แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

"นีโอลิเบอรัล (มั้ย) ศาสตร์": จากวงเสวนาที่ Book Re:public

ที่มา ประชาไท


รายงานจากวงเสวนาที่เชียงใหม่ อภิปรายโดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ถกกันตั้งแต่เรื่องรากฐานของเสรีนิยมสู่เสรีนิยมใหม่ No Logo จนถึงการทวงคืนพื้นที่สาธารณะ
วันที่ 1 ธ.ค.55 เวลา 17.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “นีโอลิเบอรัล (มั้ย) ศาสตร์” โดยมีวิทยากร คือ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการอิสระ, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เกริ่นนำว่าการเสวนาในวันนี้เกิดจากคำถามที่หลายคนยังคงถามกันว่าลัทธิเสรี นิยมใหม่ (Neo-Liberalism) คืออะไร และหลังจากที่มีการแปลหนังสือสามเล่ม คือ No Logo เขียนโดย นาโอมิ ไคลน์ (Naomi Klein), ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) และขบวนการในความเคลื่อนไหว: อีกโลกหนึ่งจะเป็นจริงได้หรือไม่? บรรณาธิการโดย ทอม เมอร์ติส (Tom Mertes) ซึ่งทั้งสามเล่มได้ชี้ให้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์ที่มา รากฐานทางปรัชญาการเมือง รากฐานทางเศรษฐศาสตร์ และผลกระทบของเสรีนิยมใหม่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งกระแสต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่

รากฐานของลัทธิเสรีนิยมใหม่
ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าวว่ากลุ่มคนที่สนใจประเด็นเสรีนิยมใหม่นี้มากที่สุดคือกลุ่มพันธมิตรฯ หรือเสื้อเหลือง พัฒนาการของพันธมิตรฯ ที่ต่อต้านทักษิณในตอนต้นๆ ในแง่หนึ่งก็เกิดมาจากการต่อต้านเรื่องตลาดเสรีนี่แหละ แม้ตอนหลังจะพัฒนาไปเป็นอะไรที่เละเทะก็เป็นอีกประเด็น แต่ตอนนั้นไม่ได้เรียกว่าเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ แต่พูดถึงตลาดเสรี การต่อต้าน FTA หรือ NGOs ที่ไปเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากการที่พวกเขาหวาดกลัวตลาดเสรี มองว่าทักษิณเป็นตัวแทนของแนวคิดเรื่องนี้
ในต่างประเทศ สนใจเรื่อง “เสรีนิยมใหม่” กันมานาน แต่คำนี้ก็ไม่ได้แพร่หลายกันทั่วไป ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้แพร่หลายในสหรัฐ แต่ใช้มากในกลุ่มประเทศละตินอเมริกัน มีการใช้สลับกันระหว่างเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยม คำนี้ถือเป็นคำต้องห้ามในอเมริกัน นักกิจกรรมในอเมริกามีการห้ามพูดคำนี้เวลารณรงค์ เพราะสื่อไม่ชอบคำนี้ คำนี้เกิดขึ้นมาโดยมีความหมายเชิงลบมาตั้งแต่ต้น กลุ่มนักคิดที่สนับสนุนลัทธิเสรีนิยมใหม่จะไม่ใช้คำว่าเสรีนิยมใหม่ กลุ่มคนที่ใช้จะเป็นกลุ่มที่ต่อต้านมาตั้งแต่ต้น
แนวคิดเสรีนิยมใหม่ พัฒนามาจากลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ผูกกับเรื่องการค้าเสรี แนวคิดปัจเจกบุคคลนิยม แนวโน้มของการเชื่อในกลไกตลาด และการไม่ไว้ใจรัฐ การที่มีคำว่า “ใหม่” (Neo) ก็แสดงว่ามีช่วงหนึ่งที่แนวคิดเสรีนิยมหมดอำนาจไป เสรีนิยมใหม่รวมเอาแนวคิดของเสรีนิยมมา และเพิ่มในเรื่องแนวคิดเศรษฐศาสตร์ในเรื่องการเงินนิยม (Monetarism) ความเชื่อว่าตลาดจะกำกับดูแลตัวเอง และพัฒนามาเป็นฉันทามติวอชิงตัน
ในแนวคิดนี้ มองว่าสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ ทำให้โลกนี้ดีขึ้น คือการขยายตลาดและกลไกตลาด ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ทุกอย่างเป็นสินค้า ทุกอย่างควรจะขายได้ การค้าทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น จึงควรเพิ่มรอบธุรกรรมให้เร็วที่สุด สิ่งที่ดีคือมีธุรกรรมเกิดขึ้นในตลาด มีการซื้อขาย โดยไม่จำเป็นต้องมีการผลิตก็ได้ และรอบควรสั้นลง ครึ่งชีวิตของสินค้าควรจะสั้นลง เช่น สินค้าไอที ซึ่งล้าสมัยอย่างรวดเร็ว
