แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สัญญาณ “สงครามครั้งสุดท้าย”

ที่มา Voice TV


ใบตองแห้ง Baitonghaeng

ใบตองแห้ง Baitonghaeng

VoiceTV Staff

Bio

คอลัมนิสต์อิสระ


รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงควบคุมม็อบองค์การพิทักษ์สยาม ซึ่งสื่อคงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ตื่นตูม” ส่วนตัวผมเชื่อว่าม็อบวันที่ 24 น่าจะไม่เกิดความรุนแรง แต่ก็ไว้วางใจไม่ได้ 100% ต้องคิดเผื่อโอกาส 5-10% ที่อาจมีผู้จุดชนวนขึ้น

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การ “ตีปี๊บ” ของรัฐบาลที่ผ่านมา “เว่อร์” ไปหรือไม่ ผมมองว่ามีทั้งส่วนที่บลัฟฟ์ ตีกัน และเว่อร์ เพราะการก่อเหตุรุนแรงทั้งจากม็อบหรือจาก “มือที่สาม” (ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คนของมือที่สองนี่แหละ) มึความเป็นไปได้จริง การตีปี๊บตีหม้อดินเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่มากไปจนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยช่วยสร้างสถานการณ์ให้ฝ่ายตรงข้าม

ข้อสำคัญที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยควรหลีกเลี่ยงคือ การ “ให้ร้าย” ผู้ชุมนุม เช่นที่ด่าเป็นม็อบรับจ้าง ถึงวันนี้เราต้องยอมรับกันว่า มวลชนผู้อกหักค้างคาจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรและสลิ่มมีจริง พวกคนกรุงคนชั้นกลางผู้ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้จากคะแนนเสียงของ “ไพร่” ถ้ารวบรวมกันได้จริงๆ นับทุกหัวในประเทศไทย มีถึงล้านก็ไม่น่าแปลกใจ

สิ่งที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์คือความคิดในกะโหลกกะลาของพวกเขาต่างหาก ที่ต้องชี้ให้สาธารณชนเห็นว่าคนส่วนน้อยนิดหยิบมือ กำลังจะเอาตัวเองเป็นใหญ่ ใช้การชุมนุมมาข่มขู่คุกคาม เปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ

เช่นกันในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือการ “ยั่วยุ” อารมณ์โกรธแค้นของคนเหล่านี้ (ซึ่งก็คลั่งอยู่แล้ว ไม่รู้จะให้ปรี๊ดแตกไปถึงไหน) พร้อมกับต้องแสดงท่าทีหนักแน่น ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจชัดเจนว่า รัฐบาลจะไม่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อปราบม็อบ ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐบาล ออเหลิม และตำรวจ กระเหี้ยนกระหือรือที่จะใช้กำลัง แต่ควรชี้ชัดว่า เมื่อม็อบมีวัตถุประสงค์จะล้มระบอบเลือกตั้ง วิธีการเดียวที่จะบรรลุผลก็คือต้องทำให้เกิดความรุนแรง เลือดตกยางออก แม้ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมอาจไม่คิดเช่นนั้นทั้งหมด แต่ก็มีคนที่พร้อมจะก่อเหตุ รัฐบาลจึงต้องป้องกันไว้ก่อน

แต่การป้องกันนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายเผด็จการซึ่งรัฐบาลนี้ควรยกเลิก เนื่องจากมันวางรากให้ กอ.รมน.เป็นรัฐบาลที่สอง แล้วเอาเข้าจริง ผลในทางปฏิบัติ ก็ทำอะไรม็อบไม่ได้หรอก ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในการควบคุมม็อบ มีแต่ผลเสียทางการเมืองที่จะตามมา

สรุปว่ารัฐบาลก็ทำได้ 5.5 ตามเคยละครับ เตือนแล้วว่าอย่าให้ออเหลิมบัญชาการ ออเหลิมมีด้านที่ทั้งยั่วยุความเกลียดชัง เชิญแขก ทั้งเว่อร์ ทั้งก่อให้เกิดความไม่วางใจ เพราะภาพลักษณ์ออเหลิมเป็นคนกร้าวไม่ใช่สุขุมนุ่มลึก ออเหลิมถนัดฝ่ายบู๊ ไม่ใช่ฝ่ายตั้งรับ ออเหลิมเก่งเรื่องตีฝีปากปิงปอง ไม่ถนัดเรื่องการโน้มน้าวจูงใจสาธารณชน

