7 เมษายน, 2014 - 23:22 | โดย kasian
เกษียร เตชะพีระ
พูดอย่างย่นย่อที่สุด ปมปัญหาว่าด้วย “รัฏฐาธิปัตย์”
ไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมาคือช่วงตกห่างระหว่าง
“รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล” (effective sovereign
อันได้แก่ผู้กุมอำนาจอธิปไตยได้จริงในช่วงจังหวะสถานการณ์หนึ่ง ๆ) กับ
“รัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม” (legitimate sovereign อันได้แก่ปวงชนชาวไทย),
เงื่อนไขของช่วงตกห่างดังกล่าวคือจินตนากรรมเรื่องชาติ,
ทำให้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของรัฏฐาธิปัตย์ไทยเต็มไปด้วยการทำให้เงียบ,
การพูดแทน,
การเบียดขับกีดกันออกไปซึ่งประชาชนชายขอบผู้ออกเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน
การประกาศตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ของคุณสุเทพ ณ กปปส.
(in all seriousness but may turn out to be merely
เชิญยิ้ม.....อันที่จริงก่อนหน้านี้ไม่นานก็มีการประกาศตัวยึดอำนาจ
อวดอ้างแสดงตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ “เชิญยิ้ม” ของพลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ณ
กปท. กลางถนนราชดำเนินมาแล้ว)
เกิดขึ้นก็ด้วยเงื่อนไขเชิงประวัติศาสตร์และโครงสร้างข้างต้นนี้
กล่าวในทางหลักการ
นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อำนาจอธิปไตย
(sovereignty)
ก็เปลี่ยนมือผู้เป็นเจ้าของจากพระมหากษัตริย์เป็นปวงชนชาวไทยแล้ว
และไม่อาจหวนกลับไปอีกในเชิงโครงสร้างทางการอย่างยาวนาน
ปัญหาของผู้เคยเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบเดิม (ancien regime)
จึงเป็นว่าจะบริหารจัดการการที่อำนาจอธิปไตยหลุดมือสูญเสียไปแล้วอย่างไร
จึงจะปกป้องรักษาพื้นที่อำนาจและผลประโยชน์สำคัญยิ่งของตนและเครือข่ายไว้
ได้ภายใต้ระบอบใหม่ซึ่งอำนาจอธิปไตยตกเป็นของ “คนแปลกหน้า”
นอกแวดวงโครงสร้างอำนาจเดิม?
คำตอบที่ค้นพบในประวัติศาสตร์คือการโต้อภิวัฒน์ทางการเมืองวัฒนธรรม
เพื่อสถาปนาพระราชอำนาจนำขึ้นทดแทนอำนาจอธิปไตยที่สูญเสียไป (A cultural
political counter-revolution to establish royal hegemony in lieu of the
lost sovereign power)
ซึ่งมาปรากฏเป็นจริงในช่วงสมัยรัชกาลปัจจุบันโดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.
๒๕๑๖ เป็นต้นมา (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลแย้งว่าเป็นจริงในช่วงพุทธทศวรรษที่
๒๕๓๐) โดยเฉพาะหลังขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท.ล่มสลาย,
กองทัพกลายเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,
และคนชั้นกลางกระฎุมพีกำพร้าไร้รากพบผู้ให้กำเนิดทางการเมืองวัฒนธรรมของตน
ในราชาชาตินิยม
พูดในภาษา Ben Anderson ช่วงตกห่างระหว่าง effective sovereign vs. legitimate sovereign เกิดจากกระบวน
การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์หลัง ๒๔๗๕
คือหลุดจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไปไม่ถึงรัฐชาติประชาธิปไตยสมัยใหม่จริง
ค้างเติ่งอยู่แค่ระบอบรัฐราชการหรืออำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity)
เนื่องจากการขาดหายไปของขบวนการชาตินิยมของประชาชน (popular nationalism) ใน
ประวัติศาสตร์
ซึ่งเพิ่งปรากฏเป็นตัวตนจริงขึ้นมาในการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเมื่อ ๑๔
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ Ben เห็นว่าคือ “การปฏิวัติกระฎุมพี ค.ศ. ๑๗๘๙
ของไทย”
อะไรคือปัญหา “ชาติ” กับ ๔๐ ปีของการถูกทำให้เงียบ, พูดแทนและเบียดขับกีดกันออกไปซึ่งประชาชนชายขอบ?
