แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

ทบทวนอดีตว่าด้วยเรื่องข้อพิพาทประสาทเขาพระวิหาร

ที่มา Thai E-News


Charnvit Ks เกร็ด ปวศ รักชาติ/คลั่งชาติ กับ ปราสาทเขาพระวิหาร
pot pouri and the Preah Vihear

หนึ่ง)
รมต กต สุรพงษ์ คนนี้ อายุ 9 ขวบ

ปี 2505 เมื่อศาลโลกตัดสิน คดีปราสาทเขาพระวิหาร
คะแนน 9:3
คำสัมภาษณ์ น่าอ่าน น่าคิด ครับ
สัมภาษณ์ รมว.ต่างประเทศ "สุรพงษ์" ปมพระวิหาร - "ผมเป็นเด็กบ้านนอก" ห่วงชาวบ้านทหารไทยเป็นเหยื่อ "ม็อบชาตินิยม"http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357524896&grpid=03&catid&subcatid

สอง)
ตอนนั้น ผมเรียน รัฐศาสตร์ มธ ปี 3 อายุ 21
"บอลแพ้ แต่ผม คนดู ไม่ยอมแพ้"


สาม)
ผมออกไปเดินขบวน ราชดำเนิน ด่าสีหนุ ด่าศาลโลก
ตอนนี้ ผมอายุ 72 ผมเลิกด่า สีหนุ (สิ้นไปแล้ว)
และเลิกด่า ศาลโลก
ผมต้องาการ
Make Love not War with Cambodia ครับ


สี่)
ผมมาทราบทีหลังว่า ที่เราออกไปเดินขบวนนั้น
รัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งผ่านอธิการ/คณบดี มธ
(ผ่านมาทาง รมต บุญชนะ อัตถากร)
ให้เอา นศ ออกไปเดินขบวน เยอะๆ ครับ
(จริงๆ เรา ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก
เขาพระวิหาร ก็ไม่เคยเห็น ศรีสะเกษ ก็ไม่เคยไป)


ห้า)
สมัยนั้น ระบอบสฤษดิ์ ทหารครองเมือง
ไม่มี ปชป ไม่มีพรรคการเมือง ห้ามเดินขบวน เด็ดขาด
สฤษดิ์ สังยิงเป้า ใช้ ม 17 ได้ง่ายๆ ยิงทิ้งไปเยอะ


หก)
แต่คราวนั้น เราออกไปเดินกัน เต็มถนน
พร้อมด้วยรูปสีหนุ (ที่รัฐส่งมาให้เรา)
เราฉีก แล้วกระทืบๆๆ
เราร้องเพลง "รักเมืองไทย ชูชาติไทย...."


เจ็ด)
เราตะโกนว่า สี สี สีอะไร คนไทย เกลียด
สีแดง สีเหลือง สีชมพู
ไม่ใช่ ๆๆๆ
สีหนุ (โว้ย)


แปด)
ไม่น่าเชื่อ 50 กว่าปี ครึ่งศตวรรษ ผ่านไปไวเหมือนโกหก
เรายังวนใน น้ำเน่า
คดีปราสาทเขาพระวิหาร ที่คนใน กทม ก่อ ก่อกลางถนนราชดำเนิน
ทำให้ชาวบ้านตีกัน ที่ภูมิซรอล
ทำให้ชาวบ้านตาย ทหารพราน ตัวเล็กๆ ตาย
เราแตกแยก กันในชาติบ้านเมือง อย่างไม่เคยมีมาก่อน ใน ปวศ ไทย ครับ


เก้า)
มายาคติ โลภ โกรธ หลง
เราโลภ อยากได้ของเขา
เราโกรธ เพราะเราไม่ได้
เราหลง เพราะคิดว่า อาจฟลุ๊กได้


สิบ)
คนจะต้องตายอีกเท่าไร
บ้านเมือง จะตกต่ำอีกเพียงไหน
the answer, my friends,
is blowing in ......................???
cK@7Jan2013not1962
 **************

 ว่าด้วยคำเตือนปรีดี การปลุกของสฤษดิ์ และคำพิพากษาของศาลโลก

รวบรวมโดยเรดด์ เลิฟ



 

 ประสาทเขาพระวิหาร กับคำเตือนของปรีดี พนมยงค์ เรื่องการได้ดินแดนมาด้วยการใช้กำลัง

 "เป็นความจำเป็นและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ที่จะต้องอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติ ไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสงครามเย็นและสงครามประสาท" แนวความคิด ของปรีดี พนมยงค์จากข้อความข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของสองเรื่องอย่างแนบแน่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดต่อประเทศไทย นั่นคือ การอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