เสรีนิยมใหม่เชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์ควรจะให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด สังคมที่ดีให้ตลาดเป็นตัวกำหนด ให้ตลาดกำกับดูแลกลไกทางสังคม เช่น ตัวอย่างว่าประเทศที่ดีก็ควรเหมือนบริษัท นายกฯ เป็นซีอีโอ แต่ละพื้นที่หน่วยการปกครองก็เป็นหน่วยการผลิต ข้ออุปมาแบบนี้ก็มาจากแนวคิดแบบนี้
และสิ่งที่เสรีนิยมใหม่มีมากกว่าเสรีนิยมสมัยก่อน คือการเชื่อว่าทุกอย่างควรแปรรูป พื้นที่บางอย่างที่เมื่อก่อนเสรีนิยมไม่เคยจะก้าวเข้าไป เช่น วัฒนธรรม การศึกษา สุขภาพ พันธุกรรม ภูเขา ทะเล พอถึงเสรีนิยมเชื่อว่าทุกอย่างนี้ควรจะแปรรูปให้อยู่ในตลาดทั้งหมด
ประวัติศาสตร์ที่มาของเสรีนิยมใหม่
ภัควดี กล่าวต่อว่า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจในตะวันตกจะใช้นโยบายของ John Maynard Keynes หรือลัทธิเคนส์เซี่ยน (Keynesian) ที่ใช้นโยบายรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาค เป้าหมายอยู่ที่การจ้างงานเต็มอัตรา มีการให้รัฐเข้าไปแทรกแซงมาก ช่วงนั้นมีคำพูดว่าเราทุกคนคือเคนส์เซี่ยน ช่วงนั้นทำให้เหมือนกับลัทธิเสรีนิยมถูกผลักไปอยู่ชายขอบ
พอหลังจากนั้นเสรีนิยมกลับขึ้นมา จึงมีคำว่า “ใหม่” ขึ้นมา สิ่งที่เสรีนิยมใหม่ต่อสู้มากที่สุดในการช่วงชิงความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์ ทางเศรษฐศาสตร์คือการต่อสู้กับลัทธิเคนส์เซี่ยน โดยต้องการให้รัฐลดบทบาททางเศรษฐกิจลงไป เพราะเชื่อว่ารัฐเข้าไปบิดเบือนกลไกตลาด
ช่วงนั้นมีหลายกรณีที่ทำให้ลัทธิเคนส์เซี่ยนมีปัญหา เกิดวิกฤติการณ์ของการสะสมทุนขึ้นมา และช่วงนั้น สหภาพแรงงานจะมีบทบาทอิทธิพลเยอะในยุโรป มีอำนาจต่อรองกับทุนอย่างมาก ทุนยังมีการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism) คือเอาแรงงานมารวมกันเยอะๆ สร้างโรงงานใหญ่ๆ ทำให้เกิดสหภาพแรงงานได้มาก
สำหรับเคนส์เซี่ยน มองว่ากระจายรายได้จะเกิดจากกาการแทรกแซงโดยรัฐและสถาบันต่างๆ เช่น สหภาพแรงงาน ปัจจัยตัวกำหนดการจ้างงานมวลรวมมันอยู่ที่อุปสงค์มวลรวม โดยให้รัฐเป็นตัวเข้าไปสร้างขึ้น เช่น เวลาเศรษฐกิจฟุบ รัฐควรเข้าไปแทรกแซงและสร้างโปรเจกต์ทางเศรษฐกิจใหญ่ๆ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน
แต่เสรีนิยมใหม่มองว่าแรงงานกับทุนควรจะได้รับค่าตอบแทนตามความคุ้มค่า ตามอุปทานอุปสงค์ รัฐไม่ควรแทรกแซงเพราะกลไกตลาดจะปรับตัวได้เอง ไม่ควรมีสถาบันคุ้มครองทางด้านแรงงานหรือสังคม มองว่าสถาบันพวกนี้ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะตลาดไม่ได้เดินตามกลไกของมัน ก็เป็นสองแนวทางที่ต่อสู้กัน พร้อมกับการขยายตัวของสังคมนิยมในช่วงนั้นด้วย
สุดท้ายโลกตะวันตกก็เลือกมาทางเสรีนิยมใหม่ เกิดขึ้นในช่วงที่มีประธานาธิบดีสามคนได้รับการเลือกตั้งเข้ามา คือ โรนัลด์ แรแกน ของอเมริกา, มาร์กาเรต แทตเชอร์ ของอังกฤษ และเติ้ง เสียว ผิง ของจีน ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สามคนนี้ดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่
ภัควดีเสนอว่าปัญหาของเสรีนิยมใหม่ คือจะมีช่องว่างเยอะระหว่างสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำ ทฤษฎีบอกอย่างหนึ่ง แต่เวลาทำจะมีความไม่คงเส้นคงวาสูงมาก เช่น แม้จะพูดว่าให้รัฐหดตัวลง ไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลอเมริกันยังคงอุดหนุนภาคเกษตรอย่างมหาศาล หรือนโยบายเสรีนิยมใหม่ในประเทศมหาอำนาจใช้แบบหนึ่ง แต่พอเอาไปใช้ในประเทศโลกที่สามใช้อีกแบบหนึ่ง บางทีก็ใช้อย่างเข้มงวดมากกว่าประเทศตัวเอง
สำหรับแนวคิดในหนังสือของฮาร์วี มองว่าเสรีนิยมใหม่คือความเปลี่ยนแปลงของระบบการสะสมทุน โดยแบบเดิมหรือแบบฟอร์ดใช้การสะสมทุนแบบขูดรีดจากแรงงานส่วนเกินเป็นหลัก แต่การสะสมทุนแบบเสรีนิยมใหม่ใช้แบบปล้นชิง หรือบางทีใช้คำว่าสะสมทุนแบบยืดหยุ่น แตกการผลิตให้เป็นส่วนย่อย ใช้การขูดรีดมูลค่าส่วนเกินหลายๆ แบบ เช่น เข้าไปดึงทรัพยากรในประเทศอื่น ทำสัญญาระยะสั้น หรือใช้การขยายตัวของภาคการเงิน
