แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นักวิชาการแย้ง พลิกหลักการ"นิรโทษ"

ที่มา มติชน


หมายเหตุ - เสียง วิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ ภายหลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...ปรับแก้ข้อความในมาตรา 3 มาเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมารวมทุกกรณี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม

โคทม อารียา
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี

หาก คณะกรรมาธิการแก้ให้การนิรโทษกรรมนั้น รวมถึงแกนนำด้วยเป็นจุดสำคัญ อาจจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนหนึ่ง และแกนนำพันธมิตรกับแกนนำเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่ง ตอนแรกในหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะในส่วนของประชาชนที่ออกไปเคลื่อนไหว แต่ไม่รวมถึงคนที่เป็นผู้นำ น่าแปลกใจว่าการแปรญัตติในคณะกรรมาธิการ เป็นการแก้ไขในเชิงหลักการสำคัญ น่าจะมีการทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างไรกันแน่ ไม่ใช่ขึ้นต้นว่าอย่างหนึ่ง ไปกลางทางแล้วว่าอีกอย่างหนึ่ง

ส่วนเรื่องของความเหมาะสมนั้น เป็นเรื่องของความเข้าใจ การยอมรับ ไปจนถึงอารมณ์และความรู้สึกของสังคมโดยรวม พรรคการเมืองที่กำลังดำเนินการแก้ไขต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ว่า สิ่งที่ทำไปไม่เป็นไปตามที่บอกไว้ตอนต้น การแก้ไขในตอนนี้ยิ่ง

จะทำให้สังคมสับสน ต้องมีการอธิบายให้ชัดเจนให้สังคมเข้าใจและมีเวลาได้ถกแถลง ทำความเข้าใจว่าดีหรือไม่ ควรจะชะลอไว้ก่อน


สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จาก กรณีนี้สามารถวิเคราะห์ได้ 2 ประเด็น ประเด็นแรก ในแง่ของหลักกฎหมายไม่แน่ใจว่าจะทำได้ เนื่องจากร่างกฎหมายผ่านวาระที่ 1 ด้วยการเห็นชอบของที่ประชุมสภาไปแล้ว การรับหลักการในวาระที่ 1 คือ ให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้นิรโทษกรรมสุดซอย การมาตีความใหม่ของคณะกรรมาธิการ เมื่อเข้าวาระที่ 2 โดยหลักการแล้วไม่แน่ใจว่าจะมีผลทำให้พระราชบัญญัตินี้ตกไปหรือเปล่า คือเมื่อกฎหมายเสนอไปในวาระที่ 1 มีเนื้อหาแค่หนึ่ง สอง สาม สี่แล้วจะมาเพิ่ม ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ ปกติโดยหลักการแล้วไม่สามารถทำได้

ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเลย เมื่อ พ.ร.บ.เข้าวาระ 1 มีเนื้อหาแค่นั้น ถ้าจะผ่านก็ต้องผ่านแค่นั้น จะมาตีความให้กว้างกว่าเดิมไม่ได้ นี่คือหลักการ ผ่านวาระหนึ่งหน้าตาเป็นแมว และจะออกกฎหมายมาหน้าตาเป็นหมาไม่ได้

ประเด็น ที่สอง ถ้าพรรคเพื่อไทยยังจะดันทุรังทำไป จะเป็นการทดสอบพลังของสังคม ในด้านหนึ่งถ้าชนชั้นนำฮั้วกันได้หมด ทหารเองก็ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัตินี้ คนทำรัฐประหารอย่างพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หรือทั้งเสื้อเหลือง ตัวคุณทักษิณ และเสื้อแดงเองจะได้รับประโยชน์ ถ้าชนชั้นนำฮั้วกันได้ ก็ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยต่อไปข้างหน้า จะเผชิญอยู่กับวัฏจักรของการรัฐประหาร การใช้อำนาจในทางมิชอบของนักการเมืองโดยปราศจากการตรวจสอบและการประท้วง การใช้กำลังรุนแรงโดยอำนาจรัฐ การกระทำต่างๆเหล่านั้นจะไม่ได้รับโทษ หรือการพิจารณาใดๆ เลย จะกลายป็นวัฏจักรที่เลวร้ายสำหรับการเมืองไทยต่อไป หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านตามที่กรรมาธิการแปรมาตรา 3 ออกมา

