บทความขนาดยาวดัดแปลงจาก
เอกสารประกอบเวทีสัมมนาปัญหาน้ำท่วม ๒๕๕๔ “จากบางระกำ ผ่านบางบาล
ถึงนครปฐม: ประชาชนอยู่ไหน?” วันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๓๐ –
๑๖.๔๕ น. ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
ด้วยความร่วมมือกับคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง
ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
(สคส.) ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ
ได้ดำเนินการร่วมกันภายใต้โครงการสรุปประสบการณ์และบทเรียนเพื่อจัดทำแผน
รับมืออุทกภัย กรณีปัญหาการจัดการน้ำและอุทกภัย ๒๕๕๔ (ตุลาคม ๒๕๕๕ –
กรกฎาคม ๒๕๕๖)
บทนำ
ปัญหาสำคัญของการบริหารจัดการน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔
โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็คือ
หนึ่ง-ปริมาณน้ำมหาศาลจากสภาพอากาศที่คาบเกิดซ้ำในรอบไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี
สอง-ไม่สามารถบูรณาการข้อมูลเพื่อพยากรณ์หรือคาดการณ์น้ำท่วมให้เป็นข้อมูล
ชุดเดียวกันหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
มีข้อมูลหลายชุดและหลายทิศทางจนทำให้ผู้ตัดสินใจระดับปฏิบัติการตั้งแต่
ระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและส่วนกลาง/นโยบาย มีการตัดสินใจสับสนไปหมด
ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สาม-ท้องถิ่น
ภูมิภาคก็สับสนว่าจะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตัวเอง
ก่อน (ช่วยเหลือตัวเองก่อน)
หรือตัดสินใจภายใต้การเชื่อมโยงพื้นที่ตัวเองกับพื้นที่อื่น ๆ
ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรือไม่ อย่างไร
จนเกิดความสับสนต่อระดับปฏิบัติการว่าจะต้องรอฟังผู้บังคับบัญชา
หน่วยงานเบื้องบน-หน่วยงานระดับกรม กอง กระทรวง-
หรือหน่วยงานที่เป็นฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไรดี
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่หน่วยงานต่าง ๆ
เหล่านั้นก็ไม่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้กฎหมายดังกล่าวได้เลย
ทำให้เกิดสภาวะต่างคนต่างทำ (ต่างหน่วยงาน/องค์กร)
ไม่สามารถบูรณาการชี้ทิศทางคำสั่งที่เป็นไปในทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับ
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบได้
สี่-ความลังเลใจและสับสนที่สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำของ ๒
เขื่อนใหญ่ เป็นอย่างน้อย คือ เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์
ยังไม่นับรวมเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก
และประตูระบายน้ำสำคัญอีกหลายแห่ง
ที่ต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและการปล่อยน้ำใน
ฤดูฝน เหล่านี้สะท้อนความผิดพลาดในการพยากรณ์ปริมาณน้ำสะสมของเขื่อน
กว่าจะพยากรณ์ คาดการณ์ และคิดคำนวณ รวมทั้งใคร่ครวญได้ว่าปริมาณน้ำปี ๒๕๕๔
มันเป็นปริมาณน้ำมหาศาลที่คาบเกิดซ้ำในรอบไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี
ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาเฉลี่ยที่คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์ผิดปกติซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ก็อืดอาด เชื่องช้าสะท้อนภาพของระบบราชการของไทยได้เป็นอย่างดี
เหล่านี้เป็นสาเหตุการกักเก็บน้ำจนเกือบล้นความจุในสองเขื่อนใหญ่ดังกล่าว
ที่ไม่พยายามทยอยปล่อยระบายออกมาตั้งแต่ช่วงต้นของฤดูฝน