ฮาร์วีมองว่านี่คือการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นขึ้นมา แต่ชนชั้นในความหมายของเสรีนิยมใหม่ต่างไปจากเดิม เมื่อก่อนชนชั้นนายทุนเป็นผู้กุมปัจจัยการผลิต แต่ปัจจุบันชนชั้นที่กุมความมั่นคงของโลกมันขยายมากขึ้น นอกจากพวกที่ขูดรีดปัจจัยการผลิต ยังมีกลุ่มผู้บริหารหรือซีอีโอ ซึ่งไม่ใช่เจ้าของหรือกุมปัจจัยการผลิต แต่ได้รับรายได้สูงมาก เกิดกลุ่มคนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจมาก เช่น เจ้าพ่อมาเฟียในรัสเซีย เจ้าพ่อค้ายาในอเมริกาใต้ นักการเงินหรือเฮดจ์ฟันด์ ในละตินก็มองว่านักการเมืองเป็นชนชั้นเหมือนกัน
ในส่วนชนชั้นล่าง ชนชั้นกรรมาชีพก็เปลี่ยนไป แรงงานจำนวนกลายเป็นแรงงานนอกระบบ กลายเป็นแรงงานที่ยืนสองขาในหลายภาคการผลิตไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดการจัดตั้งขบวนการแรงงานได้ยากขึ้น แต่ก็เกิดขบวนการสังคมแบบใหม่ขึ้นมา เป็นปฏิกิริยาต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยตรง
พื้นที่กับเวลาที่เปลี่ยนไปในโลกเสรีนิยม
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กล่าวว่าในช่วงแนวคิดแบบเคนส์เซี่ยนหรือยุคฟอร์ด (ค.ศ.1930-70) วางอยู่บนที่คนส่วนใหญ่ในสังคมนิยามว่าตนเองเป็นผู้ใช้แรงงาน การต่อสู้ของคนงานในโรงงานได้สถาปนากติกาอันหนึ่งในแง่ของเวลาในการทำงาน ที่เรียกว่าระบบ 8-8-8 ที่กำหนดให้ 8 ชั่วโมงเป็นเวลาทำงานในโรงงาน อีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาการพักผ่อน-ศึกษาหาความรู้ และ 8 ชั่วโมงเป็นการนอน ทั้งหมดนี้เกิดจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกร เพราะก่อนหน้าที่ระบบทุนนิยมจะพัฒนามา กรรมกรอาจต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงหรือ 16 ชั่วโมง แต่กรรมการต่อสู้จนกระทั่งวันของการทำงานจำกัดที่ 8 ชั้วโมง ถ้าทำเกิน นายทุนก็ต้องจ่ายโอทีให้
ในแง่พื้นที่ เวลาแต่ละช่วงกำหนดให้ใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละพื้นที่ โดย 8 ชั่วโมงอาศัยอยู่ในโรงงาน 8 ชั่วโมงในการนอน และอีก 8 ชั่วโมงในการเที่ยวพักผ่อน ในแง่นี้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เราใช้เวลา เราใช้ชีวิตในโรงงานอุตสาหกรรม เท่ากับว่าได้เจอกลุ่มคนเดียวกันทุกวัน คือกลุ่มเพื่อนร่วมงาน แรงงานเหมือนกัน อีกกลุ่มคือนายทุนหรือคนคุมงาน ที่ทำหน้าที่กดขี่ควบคุมเอาเปรียบแรงงาน การที่เวลา 8 ชั่วโมงทุกๆ วันในโรงงานทำให้การรับรู้ตัวตนว่าตัวเองเป็นชนชั้นกรรมกรมันเข้มข้นมาก จิตสำนึกในแง่เวลาและสถานที่นี้เอง มันเปลี่ยนให้ตัวเรารู้สึกว่าเป็นชนชั้นกรรมกร นำไปสู่การรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน สู้กับนายทุน เพราะเห็นชัดเจนว่าใครเป็นคนเอาเปรียบ ใครเป็นคนจ่ายค่าแรง
แต่การเกิดขึ้นของเสรีนิยมใหม่ คือการทำลายจิตสำนึกของชนชั้นกรรมกร สิ่งที่ทุนจะต้องทำคือการจัดการหรือทำลายจิตสำนึกของคน เสรีนิยมคือการพยายามจัดการกับตัวตนของมนุษย์ในโลกทางเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง โดยการทำลายจิตสำนึกที่รู้สึกว่าเราเป็นกรรมกร (Worker) เปลี่ยนตัวเองให้คนรู้สึกว่าเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) โดยผู้ประกอบการจะคิดว่าตนเองต้องแข่งขันในระบอบตลาด ถ้าคุณล้มเหลวก็จะไม่โทษนายทุน เพราะคุณก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาด การล้มเหลวนั่นคือความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล
อีกทั้ง เสรีนิยมพยายามเปลี่ยนเรื่องเวลาและสถานที่ที่เรามีชีวิตอยู่ เปลี่ยนให้เวลาและสถานที่ในการทำงานยืดหยุ่น รูปแบบการจ้างงานไม่ต้องอยู่ในโรงงานเป็นหลัก เสรีนิยมใหม่เข้าไปจัดการเรื่องเวลา ที่แยกระหว่างเวลาการทำงานกับเวลาในชีวิตมันยืดหยุ่นมากขึ้น เวลาไหนอาจเป็นเวลาทำงานก็ได้ ฉะนั้นเวลาที่รู้สึกอึดอัดกับระบบนี้ คุณก็จะไม่ต่อสู้กับใคร เพราะคิดว่าเป็นผู้ประกอบการ ลัทธิเสรีนิยมใหม่คือความพยายามที่จะจัดการกับ space หรือ time เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกกับตัวตนของเราให้ไปกันได้กับระบบตลาด
ความคิดเรื่องส่วนตัว-ส่วนรวมในเสรีนิยมใหม่ 
เก่งกิจเสนอต่อว่าหัวใจของลัทธิเสรีนิยมคือการยกสิ่งที่เรียกว่า “ส่วนตัว” (private) ขึ้นมา เราเชื่อกันว่าสิ่งที่เป็น “สาธารณะ” (public) คือสิ่งที่ถูกควบคุมโดยรัฐหรือกติกาของสังคม ส่วนสิ่งที่เป็น private คือคุณจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครแทรกแซงได้  ในโลกทุนนิยมก็คือทำให้พื้นที่ส่วนตัวขึ้นมามีอำนาจทางสังคมอย่างมหาศาล การเกิดระบบทุนนิยมวางอยู่บนการมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ความคิดเรื่อง private จึงเป็นผลผลิตมาจากการเกิดและขยายตัวของระบบทุนนิยม
รากฐานของ private ก็คือแนวคิดแบบเสรีนิยม ที่อ้างว่าทุกคนสามารถเป็นเจ้าของและสะสมทรัพย์สินได้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่การขยายตัวของความคิดแบบเสรีนิยม อาศัยบทบาทของรัฐอย่างมาก ในการเปลี่ยนสิ่งที่เป็นส่วนรวมให้เป็นส่วนตัว เอาสิ่งที่เป็น “ส่วนรวม” (common) คือไม่มีใครอ้างความเป็นเจ้าของได้ มาเป็นส่วนตัวของนายทุนหรือเจ้าที่ดิน แล้วไล่ชาวนาออกจากที่ดิน พร้อมเปลี่ยนให้เป็นกรรมกร
“รากฐานของระบบทุนนิยมคือการที่รัฐให้การสนับสนุนฝ่ายที่เป็น private เพื่อแย่งชิงสิ่งที่เป็น common การเกิดระบบทุนนิยมจึงคือการชนะของสิ่งที่เป็น private เสรีนิยมใหม่จึงอ้างเรื่องการแปลงทรัพย์สินส่วนรวมให้เป็นทรัพย์สินเอกชน (privatization) ซึ่งเป็นหัวใจของการสะสมทุนมาตลอดเวลา”
เสรีนิยมวางอยู่บนฐานว่าความเชื่อว่าสิ่งที่เป็น private เป็นสิ่งสำคัญและต้องปกป้อง ขณะที่ความคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์วางอยู่บนความเชื่อว่าสิ่งที่เป็น common เป็นสิ่งสำคัญที่สุดและต้องปกป้อง การขยายตัวของขบวนการแรงงานและพรรคคอมมิวนิสต์ในปลายศตวรรษ 19 ซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติรัสเซีย คือความพยายามที่ฝ่ายชนชั้นแรงงานพยายามทวงคืนสิ่งที่เป็นส่วนรวมจากนายทุน ที่อ้างว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นส่วนตัว
ทฤษฎีของเคนส์พยายามปกป้องและแก้ปัญหาของระบบทุนนิยม โดยคิดว่าถ้าไม่ให้รัฐ หรือ public เข้าไปปกป้อง common จาก private สุดท้ายแล้วชนชั้นกรรมกรจะประท้วง-ปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมกันหมด ทฤษฎีของเคนส์บอกว่ารัฐต้องเข้ามาอ้างว่าอะไรเป็น public บ้าง ไม่ปล่อยให้กลไกตลาดหรือ private เป็นคนอ้างความเป็นเจ้าของอย่างเดียว รัฐเข้าไปแทรกแซงบางกิจการที่เอกชนไม่สามารถจะทำได้ เช่น กิจการสาธารณสุข การศึกษา ขนส่งมวลชน เป็นต้น ลัทธิเคนส์เซี่ยนจึงเป็นการผลักดันให้สิ่งที่เป็น public ขึ้นมาคานอำนาจระหว่างสิ่งที่เป็น private และ common ให้รัฐเข้ามาคานอำนาจสองส่วนนี้
ส่วนลัทธิเสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 เพื่อแก้ปัญหาของระบบทุนนิยม และกลายมาเป็นคำตอบในการจัดการชนชั้นกรรมกร ซึ่งเติบโตมากภายใต้ลัทธิเคนส์เซียน เสรีนิยมใหม่เสนอให้เปลี่ยนสิ่งที่เป็น public และสิ่งที่เป็น common คือเปลี่ยนสวัสดิการของรัฐ วัตถุสิ่งของหรือความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นส่วนรวม ให้กลายเป็น private เพื่อตัวเองจะหากำไรต่อไป
