ข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงเรียนวิถีพุทธระบุว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยให้คำจำกัดความ “โรงเรียนวิถีพุทธ” ว่า “คือโรงเรียนระบบปกติทั่วไปที่นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้ หรือประยุกต์ใช้ในการบริหารและการพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ”[1]
นอกจากนี้ยังอธิบายถึงแนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธ โดยสรุปมาจากการบรรยายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโน) ณ หอประชุมพุทธมลฑล เมื่อ พ.ศ. 2547 ว่า “โรงเรียนวิถีพุทธเป็นสถาบันที่มีความสำคัญทั้งนี้เพราะ พระพุทธศาสนามีความสําคัญต่อการศึกษาไทยมีสูงมาก การศึกษาที่เรียกร้องว่า ต้องการคุณธรรม จริยธรรมให้พระพุทธศาสนาเพาะเลี้ยงคนตั้งแต่เยาว์วัยให้เกิดความเคยชินกับ ความดี สร้างความรู้สึกนึกคิดสูงขึ้นตามวัยและหน้าที่ ผู้ใหญ่จึงต้องประคับประคองให้อยู่ในความดีงามไม่หลงจนไม่มีหลักของตัวเอง สิ่งสําคัญ คือ การรักษาความอิสระทางสติปัญญา กลัวตกเป็นทาสทางสติปัญญาจนลืมความเป็นไทย โรงเรียนที่กล้าแสดงตนเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ จึงเป็นความสําเร็จขั้นหนึ่ง และเป็นเกียรติ โรงเรียนวิถีพุทธจะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงความดีงาม งดงามให้แก่ชาติหากเฉยนานไปเด็กไทยจะตกเป็นทาสทางสติปัญญา โรงเรียนวิถีพุทธต้องแข็งแกร่งเพื่อประเทศชาติ ดังนั้นการที่รัฐบาลมีนโยบายดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธก็เพื่อให้เกิดพลัง ร่วมกันให้โอกาสพลังที่มีอยู่และสังคมไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน”[2] (อันนี้ก็อปปี้มาทั้งย่อหน้านะคะ ไม่มีการแก้ตัวสะกดหรือตัดต่อใด ๆ)
ตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556 ระบุยอดรวมโรงเรียนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธแล้วทั้ง สิ้น 17,733 โรงเรียน[3] (เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546)
คำนำของเอกสารแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ โดย ดร. สิริกร มณีรินทร์ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น (พฤษภาคม 2546) ได้อ้างสถิติว่าประเทศไทยมีพุทธศาสนิกชนถึง 95%[4] (ดิฉันไม่ทราบที่มาของตัวเลขนี้ เนื่องจากเอกสารไม่ได้ระบุไว้) โดยเอกสารดังกล่าวยังกำหนดแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธไว้อย่างครอบ คลุมทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากรและคุณลักษณะบุคลากร ที่มีการแนะแนวให้เน้นการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนา เช่นในส่วนของนักเรียนก็ให้มีพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ กิจกรรมค่ายพุทธบุตร บรรพชาสามเณรฤดูร้อน การไหว้พระสวดมนต์หน้าเสาธงทุกเช้า นิมนต์พระมาสอนธรรมะ กิจกรรมสวดมนต์สรภัญญะและทำบุญตักบาตรประจำสัปดาห์ การเดินพร้อมท่องคติธรรมขณะเข้าห้องเรียน ฯลฯ โดยทั้งนี้ยังไม่รวมกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
ส่วนในด้านบุคลากรของโรงเรียน ก็ให้ “ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรมีคุณลักษณะที่ดีตามวิถีพุทธ”[5] อีกทั้งยังระบุไว้ชัดเจนว่าผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรต้องมีคุณลักษณะสำคัญเป็นอันดับแรกคือเป็นผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธ ศาสนา[6]