มีปัญหาความสัมพันธ์อันยอกย้อนซับซ้อนอยู่ระหว่าง “ชาติ” กับอำนาจอธิปไตยของปวงชน/ประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องอธิบายสักเล็กน้อย
ในโลกการเมืองสมัยใหม่
ประชาชนผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยย่อมไม่ใช่ประชาชนอะไรที่ไหนก็ได้
แต่ต้องมีหน่วยชุมชนการเมืองที่สังกัด มีพรมแดนรั้วรอบขอบชิดว่า
“ประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย” เริ่มที่ไหน, สิ้นสุดที่ไหน, นับใครบ้าง,
ไม่นับใครบ้าง?
ซึ่งหน่วยสังกัดที่เป็นพื้นฐานของระบบรัฐสมัยใหม่ทั่วโลกก็คือ “ชาติ” หรือ
“รัฐชาติ”
แต่ก็ดังที่ทราบกันอยู่ว่าในหน่วยชุมชนรวมหมู่ใหญ่กว่าหมู่บ้านที่พบปะ
สัมพันธ์รู้จักหน้าค่าตาทั่วถึงกันหมดขึ้นมา
การรวมตัวเป็นชุมชนต้องผ่านจินตนากรรม
ชาติเอาเข้าจริงจึงเป็นชุมชนในจินตนากรรม (Ben Anderson - nations as
imagined communities)
ตรงนี้เปิดช่องโหว่ช่องว่างหรือพื้นที่ในการขยับหมากเคลื่อนไหวให้สามารถ
จินตนากรรม “ชาติ” ไปได้ต่าง ๆ นานาในลักษณะที่มันหลุดลอย กีดกัน
ผลักไสประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งไปอยู่ชายขอบได้
ที่สำคัญคือการจินตนากรรมชุมชนชาติไทยแบบที่อ.ชาญวิทย์
เกษตรศิริเรียกว่า “เสนาชาตินิยม-อำมาตยาชาตินิยม”
กล่าวคือทหารและข้าราชการอ้างตนเป็นตัวแทน “ชาติ”
เข้าเคลมอำนาจอธิปไตยโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน
หากผ่านการปฏิวัติรัฐประหารแทน โดยอธิบายว่า “ชาติ”
ที่ตนเป็นตัวแทนนั้นกว้างไกลออกไปกว่า
“ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน” เพราะ “ชาติ”
ย่อมต้องจินตนากรรมกว้างรับนับรวมเอา “บรรพบุรุษไทยในอดีต”
(ผีไทยที่ตายไปแล้ว) และ “คนไทยในอนาคต” ”(วิญญาณไทยที่จะมาจุติ)
เข้าไว้ด้วย จากนั้นก็อ้างผีและวิญญาณไทยเบียดขับผลักไสกีดกัน
“คนไทยผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่มีชีวิตในปัจจุบัน”
ไปอยู่ชายขอบของอำนาจอธิปไตย
ส่วน “ราชาชาตินิยม-ประชาธิปไตย” ดังข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล
(สรุปรวมความคือ ร.๕ ราชากู้ชาติ + ร.๗ กษัตริย์ประชาธิปไตย = ร.๙
พระผู้ทรงกู้ชาติจากคอมมิวนิสต์และทุนโลกาภิวัตน์
อีกทั้งทรงรักษาประชาธิปไตยจากเผด็จการฝ่ายซ้ายและขวา)
ก็ทำให้ประชาชนซึ่งกว้างใหญ่หลากหลายคลุมเครือสามารถสำนึกสำเหนียกหมายอัตตา
“ชาติไทย-ความเป็นไทย”
รวมหมู่ของตนได้ง่ายขึ้นผ่านบุคลาทิษฐานซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหา
กษัตริย์
ในฐานะประมุขรัฐและสัญลักษณ์แห่งชาติในการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน
ความคลุมเครือเรื้อรังของ “ราชาชาตินิยม-ประชาธิปไตย”
ระหว่างผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยกับผู้ใช้อำนาจแทน
(แสดงออกในมาตราหลักของรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยว่ามันเป็น
“เป็นของ” หรือ “มาจาก”
ปวงชนชาวไทยกันแน่?.....ซึ่งนำไปสู้ข้อตีความพิสดารของ อ.บวรศักดิ์
อุวรรณโณว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนถือครองอำนาจอธิปไตยคู่กันในภาวะปกติ
และพระมหากษัตริย์ถือครองอำนาจอธิปไตยฝ่ายเดียวในภาวะรัฐประหาร)
ประการหนึ่ง, เมื่อกอปรกับการตีความ “ชาติ” กว้างไกลไปกว่า
“ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งปัจจุบัน”
ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นอีกประการหนึ่ง, ก็ทำให้เป็นไปได้ที่จะจินตนากรรม
“ชาติ” ในลักษณะกีดกันผลักไสให้หลุดลอยออกไปจากประชาชน
ประชาชนที่จินตนากรรมตัวเองเป็นชาติเดียวกันหรือ “ประชาชาติ”
จะออกเสียงแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองการปกครองของตนให้ปรากฏได้ยินได้ฟังกับ
หูกับตาอย่างไร? นี่เป็นปัญหาปรัชญาการเมืองคลาสสิกที่ทำให้มหาชน
รัฐ “ประชาธิปไตยทางตรง”
ของรุสโซในหนังสือสัญญาประชาคมมีขีดจำกัดทางขนาดในโลกปัจจุบัน
ทางเลือกมีไม่มากที่เราจะได้ยินเสียงนั้น กล่าวคือ
๑) ประชุมคน ๖๔.๘ ล้านคนพร้อมเพรียงกันในที่ประชุมมโหฬารสักแห่ง
เปิดอภิปรายอย่างกว้างขวางทั่วถึง แล้วลงมติ....