นายทุนเห็นว่าทรัพย์สมบัติบางอย่างที่เป็นของส่วนรวมจะเป็นพื้นที่ที่ทำ มาหากินได้มากที่สุด เช่น การเสนอให้เก็บเงินจากการใช้น้ำในแม่น้ำ จากเดิมน้ำเป็นทรัพย์สินส่วนรวม ความคิดเสรีนิยมเปลี่ยนน้ำให้เป็นส่วนตัว ถ้ามีปัญญาจ่าย จึงจะใช้น้ำได้  แต่การเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้เป็น private ไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ แต่อาศัยอำนาจรัฐในการผลักดันนโยบายเหล่านี้ โดยเฉพาะในละตินอเมริกัน ล้วนใช้กำลังทหารเพื่อผลักดันลัทธิเสรีนิยม
ขบวนการต่อต้านเสรีนิยมใหม่
เก่งกิจ กล่าวว่ายังมีข้อถกเถียงว่าเมื่อเป็นลัทธิเสรีนิยมใหม่ ชนชั้นกรรมกรถูกทำลายไปจริงไหม เพราะคนไม่ได้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม คนไม่ได้รวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ในความเป็นจริง เราพบว่าการต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่เติบโตขึ้นมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คำถามคือทำไมจึงเกิดการต่อสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ และผู้ที่ต่อสู้เป็นใคร
โดยสรุปคือมีความพยายามที่จะถ่วงคืนพื้นที่ที่เป็นสมบัติส่วนรวม จากปัจเจกบุคคลที่เป็นนายทุน และพื้นที่ของรัฐ ขบวนการต่อต้านเสรีนิยมเริ่มตระหนักว่ารัฐกับทุนเป็นพวกเดียวกัน เราเปลี่ยนสมบัติส่วนรวมให้เป็นของรัฐ เพื่อที่รัฐจะไปเปลี่ยนมันอีกที ให้เป็นของเอกชน ขบวนการต่อต้านเสรีนิยมคือการทวงคืนสิ่งที่เป็น common จาก private และ public กระแสต่อต้านจึงพยายามจะสร้างพื้นที่ที่เป็น common ขึ้นมา เช่น การอ้างว่าแม่น้ำก็เป็นสมบัติส่วนรวม จะมีใครมาอ้างว่าเป็นเจ้าของแม่น้ำได้อย่างไร
แล้วใครที่เป็นคนคัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในงานหลายๆ ชิ้น เรียกคนที่ทวงคืนสิ่งที่เป็น common ว่า multitude (มหาชน) ซึ่งไม่ใช่ชนชั้นกรรมกรแบบเดิม และไม่ใช่ชนชั้นกลาง ในงานของ Michael Hardt และ Antonio Negri อธิบายว่า multitude คือพลังที่จะท้าทายลัทธิเสรีนิยมใหม่ และทวงคืนความมั่นคั่งให้เป็นสมบัติส่วนรวมของมนุษย์
Multitude คือคนสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือแรงงานที่ทำการผลิตความรู้ สัญญะ ความรู้สึก หรือระบบคุณค่าต่างๆ ที่สร้างมูลค่าให้ระบบทุนนิยมมหาศาล กับคนอีกกลุ่มคือ The Poor คือคนจนทั้งหลาย คนจนเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากของลัทธิเสรีนิยมใหม่ คนกลุ่มนี้คือพลังที่สำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนทุนนิยมให้ดำเนินต่อไปได้
“เวลาเราเข้าห้องน้ำในห้างพารากอน เราจะไม่เคยเห็นว่าทำไมห้องน้ำมันสะอาดตลอดเวลา เราจะมองไม่เห็นคน แต่เห็นเฉพาะโถส้วม และกระดาษทิชชู่ที่มันเติมอยู่ตลอดเวลา คนที่ขับเคลื่อนให้ห้างพารากอนมันสะอาด และทำให้มันทำงานอยู่ได้ คือคนที่เป็นคนระดับล่างของสังคม แต่คือคนที่ทำงานแม่บ้าน เมสเซสเจอร์ที่ขับเคลื่อนขนส่งเอกสาร สามล้อ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง คนพวกนี้ทำให้เมืองในระบบทุนนิยมที่ก้าวหน้าที่สุด มันทำงานได้”
เก่งกิจสรุปว่าคนกลุ่มนี้ที่ถูกกีดกันออก คือคนที่พยายามจะท้าทายระบบทุนนิยมหรือลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่ตลอดเวลา
No Logo: เสรีนิยมใหม่กับการสร้างแบรนด์ และความลักลั่น
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กล่าวว่าในหนังสือ 3 เล่มนี้  No Logo (1999/2543) มาก่อนเพื่อน A Movement of Movements (2004/2547) A Brief History of Neoliberalism (2005/2548) และหนังสือ No Logo เป็นที่นิยมมาก อาจพูดได้ว่ามากกว่าสองเล่มหลัง มีลงในวิกิพีเดีย และวง Radio Head ได้นำเอาหนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจถึงสองอัลบั้ม
