http://www.youtube.com/watch?v=i-w4rzqwfM4
จาก เพจเฟซบุ๊ก สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ได้เผยแพร่คลิปเสียง สปป. ครั้งที่ 1: พวงทอง ภวัครพันธุ์ - นิธิ เอียวศรีวงศ์
Credit มติชนออนไลน์
โดยเป็นรายการสนทนาระหว่าง นางพวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สมาชิกสปป. กับ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์
ปัญญาชนอาวุโส มีเนื้อหาดังนี้
อ.พวงทอง: สวัสดีค่ะ พี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตย
และผู้ที่ติดตามเพจของ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยทุกท่าน วันนี้ ดิฉัน พวงทอง
ภวัครพันธุ์ จะขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ เสียง สปป.
วันนี้ดิฉันจะมาพูดคุยกับ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในประเด็นว่าด้วยสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน สวัสดีค่ะอาจารย์ (อ.นิธิ:
สวัสดีครับ)
อ.พวงทอง: คำถามแรกที่อยากจะเรียนถามก็คือ
อาจารย์รู้สึกอย่างไรหลังจากที่ได้ฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้พระราช
กฤษฎีกาการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
อ.นิธิ:คือก็ไม่แปลกใจอะไรเพราะทุกคนก็คาดเดาว่าจะต้องออก
มาในรูปนี้อยู่แล้วแต่ถ้าจะมีความแปลกใจอยู่บ้างก็คือว่าทำไมถึงตัดสินให้
ตัวพระราชกฤษฎีกาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เพราะหาเหตุผลไม่ได้ว่ามันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างไร
แต่หลังจากคำตัดสินไปแล้ว ผมก็พอจะคิดออก อย่างที่หลายคนก็คิดออก
ว่าทั้งหมดเหล่านี้ เพื่อจะปกป้องพรรคพวกของศาลรัฐธรรมนูญ คือกกต.
เพราะว่าตัวการเลือกตั้งไม่เป็นไร ไม่ผิด แต่ตัวพระราชกฤษฎีกานี่ผิด
ก็จะช่วยปกป้องให้กกต.
ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งพ้นจากความรับผิดชอบและความผิดทั้งหมดไป
โดยปริยายนั่นเอง
ทีนี้ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ผมเชื่อว่าความพยายามจะร่วมมือกัน
ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญก็ตามกกต.ก็ตามปปช.ก็ตามอย่างนี้ มันทำให้เห็นว่า
อันที่หนึ่งชัดเจนเลย ก็คือมันเป็นความพยายามที่มีการประสานกัน
ภาษาฝรั่งเรียกว่า concerted effort
ข้อที่สองก็คือว่า
ถ้าองค์กรอิสระเหล่านี้สามารถประสานไปในทิศทางเดียวกันได้ขนาดนี้
บอกว่ากระทำโดยบังเอิญ เป็นไปไม่ได้ แสดงว่ามันต้องมีอำนาจอะไรอีกบางอย่าง
ที่ช่วยทำให้เกิดการประสานงานกันระหว่าง ปปช., ศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้ฟ้องก็คือผู้ตรวจการแผ่นดินในรัฐสภา อื่นๆ อีกเยอะแยะไปหมดเลย
ทั้งหมดเหล่านี้มันมีอำนาจอะไรบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังการประสานงานกันของ
องค์กรอิสระเหล่านี้
อ.พวงทอง:อำนาจอันนี้เป็นแบบที่ประชาชนเรียกกันว่าประธานกปปส.หรือเปล่าคะ
อ.นิธิ:ครับมันต้องมีประธานกปปส. จะเป็นใครก็ตามแต่ แต่ต้องมีประธานกปปส. ไม่งั้นมันจะประสานกันอย่างนี้ไม่ได้หรอกครับ
