แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สำรวจความเห็น ผ่ากระแสนิรโทษกรรมเหมาเข่ง-สุดซอย

ที่มา ประชาไท


หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง มีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขข้อความมาตรา 3 ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด จากคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พ้นจากความผิด หรือเรียกได้ว่าเป็นการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย เสียงคัดค้านในสังคมก็ดังขึ้นทั่วสารทิศ รวมไปถึงฝ่ายที่เคยสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในเวอร์ชั่นแรก ของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.เพื่อไทยด้วย
ก่อนที่จะมีการประชุม กมธ.อีกครั้งในวันที่ 24-25 ต.ค. และคาดว่าจะมีการนำเข้าสู่สภาในวาระ 2 เพื่อเปิดให้อภิปรายก่อนลงมติรับหรือไม่รับร่างดังกล่าว ในโอกาสนี้ขอรวบรวมความคิดเห็นทั้งจากฝ่ายการเมือง นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องสำคัญๆ ไว้พิจารณา
ไม่ว่าจะเป็น วรชัย เหมะ, ธิดา ถาวรเศรษฐ์, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ศุภชัย ใจสมุทร, ชวลิต วิชยสุทธิ์, ภูมิธรรม เวชชยชัย, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, บรรหาร ศิลปอาชา, ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต, คำนูณ สิทธิสมาน, ธาริต เพ็งดิษฐ์
พะเยาว์ อัคฮาด, จักรภพ เพ็ญแข, ไม้หนึ่ง ก.กุนที, สุดา รังกุพันธุ์, ใบตองแห้ง
โคทม อารียา, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, เกษียร เตชะพีระ

==========
วรชัย เหมะ
ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย  กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ (18 ต.ค.)
“ผมยืนยันว่าร่างนิรโทษกรรมของผมที่เสนอเข้ามา ไม่ใช่ร่างหลอกตามที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่แรก ผมเสนอด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับหลักการ ผมไม่รู้ล่วงหน้าด้วยซ้ำว่า จะมีการแก้ไขเนื้อหาออกมาเช่นนี้ ผมเป็นแค่เสียงเดียวต้องเคารพการตัดสินใจเสียงข้างมาก ทำได้แค่นี้จริง ๆ ทำอะไรไม่ได้ คัดค้านไปก็เท่านั้น เรื่องนี้ต้องไปว่ากันในสภาใหญ่ตอนลงมติอีกครั้ง”
http://www.dailynews.co.th/politics/241449

ธิดา ถาวรเศรษฐ์
ประธาน นปช.(21 ต.ค.56)

“ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษแบบสุดซอย จากการใคร่ครวญมาดีพอสมควร เป็นมติแกนนำ นปช. และการฟังเสียงประชาชนโดยเฉพาะคนเสื้อแดง แม้เขาจะรักคุณทักษิณแต่เขาไม่เห็นด้วย
ที่จริงก็มีความเปลี่ยนแปลงจาก เดิม เมื่อครั้งมีการปราบปรามประชาชนใหม่ๆ เราบอกว่าเราไม่ต้องการนิรโทษกรรมเลย เพราะเราเชื่อมั่นในความถูกต้องของเรา และต้องการเอาคนผิดมาลงโทษสถานเดียว
แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นว่าความยุติธรรมยังมาช้าเกินไปหรือเปล่า เราจึงจำเป็นต้องบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชน โดยการนิรโทษกรรม ให้ประชาชนเสียก่อน เอาแค่นี้เราเปลี่ยนมาเพียงแค่นี้
ถ้าเปลี่ยนเป็น นิรโทษกรรมทั้งหมดมันไม่ไหว เพราะว่านี่มันไม่ใช่ตัวเรา มันเกินไป เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณต้องเข้าใจ และเห็นใจ นปช. ด้วย เพราะเราเป็นองค์กรของประชาชนในการต่อสู้ ไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถจะทรยศกับประชาชนได้”
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382325603&grpid=01&catid=&subcatid=

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี (22 ต.ค.)

“ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นร่างของ ส.ส.ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกรรมาธิการ เชื่อว่าขั้นตอนต่างๆ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ก็มีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งไม่ใช่ร่างของรัฐบาลต้องเรียนอย่างนี้”
http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000132251

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์   (20 ต.ค.)

“เป็นเป้าหมายใหญ่ที่พยายามจะนิรโทษกรรมพวกตัวเองและคดีทุจริตของพ.ต.ท .ทักษิณ ซึ่งในส่วนของผมและนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร ไม่ประสงค์ที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ แต่พร้อมต่อสู้คดีในศาล ...ยืนยันในกรรมาธิการชัดเจนว่าใครทำผิดกฎหมายต้องรับผิด ยกเว้นประชาชนธรรมดาที่ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานแล้วไปทำผิดกฎหมายในช่วง นั้นแต่ต้องไม่ใช่การทำความผิดต่อร่างกาย ชีวิต  ทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชน ไม่ต้องมาอ้างพวกผม ขอให้ยึดในความถูกต้อง
ผมต้องถามนายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่าเห็นประเทศร่ำรวยขนาดเอาเงินห้าหมื่นกว่าล้านไปคืน พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ทุจริตและกระทำผิด เพียงเพราะ คตส.กล่าวหาเลยต้องยกเงินให้ นางสาวยิ่งลักษณ์คิดว่า 5.7 หมื่นล้านเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งในส่วนของพรรคจะดูร่างสุดท้ายว่าผิด รธน.หรือไม่ เพราะมีหลายประเด็นที่จะโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว”
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382252166