ภายในเสรีนิยมใหม่ โดยตัวมันเองก็มีปัญหาและความลักลั่น แม้แต่คำว่า “นีโอลิเบอรัล” คนที่ถูกเรียกก็ปฏิเสธ เพราะถือว่าเป็นคำด่า ขณะที่แม้แต่ผู้ที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่เองก็มีความกระอักกระอ่วน เพราะในขณะที่ต่อต้านเขา แต่ก็ใช้สิ่งที่ตัวเองด่ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ และที่กระอักกระอ่วนที่สุดก็คงไม่พ้นสังคมไทย สังคมไทยมีปัญหาหลายอย่าง เรายังอยู่ในสังคมที่ทุนนิยมแบบยุโรปก่อนสมัยใหม่ อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจศาสนาที่ยังมีบทบาทในการสะสมทุน
ความลักลั่นอีกแบบหนึ่ง คือในสังคมไทยยังมองไม่เห็นและไม่ให้คุณค่ากับเสียงของคนอีกจำนวนมากในที่ สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา แรงงาน สหภาพแรงงาน กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกแยกกับสังคมไทย การเรียกร้องต่างๆ ก็เป็นปัญหา ไม่เพียงเท่านั้น “สหภาพแรงงาน” หรือ “ภาคประชาชน” “เอ็นจีโอ” ในประเทศนี้ส่วนใหญ่ก็มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กับการชูป้ายต้านทุนนิยมสามานย์ ในแบบที่ขบวนการเคลื่อนไหวนอกประเทศดำเนินการอยู่ได้อย่างแนบเนียน
ภิญญพันธุ์อธิบายว่า No Logo นาโอมิเขียนขึ้นเมื่อปี 1999/2542 หนังสือไม่ได้มีคุณค่าในเชิงตัวงานเพียงอย่างเดียว แต่มีความป๊อปในตัวของมันเองด้วย เป็นแบรนด์ในตัวของมันเอง ซึ่งกลายเป็นความลักลั่นที่ เมื่อ No Logo กลายเป็นโลโก้เสียเอง และคนจัดจำหน่ายก็เป็นบรรษัทข้ามชาติที่นาโอมิด่าไว้ในหนังสือ
หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 4 ภาค นั่นคือ No Space, No Choice, No Job และ No Logo แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับตลาดทุนนิยมเสรีที่เอื้อให้กับตลาดการเงิน และบรรษัทข้ามชาติ อันมีผลต่อการจ้างงาน แรงงาน เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น ที่ถูกกรอบของเสรีนิยมใหม่ตีวงแคบให้หมดทางสู้มากขึ้นเรื่อยๆ จนระเบิดออกมาสู่การต่อต้านในหลายมาตรการ
ในส่วนแรก ไม่มีที่ว่าง/No Space นาโอมิอธิบายว่าประวัติศาสตร์ของยี่ห้อเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของทุน นิยมโดยแท้ การขยายตัวของโรงงานที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์จำนวนมหาศาลซึ่งมีความคล้ายคลึง กัน ได้ทำให้บริษัทเริ่มติดโลโก้ให้กับสินค้าที่ผลิตปริมาณมากเพื่อบอกว่าสินค้า ของตัวเองคืออะไรและใครผลิต
ในทศวรรษ 1920/2460 พบว่าเริ่มสร้างแบรนด์เชิงอุปลักษณ์ หรือสร้างความหมายให้กับแบรนด์มากขึ้น เช่น รถยนต์ยี่ห้อ GM สร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าว่ามีความเป็นส่วนตัว อบอุ่น และมีความเป็นมนุษย์อีก 20 ปีต่อมา ทศวรรษ 1940/2480 โฆษณาและแบรนด์มีความสำคัญขนาดที่ว่ามีการยกยอให้นักโฆษณากลายเป็น “ราชานักปราชญ์แห่งวัฒนธรรมการค้า”  โลโก้และแบรนด์เริ่มมีความสำคัญในปลายทศวรรษ 1970/2510 โลกแฟชั่นปฏิวัติการแต่งกายแบบฟู่ฟ่าไร้เหตุผล เกิดความนิยมเครื่องแต่งกายคนรวยตามสโมสรคันทรีคลับ เมื่อก่อนโลโก้จะแอบติดอยู่ในเสื้อ แต่ในระยะหลังเริ่มจะเอาโลโก้ออกมาโชว์มากขึ้น  ต่อมาทศวรรษ 1980/2520 ก็มีแบรนด์อื่นๆ มาสมทบ ว่ากันว่าโลโก้กลายเป็นความสำคัญเหนือกว่าเสื้อผ้า และทศวรรษนี้ก็ถือเป็นยุคทองของแบรนด์และโลโก้
ความคิดว่า “ต้องแบรนด์ไม่ใช่ตัวสินค้า”หมายความว่าเมื่อก่อนบรรษัทให้ความสำคัญกับ ผลิตภัณฑ์แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็น โรงงานที่ผลิตสินค้าไม่จำเป็นต้องบอกแรงงานว่ากำลังผลิตสินค้ายี่ห้ออะไร ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบแรงงาน อย่างกรณี มาร์ลโบโร่ฟรายเดย์ 2 เมษายน 1993/2537 การหั่นราคาของมาร์โบโร่ เป็นตัวอย่างที่ดีของการลดค่าแบรนด์ของตน ความคิดแบบนี้สะท้อนไปยังระบบการผลิต การเอาเปรียบแรงงานในต่างประเทศ ฯลฯ
