แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

'คอลัมนิสต์' คิดอะไร ? (9พ.ย.55)

ที่มา Voice TV


'คอลัมนิสต์' คิดอะไร ? ประจำวันศุกร์ ที่ 9 พฤศจิกายน 2555
 
คอลัมน์ 'ซูม'เหะหะพาที : สปิริตการเมือง...เมื่อไรไทยจะเหมือนเขา  (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
 

เป็นอันว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็จบลงอย่างตื่นเต้นสมดังที่สำนักโพลต่างพยากรณ์ไว้ว่า ประธานาธิบดีคนเก่า บารัค โอบามา จะเป็นฝ่ายกำชัยอย่างสูสี
 
ผมขออนุญาตไม่สรุปตัวเลขเอาไว้ในคอลัมน์ไม่ ว่าจะเป็น ป๊อปปูล่าร์โหวต หรือคะแนนเสียงโดยรวมทั่วประเทศ และ "อิเล็กทอรัลโหวต" ซึ่งเป็นคะแนนเสียงชี้ขาด ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี เพราะขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ ตัวเลขยังไม่นิ่ง และยังไม่เป็นทางการใดๆทั้งสิ้น
 
เพียงแต่ยอมรับกันว่า ขาดลอยไปแล้วและผู้ท้าชิง คุณมิตต์ รอมนีย์ ก็ออกมากล่าวยอมรับความพ่ายแพ้ และแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไปเรียบร้อยเช่นกัน
 
รวมทั้งขอให้ผู้ที่สนับสนุนเขาในการหาเสียง หรือประชาชนที่ช่วยลงคะแนนเสียงให้แก่เขา จงหันไปให้ความร่วมมือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่จะบริหารประเทศต่อไปอีก4ปี
 
เนื่องเพราะช่วงเวลาที่จะมาถึงข้างหน้า เป็นช่วงเวลาแห่งการท้าทายของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่ง จึงจำเป็นที่คนอเมริกันทุกหมู่เหล่าจะร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
 
นับเป็นข้อดีของการเมืองอเมริกันสไตล์ ที่ไม่ว่าจะห้ำหั่นพันตูกันอย่างเผ็ดร้อนขนาดไหน แต่เมื่อรู้แพ้รู้ชนะกันแล้ว เขาก็จะเลิกทะเลาะกัน ลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่ด่ากันไว้ในช่วงหาเสียง
 
ก็มีคำถามว่าประเทศไทยเราจะเจอผลกระทบอะไรบ้างไหม จากผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบนี้
 
คงจะตอบได้ว่าสำหรับประเทศไทยของเรานั้น ไม่น่าจะมีอะไรบวกมากหรือลบมาก โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯได้ผู้นำคนเดิมกลับมา นโยบายต่างๆก็คงจะเหมือนเดิม
 
ท่านคงจะมุ่งหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายใน ของท่านต่อไป ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะความหนักหนาสาหัสของปัญหาที่สะสมกันมาตั้งแต่รัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช
 
โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ไร้ธรรมาภิบาลของสหรัฐฯ เอง ที่เข้ามากอบโกย สร้างรอยด่างแก่วงการเงินสหรัฐฯ จนกลายเป็นแผลเรื้อรังที่ยังรักษาไม่หายแม้จนบัดนี้
 
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในสมัยที่แล้ว โชว์ฝีมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไว้พอสมควร แม้จะยังไม่ช่วยให้ฟื้นตัวขึ้นมากนัก แต่ก็ยังดีที่ไม่ถึงกับทรุดลงไปหนักหนาสาหัสจนกู่ไม่กลับ
 
 เชื่อกันว่า ท่านก็คงมาทำตามนโยบายเดิมของท่าน ใช้มาตรการเดิมที่ท่านเคยทำเคยใช้ โดยไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก
เพราะฉะนั้น ผมจึงหวังว่านักเศรษฐกิจไทย นักธุรกิจไทย ที่ได้ติดตามเหตุการณ์ของสหรัฐฯมาเป็นอย่างดี คงจะจับทางได้ถูกต้อง
 
