แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อย่าให้(ลูก)คนโกงมีที่ยืนในสังคม

ที่มา Thai E-News




โดย ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มา THAIPUBLICA
เมื่อประมาณอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ก่อน มีโอกาสได้ดูโฆษณาชิ้นหนึ่ง ทราบว่าเป็นภาพยนตร์โฆษณาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand) โดยเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ“อย่าให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม” และที่ผมได้ชมนั้นเป็นตอนที่ชื่อว่า “ลูกคนโกง” ซึ่งโพสต์ในเว็บไซต์ยูทูบโดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน”

เนื้อหาในโฆษณาดังกล่าว เป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนคนหนึ่งนั่งหน้าเศร้าอยู่บนชิงช้า เมื่อแม่ของเด็กน้อยถามว่าทำไมไม่ไปเล่นกับเพื่อนๆ คำตอบที่ได้รับก็คือ เพื่อนๆ บอกว่าไม่อยากเล่นกับ “ลูกคนโกง” แล้วเด็กคนนี้ก็ถามแม่ตัวเองว่าบ้านเรานั้นโกงจริงหรือ จากนั้น ก็เป็นภาพของคุณแม่ที่มีตัวอักษรเป็นวลีว่า “รวยเพราะโกง” ปั๊มอยู่บนหน้าผาก พร้อมด้วยแม่ๆ ของเด็กคนอื่นๆ ที่ยืนชี้หน้าตะโกนคำว่าขี้โกงใส่ และมีแม่คนหนึ่งที่ยิงคำถามว่า “สงสารลูกบ้างมั้ย”
สะใจ…

หลายคนดูแล้วต้องรู้สึกสะใจแน่ๆ ก็แหม วิธีการจัดการกับ “คนโกง” แบบในโฆษณานี้ดูจะเป็นอะไรที่ทำได้โดยง่าย และโครงสร้างทางวัฒนธรรมแบบไทยๆ ของเรานั้นก็เอื้ออวยกันในเชิงความรู้สึกว่ามันเป็นวิธีที่ได้ผล ซึ่งไม่ว่าได้ผลที่ว่านั้นจะยืนยาวหรือไม่ แต่ในทางเฉพาะหน้าแล้ว “การลงทัณฑ์ทางสังคม” หรือ social sanction แบบในโฆษณานี้มันทั้งสะอกสะใจและทันอกทันใจ ยิ่งเลือกคนแสดงเป็น “แม่ผู้ถูกตีตราว่าโกง” มาเสียหน้าตาเหมือนรักษาการนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (บางคนก็บอกว่าเด็กในโฆษณานั้นหน้าเหมือนน้องไปป์ ลูกชายนายกฯ) มีหรือครับ ที่ผู้มีจิตใจชิงชังรังเกียจเคียดแค้นคนขี้โกง ซึ่งตอนนี้มีสองพี่ชายน้องสาวอดีตนายกฯ แห่งตระกูลชินวัตรและพรรคพวกเป็นหุ่นฟางให้ใครต่อใครตอกตะปูสาปแช่งไปแล้ว จะไม่รู้สึกสะใจเมื่อได้เห็นภาพที่ปรากฏในโฆษณาดังกล่าว

แต่โดยส่วนตัวนี่ เมื่อมาพินิจดีๆ แล้ว แหม ผมขอบอกตรงๆ ว่านี่เป็นโฆษณาที่น่ารังเกียจมากอยู่นะครับ

คุณฟังไม่ผิด และอ่านไม่พลาด ผมกำลังบอกว่าโฆษณาชิ้นนี้น่ารังเกียจ และผมรู้สึกสิ้นหวังอย่างมากที่องค์กรที่เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรต่อต้าน คอร์รัปชันนั้นเลือกที่จะใช้วิธีการลงทัณฑ์ทางสังคมในรูปแบบที่น่ารังเกียจ แบบนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

