แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

ประชาธิปไตยสองกระแส

ที่มา ประชาไท



แตกต่าง ใช่แตกแยก

การถกเถียงกันในวงการ ประชุมของขบวนการภาคประชาชนหลายครั้งที่ผ่านมา มีข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า มีความแตกต่างกันในการวิเคราะห์สภาพสังคมไทย อันเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การกำหนดแนวการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การขับเคลื่อนยังไม่มีความเป็นเอกภาพ

หลายครั้งการประชุม ต้องสรุปการประชุมที่ไม่มีข้อสรุป เพื่อเป็นการประคับประคองขบวนการภาคประชาชน แต่สิ่งที่เห็นตรงกันคือ มีความจำเป็นที่จะต้องให้มีการระดมความเห็นเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวคิด การวิเคราะห์ สภาพสังคมไทย  ที่จะเป็นพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันของทุกเครือข่าย อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์บทบาท แนวทาง ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในอนาคต

ทุกคนเห็นร่วมกันว่า แม้จุดยืนทางการเมืองจะมีความสำคัญต่ออัตลักษณ์ของขบวนการภาคประชาชน  แต่การร่วมกันเป็นองค์กรที่มีพลังในการต่อรองกับอำนาจรัฐ  ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญพอๆกัน  การแสดงจุดยืนทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อความขัดแย้ง แตกแยก ของขบวนการภาคประชาชนโดยรวม ย่อมหมายถึงความล้มเหลวในการต่อสู้ของขบวนภาคประชาชน สถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาของการปรับรูปขบวนการภาคประชาชนครั้งใหญ่  ก่อนที่จะเติบโตเป็นองค์กรนำของภาคประชาชนรากหญ้าในอนาคต

กระแสการ เรียกร้องการปฏิรูปจากทุกภาคส่วน  เป็นกระแสสูงที่ย่อมเป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหว และเป้าหมายของขบวนการภาคประชาชนในอนาคต  หากสังคมไทยสามารถดำรงอยู่ได้ภายหลังความขัดแย้งอย่างรุนแรง  และหากเราปรับรูปขบวนฯ ได้ทันพอดี  แรงส่งของการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ของสังคมไทย  อาจจะเห็นผลได้ในชั่วชีวิตของพวกเรา
ปัญหาของวัฒนธรรมอำนาจนิยม

ชนชั้นกลางในกรุงเทพ และในภาคใต้ ปฏิเสธการเลือกตั้ง หากไม่มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง พวกเขาไม่มั่นใจระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน  เพราะเห็นว่า ระบอบดังกล่าวเหมาะกับสังคมที่มีวุฒิภาวะในการแยกแยะความผิดถูกชั่วดี  การเลือกตั้งทุกครั้งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สังคมได้ผู้ปกครองที่เป็นทรราช เป็นผู้ที่ไม่คำนึงถึงศีลธรรม และใช้ผลประโยชน์ในการหว่านล้อมประชาชนที่ขาดความเข้าใจ  ประเด็นของการปฏิรูปจึงต้องการกีดกันคนไร้ศีลธรรมออกจากระบบการเมือง  และกระจายอำนาจออกไปสู่ประชาชนวงกว้าง  การสร้างพื้นฐานใหม่จะเป็นหลักประกันต่อความอยู่รอดของสังคม

มีคำ ถามมากมายที่คำอธิบายดังกล่าวจะต้องหาคำตอบ  เช่น  จะตัดปัจจัยการขยายตัวของชนชั้นกลางใหม่ในชนบท ที่เป็นพลังของคนกลุ่มใหม่ ที่ต้องการพื้นที่ทางการเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆได้ อย่างไร   จะอธิบายได้อย่างไรว่า  ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน กลายเป็นกระแสหลักของประเทศต่างๆทั่วโลก ที่ยอมรับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  โดยไม่แบ่งชนชั้น ผิวสี เพศ การศึกษา ฯลฯ    ใครจะเป็นผู้นิยามศีลธรรมของการเป็นผู้ปกครองที่ดี  หากได้เป็นผู้ปกครองโดยไม่ผ่านกระบวนการเห็นชอบของคนส่วนใหญ่  จะนับเป็นผู้ปกครองที่มีศีลธรรมอันดีได้หรือไม่  ใครคือครูใหญ่ ที่จะเป็นผู้ตรวจข้อสอบ ว่า คนส่วนใหญ่มีความรู้ไม่มากพอที่จะตัดสินอนาคตของสังคม    กระบวนการที่ไม่ชอบธรรม แม้จะบรรลุเป้าหมาย  เป็นวิถีทางที่คนในสังคม ควรจะยอมรับใช่หรือไม่    ฯลฯ

