แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

3 นักวิชาการวิพากษ์ ขวางกาบัตร-ละเมิดสิทธิ เหตุ 26 ม.ค.-บทเรียน 2 ก.พ.

ที่มา มติชน

 หมายเหตุ - รศ.ดร.พวง ทอง ภวัครพันธุ์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.วิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงกรณีผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา รวมทั้งการหารือระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับรัฐบาลเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่

 http://www.matichon.co.th/online/2014/01/13909015551390901921l.jpg

 พวงทอง ภวัครพันธุ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จาก เหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 มกราคม เป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถรณรงค์ให้คนไม่ไปใช้สิทธิได้ แต่ไม่มีสิทธิที่ไปขัดขวางคนที่จะไปใช้สิทธิ ถ้าหากมีการบันทึกภาพ และมีหลักฐานชัดเจนในการกระทำของคนกลุ่มนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการจับกุมให้หมด เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ชัดเจน เข้าใจว่ามีคนไปแจ้งความไว้แล้วด้วย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถปล่อยให้หลุดพ้นไปได้ เพราะหากไม่มีการจับกุมใดๆ เลย การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ คนกลุ่มนี้ก็จะได้ใจและจะไปทำอีก

การไปขัดขวางการเลือกตั้งล่วง หน้า ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานเเละสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง ซึ่งนานาอารยประเทศและประเทศที่เป็นประชาธิปไตยรับไม่ได้แน่นอน รวมทั้งไม่เข้าใจว่าทำไมถึงปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ อันนี้จะเป็นปัญหาของ กกต.ที่รู้อยู่แล้วว่าจะมีการมาขัดขวางการเลือกตั้ง ทว่า ทาง กกต.กลับมิได้มีการร้องขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาช่วย เพราะว่าทางศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศรส.) ไม่สามารถส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปได้ หาก กกต.ที่เป็นคนรับผิดชอบโดยตรงไม่ร้องขอความช่วยเหลือ

อีกประเด็น หนึ่ง เจ้าหน้าที่ กกต.บางหน่วยเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปขัดขวาง แต่ก็ปิดไม่ให้มีการลงคะแนนการเลือกตั้ง หรือเมื่อผู้ชุมนุมกลับไปแล้ว การลงคะแนนสามารถทำต่อไปได้ แต่ กกต.กลับไม่ทำ สะท้อนว่า เจ้าหน้าที่ กกต.ระดับเขตไม่มีความตั้งใจให้มีการเลือกตั้ง จึงเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้คนที่ประสงค์จะไปลงคะแนนไม่สามารถไปใช้สิทธิได้

มากกว่า นั้น การขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้นนี้ มีโอกาสเพิ่มความรุนแรงในการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ได้ หากทาง กปปส.ยังไม่สรุปบทเรียน และไม่ยุติการกระทำแบบนี้ เพราะคิดว่าชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น เมื่อเขาเห็นเหตุการณ์นี้แล้ว เขาอาจจะเตรียมตัวไปกันเป็นกลุ่มเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกันได้ง่าย ทั้งมีอาวุธหรือไม่มีอาวุธก็ตาม

ส่วน การเจรจาพูดคุยกันระหว่าง กกต.กับรัฐบาลเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งนั้น มองว่า รัฐบาลไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเสนอเลื่อนของฝ่ายเดียว ซึ่งฝ่ายนั้นไม่ได้ให้คำมั่นสัญญายอมรับว่าจะเข้าร่วมในกระบวนการการเลือก ตั้ง ซึ่งคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กลุ่ม กปปส.ประกาศแล้วว่าไม่สนใจที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และทางคุณสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. มีแนวโน้มว่าจะบิดพลิ้ว จากเดิมบอกว่าจะเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ไปๆ มาๆ กลับบอกว่าจะยกเลิกการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเริ่มใหม่

ดัง นั้นคิดว่าเราไม่สามารถจะไว้วางใจ กกต.ชุดนี้ได้ และคิดว่าการเจรจาทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะผลก็จะออกมาว่ารัฐบาลต้องยอมฝ่ายเดียว ในขณะที่อีกฝ่ายก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ ว่าจะยอมรับข้อตกลงในการเลือกตั้ง หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งไปแล้ว ทางโน้นไม่ได้บอกสักคำว่าจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งหรือไม่

การ เลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ไม่มีใครสามารถตอบได้ แต่คิดว่าประชาชนต้องยืนยัน เรียกร้อง และส่งเสียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้จะเห็นว่าคนหลากหลายกลุ่มออกมาแสดงพลังเรียกร้องไปเลือกตั้ง สะท้อนว่า ไม่ใช่คนกรุงเทพฯทั้งหมดที่เข้าข้าง กปปส.