ศุภชัย  ใจสมุทร
ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ

“พรรคแสดงจุดยืนมาโดยตลอดว่าการนิรโทษกรรมจะต้องเป็นการลดเงื่อนไขความ ขัดแย้ง ปัญหาคือกฎหมายฉบับนี้ถ้าออกไปแล้ว จะตอบโจทย์ตรงนี้หรือไม่ ทั้งหมดรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ถ้านอกสภามีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้  และกลายมาเป็นตัวเร่งให้เกิดการชุมนุม และเกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองรอบใหม่  จะมาบอกว่าเป็นร่างของ ส.ส.ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไม่ได้ ที่สำคัญถ้าเกิดอะไรขึ้นมานายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ”
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382172079&grpid=&catid=01&subcatid=0100

ชวลิต วิชยสุทธิ์
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง (21 ต.ค.)

“คณะ กมธ.ใช้หลักในการทำงานโดยให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ และเห็นว่าร่างของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พท.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ที่ระบุว่า บุคคลต้องได้รับความเสมอภาคทางด้านกฎหมายเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นความเห็นเช่นเดียวกับทีมกฎหมาย พท. ผู้ใหญ่ของพรรค ปชป. 2 คน และอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรรมาธิการจึงเห็นควรแก้ไขไม่ให้ขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 98 ศพนั้น กมธ.เห็นว่าต้องเริ่มที่ทุกฝ่ายให้อภัยก่อน ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็ยังยอมให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่าย และเป็นหลักการเดียวที่ทั่วโลกพึงปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศชาติกลับมาสงบ แม้กระทั่ง น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ที่เดิมทีก็ไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรม แต่ภายหลังก็ยอมเสียสละ เพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ เพราะหากยังมีความทิฐิอยู่ ก็ไม่เกิดการนิรโทษกรรมได้สำเร็จ”
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382337570&grpid=03&catid=&subcatid=

ภูมิธรรม เวชชยชัย
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (23 ต.ค.)


“พรรค เพื่อไทยยังเดินหน้าเพื่อคืนความยุติธรรมแก่บุคคลที่ไม่ได้รับความยุติธรรม จากการรัฐประหารหรือผลพวงของการรัฐประหาร การแก้ไขเนื้อหาเนื่องจากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และผู้พิพากษาบางส่วนท้วงติงว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องหลักความเสมอภาค พรรคจึงนำมาทบทวนเพราะไม่ต้องการให้กฎหมายนี้ต้องตกไปทั้งฉบับ จนทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เลยหากขัดมาตรา 30 จริงๆ ท้ายที่สุดกรรมาธิการจึงแก้ไขเนื้อหาใหม่ โดยยึดหลักเกณฑ์การนิรโทษกรรมจากเหตุการณ์เป็นหลักแทน
พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำเรื่องนี้แบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือแอบทำ ทำทุกอย่างเปิดเผยตามกระบวนการ และยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ถอยอย่างที่เป็นข่าว สิ่งที่เราทำอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องที่ต้องการให้ทุกคนได้รับประโยชน์ เหมือนกัน เป็นการแก้ปัญหาให้สังคม ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการของกรรมาธิการจะขัดหลักการที่ผ่านมาวาระแรกหรือไม่ ยืนยันว่า ไม่ขัดหลักการ เพราะในหลักการวาระแรก พูดถึงการไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและผลพวงของการรัฐประหาร ซึ่งในเนื้อหาที่แก้ไขใหม่ก็ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จึงไม่ใช่การขัดหลักการ โดยเนื้อหาที่แก้ไขจะครอบคลุมแค่ไหน ก็ยังอยู่ในหลักการเดิม”
http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=189750

สมชาย วงศ์สวัสดิ์
ประธานที่ปรึกษาคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (22 ต.ค.)

“ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นการเซ็ตซีโร่ ตั้งต้นใหม่หมด เราทะเลาะกันมา 7-8 ปีแล้วน่าจะคืนความเป็นธรรม ไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันอีกดีหรือไม่ สำหรับคนเสื้อแดงก็เห็นใจคนที่ต้องสูญเสียเจ็บปวด แต่ต้องมองอนาคตด้วยว่าเราจะเดินกันอย่างไรต่อไป ถ้าลืมกันได้ ก็ไปกันได้ เชื่อว่าคนเสื้อแดงพูดจากันเข้าใจมีเหตุมีผล อย่างไรก็ตามอยากฝากให้ส.ส.มองมิตินี้ด้วย

เท่าที่ดูเนื้อหาของร่าง เป็นการนิรโทษกรรมสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงไหนถึงช่วงไหน เป็นเหตุการณ์ใดบ้าง เช่นการรัฐประหาร การชุมนุมห้วงเวลาต่างๆ ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมให้คนใดคนหนึ่ง วันนี้เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว ก็ต้องเดินต่อไป ไม่มีใครไปสั่งให้ถอยได้ ส่วนเรื่องการคืนเงินให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯนั้น เป็นการบิดเบือนมากเกินไป เพราะร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ใช่การเงิน ไม่สามารถคืนเงินให้ใครแม้แต่บาทเดียว ถ้าหากเป็นเรื่องการเงินจริงๆ สภาเขาไม่รับไว้หรอก ฉะนั้นอย่าไปพูดกันเกินเลย"
http://www.tnews.co.th

บรรหาร ศิลปอาญา
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (22 ต.ค.)

