แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ขบวนการอนารยะประชาสังคม

ที่มา ประชาไท


ในช่วงเวลาเข้าสู่ปีใหม่ พ.ศ.2557 นี้ สถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศไทยยังคงถูกคุกคามจากการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่มุ่งจะใช้วิธีการทุกประการในการล้มรัฐบาล โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศล่วงหน้าแล้วว่า เมื่อหมดเทศกาลปีใหม่ จะนัดหมายมวลมหาประชาชนลุกขึ้นปฏิบัติการครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติโดยประชาชนด้วยมือเปล่า เพื่อที่จะจัดตั้งรัฐบาลประชาชนและสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ โดยวิธีการในการต่อสู้ครั้งนี้ คือ การยึดกรุงเทพฯ หรือเรียกว่า ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เพื่อจะบอกกับชาวโลกว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวไม่สามารถควบคุม สถานการณ์ได้ เพราะประชาชนเข้าควบคุมประเทศแทนรัฐบาลแล้ว การปิดกรุงเทพฯ คือ จะทำถนนในกรุงเทพฯให้เป็นถนนคนเดิน ประชาชนจะยึดทุกถนน จะอนุญาตเฉพาะรถเมล์ รถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนเท่านั้น นายสุเทพย้ำว่า คราวนี้จำเป็นจริงๆ เพราะต้องยึดเมืองเพื่อไล่ระบอบทักษิณ

ถ้ามีการ ปฏิบัติการตามนี้ ก็จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดของกลุ่มม็อบนายสุเทพ ที่คุกคามประเทศไทยมานานกว่า 2 เดือน ก็จะยกระดับสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยไม่นำพาว่า ประเทศกำลังก้าวไปสู่กระบวนการเลือกตั้งอันเป็นการคืนการตัดสินใจสู่ประชาชน ตามหลักประชาธิปไตย แต่ต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของม็อบนายสุเทพที่มาได้ไกลขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการสนับสนุนของกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมาก นักวิชาการกระแสหลัก เอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการล้มล้างประชาธิปไตยครั้งนี้ ประเด็นปัญหาคือ การเมืองในลักษณะขวาจัดและไร้หลักการเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนได้อย่างไร

ใน กรณีนี้ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้เคยทำการศึกษาและเขียนหนังสือมาเรื่องหนึ่งในชื่อว่า “รัฐและขบวนการอนารยะสังคมไทย ในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร” (2556) โดยอธิบายให้เห็นว่า โดยทั่วไปภายใต้ระบบเผด็จการในโลกที่สาม กลุ่มชนชั้นกลาง เอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เรียกกันว่า civil society ซึ่งมักจะใช้ในภาษาไทยว่า กลุ่มประชาสังคม จะแสดงบทบาทในการต่อต้านเผด็จการ สนับสนุนประชาธิปไตย คัดค้านการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐ และยังเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น กลุ่มประชาสังคมเหล่านี้จึงมีบทบาทที่ก้าวหน้าและช่วยผลักดันสังคมให้ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ก็มีในกรณีของบางประเทศ ที่เงื่อนไขทางสังคมบางลักษณะส่งผลให้ กลุ่มประชาสังคมกลายเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม ต่อต้านประชาธิปไตย และต่อต้านสิทธิของประชาชนเสียเอง ในกรณีนี้ กลุ่มประชาสังคมจะกลายเป็น uncivil society หรือจะแปลได้ว่าเป็น “อนารยะสังคม” คือ ไม่เป็นขบวนการทางการเมืองที่เป็นอารยะอีกต่อไป

พวงทองได้นำกรณีของ การเกิดอนารยะสังคมนี้ มาศึกษากรณีเขาพระวิหาร เมื่อ พ.ศ.2551 และได้พบว่า กรณีเขาพระวิหาร แม้ว่าจะเคยเป็นกรณีขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.2505 แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึง 46 ปี กรณีนี้เป็นเรื่องที่จบไปแล้ว สังคมไทยไม่มีความทรงจำที่เจ็บปวดในเรื่องนี้ รัฐบาลไทยในอดีตก็ไม่เคยมีท่าทีที่จะอุทธรณ์เรียกร้องสิทธิ และต่อมาการท่องเที่ยวการค้าขายระหว่างชาวไทยกับชาวกัมพูชาบริเวณเขาพระ วิหารก็เป็นไปโดยปกติ ไม่ได้มีความขัดแย้งใดเลย หนังสือเรื่องเขาพระวิหารในห้องสมุดก็อ่านในฐานะหนังสือประวัติศาสตร์ รัฐบาลไทยและกัมพูชาจึงได้มีโครงการที่จะพัฒนาให้เขาพระวิหารเป็นแหล่งท่อง เที่ยวร่วมกัน โดยให้ฝ่ายกัมพูชาจดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ไทยก็สนับสนุนโดยผ่านการเจรจาระหว่างฝ่ายทหารและกระทรวงต่างประเทศสองฝ่ายจน มีความเห็นพ้องกัน จึงได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมโดยรัฐมนตรีต่างประเทศสองฝ่ายในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2551