โดยความชอบ ธรรมของกระบวนการปรองดอง หรือกระบวนการนิรโทษกรรมแล้ว เราไม่ควรจะนิรโทษกรรมใครก็ตามที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ความถูกผิด ทั้งในกระบวนตามรัฐธรรมนูญ ในการผ่าน พ.ร.บ.ก็ไม่ควรกระทำ

การจะ นิรโทษกรรมใคร ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตัวคุณทักษิณเอง หรือแกนนำเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ต้องมีกระบวนการพิจารณาความถูกผิดว่าใครทำอะไรไปแล้วบ้าง หลังจากนั้นการจะนิรโทษกรรม คือเราให้อภัยว่าใครทำถูกทำผิด และสังคมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก่อน

ถ้าจะผ่านออกมาแบบ ที่ทำกันอยู่นี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงการรอมชอมประนีประนอมและฮั้วกัน เราทุกคนได้ทำผิดไปแล้ว และเราก็จะไม่ยอมรับความผิดนั้น


เจษฎ์ โทณะวณิก
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

การ แก้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ส่งผลกระทบหลายอย่าง อันดับแรก ทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ และทำให้ไม่มีกระบวนการที่จะสามารถพิสูจน์ได้ตามกฎหมายว่า จะมีการพิจารณาการกระทำใดที่เป็นภัยหรือส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองอย่างไร และในการชุมนุมนั้น มีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายประเภท ทั้งการมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ทั้งที่มีอาวุธและทั้งที่นำให้คนมาชุมนุม และทำให้เกิดผลกระทบเกิดความเสียหาย จะไม่ได้รับการพิสูจน์แยกกัน

อันดับ ที่สอง ในการต่อไปในอนาคต ใครอยากจะชุมนุมในลักษณะปลุกปั่นยุยง หรือในลักษณะใดก็จะสามารถทำได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอะไร ทำไปแล้วนิรโทษกรรมภายหลังก็จบ

อันที่สาม จะเกิดปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการชุมนุมของแต่ละกลุ่มอาจจะบานปลาย ลุกลามและเกิดความเปลี่ยนแปลงส่งผลเป็นความเสียหายและเป็นปัญหาทางการเมือง ในระยะสั้น

ในทางกฎหมายนั้น จริงๆ แล้วในขั้นรับหลักการมาจนถึงขั้นแก้รายมาตราคือ ตั้งแต่วาระ 1 มา วาระ 2 นั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อห้ามแก้ในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับวาระ 1 ตราบเท่าที่ยังอยู่ในหลักการเดิม แต่หากกลายเป็นหลักการใหม่ โดยทั่วไปควรจะกลับไปพิจารณาที่วาระ 1 ใหม่

แต่ถ้าหากยังยืนว่าใน หลักการโดยกว้างคือ การนิรโทษกรรมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในช่วงเวลานั้นๆ และยังถือว่านี่คือหลักการเดิม เพียงแต่แก้ในรายละเอียด จากเดิมไม่รวมผู้ที่เป็นแกนนำ แต่ในขณะนี้รวมผู้ที่เป็นแกนนำ ไม่ได้ถือว่าเป็นการแก้หลักการ แต่ถือว่าแก้ในรายละเอียดก็อาจจะกล้อมแกล้มดันไปได้

แต่การแก้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในขณะนี้ไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลสอง-สามประการ หนึ่ง ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าควรจะมานิรโทษกรรมกันตอนนี้ไหม ในเมื่อยังมีปัญหาหลายอย่าง

