ในความเป็นจริง ผลผลิตจากภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนเพียง 11% ของ GDP ณ ปีล่าสุดคือ พ.ศ.2554 ในขณะที่ภาคการผลิตหลักคือภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนสูงสุดคือ 30% และภาคการค้าส่งและค้าปลีก 15% เกษตรกรรมตกอยู่ในอันดับที่ 3 ยิ่งกว่านั้น หากอุตสาหกรรมรวมไปถึงเหมืองแร่ ไฟฟ้าประปา แก๊ส และการก่อสร้างด้วยแล้ว จะกินส่วนแบ่งใน GDP สูงถึง 38%
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ณ พ.ศ.2554
รายการ ล้านบาท สัดส่วน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 11,120,518 100%
เกษตรกรรม 1,271,524 11%
เกษตรกรรมเฉพาะปลูกข้าว 764,125 7%
อุตสาหกรรม 3,297,910 30%
การค้าส่ง-ปลีก 1,630,226 15%
ที่มา: ตารางสถิติประชาชาติประเทศไทย 2554
ภาคการเกษตรเคยเป็นหลักของเศรษฐกิจเมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2494) โดยขณะนั้นเคยมีสัดส่วนใน GDP ถึง 38% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมีเพียง 13% เท่านั้น แต่ ณ ปัจจุบันกลับตาลปัตร โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวตามที่พระมหาวุฒิชัย อ้างถึงด้วยแล้ว มีสัดส่วนใน GDP เพียง 7% เท่านั้น
อย่างไรก็ตามประชากรในภาคเกษตรกรรมมีถึง 41% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประชากรในภาคบริการมี 40% และภาคการผลิตมีเพียง 19% เท่านั้น การนี้ชี้ให้เห็นว่าผลิตภาพในภาคการเกษตรต่ำมาก ส่วนมากอาจผลิตเพียงแค่พอใช้สอย ประชากรในต่างจังหวัดส่วนมากอพยพไปทำงานในภาคการผลิตอื่นในภูมิภาคอื่น เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก หรือในตัวจังหวัดหลักในภูมิภาค
'ความเพ้อฝัน' ที่จะให้คนชนบทกลับไปใช้ชีวิตทำนาอย่างพอเพียงจึงเป็นแค่ความฝันอันเหลือ เชื่อและเป็นไปไม่ได้เลย เท่ากับส่งเสริมให้พากันไปตายในบ้านเกิดที่มีทรัพยากรจำกัด ในสมัยปัจจุบันนี้จะให้ชาวบ้านอยู่กันแบบจับกบ กับเขียด เก็บหอยตามท้องนา ยิงกระปอม (กิ้งก่า) สอยไข่มดแดงมากินกันคงไม่ได้แล้ว ประชากรก็เพิ่มขึ้นมากมาย
การที่ประชากรส่วนหนึ่งมาทำงานในเมืองหรือในภาคการผลิตอื่น ส่งเงินกลับบ้าน ทำให้ประชากรชนบทมีความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ส่วนที่จะได้รับ 'สารพิษ' จากการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการบริโภคนิยม การนิยมวัตถุ เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ต้องรู้จักมีภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่พยายามใฝ่ฝันให้พวกเขากลับไปมีชีวิตแบบบุพกาลเช่นแต่ก่อน
ในอีกแง่หนึ่งบ้านในชนบทก็เป็นเสมือนสถานตากอากาศ (Resort) สำหรับการกลับไปพักผ่อน (Retreat) ของชาวชนบทที่มาทำงานในเมืองได้ 'ชาร์ตแบต' ในวันหยุดบ้าง อันที่จริงควรจำกัดการทำนา หรือให้ทำแบบอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อให้มีผลิตภาพมากขึ้นกว่าการผลิตแบบตามมีตามเกิดและได้ผลผลิตต่ำเช่นใน ทุกวันนี้
แทนที่เราจะส่งเสริมให้คนมีที่นา เราน่าจะส่งเสริมให้เลิกทำนาโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การแจกที่ดินให้คนไปทำนา จึงเป็นแนวคิดที่ผิด รัฐบาลควรซื้อที่ดินจากชาวนาโดยเฉพาะในพื้นที่บุกรุก เพื่อมาทำเป็นป่า ฟื้นฟูป่าควบคู่กับการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าอย่างเฉียบขาด จึงเป็นหนทางแห่งความเจริญของไทยมากกว่าการส่งเสริมให้ทำการเกษตรกรรม
ส่วนการทำนาปลอดสารพิษเป็นเพียง Market Niche หรือช่องทางการตลาดใหม่เฉพาะกลุ่ม ซึ่งทำให้สินค้ามีราคาสูงกว่าทั่วไป เพราะผู้ซื้อมีกำลังซื้อสูงกว่า คู่แข่งในตลาด Niche Market มีน้อยกว่า โดยธรรมชาติแล้ว Market Niche เป็นตลาดเล็ก ๆ ที่แม้มีจุดขายที่เหนือกว่า แต่ใช่จะสามารถแทนที่ตลาดทั่วไป (Conventional) ได้ นอกจากนี้การทำ Market Niche ยังเป็นการสร้างแบรนด์ ผู้ทำย่อมได้หน้าได้ตาจากการทำดีเหนือคนอื่น ทำให้ดูดีกว่าในสังคม นักบวช ปัญญาชน คนที่ได้ชื่อว่าคนดีในสังคม มักชมชอบการทำดีแบบนี้ แต่จะถือเป็นวิถีทั่วไปคงไม่ได้
ในตอนท้าย พระมหาวุฒิชัย ยังกล่าวว่า "ตราบใดที่คนเรายังต้องกินต้องอยู่ เราต้องสอนนิพพานแห่งอาชีพควบคู่กันไปด้วย เกษตรกร ชาวนาไทยถึงจะอยู่รอดได้" คำพูดนี้ฟังดูดี แต่แปลว่าอะไร ในกรณีนี้อาจตีความได้ว่าเป็นการ 'เล่นคำ' มากกว่าสาระที่แท้จริง เราต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยน ประชากรมากขึ้น ทรัพยากรมีจำกัด การจะให้ใครต่อใครกลับไปทำนา ทำไร่เช่นบรรพบุรุษ คงเป็นไปไม่ได้
การฝืนความจริงให้คนกลับไปทำนาเท่ากับพากันลงเหว จึงเป็นความฝันที่เชื่อไม่ได้แต่ทำให้คนพูดดูดี
อ้างอิง
ข่าว "ร.ร.ชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ วิถีนิพพานอาชีพเกษตร" ไทยรัฐ 27 กันยายน 2556
ทิศทางการทำงานของแรงงานไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
แรงงานเกษตรในประเทศไทย กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น