กลางทศวรรษ 1990/2530 พบว่า แบรนด์ไม่ได้ติดที่สินค้าอย่างเดียวแต่ติดไปที่ “ยี่ห้อวัฒนธรรมภายนอก” ด้วย ได้แก่ การปรากฏโลโก้โฆษณา ในงานแสดงดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์ กิจกรรมชุมชนนิตยสาร กีฬาและโรงเรียน เช่น เวลาเรานึกถึงงานแจ๊ส จะคิดถีงไฮเนเก้น เป็นต้น สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ภายใต้รัฐบาลเรแกนและแทตเชอร์พบว่ารัฐรายได้น้อยลง จึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ และสื่อกระจายเสียง และเป็นหนทางที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ไปจับมือกับบรรษัทเอกชน
สอง ไม่ที่ทางเลือก/No Choice นาโอมิมองบริบทตะวันตกว่า ร้านค้าใหญ่อย่าง วอลล์มาร์ท แม็คโดนัลด์หรือสตาร์บั๊ค จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจชุมชนอย่าง ร้านกาแฟ ร้านหนังสืออิสระ ร้านขายวีดิทัศน์ งานศิลปะ กระทั่งร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง นาโอมิอธิบายว่า พื้นที่ธุรกิจชุมชนเชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งสามารถเป็นพื้นที่ทางการเมือง เพื่อเปิดพื้นที่ทางเลือกที่ไร้ยี่ห้อ เปิดการถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงออกที่ไม่ถูกเซ็นเซอร์ได้ แต่พื้นที่นี้กลับถูกคุกคามจนพ่ายแพ้ ด้วยคดีหมิ่นประมาทและกฎหมายเครื่องหมายการค้า
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการควบรวมและผนึกกำลัง การสร้างโลกอุดมคติในธุรกิจ นาโอมิพูดถึง ดิสนีย์, บาร์บี้, เอ็มทีวี ที่ควบรวมกิจการกันไปมา สมรภูมิการตลาดที่เกิดขึ้นจึงเป็นสงครามระหว่างกลุ่มธุรกิจติดยี่ห้อที่มัก ขีดเส้นแดนของตนใหม่ ไม่ได้ทำเฉพาะธุรกิจที่ตนถนัดแต่ขยายขนาดใหญ่โตออกไป
อีกเรื่องหนึ่ง คือ บรรษัทต่างๆ ทำการเซ็นเซอร์ มีการกล่าวว่า “พื้นที่ของบรรษัทเหมือนรัฐเผด็จการฟาสซิสต์ที่เราต้องทำความเคารพโลโก้และ มีโอกาสน้อยมากที่จะวิพากษ์วิจารณ์” ในทางกลับกันเราอาจมองประเด็นนี้กลับไปที่สังคมไทยได้ แต่อาจเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัวกันกับที่นาโอมิอธิบาย การเซ็นเซอร์ในตะวันตกเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุผลทางธุรกิจ ดังที่มีคดีฟ้องร้องวงอะควา จาก บริษัทบาร์บี้ เรื่องละเมิดเครื่องหมายการค้า และเป็นการทำให้บาร์บี้เสื่อมเสีย ผู้บริหารบาร์บี้ย้ำคำหนึ่งว่า “นี่เป็นประเด็นทางธุรกิจ ไม่ใช่เสรีภาพในการพูด” บริษัทเหล่านี้ใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ปิดปากในการพูด
กรณีคลาสสิคก็คือ กรณีที่ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ทำประตูในปี 1997/2540 แล้วเลิกเสื้อโชว์การรณรงค์ที่มีข้อความว่า “คนงานท่าเรือลิเวอร์พูลถูกปลดตั้งแต่ปี 1995/2538” อันเป็นการสะท้อนการต่อสู้ของคนงานลิเวอร์พูลถูกปลดเนื่องจากมีการประท้วง ซึ่งกลายเป็นเรื่อง สโมสรถูกบีบจากยูฟ่าด้วยค่าปรับ 2,000 ฟรังก์สวิส เนื่องจากไม่ยอมรับการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลในสนามแข่ง
ส่วนที่สาม ไม่มีงาน/No Job ซึ่งเชื่อมโยงกับที่กล่าวมา คือ สิ่งที่บรรษัทเน้นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์อีกต่อไปแล้ว แต่มันคือการให้คุณค่าเรื่องแบรนด์  เพราะฉะนั้นหน้าที่ของบริษัทคือการจัดการแบรนด์ อย่างไรให้สินค้าของตนเองขายได้  โรงงานและคนงานไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดูแลทะนุถนอมในระยะยาวอีกต่อไป ผลิตภัณฑ์จึงถูกทำให้แปลกแยก ทำให้ไม่มีความสัมพันธ์กับคนงาน การย้ายฐานการผลิตไปสู่นอกประเทศบริษัทแม่ หลายครั้งที่บรรษัทปฏิเสธความเกี่ยวข้องว่าเป็นโรงงานของตน
การต่อต้านและทวงคืนพื้นที่สาธารณะ
