คำถามแรก เราอาจอธิบายได้ว่าประชาธิปัตย์ต้องการขจัดพรรคการเมืองคู่แข่ง แต่ไม่สามารถต่อสู้เอาชนะได้ในสนามเลือกตั้ง จึงต้องทำทุกวิถีทาง เช่น ไม่ลงเลือกตั้ง ชวนพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ให้ลงเลือกตั้ง ขอนายกฯพระราชทานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 อ้างสถาบันกษัตริย์ในการต่อสู้ทางการเมือง ยืนยันการเอาผิดทักษิณโดยรัฐประหารว่าชอบด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรม ฯลฯ
กระทั่งล่าสุด พัฒนามาเป็นยุทธศาสตร์ปฏิวัติประชาชน ตั้งนายกฯคนดีตามมาตรา 7 ตั้งสภาประชาชนของกลุ่มคนดี ปฏิรูปประเทศให้สะอาดหมดจด ตามวาระทางการเมืองของ กปปส.โดยประชาธิปัตย์สนับสนุนและบอยคอตการเลือกตั้งอีกเช่นเดิม
สำหรับข้ออ้างที่ว่าต้องปฏิรูปประเทศ แก้กติกาการเลือกตั้งเพื่อป้องกันการทุจริตซื้อเสียงก่อนค่อยเลือกตั้งนั้น เราถามได้ว่า ที่แท้กติกาการเลือกตั้งก็คือกติกาเดิมและแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อสมัยประชา ธิปัตย์เป็นรัฐบาลมิใช่หรือ ส่วนเรื่องการทุจริตซื้อเสียงนั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า มีการซื้อเสียงกันทุกพรรคการเมือง แต่ปัจจัยชี้ขาดการแพ้-ชนะเลือกตั้งไม่ใช่เงินซื้อเสียง หากอยู่ที่คะแนนนิยมในตัวหัวหน้าพรรคหรือบุคคลที่พรรคเสนอเป็นแคนดิเดตนายก รัฐมนตรี และนโยบายพรรค พรรคไหนเอาเงินมาให้ ชาวบ้านรับหมด แต่จะเลือกพรรคที่เขาชอบแคนดิเดตนายกฯ และนโยบายพรรค
การซื้อเสียงจึงไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย และไม่ได้ทำลายระบบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง หมายความว่า ระบบประชาธิปไตยยังคงอยู่ ยังเป็นระบบกลไกที่ประชาชนสามารถอ้างอิงในการกำกับตรวจสอบ เรียกร้อง กดดันให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง
แต่การเล่นการเมืองนอกระบบต่างหากที่มักเลยเถิดไปจนกระทั่งขัดขวางไม่ให้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ในตอนหาเสียงได้ เช่น แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือรายมาตราก็ทำไม่ได้ ถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเป็นต้น และเลยเถิดไปจนกระทั่งการพยายามล้มการเลือกตั้งดังที่เป็นอยู่ขณะนี้
ส่วนข้ออ้างเรื่องระบอบทักษิณใช้นโยบายประชานิยมและทุจริตคอร์รัปชัน แม้จะมีส่วนจริง แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันว่าสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็มีการใช้นโยบายประชา นิยมและทุจิตคอร์รัปชันไม่น้อยกว่าสมัยรัฐบาลทักษิณเช่นกัน ฉะนั้น การทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นปัญหาของชาติที่ต้องช่วยกันหาวิธีการแก้ไขให้มี ประสิทธิภาพต่อไป ไม่ใช่เรื่องที่พรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลทุจริตเช่นกันจะมาใช้เป็นข้อ อ้างเพื่อใช้วิธีนอกระบบจัดการกับพรรคการเมืองคู่แข่งจนกระทั่งนำสังคมเข้า สู่ภาวะอนาธิปไตย
คำถามต่อมาที่ว่า ภาวะอนาธิปไตยย่อมตามมาด้วยความรุนแรงและความตายของประชาชน ประชาธิปัตย์ไม่แคร์กับความตายของประชาชนเลยหรือ? การสลายการชุมนุมปี 2553 น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดแจ้งที่สุด ในปีนั้นมวลชนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เพราะไม่มีความชอบธรรมเนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร ได้รับการสนับสนุนโดยเครือข่ายรัฐประหาร 2549 และมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันหลายเรื่อง
แต่ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมตอนกลางคืนในวันที่ 10 เมษายน จนมีคนตายกว่า 20 ศพแล้ว รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ยอมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ยังพยายามรักษาสถานการณ์ของการปะทะ-ฆ่าต่อเนื่องจนถึง 19 พฤษภาคม เป็นเหตุให้มีคนตายเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน โดยอ้างว่าเพื่อ “รักษากติกา” ของบ้านเมือง
ประเด็นคือ ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงไม่ได้เรียกร้องให้ทำผิดหรือล้มกติกา แต่เรียกร้องภายใต้กติกาคือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์อ้างว่า วิธีการชุมนุมของเสื้อแดงไม่ถูกต้อง มีขบวนการล้มเจ้า ขบวนการก่อการร้าย จึงต้องรักษากติกาของบ้านเมือง แม้จะคาดการณ์ได้ว่าอาจมีคนตายก็ต้องยอม
แต่ ณ เวลานี้ ข้อเรียกร้องของ กปปส.ที่ประชาธิปัตย์สนับสนุนคือการ “ล้มกติกา” ยึดอำนาจรัฐ ซึ่งทำให้เกิดการปะทะและฆ่าตั้งแต่เหตุการณ์หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง จนลามมาถึงการปะทะขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้งปลายปี 2556 ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากแล้ว ทว่า กปปส.ยังประกาศยึดกรุงเทพฯเพื่อล้มเลือกตั้งให้ได้ โดยไม่แคร์ว่าจะเกิดการปะทะและการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งอาจจะสูญเสียมากกว่าและยืดเยื้อยิ่งกว่าปี 2553 อย่างไม่อาจประมาณได้
จึงกลายเป็นว่า ในครั้งหนึ่งประชาธิปัตย์เคยอ้าง “การรักษากติกา” เพื่อสลายการชุมนุมจนเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนบาดเจ็บเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ ณ ปัจจุบันประชาธิปัตย์กลับสนับสนุน กปปส.ให้ “ล้มกติกา” ยึดอำนาจรัฐ จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนบาดเจ็บเสียชีวิตไปแล้ว และยังประกาศยกระดับการชุมนุมที่สุมเสี่ยงต่อการปะทะนองเลือดมากยิ่งขึ้น เรื่อยๆ
คำถามสำคัญคือ ทำไมการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุด อ้างว่ามีความเป็นสถาบันการเมืองมากที่สุดของประเทศ จึงเป็นการต่อสู้ที่นำไปสู่ภาวะอนาธิปไตยและการนองเลือดอย่างโหดเหี้ยม เลือดเย็น ได้ขนาดนั้น?