 ในส่วนตัวของผมเองเคยคาดหวังไว้ว่า การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยนั้น น่าจะมีผลกระทบในทางที่ดีต่อระบบการเมืองของประเทศไทยเราบ้าง
 
เพราะมีการนำเสนอข่าวและถ่ายทอดสดทาง โทรทัศน์กันอย่างละเอียดลออ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยและพัฒนาพฤติกรรมทางการ เมืองของนักการเมืองไทยไม่มากก็น้อย
 
 การต่อสู้ในกฎและกติกา การไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ใช้อำนาจรัฐ ไม่ซื้อเสียงและเลิกแล้วต่อกันทันทีเมื่อการแข่งขันยุติ ฯลฯ นับเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเขา
 
แต่ก็ดูเหมือนว่านักการเมืองเราจะไม่ยอม เรียนรู้ หรือรับรู้เอาเสียเลย ทั้งๆที่เราถ่ายทอดสด และเสนอข่าวเลือกตั้งสหรัฐฯกันมา 30-40 ปี แล้วกระมัง
 
ทำให้ผมเลิกคาดหวังมาหลายปีแล้ว รวมทั้งครั้งนี้ด้วยเช่นกันว่า เราก็คงดูเขาสนุกๆ ไปอย่างนั้น พอผ่านไปแล้วเราก็ลืมและการเมืองไทยก็คงจะจมปลักอยู่ในแบบเก่าๆ
 
ของเขาชัดเจนมากว่าหาเสียงจบทุกอย่างจบ ใครแพ้ก็ยอมรับความพ่ายแพ้ รออีก 4 ปีมาแก้ตัวใหม่
ของเราไม่มีใครรับความพ่ายแพ้ มีแต่โทษคนอื่น ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เราแพ้ จึงเกิดความอาฆาตมาดร้ายและทะเลาะกันไม่สิ้นสุด
 
ไม่มีใครจะยอมใครเหมือนอย่างที่คุณมิตต์ รอมนีย์ เขายอมรับว่า เขาแพ้คุณบารัค โอบามา หรอกครับ...การเมืองประเทศนี้
เราจึงเป็นอยู่อย่างนี้และจะเป็นต่อไปอีกนานแสนนาน.
 
          "ซูม"
 
 
คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย : โอบามาชนะแต่วิกฤติกำลังมา  (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
 
 
แล้ว ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่ง พรรคเดโมแครต ก็คว้าชัยการเลือกตั้งเป็น ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้สำเร็จ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 303 ต่อ 206 เหนือ มิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน (ยังไม่นับคะแนนอิเล็กทอรัลโหวต จากรัฐฟลอริดา อีก 29 คะแนน)
 
นับเป็น ตัวแทนพรรคเดโมแครตคนที่ 2 ต่อจาก บิล คลินตัน ในรอบ 20 ปี ที่สามารถคว้าชัยการเลือกตั้งได้ 2 สมัยติดต่อกัน เพราะส่วนมากพรรคเดโมแครตจะได้แค่สมัยเดียว คะแนนป๊อบปูล่าร์ โหวต ของ โอบามา ก็ชนะ รอมนีย์ 50% ต่อ 48% จึงเป็นชัยชนะที่ขาวสะอาดไม่มีข้อกังขาใดๆ
 
ผมเขียนไปตั้งฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่า "โอบามาชนะการเลือกตั้ง" ซึ่งประมวลจากผลสำรวจของ สำนักข่าวบีบีซี ที่ไปสำรวจประชาชนใน 21 ประเทศทั่วโลก ประชาชนทุกประเทศต่างก็เลือกโอบามา มีเพียงประเทศเดียวที่เลือก มิตต์ รอมนีย์ คือ เคนยา ผมเองก็เลือกโอมาบา และคนอเมริกันก็เลือกโอบามา
 