อย่างที่สมศักดิ์ เจียมฯ บอกว่าปล่อยให้ตบมือข้างเดียวไม่ดังนั่นแหละ ออเหลิมไปตบด้วย จนสร้างความตึงเครียด เข้าทางเขา รัฐบาลควรเตรียมพร้อม ระมัดระวัง ป้องกัน และออกคำเตือนที่หนักแน่น เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่สร้างความรู้สึกว่าเกิด “กลียุค” เสียเอง

“เขา” เอาแน่

ส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อ 90%ว่าม็อบเสธอ้ายจะมาแล้วกลับ อย่างเก่งก็ยืดเยื้อถึงวันอาทิตย์ เพราะถูกปิดล้อมทั้งประเด็นการเมืองและการเคลื่อนไหว จนกระดิกอะไรได้ยาก ประเด็นแช่แข็งประเทศไทยถูกอำจนเละไปแล้ว ฉะนั้นพวกเขาอาจจะมาแล้วกลับ แล้วก็โจมตีรัฐบาลเสียเลยว่า เห็นไหม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรามาชุมนุมโดยสงบ สันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ รัฐบาลตื่นตูมไปเองและให้ร้ายม็อบ

แต่กลับแล้วใช่ว่าจะมาใหม่ไม่ได้ ครั้งนี้ไม่เกิด ใช่ว่าครั้งหน้าจะไม่เกิด พวกนี้ไม่ใช่ม็อบเสื้อแดงที่ยกทัพมาได้แค่ช่วงหน้าแล้งเหมือนพม่าตีกรุงศรี พวกนี้คือคนกรุง มนุษย์เงินเดือน ที่สะสมวันลาวันพักร้อนไว้แล้ว เนื่องจากตั้งแต่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ดำเนินชีวิตอย่างไรก็ไม่มีความสุข มันทุรนทุรายไปหมด

ไม่ต้องเป็นหน่วยข่าวกรอง เราก็เห็น “สัญญาณ” ที่ฝ่ายอำมาตย์ต้องการแตกหัก ทำ “สงครามครั้งสุดท้าย” ล้มรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด

ม็อบไม่ใช่แค่นำโดยเสธอ้าย ‘สงค์ สุ่น แต่ยังขนขุนทหารวัยใกล้ฝั่งมาคับคั่ง เมื่อทักษิณทัก ว่าเห็น พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี เจ้าตัวก็อ้ารับหน้าตาเฉย อ้างว่าไม่เกี่ยวกับป๋า เพราะพ้นตำแหน่งแล้ว

คนเป็นอดีตหัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี ไม่รู้หรือครับว่าการไปร่วมม็อบแช่แข็ง ควรหรือไม่ควร และจะส่งผลกระทบถึงนายเก่าหรือไม่ เพราะถึงพ้นตำแหน่งแล้ว ก็มีความผูกพันมายาวนาน

ท่านรู้แก่ใจ ว่าการไปร่วมเป็นสัญลักษณ์ให้คนคิดว่า พล.อ.เปรมสนับสนุนม็อบ ท่านก็ยังไป และพล.อ.เปรมก็ไม่ห้าม

หมาดๆ นี่เอง ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องให้ระงับการเคลื่อนไหวของเสธอ้าย ตามมาตรา 68 หน้าตาเฉย ทั้งที่พูดชัดเจนว่า จะไม่ให้มีการเลือกตั้งอย่างน้อย 5 ปี ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าไม่ให้เลือกตั้ง คุณก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ นี่ไม่ใช่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยได้ไงครับ

เป็นคำวินิจฉัยที่ตะแบงสุดๆ ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา อยู่เหนืออำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยังตะแบงตีความให้เข้ามาตรา 68 มาแล้ว

แต่พอเสธอ้ายพูดว่าจะไม่ให้มีการเลือกตั้ง ศาลอ้างว่าฟังคำให้การแล้ว คือไม่เอานักการเมืองเลวเท่านั้น