แต่การที่ไทยจะดำรงรักษาสองสิ่งที่มีค่าสูงสุดนี้ไว้ได้ ไทยก็จำต้องตระหนักถึงผลเสีย หรือการตกเป็น "เหยื่อ" ของสงครามทุกรูปแบบ รวมถึงการตกเป็นเหยื่อของสงครามอารมแบบ "คลั่งชาติ" (Chauvinism) ด้วย

ปรีดี พนมยงค์ ( 2443-2526) ผู้ได้รับการประกาศตั้งจากรัฐบาล ( 8 ธันวาคม 2488 ) ให้เป็น "รัฐบุรุษอาวุโส" มีหน้าที่ "รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน" และได้รับการประกาศยกย่องให้เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" โดยองค์การยูเนสโก้เมื่อปี 2543

ปรีดีเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคมการเมืองไทยอย่างสำคัญในช่วง 15 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2475-พ.ศ.2490 โดยปรีดีเปรีบยเสมือน "มันสมอง" ของคณะราษฎร ที่มุ่งก่อร่างสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นการสร้างประชาธิปไตยของพลเรือนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่ระบอบคณาธิปไตย หรือ อำมาตยาธิปไตย ที่นำโดยทหารที่ใช้กองทัพหนุนหลัง

เส้นทางความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของปรีดี ปรากฎความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับผู้นำประเทศที่เป็นทหาร คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ด้วยนั้น เมื่อจอมพล ป. ก้าวเข้าสู่นโยบายการสร้าง "มหาอาณาจักรไทย" โดยการใช้ทุกวิธีการเพื่อ "เอาดินแดน" จากประเทศลาวและกัมพูชาอาณานิคมฝรั่งเศส

"สงครามอินโดจีน" ที่พัฒนาจากการ "ปลุกเร้าอารม" ของคนไทยในประเทศ ในช่วงปี พ.ศ.2482-2483 หรือตั้งแต่ปีแรกของการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกระดับเป็นการ "ปะทุ" ทางอารมณ์ของคนไทยหลากกลุ่ม ที่แสดงตนเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาล ที่ จอมพล ป. ผู้นำฝ่ายทหารได้แปลความว่า การกระทำดังกล่าวมีความหมายเป็น "มติมหาชน" และในที่สุดได้ยกระดับเป็นการ "ปะทะ" ด้วยกำลังอาวุธของสามเหล่าทัพไทย กับกองกำลังเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส

"สงครามยึดเอาอินโดจีน" ครั้งนี้เป็นสงครามที่ฝ่ายไทยสามารถขยายพื้นที่การครอบครองดินแดนสำเร็จด้วย กำลังทหารในปี พ.ศ.2484 โดยเข้าครอบครองแขวงไชยบุรี และแขวงจำปาสักในลาว จังหวัดเสียมเรียบ และจังหวัดพระตะบองในกัมพูชา

การเข้าครอบครองดินแดนกัมพูชาด้วยกำลังทหารครั้งนี้ คือที่มาของการปรากฎตัวอย่างเป็นรูปธรรมแห่งปัญหาคดีเขาพระวิหาร ที่ปัญหานี้ถูกทิ้งค้างไว้จากเกือบ 4 ทศวรรษก่อน หรือกล่าวได้ว่าทั้งฝรั่งเศสกับไทย ต่างไม่เคยรับรู้กันว่าประสาทเขาพระวิหารเป็น "ปัญหา" ในยุคสมัยล่าอาณานิคมแต่อย่างใด การเข้าครอบครองดินแดนกัมพูชาครั้งนี้ ได้ส่งผลมาเป็นคดีเขาพระวิหาร และเป็นคำพิพากษาของศาลโลกในปี พ.ศ.2505 แต่ประเด็นปัญหาเกี่ยวเนื่องถูกทิ้งไว้เกือบ 5 ทศวรรษต่อมา ซึ่งได้กลายเป็นปมปัญหาประสาทเขาพระวิหารมรดกโลกในปัจจุบัน

การเข้าครอบครองดินแดนของลาวและกัมพูชาดังกล่าว เป็นชัยชนะด้วยความช่วยเหลืออย่างสำคัญของกองทัพประเทศญี่ปุ่น ประเทศผู้ซึ่งกำลังเตรียมแผนการใหญ่ที่มุ่งให้รัฐบาลทหารไทยสนับสนุนตนในการ ทำ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในซีกเอเชีย อันเป็นสงครามที่คู่ขนานไปกับการทำสงครามของ ฮิตเล่อร์ แห่งเยอรมัน และ มุโสลินี แห่งอิตาลี ในซีกโลกตะวันตก