โอบามา แถลงหลังจากที่รู้ผลชนะว่า จะเดินหน้าสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับประเทศสหรัฐอเมริกา จะทำให้สหรัฐฯมีกองทัพที่ดีที่สุดในโลก และจะทำให้กลไกเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
แต่ฝ่ายตรงข้ามมองว่า เมื่อ โอบามา กลับมาสมัยที่ 2 สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ มีการพิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้น ที่แน่ๆ ก็คือ โอบามาจะเก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น แต่สำหรับผู้ลงทุนที่มีรายได้ 2 แสนเหรียญลงมา และสามีภรรยาที่มีรายได้ 2.5 แสนเหรียญลงมาจะไม่มีการขึ้นภาษี คงเสียภาษีในอัตรา 15% เท่าเดิม
 
ภาษีคนรวย ที่จะต้อง จ่ายเพิ่มขึ้นทันที หลังจากมาตรการลดภาษีของ อดีตประธานาธิบดีบุช แห่งพรรครีพับลิกันสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ วันที่ 1 มกราคมปีหน้า ภาษีกำไรการซื้อขายหุ้น ที่ลดเหลือ 15% จะเพิ่มเป็น 20% ภาษีเงินปันผล เงินค่าจ้าง เงินเดือน จะกลับไปเก็บในอัตรา 39.6% เว้นแต่ทำเนียบขาวและรัฐสภาจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดภาษีลงมา นอกจากนี้ยังต้องจ่ายภาษีสุขภาพเพิ่มอีก 3.8%
 
การที่ โอบามา ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯสมัยที่ 2 ก็ทำให้ชาวโลกสบายใจไปเปลาะหนึ่ง สหรัฐฯจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายมากนักใน 4 ปีข้างหน้า แต่ปัญหาใหญ่ที่คนทั่วโลกยังวิตก ก็คือสิ่งที่ เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯเรียกว่า Fiscal Cliff หรือ หน้าผาการคลัง ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้า
 
หาก โอบามา ไม่มีมาตรการจัดการในเรื่องนี้ สิ้นปีนี้มาตรการลดภาษีของรัฐบาลบุชก็จะสิ้นสุดลง ภาษีที่เคยลดมาร่วมสิบปี จะขยับขึ้นไปเก็บในอัตราเดิมทันที ขณะเดียวกัน มาตรการลดการใช้จ่ายภาครัฐโดยอัตโนมัติ เพื่อควบคุมเพดานหนี้สาธารณะ ก็จะมีผลทันทีเช่นกัน ทำให้ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เหลือเงินเพื่อใช้จ่ายน้อยลง รัฐบาลก็มีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลงเพราะต้องลดงบประมาณลง
 
ทั้งหมดที่ผมเล่ามาจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี นี้ ถ้าไม่มีการแก้ไขทันที จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยลงทันที 1-1.3% และจะทำให้การว่างงานในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 9-10% เป็นจำนวน 30 ล้านคนทันที
 
ทุกวันนี้ สหรัฐฯ ได้ชื่อว่า Food Stamp Nation ประเทศแสตมป์อาหารเพราะมีประชาชนกว่า 33 ล้านคนที่ต้องรับคูปองแสตมป์ไปแลกเป็นอาหารทุกวัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายปีละกว่า 50.4 ล้านดอลลาร์ 1.56 ล้านล้านบาท ชนชั้นกลาง ก็อยู่กันลำบากมากขึ้นเพราะมีรายได้ลดลงแต่ภาษีเพิ่มขึ้น จนชนชั้นกลางที่เคยมีอยู่ 61% วันนี้ลดเหลือ 50% คนเป็นพ่อแม่เริ่มรู้สึกว่า อนาคตของลูกหลานจะแย่ยิ่งกว่านี้อีก
 
เมืองไทยวันนี้โชคดีที่สุดแล้ว อาหารการกินก็เหลือเฟือ ค่าครองชีพ ก็ถูกกว่าประเทศอื่น ขอเพียง นักการเมืองมีจิตสำนึกที่ดี อย่าทำร้ายประเทศ อย่าฉุดประเทศให้ตกต่ำ คนไทย ก็จะไม่ลำบากเหมือนประเทศอื่นแน่นอน.
 