พูดแบบนี้ อาจทำให้คิดว่าไม่เป็นธรรมกับประชาธิปัตย์ เพราะไม่พูดถึงสาเหตุคือ “ระบอบทักษิณ” แต่ข้อเท็จจริงคือ สิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณนั้นเขาสู้ในระบบ หรือสู้ตามวิถีทางประชาธิปไตยตลอดมา แน่นอนว่ามีปัญหาคอร์รัปชันและมีด้านที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอื่นๆที่ต้อง แก้ไข แต่หากประชาธิปัตย์เลือกที่จะล้มระบอบทักษิณตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือสู้ในระบบ ย่อมไม่เป็นการนำสังคมไปสู่ภาวะอนาธิปไตยจนต้องเสียชีวิตเลือดเนื้ออย่างที่ เป็นมาและอาจจะเกิดขึ้นต่อไป
การเลือกวิธีต่อสู้ทางการเมืองแบบนอกระบบ โดยไม่แคร์ว่าจะสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนมากเท่าใด ทำให้ประชาธิปัตย์ทำลายโอกาสของตนเองและของสังคมไทยที่จะใช้วิถีทาง ประชาธิปไตยเป็นทางเลือกของการต่อรองหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธีลง อย่างสิ้นเชิง
การทำลายโอกาสของตนเองและสังคมดังกล่าว เป็นการทำลายความชอบธรรมของการเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างมี นัยสำคัญ เพราะถ้าพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ยืนยันแนวทางแก้ปัญหาการเมืองและ ความขัดแย้งทางความคิดของประชาชนจำนวนมากในสังคมตามวิถีทางประชาธิปไตยโดย อันเป็นหนทางแห่งสันติวิธีแล้ว ก็แสดงว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย และไม่เคารพคุณค่าของชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง จึงไม่มีความชอบธรรมเหลืออยู่
แต่ที่น่าเศร้าคือ นักวิชาการ สื่อมวลชน ชาวมหาวิทยาลัย คนกรุงเทพฯ บางส่วน กลับสนับสนุน หรือไม่ก็นิ่งเฉยต่อเป้าหมายและแนวทางการต่อสู้ที่ไม่ชอบธรรมของ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ โดยยอมรับสภาพปัญหารถติด ผลกระทบต่อชีวิตการทำงาน การทำมาหากิน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ กระทั่งจำยอมต่อการต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน
และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ ทั้งที่กลุ่มผู้มีอำนาจในเครือข่ายสถาบันกษัตริย์สามารถยับยั้งไม่ให้มีการ อ้างสถาบันกษัตริย์ต่อสู้ทางการเมืองแบ่งแยกประชาชนในชาติเป็นฝักฝ่าย ตั้งแต่ พธม.ประกาศ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” โน่นแล้ว แต่ก็ไม่มีการยับยั้งใดๆ ยังคงมีการอ้างและใช้สัญลักษณ์ของสถาบันต่อสู้ทางการเมืองท่ามกลางการ ปะทะ-ฆ่าอย่างต่อเนื่อง
การไม่ยับยั้งดังกล่าวจึงยิ่งทำให้สังคมเกิดคำถามมากยิ่งๆ ขึ้นว่า หรือว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในเครือข่ายสถาบันกษัตริย์อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ ของ กปปส.และประชาธิปัตย์ ถ้าไม่เช่นนั้นทำไมจึงไม่ยับยั้ง ปล่อยให้มีการอ้างสถาบันและใช่สัญลักษณ์ของสถาบันต่อสู้ทางการเมืองจน ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างไร
สำหรับประชาชนอย่างเราๆ คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ทางออกอย่างสันติคือวิถีทางประชาธิปไตย ต้องไปเลือกตั้ง 2 กุมภา 2557 เราต้องร่วมกันคัดค้าน ประณามการล้มเลือกตั้งและวิถีนอกระบบในการต่อสู้ทางการเมืองของ กปปส.และประชาธิปัตย์อย่างถึงที่สุด ต้องไม่ปล่อยให้ กปปส.และประชาธิปัตย์สร้างเงื่อนไขให้เกิดภาวะอนาธิปไตยและความรุนแรงนอง เลือดได้อีกต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น