ความเป็นไปไม่ได้ของการณ์นี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัด แม้จะคิดถึงการใช้ IT,
Computers, IPad, Wifi, 3G, 4G มาช่วย digital democracy ก็ตาม
๒) สำรวจ poll สารพัดสำนักซึ่งเราก็ทำกันสม่ำเสมอ แต่ก็นั่นแหละ
มันจะถูกทักท้วงได้เสมอว่าผล poll
ที่ได้แทนตนมติมหาชนที่แท้จริงได้เที่ยงตรงเที่ยงแท้เพียงใด?
๓) หันไปใช้ “ประชาธิปไตยแบบแทนตน” ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป
ในความหมายนี้ “การเลือกตั้ง”
จึงทำหน้าที่สำคัญน่าพิศวงในชุมชนชาติที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
(อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน) เป็นช่องทางเปล่งเสียงของประชาชนให้ได้ยินออกมา
มิฉะนั้นก็จะไม่ได้ยินได้ฟังกัน กล่าวคือ....
เมื่อพวกเราประชาชนพลเมืองแต่ละคนแสดงตนเข้าไปโหวตในคูหาเลือกตั้งนั้น
เอกลักษณ์หลากหลายนานัปการของเราไม่ว่าเพศ, ชาติพันธุ์, อายุ, ศาสนา,
อุดมการณ์การเมือง, สมาชิกภาพพรรคการเมือง, ระดับการศึกษา, รสนิยมทางอาหาร,
แฟชั่นการแต่งกาย, เชียร์ทีมฟุตบอลใด, แฟนคลับนักร้องดาราคนไหน ฯลฯ
(เท่าที่เข้าเกณฑ์พื้นฐานเช่นอายุถึง ๑๘ ปี, ไม่ได้ติดคุกอยู่,
ไม่ได้เป็นนักบวช, ไม่ได้วิกลจริตฟั่นเฟือน ฯลฯ) ไม่เกี่ยวข้องสำคัญเลย
ไม่ถูกนึกถึงและนับเข้ามารวมเลย
เราได้เข้าไปโหวตเพียงเพราะคุณสมบัติประการเดียวคือเราเป็นพลเมืองของรัฐ
ชาติไทยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
และเราแต่ละคนได้โหวตก็เพียงเพราะเหตุนั้นมันเหมือนเป็นการถอดประกอบ
เอกลักษณ์ทุกอย่างออกหมดจนแทบเปล่าเปลือย เหลือแต่เพียง
“ความเป็นพลเมืองไทย” ไม่เลือกหน้าด้วน ๆ (individuals) เท่านั้นเอง
และเราก็ถูกสมมุติคาดหมายให้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วยสถานภาพโดด ๆ
นั้น
แน่นอน ในทางเป็นจริง
เราพกพาเอาเอกลักษณ์อันซับซ้อนหลากหลายของเราเข้าคูหาไปโหวตด้วยทั้งหมดนั่น
แหละ
และเราก็เลือกตั้งผู้แทนของเราด้วยข้อพินิจคำนึงประกอบจากอคติประดามีทั้ง
หมดนั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พอเราโหวตในฐานะ individual citizens
พรั่งพร้อมด้วยอคติจากเอกลักษณ์ประดามีของเรา
พอมันหลุดผ่านหีบบัตรเลือกตั้งเข้าไปคละเคล้าผสมปนเปกับบัตรเลือกตั้งแสดง
เจตจำนงของเพื่อนพลเมืองปัจเจกคนอื่นทั้งหมด แล้วนับคะแนนรวม
ผู้แทนที่ได้ชัยชนะเสียงข้างมากเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนเราและกลายเป็น
ผลลัพธ์บั้นปลายของการโหวตรวมหมู่ของเรา กลับไม่ใช่ตัวแทนของเราแต่ละคนเลย
เราเคลมเขาเป็นของเราคนเดียวหรือแม้แต่เขตเลือกตั้งเดียวจังหวัดเดียวไม่ได้
เลยในทางหลักการ พวกเขากลายเป็นตัวแทนของ “ชาติ” ไปเสียฉิบ
และถูกคาดหมายให้ออกเสียงลงมติใช้อำนาจอธิปไตยที่เรามอบหมายไปเพื่อประโยชน์
ของชาติ ในนามของชาติ เป็นตัวแทนชาติ
นั่นแปลว่าอะไร? นั่นแปลว่า somehow
ในท่อที่ผ่านจากหีบบัตรเลือกตั้ง ไปสู่การนับคะแนนทั้งหมดรวมกัน
แล้วประกาศผลนั้น “ชาติ” จุติขึ้นในกระบวนการนั้นเอง และได้ส่งเสียงดัง ๆ
ให้เราได้ยินได้ฟังเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของ “ประชาชาติ”
ในการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกระบวนการเลือกตั้งนั้นเอง