          "ลม เปลี่ยนทิศ"
 
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12  : จ.ม.จาก'ละเมียด บุญมาก' (หนังสือพิมพ์มติชน)
 
 
เที่ยงของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นายจีระ บุญมาก นักศึกษาปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เดินถือธงชาติพร้อมผลส้ม เข้าไปหาทหารที่ถือปืนพร้อมลั่นไก ทั้งรถถัง ปืนกล เต็มถนนราชดำเนิน
 
พร้อมกับตะโกนบอก ให้กินส้มก่อน ใจเย็นๆ อย่ายิง เด็กๆ นักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีอาวุธ มาเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น
แล้วเสียงปืนก็ดังขึ้น ร่างที่ถือผลส้มนั้นล้มลง เลือดแดงไหลนอง
 
"ละเมียด บุญมาก" ภรรยาของวีรชนคนนี้ เขียนจดหมายลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 ความว่า
 
"ดิฉัน นางละเมียด บุญมาก ภรรยาคุณจีระ บุญมาก ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโท NIDA และได้เสียชีวิตด้วยการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการเริ่มแรกของการจุดประกายประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยถูกปกครองแบบเผด็จการ โดยทหารมาโดยตลอด คุณจีระ บุญมาก เป็นคนหนึ่งในจำนวน 71 คนที่เสียชีวิต และอนาคตกำลังจะไปด้วยดี แต่ต้องมาตายด้วยคำว่า 'ประชาธิปไตย' ซึ่งมิได้ห่วงใยคนข้างหลัง ที่มีทั้งพ่อ พี่น้อง ลูกยังเล็ก และภรรยาที่คอยการสำเร็จการศึกษา ซึ่งขณะนั้นคนจะจบปริญญาโทแสนยาก
 
"แต่ทำอย่างไรได้คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย แต่ตายแล้วทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ก็ต้องน้อมรับ ซึ่งครอบครัวต้องกล้ำกลืนหน้าชื่นอกตรม กับคำที่คนหยิบยื่นให้คุณจีระ บุญมาก ว่าเป็น 'วีรชน' ทั้งๆ ที่ครอบครัวเราไม่อยากได้เลยกับคำชื่นชม อยากให้เขามีชีวิตดีกว่า
 
"ดังนั้น ก็ต้องยอมรับ ทุกคนยอมรับ แต่กลับมีบุคคลกลุ่มหนึ่งกลับไม่อยากเห็นประชาธิปไตย กลับเรียกร้องหาคำว่า 'ปฏิวัติ' ทั้งๆ ที่เป็นคนบ้านเดียวกับคุณจีระ บุญมาก ซึ่งเป็นคนสิงห์บุรี ถิ่นวีรชนคนกล้า ซึ่งคนคนนั้นบอกว่าเกิดที่สิงห์บุรี ดิฉันเองก็เป็นคนสิงห์บุรี คิดว่าไม่น่าเชื่อเลย อะไรไปสิง 'เสธ.อ้าย' หรือท่าน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่คิด จะให้ทหารออกมาปฏิวัติ ไม่น่าเชื่อว่าท่านเกิดมาในถิ่นวีรชนคนกล้า อย่างน้อยๆ ท่านน่าจะนึกถึงคนที่เขาเสียชีวิต เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่าเขามิได้รับจ้าง หรือได้ผลตอบแทนอะไร เขาออกไปด้วยจิตวิญญาณ ของผู้ต้องการสิทธิเสรีภาพ
 