สองไม่เหมาะสมเพราะ ในวาระที่หนึ่งผ่านหลักการมา ยังไม่รู้เลยว่าหลักการที่ชัดเจนคืออะไร พอมาถึงวาระที่สองกลับมาเพิ่มเติมให้รวมแกนนำไปเลย ชัดเจนขึ้น แต่โดยพื้นฐานการพิจารณากฎหมายในลักษณะนี้ ต้องตีความโดยเคร่งครัด และกำหนดโดยแคบ การทำแบบนี้เป็นการตีความโดยกว้างและทำให้มีปัญหาในเชิงโครงสร้างกฎหมาย

สุด ท้ายคือ เป็นการท้าทาย ในขณะที่มีคนออกมาชุมนุมกัน และมีภาวะคุกรุ่นทางการเมือง ก็จะสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ แน่นอนว่าไม่เหมาะสม



วิโรจน์ อาลี
รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่ ค่อยจะเห็นด้วย เพราะหลักการในรอบแรกที่ผ่านสภาไปก็คุยว่าจะไม่รวมแกนนำ และที่สำคัญที่สุดคือ พยายามสอดไส้การลดผลพวงของรัฐประหารไป

ด้วย เข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากให้จบ คิดว่านี่ไม่ใช่การสอดไส้แบบตั้งใจเพราะพูดตรงๆ ในเชิงรัฐบาล การแก้ไขอย่างที่เป็นอยู่ก็ดี คือร่างแรกที่ไม่รวมแกนนำ และจับ

คนที่ทำผิดมาลงโทษ ทำให้เรื่องการงดเว้นโทษทางการเมืองไทยถูกชำระ จะได้ไม่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนอีกในอนาคต แต่เข้าใจว่าในรอบนี้รัฐบาลเอง

ถูกกลุ่มสถาบันทางการเมืองหลายๆ สถาบันบีบ ทางกองทัพก็คงมีแรงกดดัน รวมถึงสถาบันอื่นๆ ด้วย เพราะการนิรโทษกรรมรวมแบบนี้เป็นการเรียกแขก ทางพรรคประชาธิปัตย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ก็จะได้รับประโยชน์ไป และยังสามารถหยิบเรื่องนี้มาเป็นปัญหาทางการเมืองให้กับรัฐบาลได้อีก

การ เสนอออกมาแบบนี้ เพราะได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่ายที่อยากจะให้ทุกอย่างจบ ผมไม่เห็นด้วยเลยที่จะเพิ่มเติมตรงไหนเข้าไป เพราะว่าในวาระที่ 1 ก็พูดชัดเจนอยู่แล้ว ว่าต้องการนิรโทษคนที่ได้รับผลกระทบก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ ค่อยไปว่ากันทีหลังก็ได้ รัฐบาลทำไปแล้วก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะจากมวลชน ในทางกลับกันทำให้ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงกับ ประชาชน ก็จะได้รับผลประโยชน์ไป เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่

แต่ส่วนอื่น ในกรณีของการลดผลพวง หรือกรณีของ คตส.นี้สามารถจะทำแยกออกมาเป็นอีกเรื่องได้ แต่ไม่ควรจะนำมารวมกับกรณีของการนิรโทษกรรม คิดยังไงก็ไม่ได้ประโยชน์ คือแกนนำได้ประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประโยชน์ แต่ถามว่าในแง่ของผลกระทบทางการเมืองระยะยาวนั้นไม่คุ้มเลย

อยากจะ ให้คณะกรรมาธิการทบทวนเรื่องนี้ดีๆ เพราะม็อบถูกเรียกให้รออยู่แล้ว เข้าสูตรปี 49 เลย คือมีม็อบรอจังหวะอยู่ พอมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถปลุกม็อบขึ้นมาได้ทันที ดูแล้วไม่น่าจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพทางการเมืองเท่าไร ในทางกลับกัน คนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็ถือว่า เป็นการเกี้ยเซี้ยที่ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ เลย เป็นการเกี้ยเซี้ยที่ผู้นำทางการเมืองต่างๆ ได้รับประโยชน์กันไปเต็มๆ


(ที่มา:มติชนรายวัน 21 ต.ค.2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น