ต่อมาเมื่อนายพล โตโจ ผู้นำรัฐบาลทหารแห่งญี่ปุ่น ต้องการ "กระชับมิตรภาพ" เพื่อการทำสงครามร่วมกันกับรัฐบาลทหารไทยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งกำลังยึดครองดินแดนมาเลเซียและพม่าอาณานิคมของอังกฤษ จึงยกดินแดนของประเทศอื่นที่ตนยึดครองอยู่ให้แก่ไทยเพิ่มอีกในกลางปี พ.ศ.2486 คือดินแดน 4 รัฐของมาเลเซีย และ 2 เขตเมืองคือเมืองพาน และเชียงตุงในรัฐฉาน

ในระยะเพียงสองปีครึ่ง รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขยายดินแดนได้ด้วยกำลังไปในเขตประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ ทั้งใน ลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย กลายเป็น "มหาอาณาจักรไทย" ยุคใหม่

"นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักการทหาร ย่อมรู้ก่อนที่จะก่อสถานะสงครามขึ้นแล้วว่า การทำสงครามนั้นมิใช่กีฬาธรรมดาหากเอาชาติเป็นเดิมพันในการนั้น ถ้าชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ ถ้าหากแพ้สงครามก็ทำให้ชาติเสียหายหลายประการ แม้ไม่ต้องเสียดินแดนให้ฝ่ายที่ชนะสงคราม แต่ก็ต้องชำระค่าเสียหายสงคราม ซึ่งเรียกตามกฎหมายระหว่างประเทศว่า ค่าปฎิกรรมสงคราม" ( ปรีดี "อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน" 2518 )

ไทยเข้าสู่ระเบียบโลกยุคใหม่ในสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 และสามารถยกระดับตนเองสู่การเป็นประเทศที่มีสถานะเกือบเท่าเทียมในฝ่าย พันธมิตรโลกตะวันตก และได้รับประโยชน์จากการร่วมชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้เป็นผลจากการใช้นโยบาย Wait And See ที่รั้งรอดูสถานการณ์ของโลกหลายปี จนมั่นใจแล้วจึงตัดสินใจ

แต่ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลายเป็นว่า ไทยเป็นฝ่ายดำเนินการเริ่มรุกเพื่อนบ้านด้วยกำลัง และได้ครอบครองดินแดนของเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือคำอธิบายของปรีดีที่ว่า "ชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ" แต่หาได้เป็นประโยชน์ถาวรต่อประเทศไทยประการใด

ในการรณรงค์เรียกร้องดินแดนจากลาวและกัมพูชา ในปี พ.ศ.2483 นิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ในขณะนั้น คือ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ( ขณะนั้นใช้ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ม.ธ.ก. ) ต่างก็ตกอยู่ในกระแส "ปลุกเร้า" อารมณ์ "รักชาติ" กันอย่างถ้วนหน้า และนัดแนะกันที่จะเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยของตนเอง คือจาก จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ มายังกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย "เรียกร้องดินแดน"

ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ประศาสน์การหรือผู้บริหารสูงสุดแห่งธรรมศาสตร์ เมื่อทราบข่าวเดินขบวนนี้ในช่วงเช้า ปรีดีก็รีบเดินทางมาพบนักศึกษาของตนที่ท่าพระจันทร์ และชี้แจงกับนักศึกษาว่า "ไม่ได้มาห้ามไม่ให้เดิน การเดินหรือไม่เดินเป็นเรื่องที่พวกคุณจะวินิจฉัย แต่ขอให้คิดให้ดี"

ปรีดีให้คำอธิบายกับนักศึกษาธรรมศาสตร์โดยให้เข้าใจสถานการณ์ของประเทศ ฝรั่งเศสในขณะนั้นว่าตกอยู่ในสภาพแพ้สงคราม กล่าวคือฝรั่งเศสแพ้ตั้งแต่สองสัปดาห์แรกของการสงคราม ประเทศถูกยึดครองไปโดยกองทัพของเยอรมัน รัฐบาลฝรั่งเศสเดิมนั้นต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ในอาณานิคมอินโดจีน กำลังของฝ่ายฝรั่งเศสย่อมอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ ทั้งยังมีกองทัพญี่ปุ่นกดดันอยู่ในเขตทะเลของอ่าวตังเกี๋ย

ปรีดีสรุปว่าการเรียกร้องดินแดนนี้เชื่อว่าฝ่ายไทยได้แน่ "เพราะฝรั่งเศสกำลังแย่" แต่ปรีดีเห็นว่า เป็น "การที่เรากำลังจะไปซ้ำเติมคนที่กำลังแพ้ ไม่ใช่วิสัยที่ดี"