อ.พวงทอง: แต่ดูเหมือนตอนนี้ประชาชนก็พอจะมีคำตอบอยู่ในใจว่าใครเป็นประธานกปปส.อยู่
อ.นิธิ:ใช่ผมก็พอจะมองเห็นว่าใครคือประธานกปปส.อยู่
อ.พวงทอง:เพียงแต่ว่าพูดไม่ได้เท่านั้นเอง
อ.นิธิ:เพียงแต่ว่าพูดไม่ได้
และมันก็ไม่สามารถจะหาหลักฐานชัดเจนได้ แต่ว่าสถานการณ์แวดล้อมทั้งหมด
มันชี้ชัด กระทั่งว่า มันก็ไม่จำเป็นต้องไปหาหลักฐานกันอีกแล้ว
อ.พวงทอง: คราวนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เสียงด่าทอต่อบรรดาองค์กรอิสระ และบรรดาตุลาการศาลทั้งหลายแหล่
มันดังเซ็งแซ่ไปหมดเลย แต่พวกเขาดูจะไม่รู้ร้อนรู้หนาว
แล้วก็ไม่แคร์เสียงด่าทอเหล่านี้ อาจารย์คิดว่าเป็นเพราะอะไรคะ
อ.นิธิ: คือเป้าหมายหลักเลย
ผมคิดว่ามันมาจากการที่รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เดิมเมื่อตอนที่ร่างกัน
คิดว่ามันเพียงพอที่จะทำให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง
ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามแต่
จะถูกถ่วงดุลด้วยอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นอำนาจตามประเพณี
เป็นอำนาจของกลุ่มชนชั้นทางสังคม หรืออะไรก็ตามแต่จะถ่วงดุลกันได้
แต่ปรากฏว่ามันถ่วงดุลกันไม่ได้
เช่นตัวอย่างรัฐธรรมนูญปี 2550
ต้องการจะมีฝ่ายบริหารที่ไม่เข้มแข็งเนื่องจากว่าจะมีพรรคการเมืองที่แตก
เป็นหลายๆ พรรค แต่ปรากฏว่าวันนี้ไม่ใช่
กลับปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชาชนก็ตาม
ได้คะแนนเสียงค่อนข้างเป็นกอบเป็นกำมากๆ
ซึ่งทำให้แผนการทั้งหมดของรัฐธรรมนูญปี 2550
มันไม่เป็นไปอย่างที่เขาคาดหวัง
เพราะฉะนั้นความพยายามของเขาที่สืบเนื่องมาหลายปี
คือพยายามทำอย่างไรที่จะทำให้อำนาจของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งลดความ
สำคัญลง ไม่สามารถอาศัยบทบัญญติรัฐธรรมนูญได้อย่างเดียวแล้ว
ต้องอาศัยการแทรกแซงของฝ่ายองค์กรอิสระทั้งหลาย
เพื่อจะถ่วงดุลอำนาจนี้ให้ได้ แล้วก็ปรากฏว่า
ก็ยังถ่วงดุลไม่สำเร็จอยู่นั่นเอง ในที่สุดก็เลยเกิดกปปส.ขึ้นมา
ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่จะทำให้ต้องระงับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550
เพราะเชื่อกันว่ามันไม่พอหรอกบางมาตรา หรือหลายมาตราเลย ในระยะยาว
อ.พวงทอง: อ.พูดถึงว่า เป้าหมายของรัฐธรรมนูญปี 2550
ก็คือพยายามที่จะทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอลง
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอลง
ทำให้เสียงของประชาชนในการกำหนดทิศทางของการเมืองมีความหมายน้อยลง
อันนี้คือจุดประสงค์ระยะยาวของเขา
อ.นิธิ: ครับ ซึ่งมันไม่สำเร็จ
อ.พวงทอง: และอาจารย์คิดว่าเขาจะพยายามต่อไปไหม ด้วยวิธีการแบบไหน
อ.นิธิ:
ตอนนี้ผมไม่คิดว่าเขาไม่จะพยายามรักษาตัวนั้นเท่าไรแล้ว
เพราะพบแล้วว่ามันทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ เขาก็คงจะปรับเปลี่ยน
โดยทำให้อำนาจของพรรคการเมืองหรือใครก็แล้วแต่ที่มาจากการเลือกตั้ง
อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งนี้ยิ่งลดความสำคัญลงไปอีก จะลดโดยการมีสส.