ปรากฏว่าฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นำเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการโจมตีนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยว่า ขายชาติ ยกอธิปไตยเหนือดินแดนไทยให้กัมพูชาเพื่อแลกผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และใช้ประเด็นนี้ในการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ทั้งที่ไม่ได้มีหลักการและหลักฐานใดรองรับเลย และท่าทีของฝ่ายพันธมิตรยังนำมาซึ่งผลกระทบในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะฝ่ายกัมพูชาปิดเขาพระวิหาร และทั้งสองประเทศต้องติดตั้งกองทหาร กลายเป็นการเผชิญหน้าปะทะกันตามพรมแดน แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยกลับตะแบงตีความให้แถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลอันเหลือเชื่อ ที่สำคัญกว่านั้น คือ กลุ่มชนชั้นกลางไทย สื่อมวลชนกระแสหลัก เอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศ กลับยอมรับในประเด็นลักษณะนี้ และสนับสนุนการใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการขับไล่รัฐบาลสมัคร นี่คือกระบวนการที่ประชาสังคมไทย แปรเปลี่ยนเป็นอนารยะสังคม คือการยอมรับเอาประเด็นที่ไม่ต้องมีหลักการ และยังสร้างข้อมูลเท็จขึ้นรองรับ เพื่อสร้างความชอบธรรมในเป้าหมายทางการเมืองของตน

กรณีนี้ยังอธิบาย ได้ใน พ.ศ.2553 เมื่อกลุ่ม นปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ)จัดการชุมนุมใหญ่คนเสื้อ แดง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งใหม่ กรณีนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้นโยบายปราบปรามนองเลือด จนฝ่ายคนเสื้อแดงเสียชีวิตถึง 94 คน บาดเจ็บนับพันคน ขบวนการประชาสังคมไทย ก็ยังช่วยกันอธิบายความชอบธรรมให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้เห็นว่าการปราบปรามเป็นเรื่องจำเป็น แล้วโหมกระพือความเกลียดชังไปที่แกนนำ นปช. สร้างวาทกรรม”เผาบ้านเผาเมือง”มาโจมตีคนเสื้อแดง แล้วโยนบาปเรื่องการเข่นฆ่าสังหารประชาชนไปที่ชายชุดดำอันพิสูจน์ตัวตนไม่ ได้ เท่ากับว่าขบวนการอนารยะสังคมไทยนั่นเองที่ช่วยฟอกขาวให้นายอภิสิทธิ์ให้มี ที่ยืนอยู่ได้ในปัจจุบัน

และในการเคลื่อนไหวของม็อบนายสุเทพครั้งนี้ ขบวนการอนารยะสังคมไทยได้ทำงานอีกครั้ง ในการสนับสนุนนายสุเทพ ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยไทย ช่วยกันระดมชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากมาเดินขบวนสนับสนุน ยอมรับนายสุเทพที่เป็นนักการเมืองเก่าและมีข้อครหาติดตัวมากมาย ด้วยคำอธิบายเพียงว่า นายสุเทพกลับตัวกลับใจแล้ว มาต่อต้านระบอบทักษิณ และยอมรับข้อมูลเท็จจำนวนมากที่เป็นเรื่องใส่ร้ายฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และฝ่ายคนเสื้อแดง ขยายข้อมูลด้านลบของระบอบการเลือกตั้งแบบที่เป็นอยู่ นี่คือขบวนการที่ฝ่ายชนชั้นกลางไทยเขียน”เช็คเปล่า”ให้นายสุเทพเคลื่อนไหว สร้างความเสียหายแก่สังคมไทยได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

เหตุใดประชาสังคม ไทยจึงกลายเป็นอนารยะสังคมได้เช่นนี้ คำตอบน่าจะเป็นว่า ประชาสังคมไทยไปยอมรับในกรอบความคิดของอนุรักษ์นิยมไทยมาช้านาน และยังบดบังไปด้วยอคติทางชนชั้นที่มีลักษณะดูถูกประชาชนคนรากหญ้าเสมอมา ยอมรับข้อมูลเรื่องนักการเมืองชั่วแต่เพียงด้านเดียว ไม่ตรวจสอบพลังฝ่ายอำมาตย์ และยังตามไม่ทันการพัฒนาของโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ ในที่สุด จึงกลายเป็นอนารยะสังคมที่มีโลกทรรศน์ล้าหลัง รับเอาจิตใจอำมหิตแบบชนชั้นสูงไทย และไม่สนใจในกติกาสังคม นี่คือสภาพปัญหาที่เป็นจริง



ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 445 วันที่ 28 ธันวาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น