ต้องออกตัวก่อนนะครับว่า ไม่ใช่ว่าผมจะชิงชังการต่อต้านคอร์รัปชัน ผมชอบครับ การต่อต้านคอร์รัปชันนี่ผมชอบเลย อยากให้มี อยากให้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ แต่สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าการต่อต้านคอร์รัปชันก็คือ คุณจะต่อต้านมันด้วยวิธีไหน และการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการสร้างค่านิยมว่ามันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ควรเกี่ยวข้องด้วย แบบนั้นผมก็เห็นว่าก็น่าจะได้ผลอยู่บ้างนะครับ เพราะก็เป็นการเพิ่มต้นทุนทางสังคมแก่ผู้ที่คิดจะทำการคอร์รัปชัน ในทางหนึ่งแล้วก็นับว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนในการทำคอร์รัปชัน (พอจะทำอะไร ถ้าต้นทุนเพิ่มคนเราก็มักหยุดคิดใช่ไหมครับ) แต่ก็นั่นแหละครับ ที่ยากจะทำใจรับได้ หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นคือยอมรับไม่ได้ และเอาแต่ใจถึงขั้นไม่อยากให้ใครยอมรับ ก็คือลักษณะการใช้มาตรการควบคุมทางสังคมแบบในโฆษณาต่อต้านคอร์รัปชันชิ้นนี้

เพราะอะไรนะหรือ เพราะสำหรับผมแล้วนั้น คนผิดย่อมต้องได้รับโทษครับ แต่โทษมันก็ควรจะลงอยู่แต่กับตัวคนที่กระทำผิดเท่านั้น ส่วนคนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน โดยไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ก็ไม่สมควรต้องรับโทษทัณฑ์อันใดไปด้วย ไม่ว่าจะทางกระบวนการยุติธรรมหรือทางสังคมก็ตาม ผมว่าเราน่าจะข้ามพ้นยุคของการประหารเจ็ดชั่วโคตรมาแล้วนะครับ อะไรแบบนั้นนี่เก็บไว้สะใจในฐานะของสิ่งโบราณที่ช่วยเติมเต็มหัวใจที่แหว่ง เว้าเพราะความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมในโลกปัจจุบันดีกว่า เหมือนเสพละครหลังข่าวน่ะครับ แต่อย่าไปรื้อฟื้นวิธีคิดในลักษณะทำคนเดียวชั่วทั้งโคตรแบบนั้นขึ้นมาใช้เลย มันอาจจะเด็ดขาด สะใจ แต่ไม่อารยะ

ทีนี้ พอมาดูกันเป็นส่วนๆ ไป ผมว่าแคมเปญนี้ไม่น่ารักตั้งแต่ชื่อแล้วครับ “อย่าให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม” โอ้โฮ ในขณะที่โลกเข้าสู่แนวคิดในการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การลงโทษลงทัณฑ์ก็เป็นไปพร้อมกระบวนการบำบัดเยียวยาทัศนะและพฤติกรรมให้ สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในกฎเกณฑ์ทางสังคมได้เฉกเช่นคนอื่น มุ่งเน้นการให้โอกาสในการคืนสู่สังคม แต่แคมเปญนี้กลับสนับสนุนการกีดกันผู้กระทำผิด ปิดกั้นพื้นที่ ไม่ให้สามารถใช้สังคมร่วมกับคนอื่นได้ แบบนี้มันคือความล้าหลังนี่ครับ พูดตรงไปตรงมาอย่างไม่ไว้หน้าก็ต้องบอกว่า วิธีคิดแบบนี้เป็นการปลูกฝังความเกลียดชังลงไปในสังคมเสียมากกว่าจะหาทาง แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความเกลียดชังมากกว่าอย่างอื่น


เพื่อนนักเรียนเด็กๆ พากันมองมาและซุบซิบนินทา ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=U2IlCGSS1Uo