“อยากให้มองเรื่องของการนิรโทษกรรมว่าอดีตที่ผ่านมาผู้ที่ทำรัฐประหารยัง ได้รับการนิรโทษ ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสียงข้างมาก ให้นิรโทษกับบุคคลที่ทำผิดทางการเมืองทุกด้านก็อาจเป็นจุดที่ดีในการสร้าง ความปรองดองได้ ผมไม่เห็นด้วยกับการคืนเงินและทรัพย์สินต่างๆ ทุกอย่างไม่ราบรื่น อาจต้องใช้เวลา ฉะนั้นฝากถึงทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มต่างๆ อะไรที่ถอยกันได้ก็ให้ถอย อะไรที่ยอมให้ได้ก็ยอม”
http://www.mcot.net/site/content?id=52663d14150ba0f85f0001a8#.UmZK-Plgfwg

ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (21 ต.ค.)


“ผม เห็นใจคนเสื้อแดง และอยากเรียกร้องคนเสื้อแดง ให้ออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ หากคนเสื้อแดงออกมาเป็นผู้นำในการต่อต้านกฎหมายนี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องหยุดฟังและยอมถอย ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่สัปดาห์ จึงอยู่ที่คนเสื้อแดงว่าจะเอาอย่างไร จะยอมให้พ่อแม่พี่น้องตายฟรี หรือต้องการจะพิสูจน์ความยุติธรรมหาฆาตกรมาลงโทษ วันนี้เป็นละครที่เจ็บปวดสำหรับคนเสื้อแดง แต่ละครกำลังจะจบ โดยคนเสื้อแดงสามารถเลือกได้ว่าจะจบอย่างไร’”
http://www.dailynews.co.th/politics/242095

คำนูณ สิทธิสมาน
เฟซบุ๊ก(19 ต.ค.)

“ถ้าคิดจะเดินสุดซอยแบบนี้ก็บอกกันเสียแต่แรก เสนอเป็นร่างพ.ร.บ.แบบที่ต้องการอย่างนี้เข้ามาให้ชัดเจน คนในสภาผู้แทนฯก็จะได้อภิปรายลงมติให้ชัดตอนวาระ 1 รวมทั้งคนนอกสภาก็จะได้ตั้งขบวนต่อต้านคัดค้านให้เหมาะแก่กรณี
นี่ร่างฯแรกของวรชัย เหมะเล่นอ้างมวลชน ไม่รวมแกนนำ ไม่รวมทักษิณ ชินวัตร ไม่รวมคดีคอร์รัปชั่น

มาวันท้าย ๆ ในชั้นกรรมาธิการฯ เล่นกลให้ประยุทธ ศิริพาณิชย์เป็นแนวหน้ากล้าตายเสนอแก้ไขแบบทะลุซอยอย่างที่เห็น อภิปรายกันได้สักพัดแล้วให้สุนัย จุลพงศธรเสนอปิดอภิปราย แล้วใช้เสียงข้างมากรวมทั้งคนรัฐประหารคนตั้งคตส.โหวตให้ชนะ

โดยวรชัย เหมะเล่นบทไม่รู้ไม่เห็น ไม่เห็นด้วย และสงวนความเห็นเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยไว้ เพื่อจะไปแพ้ในสภาผู้แทนฯวาระ 2”


ธาริต เพ็งดิษฐ์
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)(21 ต.ค.)

“การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่พิจารณาจากการกระทำที่เกิดขึ้นใน เหตุการณ์ ไม่ใช่พิจารณาจากตัวบุคคลที่กำลังพูดกันอยู่ในขณะนี้ อย่าลืมว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจนเป็นคดีความ มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง เชื่อว่ากลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้มีพื้นฐานจากการเป็นอาชญากรโดยสันดาน และเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวมีจุดประสงค์ต้องการให้ความเป็นอยู่ร่วมกันของคน ในชาติดีขึ้น อยากให้มองเรื่องการให้อภัย อย่ามองแบบชั่งน้ำหนักว่าใครได้ใครเสียมากกว่ากัน อย่างไรก็ตามกฎหมายนิรโทษกรรมจะมีรายละเอียดอย่างไร เป็นหน้าที่สภาพิจารณา ระหว่างนี้ดีเอสไอก็ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องตามขั้นตอนกฎหมายปกติ จนกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้
http://prachatai.com/journal/2013/10/49354

โคทม อารียา
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (21 ต.ค.)

