เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
ธนาคารวาติกัน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพระสันตะปาปา
เปิดเผยรายงานประจำปีเป็นครั้งแรก หลังจากองค์กรการเงินลึกลับแห่งนี้
ถูกเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวทางการเงินหลายครั้ง ในประเทศไทย
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็เป็นองค์กรลึกลับคล้ายกัน
หลายคนอาจสงสัยว่าธนาคารวาติกันกับสำนักงานทรัพย์สินฯของไทย
ใครถือครองทรัพย์สินมากกว่ากัน และมีความโปร่งใสแค่ไหน?
ในแง่มูลค่าทรัพย์สินที่ถือครอง
วาติกันแบงก์ หรือธนาคารวาติกัน มีทรัพย์สินอยู่ในมือมูลค่า 5.75
พันล้านยูโร หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท
ในขณะที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของไทย
มีทรัพย์สินเท่าใดนั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่นิตยสาร Forbes
ประเมินไว้ในปี 2554 ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์
หรือประมาณ 900,000 ล้านบาท
แต่มูลค่าแท้จริงอาจสูงกว่านั้น
สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้น 21 เปอร์เซ็นต์ในธนาคารไทยพาณิชย์
ซึ่งคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 117,000 ล้านบาท และถือหุ้น 30
เปอร์เซ็นต์ในบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 155,000
ล้านบาท ลำพังเฉพาะหุ้นในสองบริษัทนี้รวมกันก็มีมูลค่าถึง 272,000
ล้านบาท ซึ่งมากกว่าทรัพย์สินทั้งหมดของธนาคารวาติกันแล้ว
นอกจากนี้
สำนักงานทรัพย์สินฯยังถือหุ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทเทเวศประกันภัย
ถือหุ้น 86 เปอร์เซ็นต์ในเครือโรงแรมเคมปินสกี (Kempinski) ซึ่งมีโรงแรม 5
ดาวอยู่ในความดูแลทั่วโลกประมาณ 80 แห่ง
และยังเป็นเจ้าของที่ดินทั่วประเทศอีกมาก
รองศาสตราจารย์ พอพันธ์ อุยยานนท์
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ประเมินมูลค่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ไว้อยู่ที่ 987,000 ล้านบาท
ในด้านอำนาจการควบคุม
ธนาคารวาติกันถือเป็นองค์กรเอกชน ที่ควบคุมโดยคณะกรรมการที่เรียกว่า "Board
of Superintendence" คณะกรรมการนี้ขึ้นตรงต่อองค์พระสันตปาปา
และคณะพระคาร์ดินัลแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก อย่างไรก็ตาม
ทรัพย์สินของธนาคารวาติกันไม่ถือเป็นของนครรัฐวาติกัน
แต่ถือเป็นทรัพย์สินเอกชนในทำนองเดียวกับทรัพย์สินของมูลนิธิ
ในทำนองคล้ายกัน สำนักงานทรัพย์สินฯ
ก็เป็นองค์กรที่มีอำนาจการควบคุมไม่ชัดเจน ในด้านหนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินฯ
มองตัวเองเป็นองค์กรรัฐ จึงไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิแบบบริษัทเอกชน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ไม่เหมือนองค์กรของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจทั่วไป
เพราะรัฐบาลไม่สามารถนำเงินของสำนักงานนี้มาใช้เองได้
ในด้านความโปร่งใส ทั้งธนาคารวาติกัน
และสำนักงานทรัพย์สินฯ ต่างเป็นองค์กรลึกลับ
ที่ปกปิดรายละเอียดทางการเงินของตัวเอง อย่างไรก็ตาม
ในระยะหลังธนาคารวาติกัน ถูกกดดันให้เปิดเผยข้อมูลทางการเงินมากขึ้น
ปีนี้ธนาคารวาติกันเผยแพร่รายงานประจำปีเป็นครั้งแรก
โดยระบุตัวเลขกำไรที่ได้ และเปิดเผยว่ากำไรนั้นนำไปใช้ทำอะไรบ้าง
ในทางตรงกันข้าม
แม้สำนักงานทรัพย์สินฯของไทย ก็เริ่มออกรายงานประจำปีมาได้ 3 ปีแล้ว
แต่รายงานเหล่านั้นไม่เปิดเผยว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ
ถือครองหุ้นบริษัทใดบ้าง มีที่ดินอยู่ที่ใดบ้าง และถือครองสินทรัพย์อื่นๆ
ในรูปแบบใด หรือในประเทศใดบ้าง
นอกจากนี้รายงานก็ไม่เปิดเผยว่าสำนักงานทรัพย์สินฯมีกำไรเท่าใด
และใช้กำไรนั้นทำอะไรบ้าง
สุดท้าย ในด้านเรื่องราวอื้อฉาว
ธนาคารวาติกันถูกกล่าวหาว่าฟอกเงินหลายครั้ง เมื่อปี 2552
ประธานธนาคารวาติกันถูกทางการอิตาลีจับกุมข้อหาฟอกเงินกว่า 6,500 ล้านบาท
และเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ พระมอนซินยอร์ นุนซิโอ สการาโน
ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารวาติกัน ก็ถูกจับ
เพราะลักลอบขนเงินสดเกือบ 800
ล้านบาทขึ้นเครื่องบินจากสวิตเซอร์แลนด์ไปยังนครรัฐวาติกัน
สำนักงานทรัพย์สินฯ
ของไทยก็มีเรื่องอื้อฉาวด้านการไล่ที่ชาวชุมชนต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
แต่นอกจากนั้นสาธารณชนก็ยังไม่ได้ยินเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับกลการเงินของ
สำนักงานทรัพย์สินฯเท่าใดนัก ความเป็นไปได้มีสองทาง หนึ่งคือ
สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่เคยใช้กลการเงินใดๆ ที่ผิดกฎหมาย หรือสองคือ
ยังไม่เคยมีใครกล้าตรวจสอบธุรกรรมของสำนักงานทรัพย์สินฯ อย่างจริงจัง
by
prache
30 ตุลาคม 2556 เวลา 06:51 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น