และเมื่อมาดูในเนื้อหาของโฆษณาชิ้นนี้ ความรุนแรงที่ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็คงมองไม่เห็น ก็คือเรื่องของการ “จับเด็กเป็นตัวประกันทางศีลธรรม” แถมระหว่างที่จับตัวไว้นั้น ก็ทำการ “ข่มขืนทางศีลธรรม” ไป พลางๆ ด้วย ดูจากในโฆษณาก็เรียกได้ว่า “ทำแม่ไม่ได้ก็ใส่กับลูก” นั่นแหละครับ แม่ๆ ของเด็กอื่นในโฆษณาให้ลูกๆ ของตัวเองใช้ความโดดเดี่ยวข่มขืนหัวใจเด็กชายลูกคนโกง โดยหวังให้กระทบชิ่งไปสะท้านสะเทือนหัวใจคนเป็นแม่ และทั้งหมดทำลงไปในนามศีลธรรม

ศีลธรรมไม่ใช่ไม่ดีนะครับ…แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิธีใช้ด้วย

อย่าได้ลืมทีเดียวว่า ลูกนี่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เลือกพ่อแม่ไม่ได้นะครับ และไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องเลือกว่าจะมีพ่อแม่เป็นคนโกงหรือไม่เลย

แล้วถ้าให้พูดกันจริงๆ นี่ ลองมองดูรอบๆ ตัวในสังคมไทยเราดีๆ สิครับ แน่ใจหรือครับว่าด้วยโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่โดยปรกติแล้วจะให้อำนาจพ่อแม่ เหนือลูกอย่างเด็ดขาด คิดว่าคำถามอย่างในโฆษณาที่เด็กถามแม่ตัวเองว่า “บ้านเรานั้นโกงจริงหรือ” จะมีผลให้คนเป็นพ่อแม่บังเกิดสำนึกตรึกตรองจนกลับอกกลับใจไม่กระทำผิดไหม ผมตอบเลยว่าไม่ เต็มที่ก็ไม่ทำให้ลูกรู้ ประนีประนอมหน่อยก็อาจจะให้ความหมายใหม่ของการโกงของตัวเองแก่ลูก แต่ถ้าหนักข้อเข้า ขี้คร้านลูกจะโดนสวนกลับมาด้วยซ้ำ อาจสวนแรงถึงขั้นทำนองว่า ที่มีกินมีใช้อยู่นี่ก็เพราะโกงนี่แหละ

ทำแบบนี้นี่เด็กโดนทั้งขึ้นทั้งล่องครับ ดูโฆษณาชิ้นนี้แล้วผมก็เลยไม่แน่ใจว่าตกลงเด็กอยู่ในสถานะที่ควรจะได้รับการ ปกป้อง หรือต้องทำร้ายเสียก่อนเพื่อจะได้ปกป้องกันแน่ ซึ่งดูไปก็คล้ายการบูชายัญแพะสักตัวให้เทพเจ้าแห่งความดีพึงพอใจแล้วสังคมจะ ได้สงบสุข

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผมเห็นว่านี่เป็นโฆษณาที่เต็มไปด้วยความรุนแรงนะครับ แม้จะไม่มีใครลุกขึ้นมาลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายกัน แต่มันก็ยังรุนแรง เป็น “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นความรุนแรงในระดับลึกที่สุดที่มักเป็นกำลังในการให้ความชอบธรรมใน การทำความรุนแรงระดับอื่นๆ โฆษณาชิ้นนี้นั้นดำเนินเรื่องไปบนฐานวิธีคิดที่ว่าเราจะทำอย่างไรกับ “คนไม่ดี” ก็ได้ ใช้วิธีการแบบใดก็ได้ ดังที่เราจะเห็นว่าโฆษณาชิ้นนี้เลือกจะเสนอภาพของการจัดการการคอร์รัปชัน ด้วยการให้สังคมไปกดดันลูกของคนที่สังคมเชื่อว่าเป็นคนโกง