นี่คือศาลที่เชื่อคำให้การของจำเลยอย่างเดียว ไม่ดูพยานหลักฐาน ไม่ดูคำให้สัมภาษณ์ของเสธอ้าย ไม่ดูเทปคำปราศรัยในการชุมนุมครั้งที่แล้ว ฯลฯ สุดยอดเลยครับ ถ้าฟังความข้างจำเลยแบบนี้ กี่คดีก็หลุดหมด

หันไปดูปฏิกิริยาในหน้าสื่อบ้าง พวกสื่อปฏิกิริยาโหมกระหน่ำ ปลุกมวลชนกันโดยไม่ต้องปิดบัง ตั้งแต่คอลัมนิสต์ คอลัมน์หน่อย ไปจนหมอดู ช่วยกันปั้นกระแส พวกพันธมิตรก็แก้ผ้าอ้าซ่า เหลือแต่แกนนำ 10 กว่าคนเท่านั้นที่จะไม่มา แม้แต่พรรคการเมืองใหม่ สมศักดิ์ โกศัยสุข ไม่เผาผีกับพันธมิตร งานนี้ยังไหลมารวมกัน

แล้วดูสถานการณ์ที่ตึงเครียด จนวันนี้ มี “ผู้หลักผู้ใหญ่” ที่ไหนออกมาห้ามไหม ไม่เห็นหัวแม้แต่ราษฎรอาวุโส

มันชัดเจนว่าฝ่ายอำมาตย์ ต้องการ “แตกหัก” ทั้งที่เงื่อนไขต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย รัฐบาลยังไม่มีปัญหาใหญ่ๆ ในการบริหารงาน นอกจากนโยบายจำนำข้าวที่ตีปี๊บกันเรื่องเดียว กระแสรักสงบอยู่ข้างรัฐบาล แม้แต่คนที่ไม่ชอบรัฐบาล ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารหรือการโค่นล้มรัฐบาลนอกวิถีทางอีก

แต่ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ไม่มีเวลาเหลือแล้ว ระบอบของพวกเขากำลังจะหมดอายุ ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป รัฐบาลเพื่อไทยจะครองอำนาจอีกอย่างน้อย 7 ปี และพวกเขาจะสูญเสียทุกอย่าง จึงต้องปฏิบัติการ “แช่แข็งฝืนธรรมชาติ”

ผมประหลาดใจอยู่ เพราะปกติเชื่อว่า “อำมาตย์” นั้นฉลาดเฉลียว กลับมาเดินเกมตื้นๆ อย่างนี้ได้อย่างไร ต่อให้ทำสำเร็จ ยึดอำนาจได้ ก็ใช่ว่าจะปกครองได้ ทุกฝ่ายรู้อยู่เต็มอก แต่เพราะความจนตรอก พวกเขาจึงต้อง “ทำสงครามครั้งสุดท้าย” (ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นคำพูดของฝ่ายแดง แต่ฝ่ายที่จนตรอกเข้าจริงๆ กลับเป็นอำมาตย์และพวกขวาคลั่ง)

แม้แต่สิ่งที่พวกเขายึดถือยึดเหนี่ยว ก็ใช่ว่าทำอย่างนี้แล้วจะปกป้องไว้ได้ เพราะประการแรก ทุกสิ่งต้องเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ ประการสอง พลังประชาธิปไตยก็ใช่ว่าจะต้องการล้มล้างทำลายใคร แค่ต้องการให้เกิดสมดุลแห่งอำนาจ ปรับบทบาทให้เหมาะสม

และประการที่สาม ยิ่งทำอย่างนี้ยิ่งพัง เหมือนที่ อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เขียนไว้นั่นแหละ เขาอาจได้รัฐบาลและอำนาจบริหารกลับคืนไป แต่ก็เพื่อที่จะ “สูญเสียทุกสิ่งที่อย่างที่เขามี” ในที่สุด

อย่างไรก็ดี สุนัขจนตรอกประมาทไม่ได้ อำมาตย์จนตรอกยิ่งดุร้าย จึงเป็นสัญญาณว่า “สงครามครั้งสุดท้าย” ที่เราคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นแล้วนั้น กลับจะดุเดือดรุนแรง อาจถึงขั้นแลกชีวิต เพราะในภววิสัยที่ไม่เอื้อ แม้แต่ขุนทหารส่วนใหญ่ก็อยากลอยตัว ไม่มีใครอยากเอาเผือกเผามาลวกมืออีก พวกเขาจะล้มรัฐบาล ล้มระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ ก็ต้องใช้ความรุนแรงจุดชนวนให้ทหารออกมา

ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็แสดงความอำมหิตของอำมาตย์ ที่สังคมยกย่องเป็น “คนดี” แต่พร้อมจะเอาชีวิตมวลชนของตนเข้าแลก

ผมจึงบอกว่ามีโอกาส 90% ที่ม็อบจะมาแล้วกลับ เพราะอีก 10% ที่เหลือคือพวกเขาเห็นช่องทางไหนก็จะใช้ทางนั้น เนื่องจากพวกเขาต้องเร่ง ไม่มีเวลาเหลือแล้ว

ถ้าม็อบกลับก็อาจเป็นแค่การชิมลาง ดูว่ามีพลังมากน้อยแค่ไหน จะส่งผลสะเทือนอะไร หลังจากนั้นก็อาจให้เสธอ้ายประกาศวางมือ กลับไปทำม้ามวย แต่ใครก็เป็นหุ่นเชิดแทนได้ ดีเสียอีก จะไม่ติดกับ “แช่แข็ง” ตามวาทกรรมเสธอ้าย

ให้ประชาธิปไตยเป็นของคนส่วนใหญ่

ที่จริงรัฐบาลมีโอกาสดี ดังกล่าวแล้วว่าเป็นโอกาสที่จะโดดเดี่ยวพวกสุดขั้วสุดโต่ง ช่วงชิงมวลชน ทำลายล้างแนวคิดปฏิวัติรัฐประหารให้หมดไป อยู่ที่รัฐบาลใช้โอกาสนี้เป็นหรือไม่

ม็อบองค์การพิทักษ์สยามอาจมาแล้วกลับ กลับแล้วมา แต่พวกเขาก็ชักเข้าชักออกไม่ได้ตลอดหรอก 2-3 ครั้ง มวลชนก็ท้อ สังคมก็เบื่อหน่าย (อย่าให้พาลเบื่อหน่ายรัฐบาลไปด้วยล่ะ)

การ “ล้อมปราบ” กระแสสุดโต่ง ต้องใช้วิถีทางการเมือง ให้คนส่วนใหญ่ในสังคมแอนตี้ ต่อต้านพวกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (ก็บอกแล้วว่าต้องตีความคิด ไม่ใช่ว่าม็อบรับจ้าง) ทำให้ท้ายที่สุดพวกสลิ่มหยิบมือเดียวไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไป แม้แต่กลับไปดำรงชีวิตในสังคมตามปกติก็ไม่ได้ เพราะความคิดเตลิดเปิดเปิงไปไกลแล้ว อาจต้องไปบวชชีพราหมณ์ หรือหายเข้าป่าไปตั้งสำนักเถร (ฮา)

การช่วงชิงมวลชนไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้คนเกือบทั้งประเทศ หันมานิยมชมชอบรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่หมายความว่า ให้คนส่วนใหญ่ยอมรับวิถีประชาธิปไตยปกติ ซึ่งแปลว่าจะต้องมีทั้งคนชอบและไม่ชอบรัฐบาล

ทำอย่างไรจะให้เกิดพลังของคนที่ไม่ชอบรัฐบาล แต่ไม่เอาการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่เอาการล้มล้างกันด้วยตุลาการภิวัตน์ มีเวทีที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ติติง หรือแม้กระทั่งใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญชุมนุมคัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลใน แต่ละประเด็น โดยไม่มี Agenda อย่างที่ผ่านมา ซึ่งอะไรๆ ก็จ้องจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ปปช.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ให้ถอดถอน ยุบพรรค

คนไม่ชอบรัฐบาลมีสิทธิชุมนุมไล่รัฐบาลนะครับ แต่ต้องไล่ให้ยุบสภา ลาออก ไม่ใช่ไล่แล้วบอกว่าไม่เอาการเลือกตั้ง