ขณะเดียวกันถ้า พบเจ้าหน้าที่ กกต.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้การเลือกตั้งดำเนินเป็นไปได้นั้น ขอเสนอว่าต้องช่วยกันไปแจ้งความ กกต. เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องใช้สิทธิของตนเองอย่างเต็มที่ คนเหล่านี้กินภาษีของประชาชน ถ้าเขาไม่ทำงานต้องถูกฟ้องร้อง มีวิธีนี้วิธีเดียวที่จะกดดันให้ กกต.ต้องทำงาน


http://www.matichon.co.th/online/2014/01/13909015551390902051l.jpg

 พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ปัญหา การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ที่สั่งสมมาเรื่อยจนกระทั่งวันนี้ได้เข้าไปล่วงละเมิดสิทธิในการเลือก ตั้งของประชาชน สาเหตุหนึ่งนั้นมาจาก 1.มีลักษณะของการชุมนุมด้วย "วิธีการ" ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 63 กล่าวคือเป็นการชุมนุมที่"ไม่สงบ"

2.การ ชุมนุมมี "เนื้อหา" ของการใช้เสรีภาพที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 กล่าวคือ เป็นการชุมนุมให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไป ตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

3.เมื่อการชุมนุมมีลักษณะตาม ข้อ 1 และ 2 ข้างต้น องค์กรต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและสถาปนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่ "กลไก" ในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย (คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน) กลับไม่ทำหน้าที่ของตนเองตามหลักการและเจตจำนงของรัฐธรรมนูญเพื่อทำการระงับ ยับยั้งการใช้เสรีภาพที่ล่วงละเมิดต่อระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของ ผู้อื่นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ในมาตรา 68 และมาตรา 28

ท้าย ที่สุด เมื่อ "กลไกในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย" ไม่ทำงาน จึงทำให้ผู้ที่ถูกกระทบสิทธิเกิดการตั้งคำถามต่อองค์กรข้างต้นอย่างมาก กอปรกับเกิดสภาวะโกรธและเกลียดต่อผู้ที่ล่วงละเมิดสิทธิเขา เขาจึงพร้อมที่จะพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยด้วยตัวเขาเอง ซึ่งกรณีนี้อาจสุ่มเสี่ยงกับการนำไปสู่ "ความรุนแรง" ในสังคมได้


 http://www.matichon.co.th/online/2014/01/13909015551390902362l.jpg


ดร.วิโรจน์ อาลี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จาก เหตุการณ์ปิดสถานที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้านั้น สิ่งสะท้อนให้เห็นคือตั้งแต่แรกการเคลื่อนไหวของ กปปส.บอกว่าจะไม่ขัดขวางการรับสมัคร แต่จะไปรณรงค์ไม่ให้คนไปเลือกตั้ง แต่ภาพที่เห็นชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่การรณรงค์ แต่คือการขัดขวาง และการขัดขวางที่ว่าไม่ได้แสดงออกว่าทาง กปปส.อยากที่จะปฏิรูปในรูปแบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ความ หมายของการขัดขวางการเลือกตั้ง โดยเนื้อหาตอนนี้ คือการปฏิเสธระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ในสังคมไทย เพราะคือการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ต่อไปนี้พลังทางการเมืองใดต้องการที่จะมีข้อเรียกร้องอะไรในทางการเมือง ก็สามารถที่จะทำนอกกรอบของกติกาการเมือง การปกครอง และเรียกร้องอะไรก็ได้ ใช้รูปแบบของการไปปิดสถานที่ลงคะแนนเสียงก็สามารถทำได้

กปปส.สร้าง ความเสียหายให้ระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก การขัดขวางการทำลายสิทธิของผู้อื่น ในรัฐธรรมนูญไทยก็บอกอยู่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ของการลงคะแนนเสียง คุณจะเสียสิทธิตามมา เช่น การรวมชื่อกันถอดถอน ไม่สามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้ ตรงนี้ยุ่งมาก