ในระยะ 10 ปีตั้งแต่จัดตั้งโครงการโรงเรียนวิถีพุทธเป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการได้ริเริ่มโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้อีกหลาย โครงการ เช่น โครงการโรงเรียนดีศรีตำบล (ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก เนื่องจากวัดพระธรรมกายได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทำหน้าที่อบรมธรรมะแก่ บุคลากรของโรงเรียน) โครงการโรงเรียนคุณธรรมชั้นนำ (พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการโรงเรียนวิถีพุทธอีกที โดยเพิ่มเติมเรื่องการให้อิสระในการนับถือศาสนาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) และโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เป็นต้น
นโยบายซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรทาง พุทธศาสนาเหล่านี้ เป็นนโยบายที่ดิฉันมองว่าทั้ง aggressive และสวนกระแสโลกไม่น้อย สังคมในระบอบประชาธิปไตยยึดหลักการเคารพสิทธิส่วนบุคคลและความเสมอภาคของคน ทุกคน ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะสังกัดอยู่ในกลุ่มชนหมู่น้อย หมู่ใหญ่ หรือหมู่ไหนของสังคม ผู้กำหนดนโยบายเคยสอบถามความคิดเห็นของคนที่นับถือศาสนาอื่น หรือคนที่ไม่ต้องการนับถือศาสนาบ้างไหม ว่าคนเหล่านั้นเห็นดีเห็นงามกับโครงการเช่นนี้หรือไม่ นอกจากนี้ งบประมาณค่าใช้จ่ายในโครงการฯก็ย่อมต้องมาจากภาษีของประชาชนชาวไทยทุกคน ไม่ได้เลือกเก็บจากเฉพาะคนที่นับถือศาสนาพุทธใช่มั้ยคะ
ตัวเลข 95% ไม่ได้แปลว่าคนที่ประกอบวิชาชีพในสถานศึกษาและนักเรียนทุกคนจะนับถือศาสนา พุทธนะคะ ดิฉันคิดว่าการอ้างตัวเลขนี้ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะไม่ว่าประเทศไทยจะมีพุทธศาสนิกชนอยู่ 99%, 50%, 30% หรือ 2% ก็ตาม รัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะดำเนินนโยบายซึ่งปฏิบัติราวกับว่าประชาชนในประเทศไทย ทุกคนนับถือศาสนาพุทธ
ที่สำคัญที่สุด โครงการเหล่านี้กำลังบอกอะไรแก่สังคม หรือพูดให้ชัด ๆ คือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ กำลังส่งสัญญาณถึงคนที่พำนักอยู่ในประเทศไทยทุกคนว่า รัฐบาลไทย favour ศาสนาพุทธเหนือศาสนาอื่น ใช่หรือไม่ ? นั่นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือคะ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 30 วรรค 3 ระบุว่า “การ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่น กำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”
ดิฉันคิดว่าไม่ถูกต้องที่รัฐบาลพยายามผลักดันศาสนาหนึ่งศาสนาใดให้มี บทบาทและอิทธิพลเหนือโรงเรียนและหลักสูตรการเรียน สถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่จะบ่อนทำลายระบบการศึกษาของรัฐโดยรวมเท่านั้น แต่ยังแสดงว่ารัฐกำลังล่วงละเมิดและลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของ ประชาชน นั่นคือสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของนักเรียน ครูอาจารย์ รวมถึงบุคลากรในโรงเรียนนั้น ๆ
ดิฉันเห็นด้วยว่า เยาวชนจำเป็นต้องเข้าใจในบทบาทที่ศาสนามีต่อสังคม ตลอดจนตระหนักในความสำคัญที่ระบบความเชื่อมีต่อคนจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ดิฉันเชื่อว่าการอบรมสั่งสอนในเชิงลึกเกี่ยวกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งนั้น ควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ (ด้วยความสมัครใจทั้งผู้สอนและผู้เรียน) ไม่ใช่หน้าที่ของระบบการศึกษาของรัฐ
การเรียนการสอนเกี่ยวกับศาสนามีคุณประโยชน์มากมายในแง่ของการสร้างความ เข้าใจและความสามัคคีในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่มีคนหลากหลายอยู่รวมกัน และในสังคมประชาธิปไตยซึ่งยึดถือหลักความเสมอภาคและเสรีภาพเป็นสำคัญ เยาวชนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ เคารพ และอดทนในจุดยืนที่แตกต่างของคนแต่ละคน ดังนั้นหลักสูตรวิชาศาสนาจึงควรเน้นการนำเสนอความหลากหลายและความแตกต่าง เพื่อปูทางให้เยาวชนเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของโลกและสังคมประชาธิปไตย
ดังนั้น ดิฉันขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทบทวนนโยบายการแปลง “โรงเรียน” ให้เป็น “วัด” ซึ่ง กำลังปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านโครงการเช่น โรงเรียนวิถีพุทธ ฯลฯ แล้วทดแทนด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษา เกี่ยวกับประเด็นศีลธรรมและจริยธรรมด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างและเป็นกลางมาก ที่สุด
ดิฉันอยากเห็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับศาสนามีเนื้อหาที่ครอบคลุม ปรัชญาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา ลัทธิ และความเชื่อต่าง ๆ ไปจนถึงแนวคิดการไม่นับถือศาสนา (irreligion) และฆราวาสนิยม (secularism) ด้วย
ที่สำคัญ หลักสูตรการเรียนการสอนนี้ควรต้องปลอดจากการแทรกแซงของ องค์กรทางศาสนาหรือกลุ่มลัทธิความเชื่อ ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ร่างหลักสูตรควรเป็นนักวิชาการหรือนักการศึกษาที่ไม่มี ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือได้รับอิทธิพลจากองค์กรทางศาสนาหรือกลุ่มลัทธิใด ๆ รวมทั้งควรเป็นผู้ที่สามารถแยกแยะความเชื่อส่วนตัวออกจากการปฏิบัติงานเพื่อ สาธารณะได้
ดิฉันคิดว่าเด็ก ๆ ในสังคมประชาธิปไตยต้องการระบบการศึกษาที่เตรียมความพร้อมให้พวกเขาสามารถ ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และมีความรับผิดชอบต่อชีวิตและชุมชนของพวกเขา นั่นคือหลักสูตรการเรียนที่เน้นให้พวกเขามีความรู้และความเข้าใจในเรื่องการ เมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และกฏหมาย ไม่ใช่ระบบการศึกษาที่ต้องการหล่อหลอมให้พวกเขาเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ โขกออกมาจากแม่พิมพ์เดียวกัน หรือพยายามสร้างให้พวกเขาเป็นพลเมือง “ตัวอย่าง” ตามหลักศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ในทัศนะของดิฉัน การเป็น “คนดี” ในสังคมประชาธิปไตยนั้นมีความหมายกว้างไกลกว่าความหมายในเชิงศีลธรรมและ จริยธรรม เพราะระบอบประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อประชาชนมี ความตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงเห็นความสำคัญของกฏหมาย สิทธิมนุษยชน และความเสมอภาค มีความปรารถนาที่จะพึ่งพาตนเอง ตลอดจนใส่ใจในสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวม
ความหวังของดิฉันคือการได้เห็นเจ้าลูกชายตัวน้อยเติบโตขึ้นในสังคมที่ เจริญงอกงามตามวิถีระบอบประชาธิปไตย สังคมที่ตั้งมั่นอยู่บนหลักของการให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะนับถืออะไร หรือไม่นับถืออะไรเลยก็ตาม สังคมที่มีพื้นที่เสมอสำหรับจุดยืนที่แตกต่าง สังคมที่พร้อมจะรับฟัง ทำความเข้าใจ แล้วถกเถียงกันบนหลักเหตุผล และที่สำคัญ ใจกว้างเสมอต่อคำวิพากษ์วิจารณ์
ถ้าให้เปรียบเทียบรัฐกับคน ดิฉันคิดว่ารัฐในระบอบประชาธิปไตยน่าจะเป็นเหมือนคนที่มีความเชื่อมั่นในตัว เอง ใจกว้าง และรู้จักไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่น ไม่ใช่คนอ่อนแอที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ และขี้ระแวงเสียจนต้องพยายามควบคุมและครอบงำคนอื่นอย่างไม่ลืมหูลืมตาเช่น นี้
-----------------------------------------
[1] http://www.vitheebuddha.com/main.php?url=about&code=story
[2] เว็บไซต์เดียวกัน
[3] http://www.vitheebuddha.com/main.php?url=school
[4] กระทรวงศึกษาธิการ, แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, 2546), ปฐมบท.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 5.
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 30.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น