ควรกล่าวไว้ด้วยว่าอาจารย์ปฤณ
เทพนรินทร์ได้วิเคราะห์เสนอไว้อย่างแหลมคมแยบคายในวิทยานิพนธ์ดีเด่นของเขา
ว่าระบบเลือกตั้งใหม่แบบบัญชีรายชื่อพรรค party list
ที่ถือทั่วทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันซึ่งเริ่มไว้ในรัฐธรรมนูญ
๒๕๔๐ ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ในการเมืองไทยให้เกิดขึ้น กล่าวคือ โดยผ่าน
การเลือกตั้ง party list
พรรคที่ชนะได้เสียงข้างมากสามารถเคลมได้เป็นครั้งแรกว่าตนเป็นตัวแทนเจตจำนง
ทางการเมืองของคนไทยทั้งชาติในลักษณะที่การเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งย่อย ๆ
แต่เดิมที่ผ่านมาไม่เปิดช่องให้เห็นชัดโดยตรงมาก่อน
การเคลมนี้ส่งผลสะเทือนอย่างยิ่งในทางความชอบธรรมทางการเมือง
เพราะมันทำให้ “ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน”
สามารถแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของตัวออกมาเป็นตัวเป็นตนประจักษ์ชัดเจนว่า
นี่คือแนวนโยบายและตัวแทนที่พวกเขาต้องการให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตน
(เทียบกับผีไทย, วิญญาณไทย, ชาติไทยแบบอื่น ๆ)
หรือกล่าวอีกในหนึ่งการเลือกตั้งระบบ party list ได้ทำให้ effective
sovereign เข้าถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ legitimate sovereign
ผ่านการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเมืองไทย
และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำไมมีความพยายามในสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดคมช.แต่ง
ตั้งที่จะตราหน้าว่าการเลือกตั้งแบบ party list
ที่ถือทั่วประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันไปกันไม่ได้กับระบอบที่มีพระมหา
กษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี (จรัญ ภักดีธนากุล)
และลดทอนมันลงมาทั้งในแง่จำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (เหลือ ๘๐ จากเดิม ๑๐๐
คน) และแบ่งแยกเขตเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศให้แตกย่อยออกไปเป็น ๘
กลุ่มจังหวัดแทน
ก่อนที่จะแก้ไขเขตเลือกตั้งกลับเป็นทั่วทั้งประเทศแบบเดิมและเพิ่มจำนวน
ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น ๑๒๕ คนในปี พ.ศ. ๒๕๕๔
ดังนั้น ไม่มีเลือกตั้ง ประชาชาติก็ไม่มีเสียง
ออกเสียงให้ได้ยินได้ฟังไม่ได้ว่าประชาชนในชาติต้องการใช้อำนาจอธิปไตยไปทำ
อะไร พูดอีกอย่างถ้าคุณขัดขวางทำลายการเลือกตั้ง คุณก็กำลังทำแท้ง
“อำนาจอธิปไตย” ของชาติและประชาชนนั่นเอง
ที่คุณสุเทพ ณ กปปส.คัดค้านการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป
ยืนกรานว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็มีนัยการเมืองสำคัญตรงนี้
คือต้องทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยให้จงได้
ไม่ให้มันได้คลอดได้ผุดได้เกิดผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาลืมตาดูโลก ทำแท้ง
“อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยได้สำเร็จแล้ว ก็จะได้เคลมตนเองเป็น
“รัฏฐาธิปัตย์” แทนนั่นปะไร!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น