บริเวณหน้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภา
มักเป็นที่ปักหลักประท้วงของกลุ่มการเมืองต่างๆ
หนึ่งในบุคคลที่มาปักหลักพื้นที่นี้บ่อยครั้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คือ
เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร คุณลุง วัย 71 ปี อดีตส.ส.
ประชาธิปัตย์จังหวัดตราดและกทม.
และนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักจากการอดอาหารในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ครั้งนี้ฉลาดกลับมาอีกครั้ง
เขาได้ปักหลักค้างคืนอยู่หน้าสวนสัตว์ดุสิตกับเต็นท์สองหลังตั้งแต่เมื่อวัน
ที่ 22 มี.ค.
เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้ง 2
ก.พ. 57 เป็นโมฆะ และกรณีที่ป.ป.ช.
สั่งให้ประธานวุฒิสภาหยุดปฏิบัติหน้าที่จากการถูกชี้มูลเรื่องการจำนำข้าว
ซึ่งเขามองว่าเป็นอำนาจอันไม่ชอบธรรมขององค์กรอิสระ ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ฉบับปี 2550
ฉลาด วรฉัตร ปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าสวนสัตว์ดุสิต ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 57
เขาเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดการเลือกตั้งขึ้นอย่าง
เร่งด่วน และให้รัฐสภาดำเนินการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550
และนำเอารัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 มาใช้แทน
โดยฉลาดกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีการบัญญัติกฎหมายอาญาว่า
“ใครมาล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นกบฏ”
จึงต้องการให้รัฐสภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
ให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์
“ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการโดยทหารมานานกว่า 80 ปีแล้ว และนี่คือต้นตอของปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบันนี้” เขากล่าว
ข้อเรียกร้องในคำแถลงการณ์ฉลาดยังระบุอีกว่า
ถ้าหากข้อเรียกร้องดังที่กล่าวมาไม่ได้รับการพิจารณาเขาก็จะเรียกร้องต่อไป
และหากในระหว่างการเรียกร้องเกิดการยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร จะขออดข้าว
ดื่มน้ำ จนกว่าชีวิตจะสิ้นชีวิต
“ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ตัวรัฐสภา รัฐสภาไม่มี สส.ปฏิบัติหน้าที่เลย
ดังนั้นจึงต้องมีการเลือกตั้ง แต่มาวันนี้มันอดทนไม่ไหว มันน่าเกลียดเกิน
ที่รัฐธรรมนูญปี 50 ให้อำนาจองค์กรอิสระต่าง ๆ มีอำนาจเหนือรัฐสภา”
ฉลาดกล่าว “ในการเรียกร้องครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของผม
ผมเชื่อว่ายังไงครั้งนี้ต้องชนะและมีการเลือกตั้งแน่นอน
ถึงแม้เลือดตกยางออกก็ตาม แต่ถ้าวันไหนมีการปฏิวัติอีกครั้ง
ผมจะขออดอาหารตาย”
ฉลาดกล่าวถึงแนวทางการอดอาหารประท้วงว่า สำหรับเขา
มันคือจิตวิญญาณของผู้แทนราษฎร ที่ต้องการทำเพื่อประชาชน
และการต่อสู้ในลักษณะนี้
คือต้องต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่าเลยต้องเอาชีวิตของตนเข้าแลก
“เพื่อเสียสละป้องกันการสูญเสียจากการประท้วงของประชาชน
เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่ต้องออกมาเรียกร้องหรือประท้วงให้เกิด
ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เราเป็นตัวแทนของประชาชน
จึงต้องเสียสละทำเพื่อประชาชน ต้องเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาพิจารณา
เพื่อแก้ปัญหา”
ทั้งนี้ ฉลาด ได้เคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองครั้งแรกในปี 2523
โดยการอดข้าวประท้วงรัฐบาลและเพื่อนสมาชิกสภา ฯ เป็นเวลา 2 วัน จนหมดสติ
เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์เปิดประชุมสภาวิสามัญ
เพื่อชี้แจงเหตุผลในการกักตุนน้ำมันส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อน ผลตามมาก็คือ
พล.อ.เกรียงศักดิ์ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
“ตอนนั้นเกิดจากความบริสุทธิ์ใจของผม เพราะในฐานะตัวแทนของประชาชน
ถ้าประชาชนเดือดร้อน เราไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่ใช่ ผมได้ขอร้องเพื่อนสภา ฯ
ให้เปิดประชุมสภาเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว แต่เพื่อนร่วมสภาไม่สนใจ
ผมประท้วงโดยอดอาหารและน้ำกลางสภา เป็นเวลา 1 วันครึ่ง
จนผมถูกหามส่งโรงพยาบาล และในที่สุดข้อเรียกร้องของผมก็สำเร็จ”
หลังจากที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกพลเอกเปรม เป็นนายกฯ
คนถัดมา และสมัยพลเอกเปรมเป็นนายกฯ ช่วงปี 2526 ฉลาด
ได้ประท้วงโดยอดอาหารเป็นเวลา 9
วันเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ให้ข้าราชการประจำสามารถเป็น
นายกรัฐมนตรีได้ เพราะฉลาดเชื่อว่าในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น
นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้ง
การกระทำของเขาครั้งนี้ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านสภา ต่อมานายกฯ
เปรมได้ประกาศยุบสภา
ในปี 2531 ฉลาด ได้รับเลือกตั้งให้เป็น สส. แต่ก็เป็นได้เพียงแค่ 6
เดือนก็ต้องลาออก เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์หนุนให้
พล.อ.เปรม ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
จึงทำให้ฉลาดร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
เคลื่อนไหวคัดค้านให้ต้องมีนายก ฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง จนผลสุดท้าย
พล.อ.เปรมประกาศจะไม่ขอรับตำแหน่งนายก ฯ จึงทำให้ พล.อ.ชาติชาย
ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแทน
กุมภาพันธ์ ปี 2534 ได้เกิดการยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลชาติชาย
โดยการนำของ พลเอกสุนทร คงสมพงศ์ พลเอกสุจินดา คาประยูรภายใต้คณะ รสช.