หรือสว. หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มาจากการแต่งตั้งให้มีมากขึ้น และอื่นๆ
อีกหลายอย่าง
อ.พวงทอง: อาจจะมีการแก้รัฐธรรมนูญว่านายกไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
อ.นิธิ: เป็นต้น
ในระยะหนึ่งก็คงจะต้องระงับใช้บางมาตราก่อน
แล้วต่อมาก็คงจะต้องแก้รัฐธรรมนูญในลักษณะที่ทำให้อำนาจจากการเลือกตั้งไร้
ความหมาย
อ.พวงทอง:ก็พยายามทำให้นายกคนนอกถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น
อ.นิธิ:อันนี้เป็นระยะสั้นแต่ระยะยาวแล้ว แค่อำนาจจากคนนอกอย่างเดียวมันก็ไม่ได้มาก
อ.พวงทอง: อาจารย์พูดได้ไหมคะว่ากลุ่มอำนาจเก่า
ที่กำลังพยายามในขณะนี้ เขารังเกียจการเลือกตั้งทุกระดับ
แล้วก็รังเกียจเสียงของประชาชนที่จะเป็นผู้ตัดสินทิศทางทางการเมือง
อ.นิธิ: ผมคิดว่าเขารังเกียจเสียงของประชาชนมากกว่า
เพราะเสียงของประชาชนนี่มันทำสองอย่างที่ผมคิดว่าเขาไม่พอใจเลย อันที่หนึ่ง
คือการทำให้การกำหนดนโยบายสาธารณะมันไม่ถูกผูกขาดโดยพวกชนชั้นสูงอีกต่อไป
อันที่สอง
คือทำให้อุดมการณ์ของชนชั้นสูงไทยซึ่งมีมานานมากคืออุดมการณ์ที่ผมขอเรียก
ว่า “สังคมสงเคราะห์” คือคนรวยช่วยคนจน คุณไม่ต้องมีนโยบาย
ไม่ต้องมีระบบภาษีที่ยุติธรรม ไม่ต้องมีระบบการศึกษาที่ยุติธรรม
ไม่ต้องมีระบบการถือครองที่ดินที่ยุติธรรม แต่ขอให้คนรวยเห็นแก่คนจน
เอาเงินไปช่วยคนจนบ้าง ถ้าไม่กำไรมากนักก็แจกผ้าห่มเล่นดี
ผมคิดว่านี่คืออุดมการณ์รากฐานของการถืออภิสิทธิ์ในสังคมไทยหรือคนอื่นๆ
ในสังคมไทยสืบมาเป็นเวลานานมาก
และตรงนี้ถ้าคุณปล่อยให้การเลือกตั้งมันมีความสำคัญต่อไปเรื่อยๆ
ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่คุณต้องการให้มันถูกทำลายลง เช่นเป็นต้นว่า 30
บาทรักษาทุกโรค ผมคิดว่าประชาชนเริ่มสำนึกได้แล้วว่า
การที่เขาจะได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพจากรัฐ เป็นสิทธิ
ไม่ใช่ความเมตตาของใครทั้งสิ้น
อ.พวงทอง: อย่างนี้การที่กปปส.พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์
พูดถึงการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
มันก็ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปที่มาจากระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนเข้มแข็ง
แต่เป็นการปฏิรูปให้กลุ่มอำนาจเก่า ชนชั้นนำกลับมาความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
และเป็นผู้กำหนดทิศทางทางการเมืองไทย
อ.นิธิ: แน่นอนเลย
อันนี้ชัดเจนโดยตัวของมันเองอยู่แล้วว่ากปปส.นี่ดำเนินการมาทั้งหมดเหล่านี้
โดยไม่ได้มีการเคารพต่อเสียง หรือความเห็นของประชาชนเลย ที่สำคัญก็คือว่า
ถ้าคุณคิดถึงการปฏิรูป
มันหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่คนทุกกลุ่มในสังคมต้องเข้ามาร่วมต่อรอง
แต่กปปส.กลัว จริงก็ไม่ใช่กปปส.อย่างเดียว ประธานกปปส.