การใช้เหตุผลแบบไม่ซับซ้อน เพื่ออธิบายสภาพของสังคมที่มีปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวพันกันอย่างยุ่งเหยิง  มีที่มาจากฐานะการครอบงำของวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม (เสกสรร ประเสริฐกุล:ปาฐกถา 14 ตุลาฯ 56)  ที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน   ประชาธิปไตยของสังคมไทย เติบโตผลิดอกอยู่บนพื้นที่ของวัฒนธรรมอำนาจนิยม  การรัฐประหารเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของการครอบครอง พื้นที่เดิมของชนชั้นนำเก่าอย่างเหนียวแน่น ความคิดแบบชาตินิยม  อนุรักษ์นิยม สถาบันนิยม และการมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบอภิสิทธิชน  ได้หล่อหลอมกลายเป็นอุดมคติที่ต่อต้านแนวคิดที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอ ภาค  เพราะพวกเขาทนไม่ได้ที่โลกของพวกตนจะถูกรุกรานจากผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเพียง พอ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ไม่อาจกลายเป็นพลเมืองภายใต้ผู้นำที่เป็นตัวแทนของผู้ที่ไม่มีความพร้อม  วัฒนธรรมอำนาจนิยม  จึงต้องเป็นผู้คัดเลือกและตัดสินเรื่องราว และคุณค่าต่างๆ ด้วย คำนิยาม และการอธิบายแบบใหม่  ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า เป็นสิ่งที่สมบูรณ์กว่าคำอธิบายของประชาธิปไตยแบบดาษ ๆ

การหลอมรวม อุดมคติของวัฒนธรรมอำนาจนิยม  ดำเนินมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน  จนแม้กระทั่ง พลเมืองที่ถูกวาทกรรมดังกล่าวที่ผลิตซ้ำมาชั่วชีวิตครอบงำโดยไม่รู้สึกว่าตน เองเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอำนาจนิยม  พูดง่ายๆ พวกเขาไม่ได้มีเจตนาจะดูถูกความเสมอภาค แต่มันจำเป็นต้องมีข้อยกเว้น

ดัง นั้น  เราจะเห็นการถกเถียงที่ไม่อาจจะเอาชนะกันด้วยเหตุผล  เพราะคำอธิบายของทั้งสองฝ่าย อยู่บนฐานคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  แต่ละฝ่ายต่างนิยามคุณค่า และความหมายของเรื่องราวแตกต่างกันไป  และต่างก็ยกเอาเหตุผลตามฐานคิดของตนในการอธิบาย  พรรคเพื่อไทยอธิบายว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย  ศาลฯตอบว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่เหนือลายลักษณ์อักษร   respect my vote ขอให้ กกต.เดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามหน้าที่  กกต.ตอบว่า   ถ้าสังคมอยู่ในเงื่อนไขที่จะเกิดความรุนแรง  การจัดการเลือกตั้งจะไม่เป็นทางออกของสังคม  กกต.เป็นองค์กรที่ต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาที่มากกว่าการเลือกตั้ง    คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับ นายกฯคนกลาง เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง   กปปส. นักธุรกิจ และ เอ็นจีโอบางส่วน  เห็นว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ทุกฝ่ายต้องเสียสละ
ประชาธิปไตยสองกระแส

ในทัศนะของ อ.เสกสรรค์  ความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่ นับตั้งแต่ปี 49  เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากการสะสมของพลังการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมาเป็น เวลานาน  และมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องสามประการ คือ  การต่อสู้ระหว่าชนชั้นนำเก่า ที่ครอบครองอำนาจมาเป็นเวลานาน กับชนชั้นนำใหม่ที่เติบใหญ่จากระบบทุนโลกาภิวัตน์    ฐานะการครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ไม่สอดคล้องกับอุดมคติประชาธิปไตย  และ ความไม่ต่อเนื่องของพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่ลุ่มๆดอนๆ

