แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

แอรอน ชวาร์ทซ์: คำประกาศเพื่องานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรีแบบกองโจร

ที่มา ประชาไท


แอรอน ชวาร์ทซ์: คำประกาศเพื่องานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรีแบบกองโจร [1]


[คำกล่าวนำผู้แปล: ในตอนนี้สื่อสารพัดทั้งในต่างประเทศและในไทยได้ให้ความสำคัญกับการเสียชีวิต ของแอรอน สวาร์ทซ์ในฐานะของผู้มีคุณณูปการแด่แวดวงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดีจุดยืนสิ่งที่แอคทิวิสต์หนุ่มผู้นี้มีที่นำเขาไปสู่ความกดดันใน ระดับที่เขาต้องจบชีวิตด้วยมือตนเองนั้นก็คือเรื่องเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร และความรู้ [3] และคงจะไม่มีที่ไหนที่เขาแสดงจุดยืนดังกล่าวไว้ชัดเจนเท่ากับคำประกาศที่เขาเขียนขึ้นมาในปี 2008 ชิ้นนี้]

ข้อมูลคืออำนาจ แต่มันก็ไม่ได้ต่างจากอำนาจอื่นๆ มันมีคนที่ต้องการจะเก็บมันเอาไว้สำหรับตัวเองเท่านั้น มรดกทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมทั้งหมดของโลกที่มีการตีพิมพ์มาในหนังสือและ วารสารเป็นร้อยๆ ปีกำลังถูกทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและเก็บไว้ในมือของบรรษัทเอกชนเพียง กำมือหนึ่ง ถ้าคุณต้องการอ่านงานวิชาการต่างๆ ที่ว่าด้วยค้นพบครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ คุณก็ต้องจ่ายเงินมหาศาลให้สำนักพิมพ์อย่างรีด เอลเซเวียร์ (Reed Elsevier) ก่อน
มีผู้คนที่ต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงภาวะนี้ ขบวนการงานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรี (Open Access Movement) ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อที่เราจะมั่นใจได้ว่านักวิทยาศาสตร์จะไม่เซ็นมอบ ลิขสิทธิ์งานให้เหล่าบรรษัท แต่จะตีพิมพ์งานของเขาบนอินเทอร์เน็ตแทนในเงื่อนไขที่ว่าทุกๆ คนจะเข้าถึงมันได้แทน อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่ดีที่สุดแล้ว ความพยายามของขบวนการนี้จะมีผลต่อสิ่งที่จะตีพิมพ์ต่อไปในอนาคตเท่านั้น เราจะสูญเสียทุกสิ่งที่พิมพ์มาจนถึงวันนี้ไปทั้งหมดอยู่ดี
นั่นเป็นราคาที่สูงเกินกว่าที่เราจะจ่าย เราจะบังคับให้นักวิชาการจ่ายเงินเพื่อที่จะอ่านงานที่เพื่อนนักวิชาการ เขียนหรือ? เราแสกนห้องสมุดไปทั้งห้องแล้ว แต่เราจะให้เพียงแค่คนในบริษัทกูเกิลอ่านหรือ? เราให้บทความวิทยาศาสตร์กับผู้คนที่มหาวิทยาลัยชั้นสูงในโลกที่หนึ่งอ่าน แต่เราจะไม่ให้เด็กๆ ในซีกโลกใต้อ่านหรือ? มันเป็นสิ่งที่น่าโมโหและยอมรับไม่ได้
หลายๆ คนบอกว่า “ฉันเห็นด้วย แต่เราจะทำอะไรได้? บริษัทเหล่านี้ถือครองลิขสิทธิ์ พวกเขาทำเงินมหาศาลจากการคิดเงินค่าธรรมเนียมการเข้าถึงบทความเหล่านี้ และมันก็ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เราไม่มีทางจะทำอะไรที่หยุดยั้งพวกเขาได้เลย” แต่มันก็มีบางสิ่งที่เราทำได้ บางสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว เราสู้กลับได้
ผู้ที่สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางความรู้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บรรณารักษ์ และนักวิทยาศาสตร์ พวกคุณคือผู้มีอภิสิทธิ์ คุณได้เข้ามาในงานเลี้ยงความรู้นี้ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของโลกถูกกันอยู่ด้านนอก แต่คุณไม่จำเป็นต้องเก็บอภิสิทธิ์นี้ไว้ใช้เองเท่านั้น (เอาจริงๆ แล้วถ้าว่ากันในเชิงศีลธรรม คุณไม่สามารถจะเก็บอภิสิทธิ์นี้ไว้ใช้เองได้ด้วยซ้ำ) คุณมีหน้าที่จะแบ่งปันมันกับคนอื่นๆ ในโลกและคุณก็ได้ทำมันบ้างแล้วเมื่อคุณ แลกเปลี่ยนพาสเวิร์ดกับเพื่อนร่วมงานของคุณไปจนถึงช่วยดาวน์โหลดบทความต่างๆ ให้เพื่อนๆ คุณ ตามที่พวกเขาร้องขอ
ในขณะเดียวกัน ผู้คนที่ถูกกันออกไปด้านนอกก็ไม่ได้ยืนบื้ออยู่เฉยๆ พวกคุณได้แอบลอดเข้ามาในรูและปีนข้ามรั้ว พวกคุณได้ปลดปล่อยข้อมูลที่บรรดาสำนักพิมพ์เคยกักกันไว้และแบ่งปันมันกับ เพื่อนๆ ของคุณ
แต่การกระทำเหล่านี้ทั้งหมดก็ดำเนินไปในความมืด มันซ่อนอยู่ใต้ดิน มันถูกเรียกว่าการขโมยหรือการทำสำเนาเถื่อน (piracy) ราวกับว่าการแบ่งปันความมั่งคั่งของความรู้นั้นจะเป็นความผิดทางศีลธรรมที่ เทียบเท่ากับการปล้นเรือและฆ่าลูกเรือ แต่การแบ่งปันก็ไม่ใช่สิ่งผิดศีลธรรม มันเป็นการกระทำทางศีลธรรมที่จำเป็นด้วยซ้ำ มีแต่คนที่มืดบอดไปด้วยความตระหนี่ถี่เหนียวเท่านั้นที่จะปฏิเสธไม่ให้ เพื่อนทำสำเนา
แน่นอนว่าบรรดาบรรษัทใหญ่นั้นล้วนมืดบอดไปด้วยความตระหนี่ถี่เหนียว และนี่เป็นสิ่งที่บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องทำตามกฎหมาย ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ พวกเขาก็รอรับการประท้วงจากบรรดาผู้ถือหุ้นได้เลย นอกจากนี้เหล่านักการเมืองที่พวกเขาซื้อไปก็คอยหนุนหลังอยู่โดยการผ่าน กฏหมายที่ให้อำนาจผูกขาดในการกำหนดว่าใครจะทำสำเนาได้แก่บรรษัทเหล่านั้น
มันไม่มีความยุติธรรมใดเกิดขึ้นจากการทำตามกฎหมายอันอยุติธรรม มันถึงเวลาแล้วที่เราจะออกมาจากความมืดและมาเข้าร่วมจารีตของการดื้อแพ่ง เราควรจะประกาศจุดยืนต่อต้านการปล้นศิลปวัฒนธรรมสาธารณะโดยเอกชนนี้ออกมา
เราต้องนำข้อมูลออกมาไม่ว่ามันจะถูกเก็บไว้ที่ไหน เราต้องนำมันออกมาเพื่อทำสำเนาและแบ่งปันมันกับคนอื่นๆ ในโลก เราต้องเอาของที่หมดลิขสิทธิ์ไปแล้วมาใส่คลังจดหมายเหตุ เราต้องซื้อฐานข้อมูลลับและเอามันขึ้นเว็บ เราต้องดาวน์โหลดวารสารวิทยาศาสตร์และอัปโหลดมันขึ้นบนเครือข่ายแชร์ไฟล์ เราต้องสู้เพื่องานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรีแบบกองโจร
ถ้าพวกเราทั่วโลกมีพอ เราจะไม่ได้ทำแต่เพียงแค่ส่งสารต่อต้านการทำความรู้ให้เป็นทรัพย์สินส่วน บุคคลเท่านั้น แต่เราจะทำให้มันเป็นอดีตไปเลยด้วยซ้ำ คุณจะเข้าร่วมกับเราไหม?
แอรอน ชวาร์ทซ์
กรกฎาคม 2008, เอเรโม, อิตาลี