หรือชนชั้นนำของไทยเราที่เคยมีมา กลัวเสียงของประชาชน
กลัวการต่อรองที่เท่าเทียมกันจากคนทุกกลุ่ม
จึงอยากปฏิรูปโดยไม่ให้คนกลุ่มอื่นๆ มามีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกับตัวเอง
เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิรูปแบบนี้
ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน
คือเฉพาะชนชั้นนำกลุ่มน้อยเท่านั้นเป็นผู้กำหนดว่าอะไรเปลี่ยนได้แค่ไหน
และอะไรไม่ควรเปลี่ยนเลย
อ.พวงทอง:
เราพูดกันถึงการเมืองในแง่ของความต้องการของกลุ่มอำนาจเก่าหรือชนชั้นนำ
คราวนี้ถ้าในมิติของประชาชน ในด้านหนึ่งเราจะเห็นว่าประชาชนตื่นตัว
ทั้งในเมืองและในชนบท เรื่องสิทธิทางการเมืองของตัวเองมากยิ่งขึ้น
กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขวาง
ซึ่งเราก็หวังว่าเป็นมิติที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศนี้
แต่ในด้านหนึ่งเราจะเห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากเลยที่เรา
เห็นว่าเป็นคนมีการศึกษามีความรู้มีฐานะที่ดีในสังคมออกมาสนับสนุนการ
เคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส.และพันธมิตร คนเหล่านี้สนับสนุนในหลายๆ
เรื่องที่กปปส.ผลักดันเช่น
ทัศนะที่ดูถูกคนชนบทว่าไม่ใช่ผู้ตัดสินการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ
ขัดขวางการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
หรือสนับสนุนแนวทางหลายอย่างเช่นการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการ
เมืองเป็นต้น อาจารย์มองปรากฏการณ์ที่เดินสวนทางหลักๆ กันนี้ในสังคมไทย
ว่ามันจะเป็นปัญหาอย่างไรบ้างไหม
อ.นิธิ: ผมมีความคิดอย่างนี้นะครับ
มีสองประเด็นที่ผมว่ามีความสำคัญ อันที่หนึ่ง คือเมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลง
ไปไกลพอสมควรทีเดียวในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา
มันทำให้คนหลุดออกไปจากเศรษฐกิจ ขอประทานโทษ
ขอเรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงแล้วกัน มันหลุดออกไปแล้วจากเศรษฐกิจพอเพียง
ดีหรือไม่ดีก็ตามแต่ ทำให้เขาเข้ามาอยู่ในตลาดค่อนข้างเต็มตัว
คนเราพอเข้ามาอยู่ในตลาด คุณต้องต่อรองนโยบายสาธารณะได้ ถ้าคุณต่อรองไม่ได้
คุณจะถูกคนอื่นเอาเปรียบตลอด
และบัดนี้ผมว่าส่วนใหญ่ได้เข้ามาอยู่ในตลาดสาธารณะแล้ว
คนจำนวนมากหรือเอาแค่ง่ายๆ ไม่ได้มีการศึกษาอะไรจริงๆ เขาขายแรงงาน
เพราะฉะนั้นนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงานเขาต้องเข้ามาต่อรองได้
ถ้าเขาต่อรองไม่ได้ เขาจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา ดังนั้น
การที่คุณยังอยู่ในประเทศไทยที่ไม่พัฒนาการเมืองต่อไปจากนี้
จึงเป็นไปไม่ได้แล้ว คุณต้องเปิดพื้นที่ให้เขา
ในการที่จะให้คนเหล่านี้เข้ามาต่อรอง
ประเด็นที่สอง ที่มันจะเกี่ยวโยงกันก็คือว่า
ผมคิดว่าเราต้องยอมรับว่า
ชนชั้นนำไทยนี่เก่งพอสมควรในการผนวกเอาคนหน้าใหม่เข้ามาอยู่ในเวทีการเมือง
เช่นหลัง 14 ตุลา 2517
มันมีกลุ่มคนหน้าใหม่ที่เรียกว่ากลุ่มคนแรงงานคอปกขาว
ซึ่งได้รับการศึกษาพอสมควร
คนเหล่านี้เข้ามาแย่งอำนาจจากชนชั้นนำอย่างตรงไปตรงมา
เพราะชนชั้นนำแตกแยกกันเอง และเขาก็เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้
อาจจะไม่ใช่ในทันที แต่ค่อยๆ เปิดจนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม
ที่บอกว่านโยบาย 66/23 อะไรต่างๆ นานาเหล่านี้
ก็คือการเปิดพื้นที่ให้คนงานคอปกขาวเหล่านี้เข้ามาต่อรองเชิงนโยบายในที่
สาธารณะอย่างเปิดเผย
บัดนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปมากกว่านั้นอีกมันไม่มีแค่คนงานคอ
