากลัวซะอีก...เฮ้อ!
 
          "ซูม"
 
 
คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย : เค้าลางที่น่าสะพรึงกลัว (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
 
 
          วันนี้เรามี รมว.พลังงาน ชื่อ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
          เป็นนักการเมืองที่เพิ่งหลุดจากบ้านเลขที่ 111 ที่ถูกตัดสิทธิ์ทาง การเมือง
          กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานที่สำคัญ ที่ ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย จะเลือกคัดสรรคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจให้มานั่งอยู่ในตำแหน่งนี้
          จากข่าวเล็กๆในหน้าข่าวเศรษฐกิจ นายพงษ์ศักดิ์ ได้เผยถึง นโยบาย กระทรวงพลังงาน อย่างชัดเจนในเรื่อง การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
          โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมการสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่ต้องการให้ชะลอการส่งเสริมเรื่องนี้ แล้วหันไปส่งเสริมเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลและไบโอแมส หรือพลังงานทดแทนจากมูลสัตว์และขยะมูลฝอย
          หลายปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาล ได้พยายาม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน มีการศึกษาส่งเสริมการใช้ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็น พลังงานบริสุทธิ์ รวมถึง พลังงานจากมูลสัตว์และขยะมูลฝอย ที่ช่วยลดปัญหาในเรื่องของการกำจัดทิ้ง
          ในขณะที่การใช้พลังงานรูปแบบอื่นในการผลิตไฟฟ้า ได้รับการ ต่อต้านจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น พลังงานถ่านหิน หรือ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ รวมถึง โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ทุกชุมชนคัดค้านอย่างหนัก
          พลังงานแสงอาทิตย์ไร้การต่อต้านหรือคัดค้าน
          แสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่นำมาใช้ได้เป็นจริงมากที่สุด โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า
          ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก เป็นผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า บริษัทบางจาก หรือ ปตท. เป็นเอกชนรายใหญ่ที่ทุ่มทุนมหาศาลสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้
          แต่วันนี้ รมต.พงษ์ศักดิ์ กลับมาทุบโต๊ะเปรี้ยงจะชะลอการส่งเสริมใช้พลังงานแสงอาทิตย์
          มันเป็นเรื่องแปลกเหลือเชื่อ!!
          ถ้าไล่เรียงย้อนไปดูก่อนหน้านี้ จะเห็นความเติบโตของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มีเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่สนใจ อยากเข้าครอบครอง หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก้าวโตขึ้นพรวดพราด ราคาหุ้นกระโดดขึ้นแบบคาดไม่ถึง
          และแปลกเหลือเชื่ออีกเหมือนกัน กลุ่มทุน ที่ใกล้ชิดกับ ผู้ทรงอิทธิพลของพรรคเพื่อไทย ขยับตัวเข้ามาลุยตลาดเรื่องนี้ช้า เมื่อตัดสินใจเข้ามาแล้ว กลายเป็นว่า ไลเซนส์ ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถูกแจกให้กับ เอกชนรายอื่นๆนักสิบราย และ ค่าส่วนต่างรับซื้อค่าไฟ หรือ ADDER ก็มีแต่ถูกลง
          เรียกว่าส่วนแบ่งเค้กเรื่องนี้ได้นิดหน่อย
          จึงมีเสียงกระหึ่มในวงการธุรกิจ ว่ามี ปฏิบัติการไล่ทุบ บี้เรียกคืน ไลเซนส์ จากเอกชนที่ไม่สามารถผลิตได้ หรือไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าให้เข้าระบบได้เมื่อครบกำหนดจ่ายไฟฟ้า
          และอีกช่องทางหนึ่ง คือการส่งนอมินีเข้าไปเจรจาเทกโอเวอร์ บริษัทเอกชนที่จ่ายไฟฟ้าได้ตามสัญญา กฟภ.
          เมื่อ 2 ช่องทางปฏิบัติการนี้ยังไม่สัมฤทธิผล จึงเกิดปฏิบัติทุบโต๊ะไม่ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
          ยับยั้งการโตของตลาดพลังงานทดแทนลักษณะนี้
          ทั้งๆที่นโยบายของ นายกฯยิ่งลักษณ์ ที่โฆษณาหาเสียงให้มี 1 โรงไฟฟ้า 1 ตำบล เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนให้กับชาวบ้านในแต่ละชุมชน
          แล้วทำไม รมว.พลังงาน กล้าประกาศท่าทีสวนนโยบายรัฐบาล ที่เข็นออกมา
          มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง
          งานแบบนี้ การกระทำอย่างนี้ มันมีเค้าลางเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
          เป็นกลิ่นอายที่น่าสะพรึงกลัว.
 
          "ลม ตะวันตก"
 
 
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12  :  ล็อกเป้า'ปู'สู้ป.ป.ช. (หนังสือพิมพ์มติชน)
 