“หากคณะกรรมาธิการแก้ให้การนิรโทษกรรมนั้น รวมถึงแกนนำด้วยเป็นจุดสำคัญ อาจจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนหนึ่ง และแกนนำพันธมิตรกับแกนนำเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่ง ตอนแรกในหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะในส่วนของประชาชนที่ออกไปเคลื่อนไหว แต่ไม่รวมถึงคนที่เป็นผู้นำ น่าแปลกใจว่าการแปรญัตติในคณะกรรมาธิการ เป็นการแก้ไขในเชิงหลักการสำคัญ น่าจะมีการทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างไรกันแน่ ไม่ใช่ขึ้นต้นว่าอย่างหนึ่ง ไปกลางทางแล้วว่าอีกอย่างหนึ่ง

ส่วนเรื่องของความเหมาะสมนั้น เป็นเรื่องของความเข้าใจ การยอมรับ ไปจนถึงอารมณ์และความรู้สึกของสังคมโดยรวม พรรคการเมืองที่กำลังดำเนินการแก้ไขต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ว่า สิ่งที่ทำไปไม่เป็นไปตามที่บอกไว้ตอนต้น การแก้ไขในตอนนี้ยิ่งจะทำให้สังคมสับสน ต้องมีการอธิบายให้ชัดเจนให้สังคมเข้าใจและมีเวลาได้ถกแถลง ทำความเข้าใจว่าดีหรือไม่ ควรจะชะลอไว้ก่อน”
 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382347350&grpid=03&catid=&subcatid=

จักรภพ เพ็ญแข
เฟซบุ๊ก (20 ต.ค.56)

“อย่าลืมเป็นอันขาดว่า การลดค่าของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยฝ่ายประชาชน คือยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายตรงข้ามเขาใช้เตะตัดขาไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยเมืองไทย เสถียรได้มาตลอด คำถามคือแนวคิดนิรโทษกรรมยกเข่งหรือทั้งยวง คือ คลื่นสึนามิที่ไหลบ่าเข้ามาท่วมหลักฐานแห่งความผิดและการทำลายประชาธิปไตย ของฝ่ายตรงข้ามไปด้วยหรือไม่ ถ้ามีลักษณะอย่างที่ว่านั้น แทนที่เรื่องนี้จะเป็นตอนอวสาน จะกลับเป็นบทที่หนึ่งของการต่อสู้ครั้งใหม่ ที่มิตรอาจกลายเป็นศัตรูไปได้ง่ายๆ

เราทุกคนอยากให้เรื่องจบ แต่ถ้าจบอย่างไร้ความหมายและทิ้งไว้แต่ความรู้สึกอ้างว้าง ไม่รู้จะเอาอะไรไปสอนลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไปได้ ก็อย่าเพิ่งจบ เพราะจะเท่ากับเราเอาความสุขของปัจจุบัน ไปอยู่เหนือคุณค่าแห่งอดีตและโอกาสแห่งอนาคต เหนื่อยมามากแล้วก็อึดกันต่อไปอีกสักนิดเถอะครับ ฝ่ายเขามาไม้อ่อนก็เพราะเขาอ่อนแอลง ไม่ใช่เพราะเขายอมรับนับถือฝ่ายประชาชนหรือเปลี่ยนใจใดๆ เราควรยืนระยะสุดท้ายก่อนเข้าโค้งประชาธิปไตยไว้ให้จงดี อย่าแวะเข้าข้างทางทั้งๆ ที่เห็นปลายทางอยู่รำไรแล้วเลยครับ”


ไม้หนึ่ง ก กุนที
กลุ่ม 29 มกรา หมื่นปลดปล่อย
เฟซบุ๊ก (21 ต.ค.)

"ผู้ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร 19/9/49 เป็นผู้บริสุทธิ์ ยังยืนยันคำขวัญแรกเริ่มของปฏิญญาหน้าศาลที่ว่า ". คนผิดต้องติดคุก ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกปล่อยตัว.
คนเสื้อแดงไม่มีใครไม่ต้องการ 2 สิ่งนี่ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง กำหนดให้ได้เพียงแค่สิ่งเดียว คือ ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกปล่อยตัว
ในส่วนตัวผมเอา ส่วนเรื่องคนฆ่าประชาชน การสะสางตามกระบวนทรรศน์แดงบ้านๆ อย่างผม มีวิธีการที่หลากหลายมากกว่าที่กฏหมายกำหนด

และ หากใครยังยึดติดเรื่องการเอา พ.ต.ท.กลับบ้าน ก็ต้องเรียนว่า หากทักษิณกลับบ้านได้ ก็เท่ากับ ผลพวงของการรัฐประหารปี 49 หายไปส่วนหนึ่งใช่หรือไม่
และอุดมคติหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตย ก็คือ การลบล้างผลพวงรัฐประหารอัปยศครั้งนั้น"

“สำหรับ เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เพิ่งแปรญัตติ อยากสื่อสารกับฝ่ายการเมืองฝั่งประชาธิปไตย ว่า.. ถ้ามันสร้างเงื่อนไขให้คนอยากล้มรัฐบาลจุดมวลชนติด แล้วทำให้ทหารที่มีกำลังพลประมาณ 10,000 นาย สามารถสามัคคีกับกองทัพที่เคยสงวนท่าทีเมื่อ 6 สิงหา ทำการรัฐประหารได้

ควรเลิกดันทุรัง และยืนยันร่างเดิมที่ผ่านมติพรรคเพื่อไทยเข้าสู่สภาแล้วผ่านวาระที่1ตามช่องทางที่ ส.ส.บางท่านสงวนการแปรญัตติไว้”


สุดา รังกุพันธุ์
กลุ่ม 29 มกราหมื่นปลดปล่อย
เฟซบุ๊ก(22 ต.ค.)