แต่ปรีดีก็ทำนายให้เห็นผลในอนาคตด้วยว่า "ดินแดนที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป" และในช่วงชีวิตของนักศึกษา "จะต้องได้เห็นอย่างแน่นอน"

คำเตือนของปรีดีเรื่อ "ผลประโยชน์เฉพาะหน้า" หรือ "ผลประโยชน์ชั่วคราว" ของการได้ดินแดนมาด้วยการใช้กำลัง สามารถยับยั้งการเดินขบวนของนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ในบ่ายวันนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์ก็เดินขบวนอย่างเป็นระเบียบจากท่าพระจันทร์ไปยังกระทรวง กลาโหมที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสนามหลวงไปสู่ "อ้อมกอด" ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่คอยต้อนรับ ส่วนนิสิตจุฬาฯ ได้เดินขบวนมาจากสามย่านมายังกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ช่วงเช้า

การเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลให้กระทำการเรียกร้องดินแดนอย่างแข็งขันของ นิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวได้ว่าเป็นหลักหมายแห่งชัยชนะของนโยบายเรียกร้องดินแดนโดยใช้กำลัง ซึ่งได้รับการโห่ร้องต้อนรับด้วยการสนับสนุนจากกลไกภาครัฐ ที่เหนือกว่านโยบายการใช้กฎหมายและการอยู่ร่วมอย่างสันติกับประเทศเพื่อน บ้าน

ทว่าอีก 4 ปีต่อมา สถานการณ์กลับพลิกผัน ฝ่ายอักษะปราชัยในทุกสมรภูมิ และถูกยึดครองประเทศโดยฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ไทยสามารถสร้างสถานภาพที่กำกวมของการ "ไม่แพ้สงคราม" อันเป็นผลจากขบวนการเสรีไทย คำประกาศสันติภาพ และการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของมหาอำนาจใหม่ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา

การได้ดินแดนเพื่อนบ้านโดยการใช้กำลังนั้น ทำให้ไทยต้องรีบประกาศคืนดินแดนในพม่าและมาเลเซียให้กับอังกฤษทันทีเมื่อ ประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 และต่อมาต้องคืนดินแดนของลาวและกัมพูชาให้กับฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้กลัยคืนสู่ "สถานะเดิม" ( Status quo ) ไปยังปีก่อนที่จะมีการทำสงครามเพื่อดินแดนของรัฐบาลไทย ทั้งนี้เพื่อแลกกับที่รัฐบาลไทยจะได้รับการยอมรับให้กลับคืนสู่การเป็น สมาชิกของประชาคมโลก ที่มีองค์การเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ในนาม องค์การสหประชาชาติ

คำเตือนของปรีดีต่อเรื่อง "ดินได้ที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป" อันเป็นการได้ดินแดนมาจากการใช้กำลังแบบ "ผลประโยชน์เฉพาะหน้า" หรือ "ผลประโยชน์ชั่วคราว" ได้แสดงความจริงให้เห็นเร็วกว่าที่ปรีดีคาดการณ์ไว้อย่างมาก

ดังนั้นสถานการณ์ "ทวงคืนประสาทพระวิหาร" ที่ปรากฎในสังคมไทย ก็ดูจะมีลักษณะคล้ายคลึงบางประการกับการเรียกร้องดินแดนเพื่อนบ้านเมื่อปี พ.ศ.2483-2484 และจุดจบก็ไม่น่าจะต่างกันมากนักหากมีการใช้กำลัง

แต่ผลนั้นอาจสะเทือนต่อเอกราชและเกียรติศักดิ์ของชาติไทยมากยิ่งกว่าครั้ง เรียกร้องดินแดนในอดีต และในครั้งนี้ ไทยเราอาจจะไม่โชคดีเหมือนครั้งยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 คือไม่มีใครหรือปัจจัยอื่นใด มาช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นผู้ปราชัยของประชาคมโลกได้

คำถามต่อเพื่อนร่วมชาติที่แสวงหาประโยชน์ร่วมกันคือ

คำถามแรก เมื่อศาลโลกของสหประชาชาติ พิพากษาให้ประสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งคำพิพากษานี้ "เป็นอันเสร็จเด็ดขาด ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้" ตามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระบุไว้ในคำปราศรัยคดีประสาทพระวิหาร เมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2505 แต่สถานการณ์ปัจจุบัน การรณรงค์ในประเด็น "ทวงคืนประสาทพระวิหาร" เท่ากับเป็นการปฎิเสธคำพิพากษาของศาลโลกหรือไม่ ? และจะยกระดับไปสู่การ "ปลุกเร้า" และปะทุทางอารมณ์ของคนในประเทศ และปะทะกับเพื่อนบ้านกัมพูชาด้วยกำลังหรือไม่ ?

