30 ต.ค.2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม,
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ออกแถลงการณ์ความเห็นทางกฎหมายต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
โดยระบุว่าคณะกรรมาธิการจะแก้ไขร่างกฎหมายเกินกว่ามติรับหลักการในวาระแรก
ไม่ได้ รวมทั้งการนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
แม้การนิรโทษกรรมเป็นกลไกหนึ่งของหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน
แต่การนิรโทษกรรมทุกกรณีย่อมไม่อาจยอมรับได้
เนื่องจากจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อ
เนื่อง
รายละเอียดระบุว่า
รายละเอียดระบุว่า
แถลงการณ์
เรื่อง ความเห็นทางกฎหมายต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
วันที่ 30 ตุลาคม 2556
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการ
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง
การเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ฉบับนายวรชัย เหมะ
(กฎหมายนิรโทษกรรม)
และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว
โดยมีหลักการ
“ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง
การเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน
พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554” และต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม 2556
ว่าคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีมติในการแก้ไขมาตรา 3 ให้บัญญัติว่า
“ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับ
การชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง
หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้น
ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา
ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556
ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ
หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย
ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงการกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรตามรายชื่อแนบท้าย มีความเห็นต่อการแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ดังต่อไปนี้ 1. คณะกรรมาธิการจะแก้ไขร่างกฎหมายเกินกว่ามติรับหลักการในวาระแรกไม่ได้ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัย เหมะ นั้นมีเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายมุ่งแต่เพียงการนิรโทษกรรมแก่ “บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ เมือง” ในระยะเวลาดังกล่าวเท่านั้น แต่การที่คณะกรรมาธิการ ได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงฐานความผิดอันเกิดจากการ กล่าวหาขององค์กรหลังการรัฐประหารและการดำเนินงานขององค์กรอื่นสืบเนื่องมา ซึ่งจะรวมถึงความผิดในคดีทุจริตหลายคดี ครอบคลุมระยะเวลาการกระทำความผิดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ซึ่งไม่เคยมีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตมาก่อนรวมถึงครอบคลุมถึงบุคคลซึ่งมี อำนาจตัดสินใจหรือสั่งการในการเคลื่อนไหวดังกล่าว ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการของร่างพระราชบัญญัติซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับ หลักการในวาระแรก ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 117 ซึ่งบัญญัติถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการว่าอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือ ตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น รวมถึงขัดต่อหลักการในการร่างกฎหมายอันเป็นหลักการในระดับรัฐธรรมนูญ 2. การนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน การนิรโทษกรรมเป็นกระบวนการหนึ่งของการปรองดองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัด แย้งทางการเมือง แต่การนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขนั้นย่อมขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และสร้างวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด(impunity) ดังนั้นการนิรโทษกรรมนั้นจำเป็นกระทำอย่างมีเงื่อนไขซึ่งควรพิจารณา เงื่อนไขที่สำคัญได้แก่ 2.1 เงื่อนเวลาที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะมีการนิรโทษกรรมใน เหตุการณ์ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งเกิดการรัฐประหารอันเป็นหนึ่งในต้นเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมืองและ สิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นวันที่นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่การขยายกรอบระยะเวลาให้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นั้น แม้จะเริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองแต่การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตาม รัฐธรรมนูญเท่านั้น การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมจึงต้องยึดถือหลักเกณฑ์ “ความขัดแย้งทางการเมือง” เป็นสำคัญในการกำหนดเงื่อนเวลาเริ่มต้น 2.2 ฐานความผิดที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม ต้อง พิจารณาถึงความมุ่งหมายที่ต้องการจะนิรโทษกรรม ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัย เหมะ มีความมุ่งประสงค์ในการนิรโทษกรรมแก่เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการ แสดงออกทางการเมือง หรือเพราะมูลเหตุแห่งความขัดแย้งของการเมืองของประชาชนเท่านั้น การขยายขอบเขตลักษณะแห่งการนิรโทษกรรมไปถึงความผิดหรือข้อกล่าวหาอื่นใดจาก องค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐบาลซึ่งจะรวมถึงคดีทุจริตด้วยนั้นจึงไม่ สอดคล้องความมุ่งประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง รุนแรงในภายหลังซึ่งทำให้ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรมได้ อีกทั้งการนิรโทษกรรมซึ่งรวมถึงฐานความผิดต่อชีวิตนั้นย่อมไม่อาจยอมรับ ได้เพราะสิทธิในชีวิตถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสำคัญที่สุดในฐานะ มนุษย์จึง และเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 6 ซึ่งมีหลักการว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด สิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายและบุคคลต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิต โดยอำเภอใจอย่างร้ายแรง และในข้อ 4. มีหลักว่าไม่ว่าภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ เช่นการชุมนุมทางการเมือง สิทธิในชีวิตและร่างกายก็เป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ 2.3 กลุ่มบุคคลที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม แม้ การนิรโทษกรรมเป็นกลไกหนึ่งของหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน แต่การนิรโทษกรรมทุกกรณีย่อมไม่อาจยอมรับได้ เพราะนอกจากเป็นการสร้างวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อ ประชาชนแล้ว การนิรโทษกรรมให้กับผู้นำความเคลื่อนไหวหรือผู้บังคับบัญชาที่มีคำสั่งให้ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมไม่ใช่คำสั่งที่ชอบด้วย กฎหมาย และเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็มิอาจถือเป็นเหตุยกเว้นความผิดได้ นอกจากนี้ หากเป็นการนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย ยังเป็นการงดเว้นการเยียวยาต่อประชาชน เป็นการทำลายกระบวนการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรตามรายชื่อแนบท้าย ขอแสดงความกังวลว่า หาก รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรยังดำเนินการนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไขต่อไป จะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด และทำให้ประเทศไทยยังคงดำรงความขัดแย้งและไม่อาจออกจากวงเวียนของความรุนแรง ได้ในระยะยาว ดังนั้นแล้ว เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากรอบการนิรโทษกรรมให้ รอบคอบ เคารพถึงหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น