“ปมปัญหานิรโทษกรรมอันยุ่งขิงนี้ ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ผูก ตอนนี้ ฝ่ายการเมืองก็ต้องเป็นผู้แก้
สำหรับเราประชาชน จะไม่ยอมตีบตันไปกับความเหลวแหลกของผู้มีอำนาจ (ฝ่ายไหนบ้างก็ไม่รู้หละ ใครทำบ้างก็รู้ตัวเองละนะ)
เรา 29 มกรา หมื่นปลดปล่อย เสนอ นิรโทษกรรม ในรูปของ รธน.แก้ไขเพิ่มเติม (ตามแนวนิติราษฎร์) ท่านก็เอาไปฝังดินไว้ใต้ถุนสำนักงานกฤษฎีกา
40 สส ออกมาทันเวลา เสนอ พ.ร.บ. เราปฏิญญาหน้าศาลเห็นว่าเนื้อหาพอรับได้ ก็ให้ความร่วมมือผลักดัน ไม่ดื้อดึงถืออัตตา ท่านก็ควรต้องพาประชาชนออกจากวิกฤตให้ได้
เพราะหากมีอุบัติเหตุอะไร
ป้ายต่อไป จะเป็น พรก นิรโทษกรรม ...อย่าให้ต้องไปถึงจุดนั้นกันเลย!”


พะเยาว์ อัคฮาด
มารดา กมนเกด อัคฮาด หนึ่งในผู้เสียชีวิตในวัดปทุม (21 ต.ค.)


"คดี หลายคดี เช่น คดี 6 ศพ ก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว แล้วจะนิรโทษกรรมไปทำไม เมื่อมันเข้าสู่กระบวนการแล้ว ทางที่ดี การนิรโทษกรรม ควรนิรโทษกรรมให้ประชาชนล้วนๆ คนที่ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ปี 53 ต้องมีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่เช่นนั้นแล้วจะให้พวกเราญาติปี 53 ต้องมาตามรำลึกเหมือนรุ่น 14 ตุลา 6 ตุลา และในอนาคตเกิดขึ้นมาอีกนานเท่าไร
ถ้า กมธ. ยังดึงดันที่จะนิรโทษเหมายกเข่ง ดิฉันบอกได้เลยว่า สภาทั้งสภาจะเป็นจำเลยของสังคม”
http://prachatai.com/journal/2013/10/49346

ปิยบุตร แสงกนกกุล
นิติราษฎร์
เฟซบุ๊ก (20 ต.ค.)

“ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่กำลังทำกันอยู่ในตอนนี้มีปัญหามากทั้งทางกฎหมายและการเมือง

ทางกฎหมาย
1. ขัด รธน ในสองประเด็น

ประเด็นแรก คณะกรรมาธิการแก้ไขเสียจนขัดกับหลักการของร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านวาระแรกมา
ประเด็นที่สอง การนิรโทษกรรมคดีคุณทักษิณไม่อาจทำได้ หากยังมี รธน มาตรา 309 อยู่

2. การถกเถียงกันว่าเรื่องไหนเข้าข่ายนิรโทษ คนไหนเข้าข่ายนิรโทษ ทำให้สุดท้ายการตัดสินใจจะไปอยู่ที่ศาลอีก ซึ่งเขียนกฎหมายนิรโทษแบบนี้ทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์การนิรโทษ เพราะ การชี้ขาดยังอยู่ในอำนาจศาล

ในร่าง พ.ร.บ. ก็ไม่กำหนดว่าในกรณีที่มีปัญหาสงสัยใครเป็นคนตีวาม ซึ่งสุดท้ายจะกลับไปอยู่ในมือศาลได้อีก
ดังนั้น ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จึงต้องตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งขึ้นมา

3. การไม่กำหนดเขตพื้นที่เอาไว้ ทำให้อาจถูกตีความไปได้ว่ารวมถึงเหตุการณ์ภาคใต้

4. การทำตัวกฎหมายในรูปของรัฐธรรมนูญแบบที่คณะนิติราษฎร์เสนอ มีข้อดีกว่ามาก เพราะ ไม่มีทางขัด รธน ได้ และกระบวนการพิจารณารวดเร็วกว่าการทำ พ.ร.บ.

น่าเสียดายว่าสังคมไทยส่วนใหญ่คิดว่า รธน เป็นเรื่องวุ่นวายซับซ้อน

ทางการเมือง
1. การนำกรณีคุณทักษิณมารวม ทำให้กลายเป็นเป้าในการโจมตี และทำให้การนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองถูกต่อต้านจนไม่ผ่านอีก

กรณี คุณทักษิณ ไม่ควรนิรโทษกรรม แต่ให้ใช้การลบล้างผลพวงรัฐประหาร ตามที่คณะนิติราษฎร์เสนอไว้ และหากใครข้องใจ ก็ดำเนินคดีกับคุณทักษิณใหม่ตามกระบวนการปกติ

2. การไม่รวมนักโทษคดี 112 ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้กระทำความผิดไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองล้วนๆ อันต่อเนื่องมาจากความขัดแย้งหลัง 19 กันยา 49

3. การนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ ทหาร ผู้สั่งการทั้งหลาย จะทำให้เกิด "การไม่ต้องรับผิด" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และทำให้เจ้าหน้าที่ ทหาร และผู้สั่งการกล้ากระทำแบบนี้อีก เพราะคิดว่าอย่างไรเสียก็ได้นิรโทษกรรม”

“พึ่งวางสายกับอาจารย์วรเจตน์เมื่อสักครู่ ได้หารือกันเรื่องการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในชั้นคณะกรรมาธิการล่าสุด