คำถามข้อที่สอง หากเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ณ บริเวณเขาพระวิหาร ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหน หรือจาก "มือที่สาม" ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่พึงคำนึงคือ ไทยจะกลายเป็นชาติแรกในหน้าประวัติศาสตร์โลกยุคสหประชาชาติที่ละเมิดล่วงล้ำ ขัดขีนอำนาจของศาลโลก ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วย วิธีการสันติ แทนการทำสงครามระหว่างกันนั้น ท่านคิดว่าประเทศมหาอำนาจและสมาชิกอื่นในองค์การสหประชาชาติจะดำเนินการ อย่างไรต่อประเทศไทย เพื่อที่จะรักษาระเบียบโลกของสหประชาชาตินี้ไว้ ?


ทั้งยังต้องรำลึกด้วยว่า ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีประชาคมโลกนั้น ไทยจะกลายเป็น "หมาป่า" ที่หาทางขย้ำ "ลูกแกะ" กัมพูชา ด้วยหรือเปล่า ?


คำถามข้อที่สาม หากท่านเป็นผู้สนับสนุนการใช้ัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 82 เกี่ยวกับนโยบายด้านต่างประเทศ ได้ระบุว่า "รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ ตลอดจนต้องปฎิบัติตามสนธิสัญญา รวมทั้งพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ"


ดังนั้นการรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลในอนาคตแสดงการทวงคืน "ประสาทพระวิหาร" คือการสนับสนุนให้รัฐบาลกระืำผิดต่อรัฐธรรมนูญในมาตรานี้หรือไม่ ?

หากท่านเป็นผู้ไม่สนับสนุนการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 โปรดกลับไปอ่านคำถามข้อที่หนึ่งและสองอีกครั้งหนึ่ง



****************

ค้นคว้าโดยเรดด์ เลิฟ


คำปราศรัย จอมพล สฤษฎิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรี

เกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร ทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๕


พี่น้องร่วมชาติ และมิตรร่วมชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย

ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ศาลโลก” ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และทางรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบมาตามลำดับแล้วนั้น โดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโดยเฉพาะตัวข้าพเจ้า ถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวกับผลได้ผลเสียอย่างสำคัญของชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษของเราสู้อุตส่าห์ฝ่าคมอาวุธรักษาไว้ และตกทอดมาถึงคนรุ่นเรา จึงสมควรที่เราทุกคนจะได้เอาใจใส่ และสนใจร่วมรู้ร่วมเห็นก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ลงไปเกี่ยวกับผืนแผ่นดินนี้ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและของตัวข้าพเจ้าเอง ที่ต้องชี้แจงให้พี่น้องร่วมชาติทั้งหลายได้ทราบถึงการที่รัฐบาลนี้ต้อง ตัดสินใจในกรณีปราสาทพระวิหารต่อไป

แต่เนื่องในการกล่าวคำปราศรับนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจพี่น้องทั้งหลายอยู่ มาก ข้าพเจ้าจึงจำต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ข้าพเจ้าทราบดีว่า ในส่วนลึกที่สุดของหัวใจแล้ว คนไทยผู้รักชาติทุกคนมีความเศร้าสลดและขมขื่นใจเพียงใด การแสดงออกของประชาชนในการเดินขบวนทั่วประเทศเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาล โลกในสัปดาห์ที่แล้วมาเป็นสิ่งที่เห็นกันอย่างแน่ชัดอยู่แล้ว

แต่ก็จะทำอย่างไรได้ เราต้องถือเป็นคราวเคราะห์ร้ายของเราที่ต้องมาประสบกับชตากรรมเช่นนี้ เราจะไม่โทษใครเป็นอันขาด เพราะการที่ไปโทษคนที่พ้นหน้าที่ไปนั้นย่อมเป็นการไม่สมควร แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เราจะพากันนิ่งเฉยท้อแท้ใจ ชาติไทยจะยอมท้อแท้ทอดอาลัยไม่ได้

เราเคยสูญเสียดินแดนแก่ประเทศมหาอำนาจที่ล่าอาณานิคมมาแล้วหลายครั้ง ถ้าบรรพบุรุษของเราของเรายอมท้อแท้ เราจะเอาแผ่นดินที่ไหนมาอยู่กันจนถึงทุกวันนี้เราจะต้องหาวิธีต่อสู้ต่อไป

