แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

11 เคล็ดลับในการดูแลรักษาดวงตา ในชีวิตประจำวันของทุกท่าน

ที่มา นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก ประธานคณะอนุกรรมการข่าวสารสัมพันธ์เพื่อประชาชน ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

11 เคล็ดลับในการดูแลรักษาดวงตา
ในชีวิตประจำวันของทุกท่าน คนปฏิเสธไม่ได้ว่า การมองเห็นเป็นประสาทสัมผัสที่เราใช้มากที่สุด เหมือนหลายๆ อย่างในชีวิตเราที่มีความเสื่อมหรือเปลี่ยนแปลงได้ ดวงตาของเราก็มีความเสื่อม และก็ต้องมีการดูแล ป้องกัน ระวังภัย เพื่อให้ดวงตาของเรามองเห็นสวยสดใสไปนานเท่านาน ดั่งคำโบราณที่ว่า “Prevention is better than cure” หรือการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคย่อมดีกว่า การมานั่งรักษาเมื่อเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อน

จากประสบการณ์การเรียน ทำงานดูแลผู้ป่วยโรคตา และสอนทางจักษุวิทยา มาหลายปี พบเห็นความเจ็บป่วยทางตามากมาย ซึ่งบ่อยครั้งอาจดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิด หรือป้องกันไม่ให้เป็นรุนแรงได้ จนบางครั้งก็รู้สึกเสียดายแทนคนไข้ ถ้าเขาดูแลป้องกันได้ดีกว่านี้ อาจจะไม่ต้องลำบากเจ็บป่วยแบบนี้ ผมเลยขอสรุปเป็นเคล็ดลับจากประสบการณ์และความรู้มาฝากทุกท่านได้ดังนี้ครับ

1.ปกป้องดวงตาจากแสงแดด แสงจากแดดโดยเฉพาะบ้านเรานับว่าแรงมากๆ แต่เราท่านๆเติบโตแบบนี้มา บางท่านก็จะชิน ออกกลางแจ้งสู้แดดมาตลอดตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเกิดความเสื่อมและโรคต่างๆ ตามมา

รังสีจากแสงแดดโดยเฉพาะแสง ultraviolet (UV) ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมของตาได้มาก ในระยะสั้นอาจทำให้เจ็บแสบเคือง ตาแห้ง หรือแม้กระทั่งกระจกตาอักเสบฉับพลันได้ ส่วนระยะยาวทำให้เป็นโรคต้อลม ต้อเนื้อ รวมทั้งอาจจะทำให้ต้อกระจกมาเร็วกว่าวัย หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงเรื่องจอประสาทตาเสื่อมได้

ถ้าเทียบกับแสงจากคอมพิวเตอร์ หรือจากมือถือ กับแสงแดดก็ถือว่าน้อยมากๆ อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะกลัว ให้กลัวแสงแดดดีกว่าครับ

แนะนำให้ใส่แว่นกันแดดที่ป้องกันดวงตาจากแสง UV ได้ 100% เวลาออกกลางแจ้ง อาจจะให้เขาวัดให้ดูก่อนซื้อ หรือดูจากฉลากที่เชื่อถือได้ กรอบกว้าง และใส่สบาย กันลมได้ด้วยจะยิ่งปกป้องได้ดี แต่ถ้าออกกลางแจ้งมากๆ แนะนำ
ใส่หมวกที่มีปีกกว้างก็จะเสริมป้องกันได้ดียิ่งขึ้น

2.ใส่แว่นกันอุบัติเหตุถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อดวงตา เพราะกว่า 90% ของอุบัติเหตุทางตา สามารถป้องกันได้เพียงแค่ใส่แว่นป้องกัน แว่นที่ดีจะกว้างกรอบและเลนส์แข็งแรง (อย่างเช่น polycarbonate lens) ควรจะมีไว้อย่างน้อยบ้านละ 1 อัน ไว้ใส่ในกรณีที่ต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยง ไม่ว่าจะทำงานซ่อมแซม ก่อสร้าง เช่น ตอกตะปู เจียรเหล็ก ตัดไม้ตัดเหล็ก หรือทำงานทางเกษตรกรรม ตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้ ทำนา ทำสวน หรือทำงานในบ้าน เช่น ล้างห้องน้ำ หรือที่ต้องใช้น้ำยาเคมีต่างๆ การซ่อมแซมของที่บ้าน หรือการเล่นกีฬา ที่มีลูกวิ่งเร็วไปมา เช่น ยิงปืน แบดมินตัน สควอช เป็นต้น ที่ยกตัวอย่างมาคือหมอพบเจอคนไข้ที่สูญเสียการมองเห็นจากกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น บางครั้งจักษุแพทย์ก็ช่วยได้มาก แต่บางครั้งก็อาจบาดเจ็บรุนแรงเกินกว่าที่ทำให้มองเห็นกลับมาดีได้เหมือนเดิม