อีก มิติหนึ่งคือ มิติของความรุนแรง จะเริ่มเห็นว่าการขัดขวางไม่ใช่แบบสันติอหิงสา บางพื้นที่มีการไปนอนขัดขวางไม่ให้คนไปเลือกตั้ง แต่มีคนพยายามจะเดินเข้าไป ก็ถูกดึงแข้งดึงขาเอาธงชาติไปคลุมหน้าบ้าง เป็นการกระทำที่เลยขอบเขตในแง่ของการประท้วง เริ่มจะกินเข้าไปในสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนที่จะลงคะแนนเสียง พูดง่ายๆ คือคุณกำลังขโมยสิทธิหรือปล้นสิทธิของคนอื่นอยู่

หน้าที่ ของ กกต.ชัดเจนคือทำให้การเลือกตั้งเกิดให้ได้ แต่สิ่งที่เราเห็น คือไม่มีความจริงจัง อะไรที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นดำเนินต่อไปได้ เมื่อทราบอยู่แล้วว่าจะมีคนมาขัดขวางการเลือกตั้งดูเหมือนจะไม่มีการขอกำลัง จากทางทหาร หรือตำรวจ ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสงบสันติ และ กกต.บางท่านอาจจะรู้เห็นเป็นใจมีการปิดสถานที่ลงคะแนน เราต้องตั้งคำถามกับบทบาทของ กกต. ว่าทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ตัวเองได้รับมอบหมายไว้หรือยัง ทำมากพอหรือยัง

เรื่องที่เป็นห่วงและกังวลมากคือ เรื่องความรุนแรง ฝ่าย กปปส.พยายามไปกีดกันสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ต่อจากนี้สิ่งที่จะสะท้อนกลับมาคือคนที่รู้สึกว่าสิทธิของตัวเองเสียหาย เขาอาจจะต้องตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่อยากให้มันเกิดขึ้น

ใน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ คงมีการขัดขวางการเลือกตั้งอีก ผลกระทบจะเกิดขึ้นในระยะยาวว่าการเลือกตั้งถือว่าสมบูรณ์ไหม คนที่ถูกขัดขวาง ถูกข่มขู่แล้วไปลงคะแนนเสียงไม่ได้ เราจะว่าอย่างไร จะเลือกตั้งซ่อมไหม นี่คือปัญหาที่จะเพิ่มดีกรีความสลับซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ไม่แน่ เราอาจจะเห็นศาลรัฐธรรมนูญทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะก็ได้ เป็นต้นเหตุจากการไม่ได้ทำงานอย่างถึงที่สุด ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะหรือว่าไม่สมบูรณ์ และยังรั้นที่จะสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่ใช่เรื่องการขัดขวางโดยนโยบาย การไม่เห็นด้วยในแง่ของความโปร่งใสของการเลือกตั้ง หรือเรื่องของการซื้อสิทธิขายเสียงแล้ว แต่นี่คือความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบ ผมคิดว่าคือเรื่องใหญ่มาก

เราต้องมาหาจุดทำข้อตกลงกันว่า ถ้าจะยังคงระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบนี้ต่อไป ก็ต้องหาทางออก

สถานการณ์ ในวันที่ 2 อาจมีความเป็นไปได้ที่จะรุนแรง แต่ก็ไม่ควรจะเกิด ผมคิดว่า ทหาร ตำรวจ และ กกต.ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปได้อย่างปกติ กกต.เองต้องออกมาประณาม หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องแจ้งความกับผู้ชุมนุมที่ไม่ให้คนใช้สิทธิ

อย่าง ไรก็ตาม คิดว่าวันที่ 2 ยังเดินหน้าไปได้ ไม่ใช่ว่าจากเหตุการณ์การเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วทำให้เราหมดหวัง การเลือกตั้งล่วงหน้าทำให้เราเห็นปัญหา เห็นดีกรีของความพยายามที่จะขัดขวาง ตอนนี้แต่ละพื้นที่จะต้องให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาช่วยกันดูแลด้วย ถ้าทำกันเต็มที่ คิดว่าการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นได้แน่นอน อย่างเป็นปกติ คือมีการควบคุมฝูงชนที่ดี กปปส.มีสิทธิที่จะประท้วง แต่ไม่มีสิทธิไปขัดขวางให้สถานที่เลือกตั้งต้องปิดไป อันนี้เป็นหน้าที่ที่รัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง และ กกต.ต้องร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นให้ได้


..............

(ที่มา:มติชนรายวัน 28 มกราคม 2557)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์www.facebook.com/MatichonOnline

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น