ส่วนเราจะต่อสู้อย่างไรนั้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะในการต่อสู้กรณีเช่นนี้ เราอาจทำได้หลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีผลดีผลเสียแตกต่างกัน เราจะต้องได้พิจารณาให้สุขุมรอบคอบต้องใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ และด้วยสายตามองการณ์ไกล แล้วเลือใช้วิธีที่ดีที่สุด ละเมียดละไมและให้คุณประโยชน์มากที่สุดทั้งในเวลานี้และในอนาคต ชาติเราจึงจะสามารถธำรงเอกราชและอธิปไตยอยู่ได้ และอยู่ในฐานะที่กล่าวได้ว่า “เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ”

ขอให้พี่น้องผู้รักชาติทั้งหลายโปรดอย่าได้ใช้อารมณ์หุนหันพลันแล่นหรือคิด มุทลุจะหักหาญด้วยกำลังแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับตัวข้าพเจ้าเองในฐานะที่มีชีวิตเป็นทหารมาแต่เล็กแต่น้อย และได้เคยผ่านสงครามทำการสู้รบมาแล้วหลายครั้ง ข้าพเจ้าจึงมิได้มีความเกรงกลัวการสู้รบแต่ประการใด แต่ตามพันธกรณีที่มีอยู่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ยังไม่เป็นเรื่องที่ควรรบกัน

สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งศาลโลกได้ วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอทบทวนความเข้าใจกับเพื่อนร่วมชาติทั้งหลายว่า รัฐบาลและประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลกทั้งในข้อเท็จ จริงในทางกฎหมายระหว่างประเทศและในหลักความยุติธรรม ตามเหตุผลที่รัฐบาลได้แถลงไปแล้ว แต่เราก็ตระหนักดีว่าคำพิพากษาของศาลเป็นอันเสร็จเด็ดขาด ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้ยิ่งกว่านั้นมาตรา ๔๔ บ่งไว้ว่า

“ข้อ ๑ สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นผู้แพ้

ข้อ ๒ ถ้าผู้แพ้ในคดีใดไม่ปฏิบัติ ข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำวินิจฉัยของศาลอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยัง คณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าเป็นเป็นความจำเป็น ก็อาจทำตามคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อยังผลให้เกิดแก่คำ พิพากษานั้นได้”

เมื่อเป็นดังนี้ แม้ว่ารัฐบาลและประชาชนชาวไทยจะได้มีความ รู้สึกสลดใจและขมขื่นเพียงใดในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ จำต้องยอมให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารนั้นตามพันธกรณีแห่งสหประชา ชาติ แต่รัฐบาลขอตั้งข้อประท้วงและขอสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่อง นี้ไว้ เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนิน การทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจมีขึ้นในภายหน้าให้ได้สิทธิ์นี้กลับคืนมาใน โอกาสอันควร

พี่น้องชาวไทยที่รัก ข้าพเจ้าก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียว กับพี่น้องทั้งหลาย และถ้าพูดถึงความรักชาติบ้านเมือง ข้าพเจ้าก็เชื่อเหลือเกินว่าข้าพเจ้ามีความรักชาติไม่น้อยกว่าพี่น้องคนไทย ทั้งหลาย แต่ที่รัฐบาลจำต้องโอนอ่อนปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติก็โดยคำนึง ถึงเกียรติภูมิของประเทศไทยที่เราสร้างสมไว้เป็นเวลานับเป็นร้อยๆ ปี ยิ่งกว่าปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้ มิใช่เกิดเพราะความกลัวหรือความขี้ขลาดแต่ประการใดเลย

แต่พี่น้องชาวไทยทั้งหลายต้องมองการณ์ไกล เวลานี้เราอยู่ในสังคมของโลก สมัยนี้ไม่มีชาติใดที่จะอยู่โดยโดดเดี่ยวได้ ประเทศไทยของเราได้รับความนิยมนับถือจากสังคมนานาชาติเพียงใด พี่น้องทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้ว ถ้าชาติของเราต้องเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิไปเนื่องจากปราสาทพระวิหาร คราวนี้แล้ว อีกกี่สิบกี่ร้อยปีเราจึงจะสามารถสร้างเกียรติภูมิที่สูญเสียไปคราวนี้กลับ คืนมาได้

 ข้าพเจ้าทราบดีว่าการสูญเสียปราสาทพระวิหารคราวนี้เป็นการสูญเสียที่ สะเทือนใจคนไทยทั้งชาติ ฉะนั้น แม้ว่ากัมพูชาจะได้ปราสาทพระวิหารนี้ไป ก็คงได้แต่ซากสลักหักพังและแผ่นดินที่รองรับพระวิหารนี้เท่านั้น แต่วิญญาณของปราสาทพระวิหารยังอยู่กับไทยตลอดไป