3.ตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ หรือบุคลากรทางจักษุวิทยาเป็นระยะ ตั้งแต่เด็กควรต้องตรวจเช็คดูการมองเห็น ตาเหล่ แสงสะท้อนจากจอตา (red reflex) ในเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน ก็ควรตรวจเพื่อดูเรื่องสายตาสั้นยาวเอียงด้วย โรคตาในเด็กหลายๆ อย่างอาจจะซ่อนอยู่ อย่างเช่นสายตาผิดปกติมากๆ 1 ข้าง ถ้าไม่ตรวจทีละข้างอาจจะไม่รู้เลย หรือรู้อีกทีเมื่อโตแล้ว พอมีตาขี้เกียจก็รักษากลับมาไม่ได้ เพราะตาขี้เกียจต้องรักษาตั้งแต่อายุน้อยจึงจะได้ผลดี

อายุเกิน 40 ปีก็ควรจะตรวจตาอย่างละเอียดกับจักษุแพทย์ เพราะโรคตาหลายๆ อย่าง เช่น ต้อหิน ระยะแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ถ้าไม่ตรวจก็ไม่ทราบถ้าถึงระยะที่มีอาการก็มักจะเป็นระยะหลังที่เส้นประสาทเสียไปมาก เอากลับคืนมาไม่ได้ หมอก็ได้แต่คุมเส้นประสาทที่เหลือ ให้อยู่กับคนไข้นานที่สุด

คนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคตา อย่างเช่นคนที่มีโรคตาต่างๆ ในครอบครัว โดยเฉพาะต้อหิน หรือมีโรคประจำตัว กินยาประจำที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตาก็อาจจะต้องตรวจตาเช็คเป็นระยะบ่อยกว่านั้น หรือตามความเหมาะสม

4.ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี โดยเฉพาะเบาหวาน ดวงตาก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่อาศัยในร่างกาย เหมือนจังหวัดหนึ่งในประเทศ หลายๆ โรคอาจทำให้เกิดปัญหาได้หลายระบบ อย่างเช่น เบาหวาน ถ้าคุมไม่ดีก็เหมือนมีน้ำเชื่อมไหลอยู่ในเส้นเลือดตลอดเวลา ทำให้เส้นเลือดเสื่อมได้เร็วทั่วๆ ร่างกาย ที่ตาก็อาจมีเส้นเลือดที่จอประสาทตาผิดปกติ รั่วซึม หรือมีการกระตุ้นเส้นเลือดใหม่ เลือดออกในตา หรือจอประสาทตาหลุดลอกได้ ถ้าเป็นเบาหวาน ควรตรวจขยายม่านตาดูจอประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังและดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อน

5.อย่าขยี้ตา อย่านวดตา ดวงตาเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน แต่ก็บอบบางและอ่อนโยน ถ้าอยากให้เขาทำงานดีๆ นานๆ ก็ไม่ควรรุนแรงกับเขา

ถ้าคันตาขยี้ตาบ่อยๆ ระยะยาวอาจจะทำให้กระจกตาอ่อนแอโป่งพองได้ ถ้าคันตาแนะนำให้ประคบเย็นจะดีกว่า หรือถ้าคันบ่อยๆแนะนำปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

ส่วนการนวดตาอาจทำให้ความดันในตาสูงขึ้นซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นต้อหิน อาจทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดจอตา อาจทำให้โรคจุดรับภาพเสื่อมแย่ลงได้จากการมีเลือดออกในชั้นจอตา การนวดตามิได้ช่วยให้ภาวะสายตาสั้นดีขึ้น นอกจากนั้นการนวดตาอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของโครงสร้างอื่นๆ ภายในลูกตาได้ ไม่แนะนำให้ทำอย่างยิ่งครับ

6.รับประทานอาหารให้ครบหมู่ กินผักผลไม้ โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริม หรือยาบำรุงเสริม ยาบำรุงต่างๆ ที่โฆษณากันอย่างโจ่งครึ่มทั้งหลายนั้นต่างไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน ว่าคนที่กินหรือดื่มอาหารเสริมนั้นๆ ลดการเกิดโรคได้ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่กิน นอกจากนั้นคนไทยโดยส่วนใหญ่ไม่ขาดอาหารแล้ว(สมัยนี้ส่วนใหญ่อาจจะอาหารเกินมากกว่า) การไปซื้อยาบำรุงแพงๆ มากิน นอกจากตาจะไม่ดีขึ้นแล้ว คุณท่านๆ ก็จะจนลงด้วย

โรคที่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนมีเพียงโรคเดียวคือโรคจุดรับภาพเสื่อมจากอายุแบบแห้งบางลักษณะเท่านั้นที่อาจจะได้ประโยชน์ นอกจากนั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน

7.หมั่นสังเกตการมองเห็นของตัวเองทีละข้าง คนไข้หลายๆ คนไม่เคยหลับตา หรือปิดตาดูทีละข้าง บางครั้งก็จะไม่ทราบเลยว่าดวงตาเราผิดปกติไปแล้วข้างหนึ่ง เพราะเขาก็จะช่วยกันทำงานอยู่ ถ้เราช่างสังเกตดีๆอาจมาตรวจรักษาได้แต่ระยะเริ่มต้นของโรค ซึ่งก็มักจะดูแลรักษาได้ง่าย และผลดีกว่า อาการผิดปกติไม่ว่าจะเป็น มัวเป็นส่วนๆ (ตรงกลาง หรือด้านข้าง) หรือหมอกฝ้าไปทั่ว อ่านหนังสือไม่ชัดทั้งที่ใส่แว่นเหมาะสมแล้ว ภาพบิดเบี้ยว มีจุดดำๆ ลอยไป-มา หรือแสงแวบเหมือนฟ้าแลบ ภาพซ้อน เป็นต้น อาการเหล่านี้อาจบอกว่าเรามีปัญหาทางตาแล้วควรรีบไปตรวจรักษา

8.ใข้ยาหยอดตาอย่างเหมาะสม ไม่พร่ำเพรื่อ ไม่น้อยไป ไม่มากไปโรคตาบางอย่าง เช่น ต้อหิน อาจต้องหยอดยาเพื่อคุมความดันตาตลอด ก็ต้องมีวินัยหยอดสม่ำเสมอ สะอาด ถูกวิธี และมีวินัย ยาหยอดตาที่ซื้อใช้เองได้คือกลุ่มน้ำตาเทียม นอกจากนั้นยากลุ่มอื่นๆ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ยาหลายๆ อย่าง เช่น ยาหยอดตากลุ่มสเตอรอยด์ ถ้าซื้อหยอดเองอาจทำให้โรคติดเชื้อที่ตากำเริบ หรือในระยะยาวทำให้ความดันตาสูง เป็นต้อหิน และอาจสูญเสียการมองเห็นได้ ถ้าไม่ได้รับการตรวจติดตามที่เหมาะสมโดยแพทย์

9.มือไม่สะอาดอย่ามาจับตา การติดเชื้อหลายๆ อย่างที่ตา อาจจะมาจากมือเรา เพราะวันๆ หนึ่งเราจับอะไรเยอะแยะที่อาจจะมีเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเงินที่จับประตู เสารถไฟฟ้า ราวบันได พอเชื้อโรคติดมือมาเราเอามาป้าย มาขี้ตาก็อาจทำให้ติดเชื้อเป็นตาแดงได้ง่าย ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนจับตา

10.ถ้าจำเป็นต้องใส่คอนแทคท์เลนส์ ต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างดีสม่ำเสมอ ไม่ใส่นอน การใส่นอนจะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อที่กระจกตาอย่างมาก ไม่ใส่ว่ายน้ำ ไม่ใส่อาบน้ำ เลนส์ห้ามมีขั้นตอนใดที่สัมผัสกับน้ำประปา ล้างมือให้สะอาดเช็ดให้แห้งก่อนสัมผัสเลนส์ทุกครั้ง “ถู” และ “ล้าง” เลนส์ก่อนนำไปแช่ฆ่าเชื้อเสมอ ถ้าเราดูแลไม่ดีกระจกตาติดเชื้อจะมีจุดขาวๆ ขึ้นที่ตาปวดแดงเคืองมาก ถึงรักษาหายดีก็จะมีแผลเป็นที่กระจกตา ถ้าอยู่ตรงกลางก็จะรบกวนการมองเห็นอย่างถาวรได้

11.ดูแลก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ฝากครรภ์ให้ดี เช็คภูมิ หรือฉีดวัคซีนป้องกันหัดก่อนตั้งครรภ์ ดูแลสุขภาพ ฝากท้องให้ดี พยายามลดความเสี่ยงที่จะทำให้คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากการเป็นหัดเยอรมันในช่วงท้อง อาจทำให้เด็กมีความพิการได้หลายอย่างรวมทั้งทางตา และเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจอประสาทตายังไม่พัฒนาเต็มที่ ก็จะมีโรคตา retinopathy of prematurity ได้

คำแนะนำดังกล่าวคงจะไม่สามารถป้องกันโรคตาได้ทั้งหมด แต่ก็หวังว่าอาจจะลดความรุนแรง หรือตรวจรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทุกท่านจะได้มีดวงตาที่สวยสดใส ดูโลกสวยๆ และคนที่คุณรักได้นานเท่านานครับ


นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก ประธานคณะอนุกรรมการข่าวสารสัมพันธ์เพื่อประชาชน ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น