นี่คือความรุนแรง เป็นความรุนแรงที่กระทำต่อเด็ก ยิ่งกว่านั้นคือเป็นกระทำความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์จากความผิดในเรื่องนี้

แต่ที่ว่ากันมาขนาดนี้นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าโฆษณาชิ้นนี้ไม่มีอะไรดีเลยนะครับ มีครับ เพียงแต่อาจจะไม่ได้สื่อออกมาเท่านั้น

เรื่องดีที่ว่าก็คือ อย่างน้อย ผมคิดว่าโฆษณาชิ้นนี้สะท้อนถึงความบ้อท่าของกฎหมายบ้านเมืองครับ การที่แม่ในโฆษณานั้นไม่ได้เป็นคนโกงเพราะกฎหมายชี้ชัดว่าโกง แต่โกงเพราะใครๆ ก็รู้ว่าโกง เป็นคนโกงเพราะสังคมเชื่อและ “ตีตรา” ว่าโกง (ซึ่งต่อให้โกงจริงๆ มันก็คนละเรื่องกับโกงตามคำพิพากษาทางกฎหมายนะครับ การพิพากษาทางสังคมแบบนี้มันคือศาลเตี้ย) สภาพแบบนี้สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพจนไม่อาจก่อประสิทธิผลของกฎหมายครับ ที่ทำให้ไม่สามารถลงโทษเอาผิดผู้ใหญ่ได้ และสุดท้าย เมื่อกฎหมายทำอะไรไม่ได้ สังคมก็ต้องมาจัดการกันเอง ก็ต้องมาลงกับเด็กด้วยหวังจะลงโทษผู้ใหญ่ไปในที อย่างที่บอกไปแล้วครับ สภาพอย่าง “ทำแม่ไม่ได้ก็ใส่กับลูก”


ภาพที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถึงการ “ตีตรา” บุคคลด้วยความเชื่อทางสังคม ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=U2IlCGSS1Uo

แต่ว่า การที่พอกฎหมายใช้การไม่ได้ เลยต้องหันไปใช้ลีลาอันบ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างการประจาน การกีดกัน ลงโทษคนที่ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วย แถมยังเป็นเด็กอีกต่างหาก เหล่านี้ก็สะท้อนความมักง่ายของสมาชิกในสังคมนะครับ

เมื่อกฎหมายที่มีอยู่มันใช้ไม่ได้ สิ่งที่สังคมควรจะต้องทำก็คือการพยายามหาทางแก้ไขปรับปรุงให้มันใช้การให้ ได้ ซึ่งแน่นอนครับว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก ใช้เวลา แต่ในระยะยาวแล้วมันแก้ปัญหาได้ยั่งยืนกว่าใช้มาตรการทางสังคมที่กำกับโดย ศีลธรรม เพราะแม้ศีลธรรมจะมีอำนาจในการควบคุมสังคมราวกับกฎหมาย แต่มันถูกตีความได้หลากหลายจนสุดท้ายแล้วยากจะทำให้เกิดการพิสูจน์จนสิ้น สงสัยน่ะครับ

ซึ่งถ้าคุณเลือกจะใช้วิธีการจัดการคนโกงแบบในโฆษณาชิ้นนี้ วันหนึ่งคนโกงอาจจะหมดไปจากสังคมจริงๆ ก็ได้ครับ แต่สิ่งที่จะเหลือไว้ก็คือ ลูกของคนโกงที่โตมากับการถูกสังคมทำร้าย ทั้งที่ตัวเขาไม่ได้ทำผิดอะไร หรืออาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือการโกงที่ใครต่อใครพูดถึงบ้านตัวเอง


“หญิงคนโกง” เดินจากไปพร้อมกับลูกที่เดินคอตกทั้งที่ตัวเองไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=U2IlCGSS1Uo

เราไม่ควรสร้างปัญหาเพื่อแก้ปัญหาใช่ไหมครับ…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น