ไม่ทราบว่า เมื่อคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ฟัง
ท่านรัฐมนตรีคมนาคม ชัชชาติ
สิทธิพันธุ์เดินสายพูดถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น คุณ “ลม
เปลี่ยนทิศ” แอบหลับไปช่วงไหนบ้างหรือไม่?
ทั้งตัวโครงการและรัฐมนตรีคมนาคมพูดชัดเจนว่า
รถไฟความเร็วสูงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หากโครงการนี้ผ่านรัฐสภา
การรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อพัฒนารถไฟ
ธรรมดา(Conventional Train) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “รถไฟรางคู่”
ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ความสำคัญของรถไฟธรรมดานั้นไม่ได้ตกหล่นหดหายไปไหน
หรือหากจะมองภาพรวมของโครงการนี้แล้ว
รถไฟธรรมดาต่างหากที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
หรือหากจะพลิกไปดูไทยรัฐ หน้า 8 ฉบับเดียวกัน
จะเห็นความคืบหน้าของโครงการรถไฟทางคู่(“รฟท. เล็งเพิ่มความถี่การเดินรถ 15
นาทีต่อขบวน เดินหน้ารถไฟรางคู่เต็มสูบ”)
คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” สับสนแน่นอนเมื่อเขียนบทความนี้
คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ”
เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นอนาคตหรือไม่
กลับจบบทความด้วยการบอกว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นอาจจะไม่ “คุ้มทุน”
คำถามว่ารถไฟความเร็วสูงเป็นอนาคตจริงหรือไม่?
กับรถไฟความเร็วสูงนั้น“คุ้มทุน” หรือไม่? เป็นคนละคำถามกัน
อนาคตของการส่งสินค้า
ข้อเสนอทางนโยบายของรัฐบาลนี้ที่จะใช้รถไฟความเร็วสูงขนของขนาดเบา
(Light Cargo) นั้นวางอยู่บนการมองอนาคตว่า
การให้บริการขนส่งของขนาดเล็กที่ต้องการความรวดเร็วนั้นจะมีความต้องการ
เพิ่มสูงขึ้นมาก
การขนส่งของขนาดดังกล่าวผ่านระบบไปรษณีย์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปี
ที่ผ่านมา ข้อมูลจากไปรษณีย์ไทยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การส่ง EMS จาก
64 ล้านชิ้นในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 78 ล้านชิ้นในปี 2554
ซึ่งการเจริญเติบโตดังกล่าวเกิดขึ้นจากการขยายตัวของ E-Commerceด้วย
ดังนั้น
ศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงที่ในฐานะส่วนสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของผู้ประกอบ
การขนาดเล็กขนาดกลาง ไปจนถึง OTOPs ทั้งหลายจึงเห็นได้ชัดอย่างยิ่ง
การขนส่งสินค้าประเภทดังกล่าวผ่านรถไฟความเร็วสูงจึงสามารถเข้าแทนที่การใช้
รถบรรทุกซึ่งช้ากว่าและเครื่องบินซึ่ง
ราคาแพงกว่าได้
รถไฟความเร็วสูง ซึ่งวิ่งอยู่บนราง Standard Gauge
ที่ใช้กันส่วนใหญ่ในจีนและยุโรปนั้น ไม่ได้เชื่อมต่อแค่ในประเทศไทยเท่านั้น
ต้องชื่นชมคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ”
ที่มีวิสัยทัศน์เห็นศักยภาพการเชื่อมต่อรางกับประเทศจีน บทความ “ไปดูรถไฟจีน” วันที่ 29 มิถุนายน 2552 คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” เขียนไว้อย่างถูกต้องว่า ถ้าประเทศไทยไม่
ลงทุนระบบรางเพื่อที่จะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน
ประเทศไทยจะโดนโดดเดี่ยว“ไปเยือนจีนครั้งนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้ชักชวน
บริษัทไชน่า เรลเวย์ เอ็นจิเนียร์ คอร์ปอเรชั่น
รัฐวิสาหกิจเจ้าของกิจการรถไฟส่วนใหญ่ของจีน ให้มาลงทุนระบบรางในไทย
เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟไทยกับภูมิภาค
ซึ่งจีนได้ลงทุนสร้างทางรถไฟลงมาเชื่อมต่อกับเวียดนามและกัมพูชาไปแล้ว
ก่อนที่ไทยจะกลายเป็นผู้โดดเดี่ยวแห่งภูมิภาค”
แน่นอนว่า การเชื่อมต่อดังกล่าวไม่สามารถใช้รางขนาด 1
เมตรของรถไฟธรรมดาปัจจุบันได้แต่ต้องใช้รางขนาด 1.435 เมตรหรือ Standard
Gauge ดังนั้น
รถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนซึ่งเป็น