ชนชั้นนำ ใหม่  เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยการขยายบทบาทและอิทธิพลของอุดมคติประชาธิปไตยในรูปแบบ ประชาธิไตยแบบตัวแทน  พวกเขาประสบความสำเร็จในการหยั่งรากความคิดนี้ให้กับมวลชนจำนวนมหาศาลที่ กลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ในการเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงแรกของการเข้ายึดครอง อำนาจ  นโยบายแบบรัฐสวัสดิการเป็นเหมือนเครื่องจักรกลที่ดูดกลืนมวลชนให้เข้าร่วม กับอุดมคติดังกล่าว  สอดคล้องกับหลักการความเสมอภาคที่มาพร้อมกับลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ที่ปลดปล่อยพันธนาการทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขาอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติ ศาสตร์   การเข้าถึงแหล่งทุน ความรู้ และโอกาสในการแสวงหาความก้าวหน้า  เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่พวกเขาเชื่อว่า สามารถกำหนดได้ร่วมกับพรรคการเมืองของพวกเขา  งานวิชาการหลายชิ้น ชี้ให้เห็นถึงผลของนโยบายที่มีต่อการตัดสินใจของคนชนบทในการเมืองระดับ ประเทศ มากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า   ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น  ที่มักคำนึงถึงความสัมพันธ์มากกว่านโยบาย

การไม่ยอมรับข้อเท็จจริง ข้างต้นของชนชั้นกลางในเมือง โดยกล่าวหาว่า  ระบอบทักษิณได้รับชัยชนะทุกครั้งเพราะการติดสินบนโดยนโยบายประชานิยม   เป็นผลมาจากทัศนะของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่คับแคบและครอบงำพวกเขา  กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขาเป็นเหยื่อของชนชั้นนำเก่าโดยไม่รู้ตัว

ใน ขณะที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน  รุ่งเรืองและเฟื่องฟูจนถึงจุดสูงสุดในปี 2549 ประชาธิปไตยกระแสที่สองซึ่งได้รับการยกระดับ ขยายผล โดยเอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนชายขอบ  ผู้ที่ถูกรังแกจากโครงการพัฒนาของรัฐ  ผู้ไร้ที่ทำกินที่ถูกกล่าวหาว่ารุกป่า และถูกขับไล่ อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน  ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้ง ชนชั้นกลางจำนวนน้อย และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม   พวกเขานิยามวิถีทางประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่  ซึ่งมีชี่อเรียกหลายแบบ เช่น ประชาธิปไตยที่กินได้  ประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม  สิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคต ตลอดจน คำใหม่ๆที่มักได้ยินในช่วงปัจจุบัน คือประชาธิปไตยทางตรง

พวกเขาไม่ไว้ใจประชาธิปไตยแบบตัวแทน เช่นเดียวชนชั้นกลางในเมือง  ทั้งอุดมคติของพวกเขาก็แตกต่างจากมวลชนในแบบประชาธิปไตยตัวแทน   พวกเขาต้องการความเรียบง่าย  พึ่งตนเองได้ อยู่กับธรรมชาติ และสร้างชุมชนที่กำหนดชะตากรรมร่วมกัน  ในขณะที่มวลชนของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อไต่เต้าตามความฝันที่จะเป็นชนชั้นกลางในระดับถัดๆไป  พวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยม บริโภคนิยม และมีค่านิยมเฉกเช่นเดียวกับพลเมืองในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม  พวกเขาไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม  ไม่เข้าใจเรื่องการประหยัดพลังงาน  เมื่อชนชั้นกลางในเมืองทำอะไรได้  พวกเขาก็ควรมีสิทธิเช่นเดียวกัน  ความเสมอภาค เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้  ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งสิทธิที่ชอบธรรมนี้ได้อีกต่อไป

เมื่อทำความ เข้าใจกับสภาพที่สลับซับซ้อนดังกล่าว  ประเด็นที่จะต้องเลือกว่า จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป จึงไม่มีความหมาย เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่   วิทยาศาสตร์อธิบายว่าเป็นคำถามที่ผิด เพราะทั้งไก่และไข่เกิดมาพร้อมกัน  เดิมทีไม่ได้เป็นทั้งไก่และไข่  แต่กฎของวิวัฒนาการได้ปรับแต่งเปลี่ยนแปลงให้มีทั้งความเป็นไก่และความเป็น ไข่ไปพร้อมๆกัน  ทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์เซลล์เดียวที่กำเนิดขึ้นในมหาสมุทร

ดัง นั้น หากไม่ปฏิรูปไปพร้อมกับการเลือกตั้ง  หรือไม่เลือกตั้งไปพร้อมการปฏิรูป  ก็ไม่มีทางที่เราจะหาทางออกจากความขัดแย้งนี้ไปตลอดกาล   พลังการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความคิดทั้งสองฟาก จะคอยถ่วงดุลและคานอำนาจจนถึงวันที่ทั้งสองฝ่ายจะหล่อหลอมพลังเข้าด้วยกัน  เหมือนเช่นที่ทั้งไก่และไข่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น