แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

ตุลาการภิวัตน์ : อะไร อย่างไร และทำไม

ที่มา Voice TV

ตุลาการภิวัตน์ : อะไร อย่างไร และทำไม

 ขข้อข้องใจ ตุลาการภิวัตน์คืออะไร ศาลแทรกแซงการเมืองอย่างไร ทำไมจึงล่วงล้ำอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  

ตุลาการภิวัตน์ในประเทศไทย กำลังถูกวิจารณ์หนักขึ้นเรื่อยๆ ว่า เป็นพลังคุกคามความอยู่รอดของประชาธิปไตย ศาลกำลังกลายเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน กลายเป็นระบอบตุลาการธิปไตย (Chambers 2014)

ตุลาการภิวัตน์ หรือที่เรียกตามภาษาวิชาการแขนง นิติ-รัฐศาสตร์ ว่า Judicialization of politics เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในเอเชีย ตุลาการภิวัตน์เกิดขึ้นทั้งในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยตั้งมั่นแล้ว อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย ; ในประเทศกึ่งอำนาจนิยม หรืออำนาจนิยม อย่างจีน กัมพูชา และมาเลเซีย ;และในประเทศประชาธิปไตยอ่อนแอหรือเพิ่งเกิดใหม่ อย่างปากีสถาน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย (Dressel 2012)

ตุลาการภิวัตน์ คือ อะไร มีบทบาทอย่างไร และทำไมจึงเกิดขึ้น เป็นปริศนาที่นักนิติ-รัฐศาสตร์ พยายามเสนอคำอธิบาย


@  นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งคู่กับที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ชวน หลีกภัย ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2553

นิยาม

Hirschl (2006, 721) ผู้เชี่ยวชาญวิชาการแขนงนี้ ให้นิยามคำว่า ตุลาการภิวัตน์ ว่า หมายถึงการที่รัฐหันไปพึ่งศาล หรือวิธีการทางกฎหมาย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการวินิจฉัยประเด็นโต้แย้งทางศีลธรรม, นโยบายสาธารณะ, และกรณีขัดแย้งทางการเมือง


บทบาท

ในรัฐที่ใช้ตุลาการภิวัตน์นั้น ตุลาการมีบทบาทมากขึ้นๆที่จะเข้าไปตรวจสอบอำนาจในเขตแดนของฝ่ายบริหารและ ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะด้านนโยบายต่างประเทศ, นโยบายการคลัง, และนโยบายความมั่นคง (Hirschl 2008, 124) รวมถึงในปริมณฑลของการเมือง เช่น การเลือกตั้ง ดังกรณีการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์ของนักการเมืองในประเทศไทย (Hirschl 2008, 126)


@  Dressel (2010) ระบุว่า ธีรยุทธ์ บุญมี เป็นคนแรกที่เสนอแนวทางตุลาการภิวัตน์ในประเทศไทย

ที่มา

ตุลาการภิวัตน์ เกิดขึ้นเพราะเหตุใด นักวิชาการมีคำอธิบาย 4 แนวทาง (Hirschl 2008b)

แนวทางแรก อธิบายว่า เป็นการทำหน้าที่ (functional approach) ของระบบการเมืองที่ได้ขยายหน่วยงานด้านการปกครอง และการบังคับใช้กฎหมาย ตามระดับพัฒนาการของสังคม เมื่อเกิดหน่วยงานใช้อำนาจเพิ่มขึ้น อำนาจตุลาการจำเป็นต้องเพิ่มหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบ

แนวทางที่สอง อธิบายว่า เมื่อภายในรัฐเกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม กลุ่มผลประโยชน์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอันหลากหลาย ก็จะเกิดการเรียกร้องสิทธิต่างๆตามมา ตุลาการจึงมีบทบาทมากขึ้นในการวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สิทธิการทำแท้ง สิทธิในความเป็นส่วนตัว เป็นต้น แนวทางนี้เรียกว่า ตุลาการภิวัตน์จากเบื้องล่าง ('judicialization from below')