ปกขาวแล้วคำถามคือว่าชนชั้นนำมีความสามารถจะเปิดพื้นที่ที่สะดวกเอาคนหน้า
ใหม่เหล่านี้เข้าไปอยู่ในเวทีการเมืองหรือไม่คำตอบคือถ้าผมเห็นในระยะสิบปี
มานี้คือไม่มีหมดความสามารถนั้นไปแล้ว
เพราะคุณไม่สามารถรวมคนหน้าใหม่เหล่านี้ที่มีจำนวนมากกว่าคนงานคอปกขาวเยอะ
แยะไปหมด เข้าไปมีส่วนต่อรองบนเวทีการเมืองของประเทศไทยที่ครั้งนึงเคยทำได้
จะด้วยเหตุใดก็ตามแต่
ผมถือว่าคุณต้องหยุดการกระโดดขึ้นมาบนเวทีการเมืองของคนกลุ่มนี้ให้ได้
ซึ่งมันไม่มีทางจะหยุด นอกจากใช้ความรุนแรง นอกจากใช้วิธีทุจริตคดโกงต่างๆ
นานา
เช่นที่คุณได้พบการทุจริตคดโกงไม่ซื่อตรงต่อวิชาชีพตัวเองในกลุ่มตุลาการก็
ตาม ในกลุ่มองค์กรอิสระก็ตามอยู่ตลอดมา
ซึ่งจะยิ่งทำให้กลุ่มชนชั้นนำยิ่งอ่อนแอลง เพราะมันขาดความชอบธรรม
อ.พวงทอง: คนงานคอปกขาว หรือ White Collar Workers
ที่อาจารย์พูดถึง
เขาต่อสู้เพื่อให้ชีวิตของเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทางเศรษฐกิจ
แต่ในปัจจุบันเมื่อเขาอยู่ในฐานะที่ดีในสังคมแล้ว เขากลับกลายเป็น
จะเรียกว่าปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ปฏิปักษ์ต่อการกระจายอำนาจ
การกระจายความกินดีอยู่ดีไปให้คนส่วนอื่นในสังคมที่ยังต้องการสิ่งเหล่านี้
อยู่
ด้านหนึ่งเขามองว่าคนชั้นล่างคนชนบทหรือคนจนกลายเป็นภาระ
ทางเศรษฐกิจของเขาอาจารย์คิดว่ามันจริงหรือเปล่าหรือจะอธิบายยังไงกับการที่
ชนชั้นล่างมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นด้วยนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล
มันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเองในระยะยาวก็ได้
อ.นิธิ: ถามว่าเป็นภาระทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลาง...
อ.พวงทอง: เช่นเรื่องภาษี เขาจะบอกว่าเขาจ่ายภาษีมากกว่า
มันถูกเอาไปใช้ในโครงการประชานิยมต่างๆ ซึ่งเขาไม่ได้ประโยชน์
แต่พรรคการเมืองที่ใช้ได้เครดิต ได้เสียงกลับคืนมา อย่างนี้น่ะค่ะ
อ.นิธิ: อันนี้เป็นความเข้าใจผิดของเขา
เพราะภาษีจำนวนมากสุดคือภาษีการค้า หรือภาษี VAT นั่นแหละ
ซึ่งคนจนก็จ่ายมากทีเดียวเหมือนกัน
แต่อย่างไรก็ตามแต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่าถึงเรื่องที่ว่า
ถามว่าคนจนจะเข้ามามีส่วนในการต่อรองทางการเมือง
คนเหล่านี้จะเป็นภาระทางเศรษฐกิจแก่คนระดับชนชั้นกลางขึ้นไปหรือไม่
ผมยอมรับว่าเป็น แต่ถ้าคุณย้อนกลับไปดูว่าที่คุณเรียกว่าเศรษฐกิจ จริงๆ
คืออคติของการที่รัฐทุกรัฐบาลทุกพรรค
มีอคติในการที่จะให้ประโยชน์แก่คนชั้นกลางในเมืองมากกว่า
ตัวอย่างชัดๆ คือกรุงเทพกินงบประมาณส่วนกลางประมาณ 60-70%
ตลอดมา ไม่ใช่แค่รัฐบาลปัจจุบันนี้ (อ.พวงทอง:
ได้งบประมาณมากกว่าภาษีทีตัวเองจ่าย) แต่ในขณะเดียวกัน
ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ก่อนที่คุณทักษิณจะขึ้นเป็นนายกด้วยซ้ำไป
มันเริ่มมีการเบนทรัพยากรส่วนกลาง ลงไปสู่คนชนบทเพิ่มมากขึ้น
ทีละเล็กทีละน้อย เช่นปัจจุบันนี้อีสานจากที่เคยได้ 5%
แต่ตุลานี้ก็ขึ้นมาเป็น 7-8%
แล้วก็หลีกหนีไม่พ้นที่คุณจะเห็นว่าคนในชนบทจะเริ่มได้รับส่วนแบ่งของภาษี
เพิ่มมากขึ้นกว่าเก่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ถามว่าตรงนี้เป็นภาระทางงบประมาณ
ภาระทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองไหมเป็นแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า
เศรษฐกิจที่คุณพูดถึงเป็นเศรษฐกิจที่ลำเอียง ที่มันไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น
ถามว่ามันถ้ามันจะกลับไปสู่ความเป็นธรรมไหม ผมว่ามันกลับ