ประชาชนชาวไทยจะรำลึกอยู่เสมอว่า ปราสาทพระวิหารของไทยถูกปล้นเอาไปด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลของคนที่ไม่รักเกียรติ และไม่รักความชอบธรรม เมื่อประเทศไทยประพฤติปฏิบัติตนดีในสังคมโลกเป็นประเทศที่มีศีลมีสัตย์

ในวันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว ปราสาทพระวิหารจะต้องกลับคืนมาอยู่ในดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่ง

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติของประเทศไทยตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติ ครั้งนี้คงจะทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกเห็นอกเห็นใจเรายิ่งขึ้น เหตุการณ์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารครั้งนี้จะสลักแน่นอยู่ในความทรงจำของคน ไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และจะเป็นรอยจารึกอยู่ในประว้ติศาสตร์ของชาติไทยตลอดไปเสมือนหนึ่งเป็นแผลใน หัวใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ข้าพเจ้าก็ยังหวังอยู่เสมอว่าในที่สุดธรรมะย่อมชนะอธรรม การหัวเราะทีหลังย่อมหัวเราะดังและนานกว่า

อนึ่ง ในเรื่องนี้รํฐบาลรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาท-สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวพระประมุขที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยที่ได้พระราชทานคติและ พระบรมราโชวาทแก่รัฐบาลด้วยความที่ทรงห่วงใยในสวัสดิภาพของชาติบ้านเมือง เป็นอย่างยิ่ง

ขอให้พี่น้องร่วมชาติจงได้วางใจเถิดว่า รัฐบาลที่ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้จะสามารถนำชาติและพี่น้องชาวไทย ที่รักก้าวไปสู่อนาคตอันสุกใสได้ ในที่สุด ข้าพเจ้าขอรับรองต่อท่านทั้งหลายว่า เมื่อคราวที่ชาติเข้าที่คับขันแล้ว ข้าพเจ้าจะกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกับพี่น้องชาวไทย เอาเลือดทาแผ่นดินโดยไม่เสียดายชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว

แต่ราจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเองก็มีความเจ็บช้ำน้ำใจมิได้น้อยกว่าเพื่อร่วมชาติทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าต้องมากล่าวถึงเรื่องนี้ในวันนี้ ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านด้วยน้ำตา แต่น้ำตาของข้าพเจ้าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย ของเลือด ของความคั่งแค้นและการผูกใจเจ็บไปชั่วชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า ต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาวไทย ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญานด้วยสัจวาจานี้ไว้

พี่น้องที่รัก น้ำตามิได้ช่วยให้คนฉลาดขึ้นและได้อะไรคืนมา นอกจากความพยายาม ความสามัคคี ความสุขุมรอบคอบ ความอดกลั้นที่จะกล้าเผชิญกับความสูญเสีย พร้อมทั้งรวมกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด เพื่อให้ชาติที่รักของเราแข็งแกร่งมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น

ในขั้นสุดท้ายชาติไทยต้องประสบกับชัยชนะเสมอ เราต้องกล้าสู้ ต้องยิ้มรับต่อภัยที่มาถึงตัวเรา ชาติไทยเป็นชาติที่เชื่อมั่นในบวรพุทธศาสนา ตั้งตนอยู่ในความเป็นธรรมเสมอมา

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเสมอว่าชาติเราจะไม่อับจนเป็นอันขาด เรื่องนี้เป็นแต่เพียงเรื่องหนึ่งในเรื่องใหญ่ทั้งหลายซึ่งมีความสำคัญกว่า นี้มากนัก ชาติที่รักของเรากำลังพัฒนาตามวิถีทางที่ดีอยู่แล้วทุกทาง เหตุนี้มิใช่เหตุแห่งความอับจน เราจงระวังและทำในเรื่องของชาติที่สำคัญกว่านี้

ข้าพเจ้ามั่นใจเหลือเกินว่าชาติไทยของเราจะมีอนาคตอันแจ่มใสและรุ่งโรจน์ ประเทศหนึ่งอย่างแม่นมั่นในอนาคตอันใกล้นี้ เราจงมาช่วยกันสร้างชาติที่รักยิ่งของเรา

พี่น้องชาวไทยที่รัก ในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้... สวัสดี..