ซึ่งรัฐประหารครั้งให้เหตุผลว่ามีรัฐบาลมีการทุจริต คอรัปชั่น
และใช้อำนาจโดยมิชอบ
ในระหว่างนั้นประชาชนเกิดความไม่พอใจที่อำนาจทหารมาโค่นล้มรัฐบาลที่มา
จากการเลือกตั้งจึงเรียกร้องให้คณะ รสช.
รีบคืนรัฐธรรมนูญตามวิถีประชาธิปไตยภายในระยะเวลา 6 เดือน สุจินดาและคณะ
รสช.ได้ประกาศว่าจะไม่ขอเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อ
บริหารประเทศเด็ดขาด
ในเดือนก.พ. 2534 เกิดการรัฐประหารรัฐบาลชาติชาย นำโดยพลเอกสุนทร
คงสมพงศ์ พลเอกสุจินดา คาประยูร
หลังจากประชาชนได้เรียกร้องให้ทหารจัดการเลือกตั้ง
คณะรัฐประหารได้สัญญาว่าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2535 พล.อ.สุจินดา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ฉลาดเป็นคนแรกที่ประกาศอดข้าวประท้วงบริเวณหน้ารัฐสภาเพื่อประท้วงรัฐบาลที่
ไม่ชอบธรรม จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในที่สุด
ฉลาด ได้กลับมาอีกครั้งหลังรัฐประหาร 49
เพื่อประท้วงการยึดอำนาจของทหารและการรับรัฐธรรมนูญปี 50
โดยการขังตัวเองอยู่ในกรงหน้ารัฐสภา
เพราะเขามองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว นั้นเป็น “ฉบับกบฏ”
ซึ่งมาจากการยึดอำนาจของกองทัพ
จากนั้นไม่นาน ฉลาดได้เป็นโจทก์ยื่นพ้อง คมช.- ครม.- คตส. - ปปช. -
สนช.ในปี 2550 รวมจำเลยทั้งหมด 308 คน ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ
และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดที่ร้ายแรงด้วยการทำรัฐประหาร
หรือยึดอำนาจมาโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , 113 , 83 และ 86 โดยใช้เวลาไปกว่า 3 ปี
และค่าใช้จ่ายกว่าสามแสนบาท
อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นยกฟ้อง และศาลฎีกาให้ตัดสินตามศาลชั้นต้น ทำให้คดีนี้สิ้นสุด
ทั้งนี้ ฉลาด วรฉัตร เป็นอดีตนักเรียนทุนกองทัพอากาศ
ปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกลที่ประเทศฟิลิปปินส์
เริ่มเส้นทางทางการเมืองครั้งแรกในปี พ.ศ. 2509 โดยเป็น สส.
พรรคประชาธิปัตย์ จ.ตราด และกรุงเทพมหานคร
อดีตกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการปกครองสภาผู้แทนราษฎร
ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการปกครองสภาผู้แทนราษฎร
และที่ปรึกษารัฐมนตรีอุตสาหกรรม ( ฯพณฯ ไกสร ตัณติพงษ์)
มีผลงานทางการเมืองมากกว่า 150 เรื่อง
“ไม่มีใครขวางผมได้
เพราะผมเป็นประชาชนและมีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย
ประชาชนคนธรรมมันไม่มีอะไรต่อสู้กับเขาก็เลยเอาชีวิตเข้าต่อสู้
ถ้าคุณเอาชีวิตเข้าต่อสู้เพื่อคนอื่น
และเพื่อประเทศชาติด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าคุณไม่ถึงที่ตาย คุณก็ชนะ”
ฉลาดกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น