ทีนี้ถ้าถามว่าคนชั้นกลางในเมือง ทนรอหน่อยได้ไหม
ถ้าเราทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของคนในชนบท หรือคนส่วนใหญ่ดีขึ้น
ตลาดเราก็จะเข้มแข็งขึ้น
คุณก็ได้ส่วนแบ่งกำไรจากตลาดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้
มันก็จะย้อนกลับมาเอง ส่วนนี้ทำไมคุณถึงมองไม่เห็น
ผมก็อยากจะอธิบายว่ามันมาจากระบบการศึกษาของเราเอง
อ.พวงทอง: คำถามสุดท้ายค่ะอาจารย์
คือเราจะเห็นว่าความเกลียดชังของประชาชนในฝ่ายต่างๆ
มันเข้มข้นและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
สถานการณ์แบบนี้มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยไหมคะ อย่างเช่นในช่วง 6
ตุลา เราก็จะเห็นว่ามีการสนับสนุนของมวลชนฝ่ายขวา
ในปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่มีความคิดต่าง
คือเราจะพอเทียบเคียงเหตุการณ์ปัจจุบันกับสถานการณ์ก่อน 6 ตุลาได้ไหมคะ
อ.นิธิ: คือผมว่าเทียบได้ แต่ว่ามันไม่เหมือนกัน
คือควรจะเทียบด้วยซ้ำไป
แต่ว่าในขณะเดียวกันผมว่าความเกลียดชังมันไม่ได้มีมากเท่ากับครั้งโน้น
ในครั้งโน้นผมได้พบหลายครอบครัวด้วยซ้ำที่พ่อกับแม่ยืนอยู่คนละฝั่งกับลูก
แต่วันที่ลูกจำเป็นต้องหนีเข้าป่า
ทั้งพ่อแม่ญาติพี่น้องที่หมั่นไส้เด็กคนนั้น ส่วนใหญ่กลัวว่าเด็กจะไปลำบาก
พยายามจะติดต่อ อื่นๆ ก็แล้วแต่ มันไม่มีหรอกครับเหตุการณ์ที่เออ
คุณกับผมเลิกใช้นามสกุลเดียวกัน
อันนี้เป็นเพียงสิ่งที่มันไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน
เพราะงั้นความรุนแรงมันมากกว่าเมื่อครั้งตอน 14 ตุลา, 6 ตุลามากทีเดียว
อ.พวงทอง: อาจารย์หมายถึงว่าปัจจุบันมันทำให้ครอบครัวแตกได้เหรอคะ
อ.นิธิ: ใช่ อันที่สองที่ผมคิดว่าสำคัญเหมือนกันก็คือว่า
เมื่อตอน 6 ตุลา อย่างน้อยที่สุดเรามีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งพอสมควร
คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันคือไม่มีเลยก็ว่าได้ พรรคฝ่ายค้าน
ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยนะครับ
พรรคฝ่ายค้านต่อระบบผลประโยชน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
พรรคเพื่อไทยก็ร่วมอยู่ในผลประโยชน์นั้น
เราไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งพอในการต่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้
ฉะนั้นการต่อสู้คือการต่อสู้ตรงไปตรงมาเลย
ไม่ใช่การต่อสู้โดยอาศัยพรรคฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่
อ.พวงทอง: เมื่อไม่มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง
ไม่มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง
หมายความว่าประชาชนที่เป็นฝักฝ่ายที่มีความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น
เป็นผู้เล่นมากยิ่งขึ้น
อ.นิธิ: เป็นผู้เล่นโดยตรงเลยคราวนี้
อ.พวงทอง: ซึ่งหมายความว่าถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็จะกว้างขวางมากกว่าเมื่อตอน 6 ตุลา
อ.นิธิ: แยะเลย อย่างเทียบกันไม่ได้เลย เพราะตอนนี้คุณไม่มีป่าให้หนีแล้ว คุณไม่รู้จะหนีไปไหน
อ.พวงทอง: นี่ก็เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลนะคะ
วันนี้ดิฉันมาถึงช่วยสุดท้ายของการสัมภาษณ์อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ของเสียงสปป.
เชื่อว่าท่านผู้ฟังคงได้รับประโยชน์จากคำสัมภาษณ์นี้ไม่มากก็น้อย
หวังว่าเราคงจะได้กลับมาสนทนากับอ.นิธิอีกครั้งหนึ่งในโอกาสหน้า
ขอบพระคุณมากกว่าอาจารย์
อ.นิธิ: สวัสดีครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น