"ดิฉันเห็นด้วยกับ คุณสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน ที่เขียนคอลัมน์ 'สถานีคิดเลขที่ 12 ในหัวข้อ กบฏ 26 มีนา จะปฏิวัติอีก' ดิฉันเองก็เกษียณจากการเป็นพยาบาลมาแล้วอายุก็ปาเข้าไป 68 ปี แต่ยังต้องทำงานเป็นพยาบาลลูกจ้างที่ NIDA เพราะท่านอธิการบดี และผู้บริหารของ NIDA โดยเฉพาะท่าน ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี ให้ความเมตตา ซึ่งทาง NIDA เห็นความสำคัญของคุณจีระ บุญมาก ซึ่งบุคคลที่ทำประโยชน์ ทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นมา ทุกๆ คนเห็นความสำคัญของการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ทำไม ท่าน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ถึงโหยหาให้เกิดการ ปฏิวัติ
 
"ดิฉันแปลกใจจริงๆ ว่าตอนนี้โลกเขาวิ่งไปไกลแล้ว แต่ทำไมประเทศไทยของเราจึงอยากจะถอยหลังเข้าคลอง อีก
"ขอให้ช่วยเรียนท่าน พล.อ.บุญเลิศ ด้วยว่าอย่าคิดแบบนั้น และคุณจีระ บุญมาก จะเสียใจมากถ้าวิญญาณเขามีจริง ได้โปรดหยุดคิดหยุดทำเถอะ ขอร้อง"
 
 
 
คอลัมน์: มุมขวาหน้า 3: ชี้ชะตา 3จี (หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์)
 
 
 
การประมูลใบอนุญาต 3จี เข้าสู่ช่วงสำคัญและอาจเรียกได้ว่าเป็นการชี้ชะตาก็ว่าได้
 
เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเห็นชอบเสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย
 
ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการ โดยหากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยอย่างไร ก็จะสิ้นสุดในกระบวนการกฎหมายปกครองที่มีอยู่
 
ประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอมี 2 ข้อเท่านั้น
ประเด็นแรก-ใครเป็นผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาต 3จี
สาเหตุเพราะการออกใบอนุญาตของการประมูล ครั้งที่ผ่านมากระทำโดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ไม่ใช่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
 
ประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยก็คือการออกใบอนุญาตดังกล่าว ขัด หรือแย้งกับกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับหรือไม่
ฉบับแรกคือรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 47 วรรคสอง ที่บัญญัติไว้ว่า หน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่เป็นของ กสทช. ส่วนฉบับที่ 2 คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ในมาตรา 41 วรรค 1 ที่อธิบายเป็นภาษาง่ายๆ ว่าการออกใบอนุญาตต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่างๆ ตามพระราชบัญญัตินี้
 
นี่ คือประเด็นแรก
ประเด็นที่ 2 การประมูล 3จี ที่ผ่านมามีปัญหา ไม่ชอบมาพากล เช่น เงื่อนไขที่ออกมาทำให้เกิดการฮั้ว ฯลฯ หรือไม่
กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม อีกเช่นกัน ในมาตรา 41 วรรค 7
 
มาตราดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขการประมูลหลักๆ 6 ด้าน คือ 1.ต้องคำนึงถึงการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความ คุ้มค่า 2.การป้องกันการผูกขาด 3.การส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม 4.การให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ 5.ภาระของผู้บริโภค และ 6.การคุ้มครองสิทธิของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการระดับภูมิภาคและระดับ ท้องถิ่น
 
ถ้าศาลปกครอง ยกคำร้อง ทุกอย่างก็เดินหน้า
แต่หากตรงกันข้าม ไม่เพียงแต่ใบอนุญาต 3จี ต้องหยุดลง แต่ว่าผู้เกี่ยวข้องได้นอนหนาวกันเป็นแถว
นี่แหละ คือการพิสูจน์ของเครือข่าย 3จี ที่ทุกคนอยากให้เกิด แต่ต้องเกิดอย่างโปร่งใส เป็นธรรม กับทุกฝ่าย
เรื่องนี้ จึงต้องติดตามด้วยความระทึก
 

9 พฤศจิกายน 2555 เวลา 06:10 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น