เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
ได้มีการจัดงานชื่อ “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหา 112 ”
ซึ่งเป็นงานมุทิตาจิตที่จัดให้แก่คุณสมอลล์ บัณฑิต อานียา
ในโอกาสครบรอบอายุ 72 ปี
ซึ่งครั้งนี้น่าจะเป็นการจัดงานวันคล้ายวันเกิดที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา
ทีเดียว และเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า
ก่อนที่ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 สิงหาคมนี้
ในคดีที่คุณบัณฑิตถูกฟ้อง-คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112
บัณฑิต อานียา เดิมชื่อ จือเช็ง แซ่โค้ว เกิดที่หมู่บ้านหอชั้ง
ตำบลแต้เอี้ย จังหวัดแต้จิ๋ว ประเทศจีน เมื่อ พ.ศ.2484
เดินทางมาอยู่ที่นครราชสีมาตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ
และอยู่ในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน มารดาของบัณฑิตชื่อ ไอ้เน้ย
ถูกเตี่ยของเขาตบตีทำทารุณจนมีอาการทางจิต
และถูกส่งเข้าโรงพยาบาลประสาทจนเสียชีวิตในโรงพยาบาล
คุณบัณฑิตเติบโตขึ้นมาในสภาพที่บิดาไม่รัก จึงได้เรียนหนังสือแค่ประถม 4
และต้องหนีออกจากบ้านไปบวชเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ.2499
ทำให้เขาได้มีเวลาที่จะศึกษาความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ
ที่เขาศึกษาเองจนถึงขั้นแปลหนังสือได้
เขาได้รับรู้ถึงความหน้าไหว้หลังหลอกในวงการสงฆ์จึงตัดสินใจสึกเมื่อ
พ.ศ.2508 แล้วมาชีวิตเป็นนักเขียน ดำรงชีวิตอย่างยากจน ไร้ทรัพย์สิน
แต่เขามีงานเขียนมากกว่า 40 เล่มส่วนมากขายไม่ดีนักในตลาดหนังสือ
จากพื้นฐานทางครอบครัวและสังคม ทำให้คุณบัณฑิตกลายเป็นคนนอกคอก
คิดนอกกรอบสังคม ปฏิเสธรัฐและกระแสหลัก เขาจึงถูกถือว่าเป็นนักเขียนกึ่งบ้า
นักเขียนต่างประเทศคนสำคัญที่เขาแปลงานเขียนออกเป็นภาษาไทย คือ บี.ทราเวน
ก็เป็นเพียงนามปากกาของนักเขียนลึกลับ ที่ต่อต้านสังคม
และมีแนวคิดแบบอนาธิปไตย
แต่ในกรณีของสังคมไทยที่ถูกครอบงำด้วยความคิดอนุรักษ์นิยมเจ้า
ปิดกั้นความคิดต่างเพื่อให้คนทั้งสังคมต้องรักใคร่บูชาในสิ่งเดียวกัน
ลักษณะความคิดและพฤติกรรมของบัณฑิต อานียา จึงไม่มีที่ยืนในสังคม เมื่อ
พ.ศ.2508
เขาเคยไปกางมุ้งนอนหน้าสถานทูตโซเวียตเพราะเห็นว่าสังคมคอมมิวนิสต์โซเวียต
ดีกว่าสังคมไทย เขาจึงถูกจับส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา ต่อมา
แม้ว่าเขาจะเป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือสม่ำเสมอ
แต่ก็ถูกปฏิเสธจากกลุ่มนักประพันธ์กระแสหลัก และในที่สุด
เขาก็ถูกฟ้องเล่นงานในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112
กรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2546
ในการพูดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคุณบัณฑิตต่อการประชุมสัมมนาของคณะกรรมการ
เลือกตั้ง(กกต.)ร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในหัวข้อ
“กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง”
ซึ่งในงานนี้ เขานำเอกสารชุดละ 20 บาทไปขาย 2 ชุด ในชื่อว่า
“สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง)” และ “วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง)
เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโท ทักษิณ
ชินวัตร” ในที่สุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.