ตลาดใหญ่มหาศาลนั้น จึงเป็นอนาคตในประเทศอย่างแน่นอน
หากการขนส่งสินค้าขนาดเบาผ่าน E-Commerce
ในประเทศไทยนั้นเป็นศักยภาพของผู้ประกอบการไทยแล้ว การขนส่งสินค้ากับ 3
มณฑลภาคใต้ของประเทศจีนนั้นยิ่งเป็นศักยภาพทางธุรกิจที่น่าสนใจขึ้นไปอีก
McKinsey รายงานว่าธุรกิจ E-Commerce ในจีนนั้นโตขึ้นกว่า 100
เปอร์เซนต์โอกาสที่จะเชื่อมต่อการขนส่งทางรางเข้ากับตลาดขนาดใหญ่อย่างจีน
นั้น น่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทยที่คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ต้องเห็นด้วยแน่ ๆ
ยิ่งไปกว่านั้น
ในปัจจุบันมีโครงการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างจีนและยุโรป
ด้วย เส้นทางสายไหมใหม่ (The New Silk Road) บริษัท Hewlett-Packard
ใช้รถไฟขนส่งของจากแหล่งผลิตในจีนมายังยุโรปตะวันตก
ในขณะที่สินค้าจากยุโรปไปจีนมักจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์, ไวน์
และสินค้าหรูหราอื่น ๆ จะเห็นว่า การเชื่อมต่อรางผ่าน Eurasian Land Bridge
นั้น อาจจะไม่ใช่การฝันเฟื่องจนเกินไปนัก
และจากที่คณะทำงานของประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไทยได้พบปะพูดคุยกับที่
ปรึกษาของประธานาธิบดีจีนและรัสเซียนั้น
ประเทศทั้งสองต่างเห็นศักยภาพของการเชื่อมต่อสิงคโปร์-กรุงเทพ-ปักกิ่ง-มอ
สโคว์-ปารีส ตรงกัน
อนาคตของการขนส่งคน
เป็นที่น่าประหลาดใจนักที่คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ในบทความในปี 2552
เห็นความก้าวหน้าในการเชื่อมต่อเมืองต่าง ๆ
ของรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนแล้ว ใน พ.ศ.
นี้กลับไม่เห็นอนาคตของประเทศไทยในการเชื่อมต่อชุมชนเมืองใหญ่ในประเทศไทย
ในปี 2012 สถานีรถไฟซึ่งบริษัท Japan Rail East (JR East)
เป็นเจ้าของนั้นมี “คนธรรมดา” ใช้งาน 4 แสนกว่าคนต่อวัน เช่นเดียวกัน
ในปัจจุบัน
การเชื่อมต่อเมืองใหญ่ในประเทศไทยนั้นวางอยู่บนการใช้ถนนและเครื่องบิน Low
Cost เป็นส่วนใหญ่ “คนธรรมดา” จำนวนมากจึงต้องไปแออัดกันอยู่ในรถและสนามบิน
หากคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ”ยังมีจินตภาพ “คนธรรมดา”
ของไทยว่ายังคงเป็นไพร่ฟ้าหน้าใสใช้ชีวิตกันอย่างพอเพียง
ทางเราวิงวอนให้หันมาดูสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจว่า “คนธรรมดา”
ในปัจจุบันนั้นมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นขนาดไหน
และมีศักยภาพที่จะใช้รถไฟความเร็วสูงในชีวิตประจำวันหรือไม่? (HINT:
ลองไล่ดูการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ดูย้อนหลัง 10 ปีขึ้นมา)
อนาคตของ “คนธรรมดา” ในไทยที่จะเดินทางหรือส่งของ กรุงเทพ-เชียงใหม่
กรุงเทพ-อุดรฯ ได้ภายใน 3 ชั่วโมงครึ่ง กรุงเทพ-หาดใหญ่ภายใน 4 ชั่วโมงนั้น
น่าจะเป็นอนาคตของประเทศด้วยศักยภาพที่จะเดินทางจากจังหวัดรอบข้างเพื่อเดิน
ทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ
ภายในหนึ่งชั่วโมงโดยแทนที่จะรถติดอยู่ในเมืองด้วยระยะเวลาเดียวกันนั้น
น่าจะสามารถสร้างอนาคตใหม่ให้กับ “คนธรรมดา” จำนวนมหาศาล
จะน่าเสียดายยิ่งถ้าอนาคตเหล่านี้จะถูกปฏิเสธไปในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าใน
กรุงเทพฯ 10 สายนั้นไม่มีใครตั้งคำถามอย่างจริงจังด้วยตรรกะเดียวกันว่า
“คนธรรมดา” จะได้ใช้
หรือไม่? จะ “คุ้มทุน” หรือไม่?
ดังนั้น
รถไฟความเร็วสูงในฐานะอนาคตของประเทศไทยจึงไม่ใช่แค่อนาคตของคนซื้อตั๋ว
แต่อนาคตของเมืองและชุมชนต่าง ๆ
ที่รถไฟความเร็วสูงตัดผ่านจะมีโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งในแง่การท่องเที่ยว, การพัฒนาพื้นที่,
ไปจนถึงธุรกิจท้องถิ่นที่อาจได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของคนและสิ่งของ
รถไฟความเร็วสูงคืออนาคตของประเทศไทยจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น