ที่มา ข่าวสดออนไลน์
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดการเลือกตั้ง 2
ก.พ. ที่นำมาสู่คำวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ก็ประกาศเดินหน้าจัดการเลือกตั้งส.ส.ใหม่
ขณะที่ความเชื่อมั่นในความเป็นกลางของ กกต.จากหลายฝ่ายเริ่มสั่นคลอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร
กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง
แต่งกลอนโพสต์เฟซบุ๊กระหว่างไปดูงานที่อิตาลี
อุปมาอุปไมยหอเอนเมืองปิซ่ากับจุดยืนการทำงาน
ผ่าน Piza หอเอียง ที่เคียงคู่
ใครไม่รู้ ดูเอียงข้าง อย่างสงสัย
ไม่เป็นกลาง เอียงข้าง ประชาไทย
ต้องทำใจ งานใหญ่ ให้ต้องเอียง
จนพลบค่ำ มืดจึง ถึงที่หมาย
Rome เอียงอาย แอบอ้อน ซ่อนซุ่มเสียง
หรือหลับใหล ไม่ห่วงหา หน้าคู่เคียง
คอยมองเมียง เธออยู่ไหน ได้มาเจอ
ภารกิจ ส่งบัตร กลับประเทศ
ทั่วทุกเขต รวมได้ ไม่ไผลเผลอ
เสียงคนไทย ในต่างแดน แสนยากเจอ
ไม่โหวตเก้อ โหวตซ้ำ ให้ช้ำใจ
ยุทธพร อิสรชัย
คณบดีรัฐศาสตร์
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
จริงอยู่ว่าการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ส่วนตัว
ของนายสมชัย แสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ได้
แต่วันนี้สถานะของนายสมชัยเปลี่ยนไปเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว ดังนั้น
การจะโพสต์อะไรต้องรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น
ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในประเทศกำลังวุ่นวาย
กกต.เองก็เป็นหนึ่งในตัวละครการเมืองที่สำคัญ การโพสต์ข้อความต่างๆ
แม้จะเป็นในเฟซบุ๊ก ก็อาจถูกคนในสังคมนำไปตีความต่างๆ นานาได้
อย่างการโพสต์ล่าสุดเรื่องความเอียงของหอเอนปิซ่า
เมื่อเป็นนายสมชัยโพสต์แน่นอนว่าต้องถูกนำไปตีความในรูปแบบที่หลากหลาย
ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของกกต.โดยรวม
เพราะในฐานะที่กกต.มีอำนาจครบทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
อำนาจบริหาร คือ การจัดการเลือกตั้ง อำนาจนิติบัญญัติ คือ การออกกฎระเบียบ
ข้อบังคับต่างๆ และอำนาจตุลาการ คือ การสืบสวนสอบสวน
ให้ใบเหลืองใบแดงแก่ผู้สมัคร
อำนาจหน้าที่ทั้งหมดทำให้กกต.ต้องปฏิบัติด้วยความเป็นกลาง
ไม่เอนเอียง จึงเป็นที่มาว่าก่อนที่กกต.จะทำอะไร โพสต์อะไร
ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบหน้าที่ที่ทำอยู่
เพราะกกต.ก็คือองค์กรอิสระซึ่งเป็นองค์กรกึ่งตุลาการ มีบทบาทเชิงตั้งรับในการแสดงความคิดเห็น และมีบทบาทเชิงรุกในการปฏิบัติมากกว่า
แต่ปรากฏว่าวันนี้นายสมชัยทำงานเชิงรับ แสดงความเห็นเชิงรุก ต่างจากกกต.คนอื่นๆ
รวมถึงประธานกกต.ที่หลายคนยังแทบจำชื่อไม่ได้
เพราะค่อนข้างนิ่ง ระวังคำพูดและการแสดงบทบาท เพราะทั้งหมดมาจากศาล
ถูกฝึกให้ทำงานเชิงรุก ระมัดระวังคำพูด
นายสมชัยต้องระวังมากขึ้น หากยังแสดงความเห็นลักษณะนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร สังคมอาจไม่ให้ความเชื่อถือ
วันนี้องค์กรอิสระถูกตั้งคำถามเยอะแล้ว ถ้ามีกรณีนี้เพิ่มอีกจะยิ่งเป็นปัญหา
สดศรี สัตยธรรม
อดีต กกต.