จริงๆแล้วคณะนิติราษฎร์ได้มีข้อเสนอในเรื่องเหล่านี้ครบถ้วนไปนานแล้ว ตั้งแต่

1. การลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเสนอไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 อธิบายซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2554 และซ้ำอีกรอบในวันที่ 22 มกราคม 2555

2. กรอบรัฐธรรมนูญแบบนิติราษฏร์ ซึ่งเรื่องหนึ่งคือรับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารตำรวจในการปฏิเสธไม่ทำตามคำ สั่งของผู้บังคับบัญชาในกรณีที่คำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างประจักษ์ชัด เสนอเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2555

3. การนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองและขจัดความขัดแย้ง เสนอเมื่อต้นเดือนมกราคม 2556

ข้อ เสนอทั้งหมดเหล่านี้ เราได้อธิบายโดยละเอียดทั้งทางวาจาและทางตัวอักษร พร้อมทั้งมีเอกสารประกอบแบบเข้าใจง่าย และยกร่างตัวกฎหมายออกมาเป็นรายมาตรา เรียกได้ว่าอยู่ในสถานะพร้อมใช้งานได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ก็ค่อยๆหายไป ตามสถานการณ์การเมือง

ขณะ นี้ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่กำลังทำล่าสุด มีปัญหาในทางกฎหมายมาก ในทางหลักการก็ไม่ถูกต้อง เราได้ติดตามข่าวตลอด แต่เนื่องจากการวิจารณ์-วินิจฉัยในทางกฎหมาย จำเป็นต้องให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติเสียก่อน แม้ร่าง พ.ร.บ.ฯ 7 มาตราจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการหมดแล้ว แต่การประชุมคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมยังมีอีกสองวันสุดท้าย คือ 24 และ 25 ตค เราจึงรอให้คณะกรรมาธิการประชุมให้จบ และผลิตเอกสารที่เป็นตัวร่าง พ.ร.บ. สมบูรณ์ที่ผ่านคณะกรรมาธิการฯ เพื่อนำเข้าสภา และเราจะพิจารณาจากร่าง พ.ร.บ. นี้

ระหว่างนี้ หากสงสัยกันว่าเราคิดอย่างไร ท่านสามารถดูย้อนข้อเสนอของเราได้ทั้งหมด
และ ณ วันนี้ จุดยืนของเราก็ยังคงเป็นแบบเดิม” (21 ต.ค.)

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
คณะศิลปศาสตร์ มธ.

เฟซบุ๊ก (18 ต.ค.)


“เรื่อง พรรคเพื่อไทย พยายามให้มีการนิรโทษแบบเหมาเข่ง-สุดซอย แต่ไม่รวม 112 นี่ ผมเซ็งๆ จนขี้เกียจเขียน แต่ก็ไม่แปลกใจนะ อันที่จริง ผมเดาและเคยเขียนว่าจะเป็นแบบนี้มาเป็นปีแล้ว ขึ้นอยู่ว่ามีโอกาสหรือไม่มีโอกาสเท่านั้น แต่เป้าหรือ priority ของเพื่อไทย อยู่ตรงนี้มาตลอด คือเพื่อช่วยทักษิณให้หลุด เรื่องช่วยมวลชนถูกถือเรื่องรองหรือเป็นผลพลอยได้มานานแล้ว เรื่องเอาผิด คนฆ่าประชาชน โดยเฉพาะทหาร นี่ก็ไม่อยู่ในสารบบวิธีคิดหรือยุทธศาสตร์ของพรรคเลยแต่ไหนแต่ไร การที่ยังโจมตีเหลือเพียงแค่อภิสิทธิ์-สุเทพ โดยมี ดีเอสไอ ของธาริต ที่เปลี่ยนสี คอยจัดให้ ก็เป็นปาหี่ หาคะแนน เก็บคะแนน เสียเยอะ เพราะในที่สุด ถ้าใช้วิธีช่วยทักษิณด้วยการนิรโทษ ไม่มีทางจะไม่นิรโทษ รวมอภิสิทธิ์-สุเทพไปด้วย อีกวิธี เหมือนที่นิติราษฎร์เสนอ คือเลิก 309 เลิกผลพวง รปห ซึ่งจะทำให้คดีทักษิณหลุดเหมือนกัน (แต่สามารถดำเนินคดีใหม่ตามกฎหมายปกติได้อีก) ทักษิณ-เพื่อไทย ไม่มีทางทำอยู่แล้ว เพราะมันต้องหมายถึงว่า ทหารที่ทำ รปห จะถูกเอาผิดด้วยในฐานกบฎ ไม่นับเรื่องทักษิณถูกดำเนินคดีใหม่เองได้ด้วย

เรื่อง 112 ที่เป็นคดีการเมืองล้านเปอร์เซนต์ ก็อย่างที่เคยเขียนไปว่า เป็นการถอยหลังเข้าคลองมาก เพราะอดีตก็ถือกันแบบนี้และนิรโทษมาแล้ว (เหอๆ ขำที่นายกฯไปเจื้อยแจ้วเวทีรีวิวเรื่องสิทธิมนุษยชน ยูเอ็น เร็วๆนี้ และ รบ กำลังร่วมกับพระองค์ภา เป็นเจ้าภาพสัมมนาเรื่องนี้)