**************

ศาลโลกมีความเห็นและคำพิพากษาดังนี้

1. ศาลเห็นว่าเส้นเขตแดนระหว่างสยามกับกัมพูชาในเขตภูเขาดงรักได้ถูกกำหนดแล้ว ระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม และโดยจำเพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารขึ้นอยู่กับสนธิสัญญาปักปันเขตแดนลง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 สนธิสัญญาฉบับนี้ได้นำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-สยามที่มีหน้าที่ ที่ระบุไว้ชัดเจนคือ การปักปัน “เขตแดน”ระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาได้มีการทำสนธิสัญญาอีกฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 เพื่อ “ปักปันเขตแดนใหม่” และระบุด้วยว่าจะปักปันเขตแดนทั้งหมดซึ่งรวมถึงทิวเขาดงรักทั้งหมด เมื่อการปักปันเขตแดนเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลสยามได้ร้องขอเป็นทางการให้ฝรั่งเศสทำแผนที่อาณาบริเวณเขตแดนนี้ขึ้น ฝรั่งเศสได้ดำเนินการและต่อมาได้ส่งแผนที่ 11 ฉบับให้รัฐบาลสยามได้ส่งแผนที่นี้ไปยังสถานอัครราชทูตไทยในต่างประเทศและ วงการอื่นหลายแห่งในต่างประเทศ (ในแผนที่นี้ บริเวณพระวิหารทั้งหมดรวมทั้งเขตปราสาทอยู่ด้านกัมพูชา และเป็นแผนที่ที่กัมพูชายึดถือในการฟ้องคดีนี้)

ดังนั้น ศาลจึงไม่ยอมรับข้อต่อสู้ของไทยว่าแผนที่ฉบับนี้มีความผิดพลาด คือ มิได้ใช้เส้นสันปันน้ำที่แท้จริง และประเทศไทยมิได้เคยยอมรับรองแผนที่ฉบับนี้ หรือเส้นเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่นี้ แต่ศาลเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลสยามดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นการตอบรับทางพฤตินัยอย่าง แน่ชัด ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลสยามก็ไม่เคยคัดค้านแผนที่นี้จนถึง พ.ศ. 2501 จึงถือได้ว่า“ได้ให้ความยินยอมโดยการนิ่งเฉยแล้ว”

2. ศาลได้ตีความพฤติกรรมอื่นของไทยที่ส่งผลทางกฎหมายที่ชัดเจนคือการอ้างถึงการ เสด็จเยี่ยมปราสาทพระวิหารใน พ.ศ. 2473 ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งดำรงตำแหน่งนายก ราชบัณฑิตสถานแห่งประเทศสยามและทรงรับหน้าที่เกี่ยวกับโบราณสถาน การเสด็จนี้ได้รับ พระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์สยาม จึงเห็นว่ามีลักษณะกึ่งราชการ พระองค์ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากข้าหลวงฝรั่งเศสและมีธงชาติ ฝรั่งเศสชักไว้ ศาลเห็นว่า การรับเสด็จนี้เป็นการยืนยันสิทธิเหนือปราสาทพระวิหารซึ่งฝ่ายไทยมิได้ ทักท้วง ทั้งเมื่อเสด็จกลับแล้วยังได้ประทานรูปถ่ายแก่ข้าหลวงฝรั่งเศสและทรงใช้ภาษา ที่ดูเหมือนยอมรับการทำตนเป็นเจ้าภาพของข้าหลวงฝรั่งเศส


คำพิพากษาศาลที่ไทยต้องปฏิบัติมีดังนี้


1. โดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และประเทศไทยมีพันธะต้องถอนทหารหรือตำรวจหรือผู้ดูแลอื่นใดออกจากปราสาทหรือ ในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา


2. โดยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยต้องคืนแก่กัมพูชาวัตถุที่ไทยอาจได้โยกย้ายจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร


3. ในส่วนคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 และข้อ 2 ของกัมพูชา ศาลพิพากษาว่า “จะรับฟังได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช่เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของ คำพิพากษา” จึงหมายความว่าศาลตัดสินเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่โดยรวมและไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา


ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 รัฐบาลไทยได้ส่งหนังสือประท้วงต่อนายอู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติแจ้งว่าไทยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล แต่ได้ตั้งข้อสงวน “เกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลฯ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา”


ในส่วนการกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหาร คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ให้กำหนดเป็นรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบปราสาทซึ่งเป็นเนื้อที่บริเวณ ปราสาท ¼ ตารางกิโลเมตร กับให้ทำป้ายไม้แสดงเขตไทย-กัมพูชาและทำรั้วลวดหนาม ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เวลา 12.00 น. ไทยได้ทำการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายสิ่งของของไทยจากบริเวณปราสาท ส่วนการเคลื่อนย้ายธงชาตินั้นได้ใช้วิธีชะลอเสาธงพร้อมธงชาติไทยลงมาพร้อม กัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น