 
จำลอง ดอกปิก
          ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นญัตติซักฟอก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีรายบุคคลอีก 3 คน ประกอบด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก
          แม้ผิดจากการคาดหมายเล็กน้อย เมื่อไม่ปรากฏชื่อ บุญทรง เตริยาภิรมย์ ผู้ติดบัญชีลวงช่วงก่อนหน้านี้ว่า เป็นอีกเป้าหมายฟันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ 
          ทว่า 'นายกรัฐมนตรี' ยังถูกล็อกชื่อเป็นเป้าล้มสำคัญ ไม่เปลี่ยนแปลง
          ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ยิ่งลักษณ์ พล.อ.อ.สุกำพล และ พล.ต.ท. ชัจจ์ ถูกยื่นถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย 
          เนื่องจากมีกรณีกล่าวหา มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย เมื่อมีการยื่นถอดถอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 แล้ว ขั้นตอนต่อไป ประธานวุฒิสภาต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ หรือ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามมาตรา 272 
          การที่เรื่องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าไปอยู่ในมือองค์กรอิสระ เข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.นี่แหละ เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงยิ่งของรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย
          รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่แปลงสภาพมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ที่เคยเจ็บปวดจากการตัดสินขององค์กรอิสระมาแล้ว
          เรื่องนี้ไม่น่าวางใจยิ่งกว่าญัตติไม่ไว้วางใจเสียอีก
พรรคประชาธิปัตย์เองก็ดูเหมือนคาดหวังผลจากการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี มากกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 
          ดังเห็นได้จากถ้อยแถลงจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่ว่าไม่หวังผลจากการโหวตเท่าใดนัก เพราะลงมติทีไรก็แพ้ เนื่องจากรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในสภา
ช็อตต่อไประทึก และมีลุ้นยิ่งกว่า
 
          "เรามองความไม่สิ้นสุดแค่เรื่องในสภามากกว่า แต่กระบวนการจะต้องส่งเรื่องต่อไปยัง ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการถอดถอน และหากเป็นความผิดในคดีอาญาก็จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป"
          เรื่องการซักฟอกในสภาแม้ยังไม่ถึงวันเวลาอภิปรายและลงมติ แต่ก็คล้ายกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นไปแล้ว ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้นอีกต่อไป 
          มีเรื่องการถอดถอนนี่แหละที่อาจเป็นอาวุธทรงพลังในการล้มรัฐบาล
          หนึ่งหัวข้อสำคัญ การยื่นถอดถอนยิ่งลักษณ์ ที่ฝ่ายค้านแพลมออกมา คือมีพฤติการณ์กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม จากการไม่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐ จัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามข้อเสนอ ป.ป.ช.
          เรื่องนายกฯไม่สั่งการหน่วยงานของรัฐ ให้ทำตามคำแนะนำ ป.ป.ช.ตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กลับมาอยู่ในมือในการไต่สวนของ ป.ป.ช.อีกครั้ง 
          เรื่องนี้คนทั่วไปอาจมองคล้ายนายกฯและ ป.ป.ช.เป็นคู่กรณี การตัดสินอย่างหนึ่งอย่างใด ป.ป.ช.อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากถูกจับจ้อง มีคำถามใหญ่รออยู่ เหมือนลักษณะการมีส่วนได้-ส่วนเสียโดยตรง แต่นั่นอาจเป็นสายตาคนทั่วไป มิใช่ ป.ป.ช.
          สิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยหวั่นวิตกที่สุดเกิดขึ้นแล้ว เมื่อพูดถึงเพื่อไทยกับองค์กรอิสระ ไม่ว่าหน่วยงานไหน รับประกันซ่อมฟรี ไม่มีหรอกที่จะสอบผ่านง่ายๆ โดยไม่บอบช้ำ!
 
 
คอลัมน์ มุมขวาหน้า 3: ทำได้แล้ว (หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์)
 
 
 ...ณ กาฬ เลาหะวิไลย
          สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำและประกาศออกมาได้แล้วก็คือนโยบายน้ำ โดยเฉพาะด้านการประหยัด
          สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่แสดงให้เห็นชัดว่า แล้งนี้ ลำบากแน่ น้ำจะไม่พอใช้กัน แม่น้ำสำคัญหลายๆ สายแห้งขอดอย่างชัดเจน ขณะที่หลายๆจังหวัด ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง
          หนทางแก้ไขปัญหามีไม่มากนักแล้งที่จะถึง จะต้องเกิดสงครามการใช้น้ำแน่นอน โดยเฉพาะจากภาคการเกษตร
          สาเหตุเนื่องจากราคาข้าวเปลือกแพงขึ้น จากนโยบายการรับจำนำข้าวในราคาสูงถึงเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ชาวนาทำนา
          เดิมทีแม้ราคาข้าวไม่แพงอย่างที่เห็น ชาวนาก็ต้องทำนาปรังอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นรายได้หลัก
          ยิ่งเมื่อราคาข้าวแพงขึ้นแม้ชาวนาจะไม่ได้รับเงินในราคาต่ำกว่าที่รับจำนำ แต่ก็เป็นสิ่งจูงใจให้เร่งปลูกข้าว
          การทำข้าวนาปรัง รอบ 2 รอบ3 จะไปห้ามอย่างไรคงยาก
          และเมื่อชาวนาปลูกข้าวไม่มีน้ำการแย่งชิงน้ำเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
          ปัญหาน้ำ จึงจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการประหยัด นอกเหนือไปจากมาตรการอื่นๆอาทิ การรักษาคูคลอง การเร่งขุดเจาะ หาแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้
          การประหยัดต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้และกระจายไปทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อุตสาหกรรม และน้ำที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ในครัวเรือน
          ความแห้งแล้งจะคงอยู่ต่อไปอย่างน้อยครึ่งปี และต้องรอหน้าฝนปีหน้า ถึงจะมีฝนใหม่ น้ำใหม่เข้ามาใช้กันอีกครั้ง โดยระหว่างนี้จะหวังให้มีฝนคงยาก เนื่องจากความชื้นในอากาศลดต่ำลง
          ที่น่ากังวล หน้าฝนปีหน้า ฝนอาจจะมาก หรือน้อยไม่มีใครบอกได้เพราะเคยเกิดปัญหาแล้งซ้ำซาก ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลมาแล้วให้เห็น
          เริ่มทำ เริ่มประกาศ นโยบายประหยัดกันได้แล้ว
          อย่ารีๆ รอๆ ดูแล้วเหมือนทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง

12 พฤศจิกายน 2555 เวลา 06:08 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น