ได้ยื่นฟ้องต่อเขาในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาถูกจับกุมในวันที่ 24
พฤศจิกายน ถูกคุมขังในเรือนจำ 98 วันก่อนที่จะได้รับการประกันตัว
ด้วยความช่วยเหลือของ ดร.ปีเตอร์ โคเร็ท
นักวิชาการอิสระชาวอเมริกันที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทย
ซึ่งเคยมีงานเขียนเรื่องเกี่ยวกับนายนรินทร์ กลึงออกเป็นภาษาอังกฤษ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาเป็นการลับ
แต่ต่อมาเป็นที่เปิดเผยในคำพิพากษาของศาลว่า คุณบัณฑิตได้กล่าวข้อความว่า
“ในศาลยุติธรรมของทุกประเทศในโลกควรอย่างยิ่งที่จะมีเพียงตราชูเท่านั้นที่
ติดไว้เหนือบัลลังก์ศาล เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม
นอกจากนี้แล้วไม่สมควรที่จะเอารูปอื่นใดหรือรูปบุคคลใดไปติดไว้ในศาลนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะเอารูปของผู้ปกครองที่มีอำนาจ
อยู่เหนือกฎหมายไปติดไว้ในศาลยุติธรรมโดยเด็ดขาด” ซึ่งข้อความนี้
ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เป็นข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ คือ
การที่คุณบัณฑิตเขียนเรื่อง”หมาสูงกว่าคน” ศาลก็ตีความว่า
คุณบัณฑิตต้องการเปรียบเทียบเรื่องหมาทองแดง
ซึ่งเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ดังนั้น ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2549
ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้จำคุกคุณบัณฑิต 4 ปี
แต่เนื่องจากจำเลยสูงอายุและป่วยเป็นโรคจิต ศาลจึง
“เห็นควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อ
ไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้”
ต่อมา วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2550 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิด
และยังคงมีสติสมบูรณ์จึงกลับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน
โดยไม่รอการลงโทษ แต่คุณบัณฑิตยังได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีในขั้นฎีกา
ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายจำเลยไม่ได้ฎีกาคัดค้านคำตัดสินความผิด
แต่ฎีกาเพียงขอให้ศาลมีความเมตตารอการลงโทษไว้
“เพื่อให้โอกาสจำเลยได้รับการรักษาและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปในช่วง
บั้นปลายชีวิต”
ก่อนอื่นคงต้องแสดงความเห็นต่างกับคำพิพากษาของศาลว่า
คำกล่าวของคุณบัณฑิตเช่นนั้น ไม่ได้เป็นการหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายต่อใครเลย
สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมไม่อาจเสื่อมพระเกียรติเพียงเพราะคำพูดลักษณะนี้
และยิ่งไม่เป็นการสมควรที่จะนำเอาผู้สูงอายุในลักษณะนี้ไปจำคุกด้วยคดีอัน
ไม่เป็นธรรมเช่นคดี 112
ในที่สุด คุณเวียง-วชิระ บัวสนธ์ แห่งสำนักพิมพ์สามัญชน
ได้ทำหนังสือถึง คณะผู้พิพากษาแห่งศาลฎีกา เรื่อง ขอความเมตตาต่อคดี
‘บัณฑิต อานียา’โดยอธิบายว่า บัณฑิต อานียาเป็น
"นักเขียนนักแปลที่เชื่อมั่นในอำนาจวรรณกรรม
เขาจึงอาศัยมันทำหน้าที่สื่อความในใจไปยังสังคมวงกว้าง
เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านร่วมยุคสมัยตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ
นานาที่ดำรงอยู่ในบ้านเมืองของเราตลอดมา พูดอีกนัยหนึ่งก็อาจสรุปได้ว่า
ท่านผู้นี้เพียงทำหน้าที่จุดโคมเล็กๆ
ดวงหนึ่งท่ามกลางความมืดที่ตนเองแลเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้น” และขณะนี้
คุณบัณฑิตก็เป็น "ชายชราวัยไม้ใกล้ฝั่ง
หากสุขภาพของเขาก็ถือว่าอยู่ในขั้นย่ำแย่ กระเพาะปัสสาวะถูกตัดออกไปนานแล้ว
เช่นเดียวกับที่เหลือไตแค่ข้างเดียว"
คุณเวียงจึงหวังในความมีมนุษยธรรมของผู้พิพากษาแห่งศาลฎีกาให้มีความเมตตา
กรุณาต่อจำเลยผู้นี้ด้วย
คงต้องขอเอาใจช่วยคนนอกแบบคุณบัณฑิต
อานียาให้รอดพ้นจากภัยร้ายของมาตรา 112
และยังหวังว่าในระยะยาวสังคมไทยจะได้สติ และนำมาสู่การยกเลิกมาตรา 112
อย่างจริงจังต่อไป เพื่อจะได้ไม่ต้องมีใครมาติดคุกในข้อหาเช่นนี้อีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น