ห้า-ความลังเลสับสนที่สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนใหญ่ ๒
เขื่อน ดังกล่าว ร่วมกับเขื่อนอื่น ๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยาและป่าสัก
และประตูระบายน้ำในระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ต่อการตัดสินใจกั้นน้ำไว้เพื่อไม่ให้ไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ
ประกอบด้วยเมืองและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง
ทำให้มวลน้ำมหาศาลถูกโยกไปมาในทุ่งตั้งแต่ใต้เขื่อนชัยนาทลงมา
ถ่วงรั้งและฝืนไม่ให้มวลน้ำไหลลงต่ำตามธรรมชาติของมัน
จนก่อเกิดเป็นมวลน้ำมหาศาลที่มีปริมาณมากและหนัก
โดยเริ่มแรกกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหลผ่านปริมณฑลรอบนอกเข้ามาในกรุงเทพฯ
ที่เป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมและเมืองรอบนอก
เมื่อต้านทานไม่ไหวก็ยังมีความพยายามกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหลผ่านกรุงเทพฯ
และเมื่อต้านทานไม่ไหวอีกคำรบหนึ่งก็ยังมีความพยายามกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหล
ผ่านกรุงเทพฯ ชั้นในอีก
หก-การเมืองกันน้ำเข้า-ดันน้ำออก
หรือกระทำการอื่นใดเพื่อไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่เลือกตั้งและพื้นที่ปกครองตัว
เอง พบเห็นเป็นจุด ๆ เต็มไปหมด
ตั้งแต่หน่วยหรือพื้นที่การเมืองและปกครองระดับเล็กที่สุดในชุมชน
ท้องถิ่นไปจนถึงระดับจังหวัด ด้วยวิธีคิดง่าย ๆ ว่า
ถ้าเป็นหน่วยหรือพื้นที่การเมืองก็มีความคิดเพียงแค่ห่วงคะแนนเสียงจากการ
เลือกตั้งสมัยหน้าของตนและพวก
ในส่วนของหน่วยหรือพื้นที่ปกครองก็คิดเพียงแค่ความนิยมหรือการสร้างอำนาจ
บารมีให้เกิดขึ้นกับตน เครือญาติและพวกพ้อง
ที่สามารถกันน้ำเข้า-ดันน้ำออกได้
โดยต้องการให้เขตตัวเองไม่มีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น
ส่วนเขตเลือกตั้งอื่นและเขตปกครองอื่นจะเกิดปัญหาขึ้นมา ก็ไม่สนใจ
ในประเด็นปัญหานี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเผชิญเหตุและบัญชาการ
เหตุการณ์ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐
ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกันน้ำเข้า-ดันน้ำออก
ของพื้นที่การเมืองและปกครองตั้งแต่พื้นที่ระดับเล็กสุดขึ้นไปได้เลย
หรือกล่าวในทางกลับกันก็คือกฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการ
กันน้ำเข้า-ดันน้ำออกในแต่ละพื้นที่ด้วยซ้ำไป
เพราะหน่วยงานเตรียมการเผชิญเหตุและบัญชาการเหตุการณ์ถูกบังคับให้มีอำนาจ
และหน้าที่แยกย่อยเป็นส่วน ๆ
ไม่สามารถมองภาพเชื่อมโยงในระดับลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบได้
จึงทำให้ต้องคิดเอาตัวรอดตัวใครตัวมันในพื้นที่การเมืองและปกครองของตนเอง
ก่อน
จุดสูงสุดที่สะท้อนความล้มเหลวในการตัดสินใจระดับนโยบายเกิดขึ้นจากการ
ประกาศใช้มาตรา ๓๑ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐
เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
เพราะต้องการรวบอำนาจให้ทุกระดับของหน่วยงานราชการขึ้นตรงต่อคำสั่งของนายก
รัฐมนตรี
เพราะตั้งแต่เกิดมวลน้ำก้อนใหญ่ใต้เขื่อนภูมิพลและจากทางลุ่มน้ำยมและน่าน
ที่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา
ก็เกิดปัญหาการบริหารจัดการน้ำแบบไร้ทิศทางตามย่อหน้าข้างต้นมาโดยตลอด
จนมวลน้ำจากทุ่งหลายแห่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มรวมตัวกันเป็นปริมาณ
มหาศาลไหลเข้ากรุงเทพฯ รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจประกาศใช้มาตรา ๓๑ ดังกล่าว