@  ผู้นำศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ของไทย หารือกันเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 ว่าจะวินิจฉัยให้การเลือกตั้งในเดือนเดียวกันนั้นเป็นโมฆะหรือไม่

แนวทางที่สาม อธิบายว่า เมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จำเป็นต้องมีศาลเพิ่มขึ้น ('more democracy equals more courts') เพื่อประกันว่า ประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดของการปกครองจะได้รับการปกป้อง

แนวทางที่สี่ อธิบายว่า ศาลและผู้พิพากษาเป็นตัวการหลักในการขยายอำนาจของตัวเอง (court-centric approach) ตุลาการได้แย่งชิงอำนาจจากผู้แทนจากการเลือกตั้งของประชาชนฝ่ายเสียงข้างมาก ศาลเข้าฉกฉวยเอารัฐธรรมนูญเป็นของตน และก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยการตัดสินใจที่เป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง ชี้ถูกชี้ผิดในประเด็นที่ว่า อะไรดี อะไรชั่ว

แนวทางนี้บอกว่า ศาลที่ขยายอำนาจตัวเอง ไม่สนใจหลักการพื้นฐานว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจ และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

ตุลาการภิวัตน์ของไทย อธิบายได้ด้วยแนวทางแบบไหน เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป

กรณีไทย

Dressel (2010 ; 2012) ศึกษาบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญของไทยในช่วงวิกฤตทางการเมืองระหว่างปี 2549-2551 พบว่า บทบาทตุลาการภิวัตน์ของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดจาก 'การพิทักษ์อำนาจนำ' ('hegemonic preservation thesis') ตามแนวคิดของ Hirschl (2006)

ตามตัวแบบของ Hirschl (2006, 745) นั้น ผู้ครองอำนาจนำ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทางสังคมการเมือง หวั่นเกรงว่า อำนาจทางการเมืองจะหลุดไปจากมือของพวกตน กลุ่มคนเหล่านี้และพวกที่เป็นปากเสียงให้พวกเขา จึงผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวเข้ามาพิทักษ์อำนาจนำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกทัศน์และแนวทางนโยบายของผู้ครองอำนาจนำ ถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ จากการตัดสินใจกำหนดนโยบายของฝ่ายเสียงข้างมาก


@   ประชาชนนั่งฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย เมื่อ 13 กรกฎาคม 2555

ในงานชิ้นนี้ Dressel ศึกษาบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญไทยใน 3 กรณี คือ

กรณีคำวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2549 สั่งให้การเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2549 เป็นโมฆะ

กรณีคำวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2550 สั่งยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน เป็นเวลา 5 ปี

และกรณีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนกันยายน 2551 ซึ่งส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และสั่งยุบพรรคพลังประชาชนตามมาในเดือนธันวาคม.

Photo: AFP

รายการอ้างอิง
 
Chambers, Paul. Thailand in 2014 : A democracy endangered by juristocracy. Fair Observer 2014 [cited April 3]. Available from http://www.fairobserver.com/article/thailand-democracy-endangered-juristocracy-69712.
 
Dressel, Bjorn. 2010. "Judicializatuion of politics or politicization of the judiciary : Considerations from recent events in Thailand." The Pacific Review no. 23 (5):671-691.
 
———. 2012. "Thailand : Judicialization of politics or politicization of the judiciary." In The judicialization of politics in Asia, edited by Bjorn Dressel, 79-97. New York: Routledge.
 
Hirschl, Ran. 2004. Towards juristocracy : The origins and consequences of the new constitutionalism. Cambridge, MA: Harward University Press.
 
———. 2006. "The new constitutionalism and the judicialization of pure politics worldwide." Fordham Law Review no. 75 (2):721-54.
 
———. 2008. "The judicialization of politics." In The Oxford handbook of law and politics, edited by R. Daniel Kelemen Keith E. Whittington, and Gregory A. Caldeira, 119-141. New York: Oxford University Press.
 
———. 2008b. "The judicialization of mega-politics and the rise of political courts." Annual Review of Political Science no. 11:93-118.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น