อ้างอิง:
  1. อ่านต้นฉบับได้ที่ http://archive.org/stream/GuerillaOpenAccessManifesto/Goamjuly2008#page/n0/mode/1up
  2. จริงๆ แล้วยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดว่าคำประกาศนี้ เขียนขึ้นโดยแอรอนแต่เพียงผู้เดียว หรือกระทั่งแอรอนมีส่วนรู้เห็นกับคำประกาศนี้ แต่ข้อเขียนนี้ก็ได้รับการถือกันว่าเขียนโดย (attributed to) แอรอนไปแล้วในโลกออนไลน์เนื่องจากบล็อกจำนวนมากก็อภิปรายคำประกาศนี้ในฐานะ ของข้อเขียนของแอรอนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้การพิสูจน์ว่าแอรอนเขียนหรือไม่ดูจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะถึงเขาเขียนจริงก็มีความเป็นไปได้ที่ “แฮคเกอร์” ชั้นเซียนอย่างเขาจะสามารถปกปิดความเชื่อมโยงของเขากับข้อเขียนทั้งหมดเพราะ นั่นดูจะส่งผลกับรูปคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่เขาเผชิญอยู่ตราบจนวันที่เขา เสียชีวิต
  3. อย่างน้อยครอบครัวเขา และเพื่อนของเขาอย่างลอว์เรนซ์ เลสสิก (Laurence Lessig) นักกฎหมายชื่อดังก็ล้วนมองว่าสิ่งที่ผลักดันให้เขาฆ่าตัวตายคือการที่รัฐ หมายหัวจะเอาเขาเข้าคุกฐานก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ให้ได้ จากคดี “แฮค” ข้อมูลฐานข้อมูล JSTOR ผ่านเครือข่ายของ MIT

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น