เรื่องกลุ่ม เสื้อแดงอย่าง "ปฏิญญาหน้าศาล" ที่อย่าลืมว่ามีกำเนิดจากการอดข้าวประท้วงกรณี สมยศ พฤกษาเกษมสุข และแรกๆเคยเอาเรื่อง อากง สมยศ ไปพูด รวมถึงเอาร่างนิติราษฎร์ ไปเสนอ ตอนนี้กลายเป็น "ลูกที่ดีของพรรค" (เพื่อไทย) ไปแล้ว ก็คงไม่ต้องหวังว่าจะออกมาโวยวายผลักดันอะไร (ถ้ายังใจถึง ทำจริงๆ ก็ดีไปนะ เพียงแต่อย่าไปหวัง)

ก็ต้องรอดูกันต่อไปนะ ว่าในที่สุดจะผลักจน "สุดซอย" ได้ไหม (เรื่องมันยังไม่จบ ยังอีกหลายขั้น หลายสัปดาห์อยู่) และอย่างที่ผมพูดมาเป็นปีเหมือนกันว่า การพ่วงคดีทักษิณกับมวลชนนั้น เสี่ยงที่จะทำให้มวลชนพลอยหลุดช้าไปด้วย เหมือนคราวเพื่อไทยหนุน พ.ร.บ. ฉบับสนธิ บัง ต้นปีที่แล้วนั่นแหละ”

“ผมเห็นทั้ง อ. Piyabutr Saengkanokkul และ Phuttipong Ponganekgul เขียน ว่า มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แก้ไขใหม่ จะมีปัญหาทางกฎหมาย 2 เรื่อง คือ (1) ขัดกับมาตรา 309 ใน รธน และ (2) ขัดกับการลงมติของสภาเองที่รับ "หลักการ" ร่างวรชัย ในวาระแรก ซึงร่างวรชัย ระบุไว้ชัดว่า ไม่รวมระดับนำ การแปรญัตติในระดับ กมธ ไม่สามารถแปรเกินกว่าหลักการที่สภารับไปในวาระแรกแล้ว

ผมเห็นด้วยกับ ข้อ (2) นะว่า น่าจะผิดจริง เป็นการแปรญัตติเกินกว่าหลักการในร่าง วรชัย ที่สภารับไป (คือถ้าจะเขียน เหมาเข่ง-สุดซอย แบบทีแก้ จะต้องเสนอเป็นร่างกฎหมายใหม่ ให้สภารับหลักการ เช่น เสนอร่าง แบบ เฉลิม หรือ สนธิ บัง แทน)

แต่ผมไม่คิดว่า ข้อแรก เรืองขัด 309 จะเป็นการขัดนะ (อันนี้ หมายถึงการตีความแบบปกติ ไม่นับว่า ถ้าเกิดมีการยื่น ศาล รธน. แล้วศาลจะตีความมั่วอะไรแบบนั้นนะ นั่นอีกประเด็นหนึ่ง)

309 รับรองการกระทำของการ รปห คือรับรอง คตส ไปโดยปริยาย ว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ที นี้ มาตรา 3 ที่แก้ไข นิรโทษกรรม คนที่ถูก คตส กล่าวหา แต่ไม่ได้ยกเลิกตัวการกระทำของ คตส คือ ไม่ได้บอกว่า คตส ผิด รธน. (ไม่เหมือนการเสนอเลิก 309 ของนิติราษฎร์ ที่จะทำให้ คตส ผิด รธน.ไป) แต่แค่นิรโทษ คนที่ถูก คตส กล่าวหา .. ผมมองว่า กรณีเช่นนี้ ก็ทำนองเดียวกับว่า ไม่ได้ยกเลิกตัวกฎหมายอาญามาตราใดทีมีการกล่าวหา (หรือกระบวนการที่กล่าวหาจากกฎหมายนั้น) แต่นิรโทษให้ผู้ถูกกล่าวหาในกรณีที่ระบุเท่านั้น การกระทำต่างๆ ของ คตส ไม่ได้ผิด รธน จากการนิรโทษนี้ เหมือนกับที่ กฎหมายอาญาทีใช้ในการกล่าวหา ไม่ได้ผิด รธน. ยังถือเป็นกฎหมายที่ชอบด้วย รธน. แต่นิรโทษคนถูกกล่าวหาเท่านั้น

สรุปแล้ว ปัญหาทางกฎหมายของการแก้ไขมาตรา 3 ให้เป็นแบบ เหมาเข่ง-สุดซอย จะไมใช่เรือง 309 แต่จะเป็นเรือง การแปรญัตติเกิน คือ ผิด หลักการ ทีสภารับรองไปในวาระแรก” (20 ต.ค.)

ใบตองแห้ง
คอลัมนิสต์ (20 ต.ค.)


“ถ้า แก้ไขตามนี้จะมีผลอย่างไร แน่นอน ข้อหนึ่ง นิรโทษทักษิณ ซึ่งถูกกล่าวหาโดย คตส. ข้อสอง นิรโทษแกนนำ ทั้ง นปช.และ พธม. ข้อสาม นิรโทษทหารที่สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 รวมถึงอภิสิทธิ์-สุเทพ ผู้สั่งการ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจสลายการชุมนุมหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพในช่วง เวลา 9 ปี
ทำไมมีผลนิรโทษทหาร รวมอภิสิทธิ์-สุเทพ ก็เพราะร่างแรกระบุว่า นิรโทษบุคคลที่ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง “เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่ง ชัดเจนว่าไม่ได้นิรโทษเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อตัดข้อความเหล่านี้ออก เหลือเพียงถ้อยคำว่า “บุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง” ก็คล้าย พ.ร.ก.นิรโทษกรรมปี 2535 ซึ่งนิรโทษทุกฝ่าย รวมทหารด้วย

