เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ
อุทาโย โฆษก ตร. แถลงสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราใน
จ.นครศรีธรรมราช ว่า
กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปิดการจราจรโดยได้นำรถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่มาปิดกั้นเส้นทาง 2
จุด ได้แก่ แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มีผู้ชุมนุมจำนวน 300 คน
และบริเวณแยกบ้านตูล ซึ่งเป็นทางกั้นรถไฟ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
มีผู้ชุมนุมจำนวน 150 คน
ซึ่งจากการปิดเส้นทางทั้งทางรถยนต์และรถไฟดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทาง
จำนวน 15,000 คน รถไฟกว่า 10 ขบวนไม่สามารถเดินทางได้ทำให้มีผู้โดยสารตกค้าง
ส่วนผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ต้องอ้อมเส้นทางกว่า 100 กม. หรือต้องใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า
1 ชั่วโมง 30 นาที รวมถึงการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อไปว่า ล่าสุด พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.
ได้สั่งเปิด ศปก.ตร.เพื่อติดตามสถานการณ์เต็มรูปแบบตลอด 24 ชม. โดย ผบ.ตร.ยกเลิกภารกิจวันนี้ทั้งหมดเพื่อติดตามสถานการณ์ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ สั่งการให้สันติบาล
และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนในพื้นที่เกาะติดสถานการณ์ด้านการข่าวอย่างใกล้ชิด
โดยสรุปว่าขณะนี้มี 2 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มเกษตรกรสวนยางในพื้นที่ที่เดือดร้อนจริงๆ และกลุ่มคนนอกพื้นที่และกลุ่มที่หวังผลทางการเมือง
มีพรรคการเมืองหนุนหลัง รวมทั้งมีกลุ่มวัยรุ่นที่พร้อมก่อเหตุรุนแรง
ซึ่งเรียกว่ากลุ่มหัวขวาน
ทั้งนี้การชุมนุมที่มีการแยกส่วนเช่นนี้ทำให้การเจรจาไม่สามารถทำได้
เพราะไม่มีแกนนำที่ชัดเจน
ส่วนกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศจะยกระดับการชุมนุมในวันที่ 3
กันยายนนั้น พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า
ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ตำรวจในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
กำชับให้มีการตั้งด่านตรวจค้นตามจุดต่างๆ เพื่อคัดกรองอาวุธและบุคคลต้องสงสัย, พร้อมให้จัดทำแผนเผชิญเหตุ
เตรียมกำลังพลและอุปกรณ์ให้พร้อมรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ได้สั่งการให้
บช.ภ.1-9, บช.น. และ ศชต.เปิด
ศปก.ตร.เต็มรูปแบบเพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมในพื้นที่ของตนเอง
เตรียมการทั้งกำลังพลและอุปกรณ์พร้อมไว้
โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความอดทน
ละมุนละม่อม และใช้มาตรการตามขั้นตอนของกฎหมาย
เพื่อให้สามารถเปิดเส้นทางจราจรเพื่อให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องสามารถใช้
เส้นทางสัญจรไปมาได้
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า
สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีนโยบายใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมตามที่มีกระแสข่าวอย่างแน่นอน
แต่จะเน้นการเจรจาอย่างสันติวิธี และใช้ความอดทนละมุนละม่อม
ยึดหลักกฎหมายในการดูแลการชุมนุม
ขณะเดียวกันยืนยันว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษในการดูแลการชุมนุม ซึ่ง
ผบ.ตร.ได้ให้นโยบายว่าหากสถานการณ์รุนแรงเกินกว่าที่จะใช้กฎหมายปกติ
ก็ให้เสนอขึ้นมา ซึ่ง บช.ภ.8 ในฐานะหน่วยปฏิบัติจะเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์ว่าเหตุการณ์ในระดับใดจึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ
นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรดังกล่าว
โฆษก ตร.กล่าวด้วยว่า
ล่าสุดศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อนุมัติออกหมายจับแกนนำก่อเหตุรุนแรง 6 คน ได้แก่
นายชญานิน คงลัง, นายก้องเกียรติ ชูทอง, นายสมภาษณ์
ขวัญทอง, นายสัมมิตร จุ้ยปลอด, นายประภาส
ภักดีรัตน์ และนางวนิดา แก้วมณี ในข้อหากระทำการใดๆ
ให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่จราจร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
229 ขณะที่เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติออกหมายจับจำนวน 9 คน ได้แก่
นายพีรพงศ์ วิชัยดิษฐ์, นายภิญโญ หมื่นจร, นายบัญชา ณ พัทลุง, นายกิตติวดี ขุนทอง, นายสมโภชน์ กำเนิดรักษา, นายสำราญ คงสวัสดิ์,
นายสากล อินทระ, นายสมสุข กำเนิดรักษา
และนายสมเกียรติ ทองเสน ในข้อหาร่วมกันปิดกั้นทางหลวง
หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางไว้บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล
ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 39
โดยผู้ที่ออกหมายจับถือเป็นกลุ่มที่ก่อความรุนแรงไม่จำแนกว่ากลุ่มไหน
กลุ่มเกษตรกรหรือคนนอก
ขอขอบคุณ มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น