วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่างนิรโทษกรรม ท่ามกลางผู้ฟังจำนวนมาก ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. ยันร่างฯ นิรโทษกรรมมุ่งหมายเฉพาะประชาชน การแก้ไขร่างฯ ของสภาที่ขยายไปยังเจ้าหน้าที่รัฐขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างฯ ดังกล่าว และขัดรธน. พร้อมย้ำแนวทางลบล้างผลพวงรัฐประหาร(ภาพและคำบรรยาย:ประชาไท)
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
31 ตุลาคม 2551
นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ได้แถลงจุดยืนต่อร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีข้อเสนอให้สภาผู้แทนฯลงมติให้ร่างนี้ตกไป แล้วเอาร่างที่ผ่านการรับรองแล้วในวาระแรก(ฉบับวรชัย) มาให้ สภาฯทั้งสภาฯพิจารณา โดยลงมติตั้ง "กรรมาธิการเต็มสภา"
ประเด็นใหญ่ โดยสรุปคือ
1.ขัดหลักรัฐธรรมนูญ เพราะแปรญัตติเกินกว่าหลักการที่ สภาฯรับรองไปแล้วในวาระแรก ซึ่งขัดกับระเบียบประชุมสภา ประเด็นที่แปรญัตติเกินมีทั้งเรื่องครอบคลุมเกิน จากประชาชนผู้ร่วมชุมนุมตามร่างเดิมที่รับหลักการแล้ว กลายเป็นรวมคดีที่เกิดจาก คปก. ทั้งหมด (หน้า 2 ในแถลงการณ์นิติราษฎร์ที่แจกในงาน) และเกินในแง่เวลา จากที่รับหลักการนิรโทษสิ่งที่เกิดจาก 19 กันยา กลายมาเป็น ย้อนหลังไปถึง 2547 (ข้อ 5 ในแถลงการณ์นิติราษฎร์)
2 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ด้วยการยกเว้นคดี 112 ทั้งๆที่เป็นผลมาจากการชุมนุม-ขัดแย้งทางการเมือง (ข้อ 2 ในแถลงการณ์นิติราษฎร์)
ข้อเสนอทางหลักการ-นิติราษฎร์ยืนยันเสนอว่า ต้องแยกคดีที่เกิดจากความขัดแย้ง-การชุมนุมการเมือง จากการรัฐประหาร กับคดีที่เป็นผลพวงรัฐประหาร เช่น คดี คตส. - การแก้ปัญหาคดีประเภทหลัง นิติราษฎร์ ยืนยันให้ใช้วิธีลบล้างผลพวงรัฐประหารที่เคยเสนอไปแล้ว
ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
............
นักวิชาการ "นิติราษฎร์" แถลงชี้พรบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับสุดซอย ขัดหลักรัฐธรรมนูญ
ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง
และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....
และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
ตามที่นายวรชัย เหมะ
กับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจาก
การชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....
เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลักการและเหตุผลคือ
ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง
และการแสดงออกทางการเมือง
เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ
รักษาและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง
อันจะเป็นรากฐานที่ดีของการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง
และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ
ดังกล่าว หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ได้พิจารณาและมีมติแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว
โดยขยายการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึง
“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการ
ชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง
หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้น
ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา
ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556
ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ
หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย
ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติฯ
ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว
พบว่าสภาผู้แทนราษฎรนิรโทษกรรมเฉพาะแก่
“บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง
หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง
แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ
เมือง
โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อ
ต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ
อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย
ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น” จากถ้อยคำดังกล่าว
เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ ฯ
ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่า
สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนผู้กระทำการตาม
ที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น
โดยไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม
ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความ
ผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19
กันยายน พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด
และเมื่อพิจารณาประกอบกับชื่อของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวที่ใช้ชื่อว่า
“ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง
การเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....” แล้ว
ยิ่งทำให้เห็นประจักษ์ชัดว่าร่างพระราชบัญญัติฯ
นี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น
การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ
นี้ให้รวมถึงบุคคลอื่นนอกจากประชาชน
จึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ
ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง
อันเป็นการต้องห้ามตามข้อ 117 วรรคสามแห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ
ดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
เพราะข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่าง
พระราชบัญญัติในวาระที่สองขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นส่วน
หนึ่งของรัฐธรรมนูญ
นอกจากประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว คณะนิติราษฎร์เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังมีปัญหาในประการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1) การนิรโทษกรรมตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ
ฉบับนี้ซึ่งครอบคลุมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ
การสลายการชุมนุมอันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เข้าร่วมในการ
ชุมนุมนั้น นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแล้ว
ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการ
เมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR)
การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของ
ประชาชนรอดพ้นจากความรับผิดดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีตนอกจากจะเป็นการตอก
ย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้ดำรงอยู่ต่อไปแล้ว
ยังสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร
ในการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้อง
รับผิดในทางกฎหมายในอนาคต
2) ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น
กำหนดยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 112
ถึงแม้ว่าการกระทำความผิดของบุคคลนั้นจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการ
ชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม
การบัญญัติกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมขัดหรือแย้งกับหลักแห่งความเสมอภาคที่
รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30
เนื่องจากหลักดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญ
เหมือนกัน ให้เหมือนกัน
และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันออกไปตามสภาพของ
สิ่งนั้นๆ
การนิรโทษกรรมตามความมุ่งหมายของร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญอยู่ที่การ
ยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการ
เมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง
โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดฐานใด ดังนั้น
การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดมิให้ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 112 ที่ได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง
การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง
ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้
จึงเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระอย่างเดียวกันให้แตกต่างกัน
และขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ
3) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้
มีผลกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม
พ.ศ. 2556 ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก
มีบุคคลที่อาจได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้หลายกลุ่ม
และบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน
จากเหตุหลายประการดังกล่าวข้างต้น
ทำให้เกิดความซับซ้อนจนหลายกรณีไม่อาจระบุลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดบ้าง
เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ
กำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี
มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ
ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด
4)
ถึงแม้ว่ากระบวนการกล่าวหาบุคคลที่เกิดขึ้นโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้ง
ขึ้นภายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
จะดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม
และบุคคลที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดสมควรได้รับคืนความเป็นธรรม
ก็ตาม แต่โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ
ฉบับนี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง
การเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง
ซึ่งมีสภาพและลักษณะของเรื่องแตกต่างไปจากการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาโดย
คณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
ประการสำคัญ ในสภาวการณ์ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้
การเสนอให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลดังกล่าวอาจเหนี่ยวรั้งให้การหาฉันทามติในการ
นิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ทั้งนี้
การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหาร
สมควรกระทำด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์
5) มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ
ฉบับนี้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดใด ๆ
ที่เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2547
จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง
ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน
พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมตั้งแต่พ.ศ. 2547
อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการ
นิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่
19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย
6) นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ
ฉบับนี้กำหนดให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือ
องค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบต่อเนื่องมา
ไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน
ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้
หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดย
สิ้นเชิงนั้น เมื่อพิจารณาจากคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
การพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงย่อมทำให้รัฐต้องคืนสิทธิให้แก่
ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น ในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้รับนิรโทษกรรมแล้ว
รัฐมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดมาตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา
ถึงแม้ว่าคณะนิติราษฎร์จะเห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำ
ความผิดโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร
มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการที่จะได้รับคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไป
โดยกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหาร
แต่การที่จะได้รับคืนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นควรจะต้องเป็นไปโดยหนทางของการลบ
ล้างคำพิพากษาตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร
มิใช่โดยการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้
ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์
โดยเหตุที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มีปัญหาบางประการดังกล่าวมาข้างต้นคณะนิติราษฎร์ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้
1) ต้องแยกบุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง
ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุ
เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง
ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้ง
ขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
2)
ให้ดำเนินการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการ
เมือง
ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุ
เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง
โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์
ชุมนุมประท้วง
ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้
ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ทั้งนี้
ตามร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง
ที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยเสนอไว้
3)
สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้ง
ขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย
ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐ
ประหาร ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร
4) อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์
ไม่ได้รับการพิจารณานำไปปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้อง
ประกอบกับขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมอยู่ในระหว่างการ
พิจารณาในวาระที่สองของสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อให้การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งกระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำ
ความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง
หรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปโดยรวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่
คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
4.1 เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ
จนขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ
ที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง
ทำให้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ
ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่สองได้ ด้วยเหตุนี้
สภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าวโดยการลงมติว่ากระบวนการตรา
พระราชบัญญัติฯ นี้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 117 วรรคสาม
เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตกไป
4.2 ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม
และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ
ในวาระที่สองใหม่
คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
31 ตุลาคม พ.ศ. 2556
(ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น