ภิญญพันธุ์ อธิบายว่าในส่วนสุดท้ายของหนังสือคือ ไม่มียี่ห้อ/No Logo อธิบายเรื่องการต่อต้านและการป่วนวัฒนธรรม พูดถึงการต่อต้านด้วยสิ่งที่เรียกว่า การเมืองมวลชนแบบยิวยิตสู คือใช้อำนาจของบรรษัททำลายบรรษัทเอง โดยการแปลงสารสร้างความหมายใหม่ในโฆษณา อีกส่วนหนึ่งใช้คำว่า culture jamming  คำนี้เกิดขึ้นโดยนักดนตรีวงเนกาทีฟแลนด์ จาก ซานฟรานซิสโกในปี 1984 น่าสังเกตว่าคู่ต่อสู้ของแบรนด์ต่างๆคือ เหล่าศิลปิน นักดนตรี นักสถานการณ์นิยม นักทฤษฎี นักแสดงการละคร ที่มีประสบการณ์ต่อการเสียดสี และบิดผันความหมายด้วยการมองเห็นทางสายตา แต่อย่างไรก็ตามเราก็พบพวกเขาในหมู่นักมาร์กซิสต์ ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย แม้กระทั่งพนักงานในบริษัทโฆษณา “นักโฆษณา” ในตอนกลางวัน
อีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งวารสาร Adbuster ในปี 1989/2532 พิมพ์ในแคนาดาผลิต “โฆษณาที่ไม่ได้มุ่งประโยชน์เชิงพาณิชย์” แต่ที่น่ากระอักกระอ่วนก็คือ ความย้อนแย้งที่แอดบัสเตอร์ทำสินค้าขายเอง อย่าง โปสเตอร์ วิดีโอ สติ๊กเกอร์ โปสการ์ด ฯลฯ
อีกอันหนึ่งที่สำคัญ และเป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้คือการยึดถนนคืน (Reclaim the Streets--RTS) ในตะวันตกนั้นกิจกรรมบนท้องถิ่นอย่างศิลปินกราฟฟิตี้ คนติดโปสเตอร์ ขอทาน คนวาดภาพบนทางเท้า คนเช็ดกระจก คนทำสวนในที่ดินชุมชน และพ่อค้าแผงลอย เริ่มถูกทำให้กลายอาชญากรในสายตาของรัฐ ขณะที่สิ่งที่ครองพื้นที่บนท้องถนนอย่างไม่ผิดกฎหมายนั่นก็คือโฆษณา ดังนั้นจึงเกิดปรากฎการณ์ RTS
ในปี 1994 มีการปิดถนนจัดงานเลี้ยงที่เปิดให้ผู้คนมารวมตัวกันอย่างสุดเหวี่ยงท่ามกลาง แสงสี เพื่อขายรถยนต์ สายการบิน น้ำอัดลม และหนังสือพิมพ์ จนฝ่ายนิติบัญญัติอังกฤษต้องตราพ.ร.บ.คดีอาญา ปี 1994/2537 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการยึดเครื่องเสียงและใช้กำลังในที่สาธารณะ ปรากฏว่าการที่รัฐเข้ามาใช้อำนาจตรงนั้น ทำให้คนจำนวนมากในอังกฤษไม่พอใจ และเกิดการรวมตัว RTS อย่างทรงพลังที่สุด ต้นแบบของการยึดถนนคืน มาจาก Reclaim the Streets ปารีสปี 1968/2511
นับแต่ปี 1995/2538 ขบวนการ RTS ได้ปล้นถนนที่คับคั่ง แยกที่สำคัญหลายแห่ง โดยมีกลเม็ดที่ปิดลับจนถึงวันงาน ยึดถนนโดยบางครั้งก็ใช้ความเสี่ยงเข้าลองใจเจ้าหน้าที่  เมื่อปิดการจราจรได้ก็จะมีการประกาศ “เปิดถนน” แล้วก็จะมีการเปิดเสียงเพลง แล้วสมาชิกก็กรูเข้ามาจากที่ต่างๆ พวกเขาตะโกนเรียกร้อง “สูดหายใจ” (อากาศบริสุทธิ์) “ปลอดรถยนต์” “ยึดพื้นที่คืน” “รถโดยสาร” “ช่องทางจักรยาน”
ที่ระห่ำมากๆ ก็คือ RTS ปิดถนนกลางเมือง แล้วนำคนสวนพร้อมค้อนปอนด์มาทุบ แล้วปลูกกล้าไม้ลงไป เพื่อเป็นการนำเสนอว่า “ใต้พื้นยางมะตอย...คือป่า” ตามสโลแกนปารีส ’68 “ใต้พื้นหิน...คือหาด” กล่าวคือ พื้นที่สาธารณะของฝรั่งเศสคือหาด แต่ของอังกฤษมองว่าเป็นป่า
สิ่งที่น่าสนใจ คือเรื่องการตอบโต้ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ถนนเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และเมืองด้วย ในสหรัฐฯ ระดับท้องถิ่น เทศบาลจังหวัดเทศบาลเมือง คณะกรรมการโรงเรียน และรัฐบาลของบางรัฐ มีอำนาจในการทำนิติกรรมกับบริษัทต่างชาติ ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือเทศบาลเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในวันที่ 8 มิถุนายน 1998/2541 ว่า “ในด้านนโยบายสาธารณะ เทศบาลเมืองเคมบริดจ์ขอประกาศว่า จะไม่ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัท หรือบรรษัทใดๆ ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศพม่า” พูดง่ายๆ คือท้องถิ่นมีอำนาจต่อรอง ฉะนั้นจึงเห็นว่าการเติบโตของประชาธิปไตยกับกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็น เรื่องที่แยกจากกันไม่ออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น