ดูวรรคสอง ของร่างเดิมก็ยิ่งชัด ไม่นิรโทษการกระทำของบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการ “ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง” ซึ่งหมายถึงแกนนำการชุมนุม แต่ร่างแก้ไขของประยุทธ์เปลี่ยนเป็น “ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้” รวมหมดทุกฝ่าย
ที่ทุเรศไปกว่านั้นคือ ร่างแก้ไขของประยุทธ์ยังเติมว่า นิรโทษหมดทุกคน ยกเว้นนักโทษ 112
สังเกตให้ดีนะครับ ร่างหัวเขียงตัดถ้อยคำว่า “หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง”  ตรง นี้แปลว่าอะไร ก็แปลว่าการเขียนอย่างนี้อาจตีความรวมถึงนักโทษ 112 ซึ่งไม่ใช่วรชัยเขียนหรอก แต่วรชัยก๊อปร่างนิติราษฎร์ เลยมีถ้อยคำติดมา (แต่ก็อย่างที่เคยบอกไว้ การตีความขั้นสุดท้ายอยู่ในอำนาจศาล เพราะฉะนั้นเขียนไปก็ยากจะมีผล)
ตอนถกเถียงกันเรื่องร่างวรชัย-ร่างญาติวีรชน ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้เติมนิรโทษ 112 ลงไป เพราะมองว่าจะถูกต้านจนผ่านไม่ได้ ไม่สามารถนิรโทษใครสักคน แต่เมื่อแปรญัตติให้นิรโทษเหมาเข่ง ท้าทายกระแสต้านอย่างรุนแรงขนาดนี้ กลับลอยแพ 112 ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับความยุติธรรมมากที่สุด ก็ต้องบอกว่าทุเรศแล้วครับ”

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (22 ต.ค.)

“อาจจะมีการใช้ช่องทางตาม ม.154 ก่อนที่ร่างนั้น นายกฯ จะนำขึ้นทูกลเกล้าฯ อาจมีสมาชิกรัฐสภารวมชื่อกันส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้อาจมีการตราโดยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อย่างที่บอกว่ามันมีการแปรยัตติในขั้นกรรมาธิการแล้วไปขัดกับหลักการตามวาระ แรกที่ลงมติไป
ถ้ามองแง่การเมือง การที่คุณเร่งรีบแบบนี้ มันเป็นร่างพรบ.ที่เรียกแขกอยู่แล้ว กรณีที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงม.3 ตรงนี้ มัน cover คุณทักษิณด้วย แน่นอน ฝ่ายค้านและไม่เห็นด้วยกับคุณทักษิณต้องออกมาต่อต้านแน่ๆ เป็นประเด็น sensitive ถ้าไม่ระมัดระวังตรงนี้อาจจะสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลด้วยซ้ำ”
http://news.voicetv.co.th/thailand/85874.html

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
เฟซบุ๊ก (20 ต.ค.)

“ไม่ใช่เขาไม่อยากให้ทักษิณกลับบ้าน คนพวกนี้ก็รักทักษิณ อยากให้ทักษิณกลับบ้านใจจะขาด แต่เขาห่วงพี่น้องของเขาที่ติดคุก ทักษิณอยู่ต่างประเทศไปอีกสักพัก ก็คงไม่ลำบากทรมาณเท่ากับพี่น้องของเราที่ติดคุกมากว่าสามปีแล้ว และยังจะต้องติดคุกต่อไปถ้ากฎหมายนี้ไม่ผ่าน หรือทางพรรคเพื่อไทยและดูไบกำลังจะบังคับจ่อคอหอยพี่น้องเหล่านี้ว่า ถ้าอยากออกจากคุก ก็ต้องกล้ำกลืนจำยอมนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งฆ่าประชาชนไปพร้อมกันด้วย ม่ายงั้นก็จงนอนคุกต่อไป?!?
โพสต์นี้เป็นการส่งสัญญาณให้พรรคเพื่อไทยรู้ว่า ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คัดค้านยุทธวิธีห่วย ๆ แบบนี้ การใช้วิธีมา "ยัดไส้" กันในตอนแปรญัตติเข้าวาระสอง มัน "ไม่สง่างาม" และ "ปลิ้นปล้อน" เพราะตอนยื่นกฎหมายจนผ่านวาระหนึ่ง ก็สัญญากันชัดเจนว่า จะไม่เป็นแบบนี้ แล้วคุณมาทำแบบนี้ตอนแปรญัตติ ตรงตามที่พรรคประชาธิปัตย์เขาเตือนไว้ล่วงหน้า แบบนี้ ผมสนับสนุนคุณไม่ลง --- โอเค?”


เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มธ.
เฟซบุ๊ค (23 ต.ค.)

“เราเรียกคืนชีวิตเขาไม่ได้
แต่การฆ่าคนตายมันต้องผิด
นิรโทษซ้ำซากพรากชีวิต
ฆาตกรเสพติดการฆ่าฟรี
มีอำนาจมีปืนยืนเหยียบศพ
ญาติพี่น้องน้ำตากลบช้ำเหลือที่
คนไทยใช่ไพร่สถุลฝุ่นธุลี
แผ่นดินนี้ลุกเป็นไฟไร้ยุติธรรม!”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น