กกต.เป็นตำแหน่งที่สังคมจับตามอง จึงต้องระมัด
ระวังการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกทางการเมือง
โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งและท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เป็นเช่นนี้
การแสดงความเห็นต่อระบบการเมืองเป็นเรื่องส่วนตัวที่ทุกคน
ทำได้ในบทบาทของคนธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง
สวมหัวโขนในฐานะองค์กรอิสระแล้ว เท่ากับมีสถานภาพที่สามารถชี้เป็นชี้ตายได้
จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
กกต.มีกฎเกณฑ์ระบุอยู่แล้วว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เป็นจรรยาบรรณวิชาชีพในการวางตัว
กกต.ก็มีหน้าที่คล้ายกับตุลาการ ก่อนวินิจฉัยคดีต่างๆ
ไม่มีตุลาการคนใดเอาความลับของคดีมาเผยแพร่
หรือทำให้เข้าใจไปอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่พูดในสิ่งที่ตัวเองเกี่ยวข้องเพราะอาจถูกโยงเป็นคู่กรณีได้
สิ่งที่ต้องย้ำคือบทบาทหน้าที่ปัจจุบัน
เมื่อก่อนเป็นนักวิชาการสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี
แต่พอเปลี่ยนมาเป็นกกต. ควรชั่งน้ำหนักความเหมาะสม อะไรที่เคยทำก็ควรละไว้
เพราะการเผยแพร่ข้อมูลเป็นหน้าที่ของฝ่ายประชาสัมพันธ์
อย่างคำพูดที่ว่า "ฝันว่าคงจัดการเลือกตั้งไม่ได้"
แม้จะไม่ใช่การพูดอย่างเป็นทางการ
แต่คำเหล่านี้นำไปตีความให้เข้าใจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็จะสร้างปัญหา
ตามมาทันที
ซึ่งผู้เสียหายก็คือองค์กร
แม้ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นแต่พอมีคำวินิจฉัยก็จะถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนฝ่าย
ใดฝ่ายหนึ่ง หากจะชี้แจงก็ควรชี้แจงหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์
เปรียบเทียบกับการแข่งกีฬา กรรมการต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการจริงๆ จะเป็นผู้เล่นไม่ได้
และที่แย่คือถ้ากรรมการเตรียมให้ใบแดงหรือใบเหลืองผู้เล่น ทั้งที่ผู้เล่นยังไม่ลงสนาม คนดูก็จะมองว่ากรรมการคนนี้มีอคติ ไม่เป็นกลาง
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระ
บทกลอน "งานใหญ่ ให้ต้องเอียง" ของนายสมชัย
มองในแง่ตัวบุคคลที่เป็นหนึ่งในกรรมการองค์กรอิสระ
สะท้อนว่าเขาไม่เข้าใจบทบาทของการดำรงตำแหน่ง กกต.
ที่จำเป็นต้องวางตนเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เป็นมารยาทการทำ งานขององค์กรสาธารณะ
หลีกเลี่ยงไม่ให้สังคมคลางแคลงสงสัยได้ว่าหากมีกรรมการองค์กรอิสระแบบนี้
ต่อไปจะไม่สอดคล้องกับวิถีทางประชาธิปไตย
ซึ่งตรงข้ามกับวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กรอิสระเมื่อ
ครั้งใช้รัฐธรรมนูญปี 2540
เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ส่งเสริมกระบวนการประชาธิป ไตยของไทยให้เข้มแข็งขึ้น
จากที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบมาก่อน
โดยมีการจำกัดว่าจะให้องค์กรเหล่านี้มีขนาดเล็กเพื่อไม่ให้มีกระบวนการการทำงาน มีอำนาจมากเทียบเท่ากับระดับกระทรวง
แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญปี 2550
ที่ให้อำนาจองค์กรอิสระอย่างเต็มที่
องค์กรอิสระเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องต่อระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาวะความขัดแย้งทางการเมือง
อีกทั้งที่มาของกรรมการองค์กรอิสระก็ไม่มีจุดยึดกับอำนาจ
ประชาชน มีทั้งเงิน อำนาจ เครื่องไม้ เครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากร
ส่งผลให้ขนาดหน่วยงานใหญ่โต มีอำนาจเกินความจำเป็น
เรียกว่าอิสระกันจนหลุดลอยเกินขอบเขต ขัดกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการมีองค์กรอิสระ
อย่างกรณีการวางตัวของนายสมชัย
ทำให้เห็นว่าคงไม่มีความจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระ
เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการการเลือกตั้ง
ให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งเหมือนตอนที่ประเทศเรายังมี
ประชาธิปไตยครึ่งใบยังดีกว่า อย่างน้อยก็สามารถตรวจสอบได้
นายสมชัยคงไม่อยู่ในจุดที่จะสื่อสารหรือเรียกร้องอะไรจาก
เขาได้อีกแล้ว เพราะมีการ กระทำที่ไม่เหมาะสมออกมาตลอด
ทั้งการวางตัวเยาะเย้ยถากถางคนที่เห็นต่าง ก็จะออกมาตอบโต้ตลอดเวลา
ถึงขนาดแสดงความเห็นว่าไม่อยากจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่เป็น
กกต.ด้านจัดการเลือกตั้ง
แม้สังคมจะเกิดความไม่พอใจมากขึ้นแต่คาดว่ากระบวนการฟ้อง
ร้องถอดถอนในชั้นวุฒิสภาคงไม่สามารถดำเนินการได้
เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครโดนถอดถอนในชั้นนี้ได้
ทางที่ดีที่สุดคือการแจ้งความที่โรงพักข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้ง น่าจะได้ผลมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หากนายสมชัยยังคงวางตัวในลักษณะนี้ต่อไป
จะยิ่งเป็นตัวเร่งความขัดแย้งระหว่างสังคมที่ไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของ
องค์กรอิสระให้มีมากยิ่งขึ้นไปอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น