เพราะน้ำเริ่มไหลผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ รอบนอก
ซึ่งเป็นเขตที่รอรับน้ำต่อจากจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีแล้ว
สะท้อนให้เห็นสถานการณ์จวนตัว
บีบคั้นและกดดันที่พุ่งเข้าใส่ฝ่ายการเมืองและราชการที่ก่อนหน้านี้มีแนวทาง
เดียวกันมาโดยตลอด คือ ไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ
แต่กลับปล่อยให้มวลน้ำในทุ่งหลายแห่งของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารวมตัวกันเป็น
ปริมาณมหาศาลเพื่อจะไหลผ่านกรุงเทพฯ ในระยะเวลาอันใกล้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว
การต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่ครองตำแหน่งสูงสุดใน
การบริหารประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี
และฝ่ายค้านที่ครองตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารมหานครกรุงเทพฯ เป็นผู้ว่าราชการ
ที่ใช้กรุงเทพฯ
เป็นตัวประกันเพื่อชี้ชะตากระแสนิยมและความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
ยิ่งรุนแรงขึ้นตามมวลน้ำที่มากขึ้น ทั้ง ๆ
ที่ก่อนหน้านี้มีแนวทางเดียวกันมาโดยตลอด คือ
ไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ
รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศใช้มาตรา ๓๑ ดังกล่าว
เพื่อบังคับให้ทุกหน่วยงาน
โดยเฉพาะหน่วยงานที่ควบคุมการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพฯ
ที่ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจากพรรคฝ่ายค้าน ตอบสนองให้น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ
ลงสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แม้การประกาศใช้มาตรา ๓๑ ดังกล่าว
เพื่อต้องการให้เกิดการทำงานรวดเร็วและสร้างเอกภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยว
ข้องและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้
แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่ล่าช้าเกินไป
ไม่สามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้ตามที่คาดหวัง
เพราะเกิดความลังเลในการตัดสินใจทั้งจากฝ่ายรัฐบาลที่บริหารราชการประเทศและ
ฝ่ายค้านที่บริหารราชการกรุงเทพฯ
ตลอดเวลาว่าจะยินยอมให้น้ำท่วมเข้ามาในกรุงเทพฯ ชั้นในและรอบ ๆ
ชั้นในหรือไม่ หรือแค่ไหนเพียงใด
ที่จะไม่เป็นการเสียคะแนนนิยมทั้งสองฝ่ายการเมือง (หลังจากที่กั้นกรุงเทพฯ
ชั้นนอกเอาไว้ไม่อยู่ จนเกิดน้ำท่วมเข้ามาแล้ว)
ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้เอง หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๕๕๔
รัฐบาลจึงได้ริเริ่มแนวคิดเพื่อจัดตั้งหน่วยงานเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบ
เบ็ดเสร็จ (Single Command) อย่างจริงจังขึ้นมา
เพื่อวางแผนป้องกันและเตรียมการรับมือในภายภาคหน้าโดยไม่ให้เกิดความผิดพลาด
ในการบริหารจัดการน้ำท่วมใหญ่เหมือนดังเช่นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ อีกต่อไป
และอาศัยโอกาสจากน้ำท่วมใหญ่ดังกล่าวเพื่อรวบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการ
บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรน้ำที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานระดับเดียว
กันและหลายระดับใน กระทรวง กรม กอง สำนัก ฯลฯ เข้าไปขึ้นกับหน่วยงานเดียว
ซึ่งได้มีความพยายามมาหลายครั้งหลายหนแล้วในช่วงเวลาประมาณสิบห้าปีก่อนหน้า
นี้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น