ผมคิดเหมือน อ.เกษียร เตชะพีระ ที่กล่าวว่า

“ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร เช่น ไม่เห็นด้วยกับจำนำข้าว ก็ไปอิงใช้ช่องทางเวทีพวกเขา, ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหวยออนไลน์หรือร่างกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องมี วาระลงเลือกตั้ง ก็ไปร่วมกับพวกเขา คือจะรัฐประหารเพื่อเป็นเครื่องมือทางนโยบายแบบนี้ก็คงยุ่งตายห่าแหละครับ สำหรับเสถียรภาพของชีวิตผู้คนในสังคม”

ปัญหาคือเราจะยกระดับประชาธิปไตยอย่างไร ให้เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มีบทบาท มีส่วนแบ่งอำนาจ มีช่องทางเสนอนโยบาย เพื่อไม่ต้องไปร่วมกับพวกคลุ้มคลั่งสุดขั้วสุดโต่ง (แล้วปล่อยให้พวกนั้นไปสู่ที่ชอบ-ฮา)

อ.เกษียรชี้ไปที่กระบวนการนโยบายสาธารณะ ที่ถูกผูกขาดโดยนักการเมือง ผมอยากเสริมอย่างที่เคยพูดในงานของสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยว่า โครงสร้างระบบบริหารราชการแผ่นดินของเรา เป็นระบบที่ใครชนะเลือกตั้งก็กินรวบหมด การกระจายอำนาจ การถ่วงดุลอำนาจ ยังอ่อนแอ ผู้แพ้มีสิทธิเกือบเป็นศูนย์ ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้นเพราะในประเทศนี้ก็มีคนเลือกประชาธิปัตย์ 11 ล้านคน

ประเด็นเหล่านี้ต้องถกกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมมติเช่น การกระจายอำนาจ ก็จะเป็นทางออกให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะแพ้เลือกตั้งอีก 20 ปี (ฮา) ให้พวกเขากลายเป็นพรรคท้องถิ่น เหมือนที่พูดเล่นกันว่าแยกภาคใต้ให้ไปปกครอง แต่จะวางรูปแบบอย่างไรให้ อบจ.อบต.เทศบาล มีอำนาจมากขึ้น ลดอำนาจผู้ว่าฯ ลดอำนาจส่วนกลาง โดยมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลผู้บริหารท้องถิ่นเช่นกัน

นั่นควรจะเป็นเข็มมุ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือล้างอำนาจอำมาตย์ ลดอำนาจรัฐ (แม้จะเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้งก็เถอะ) กระจายอำนาจให้ประชาชน

ที่จริงผมก็คิดคล้ายหมอประเวศอยู่ส่วนหนึ่ง หมอประเวศเคยชู “ประชาธิปไตยทางตรง” แต่ไปๆ มาๆ แกไม่เอาแล้ว แกจะยึดอำนาจรัฐเสียมากกว่า

นั่นคือเป้าหมายในระยะต่อไป ซึ่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะมองเห็นหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ระยะเฉพาะหน้า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ แยกพวกคลุ้มคลั่งออกจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ซึ่งคนประเภทหลังมีมากกว่าเยอะ ใช้ทฤษฎีประธานเหมา สหายเอ๋ย ที่ไหนๆ ก็มีคน 3 ประเภท ก้าวหน้า เป็นกลาง ล้าหลัง โดดเดี่ยวพวกล้าหลังออกไป ดึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแต่ยังยอมรับวิถีประชาธิปไตย ให้มาเป็นแนวร่วมเพื่อสร้างสรรค์

เฉพาะหน้าเราอาจยังมองไม่เห็น เพราะส่วนใหญ่คนเหล่านี้เป็นกึ่งๆ พลังเงียบ แต่รัฐบาลสามารถแสดงออกได้ด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง ยินดีรับคำวิจารณ์ แก้ไขปัญหาที่ถูกท้วงติง รับผิดชอบต่อความผิดพลาด อย่าเล่นการเมืองแบบประชาธิปัตย์ อะไรที่เราทำถูกหมด อะไรที่ฝ่ายตรงข้ามทำผิดหมด

แล้วก็อย่าผลักคน ใครชอบรัฐบาลมาทางนี้ ใครไม่เอารัฐบาลไปทางโน้น เพราะความเป็นจริงมันมีความหลากหลาย มีคนแต่ละประเภทแยกย่อยกันไป

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    23 พ.ย.55
............................



23 พฤศจิกายน 2555 เวลา 15:33 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น