19 สิงหาคม, 2013 - 10:19 | โดย yukti mukdawijitra
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว"
เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย
พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร
และระบบสังคมในสถานศึกษา
โจทย์ข้างต้นเป็นหัวข้อเสวนาวานนี้ (18 สิงหาคม 2556) ที่ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดมและ New Culture
ผมเป็นผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่ง
ผมเสนอว่าระบบการศึกษาไทยที่ผมต่อสู้อยู่ด้วยนั้นมี 3 ลัทธิ
ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา
(ไม่ใช่ท่านรองอธิการบดีที่รักของผมนะครับ)
และลัทธิแบบฟอร์มของระบบประกันคุณภาพ เอาไว้ค่อยเล่าถึง 3
ลัทธินี้ในโอกาสอื่น
แต่ตอนนี้อยากเล่่าบรรยากาศที่น่าประทับใจในการเสวนาวานนี้ก่อน
1) เมื่อวานนี้คนมาเยอะมาก เต็มห้อง น่าจะสัก 100 กว่าคน
น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา นี่แสดงว่านักเรียนนักศึกษา
พูดง่ายๆ คือวัยรุ่นกลุ่มใหญ่พอสมควรทีเดียวให้ความสำคัญกับการศึกษามากๆๆ
ดังนั้น ไม่ใช่ว่าการศึกษาจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่พวก "เด็กๆ"
เขาก็สนใจอย่างจริงจังเหมือนกัน
แม้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะมาพร้อมกับความอึดอัด แต่พวกเขามีประเด็นดีๆ
มาเสนอมากมาย
เช่นว่า มีการวิพากษ์แบบเรียนที่ ในภาษาของผมคือ "งมงาย" ในหลายๆ มิติ
คำถามน่าสนใจหนึ่งคือ หากนักเรียนสอบตกมาก ครูหรือนักเรียนกันแน่ที่โง่
ทำไมการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับสายวิทย์มากกว่าสายศิลป์
และยังถามไปถึงความรุนแรง ความงมงายของระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
คำถามคือ พวกผู้ใหญ่น่ะเปิดโอกาสให้เขาแสดงออกแค่ไหน
เปิดโอกาสให้เขาพูดในวิธีและเนื้อหาที่เขาสนใจแค่ไหน อยากฟังเขาพูดหรือไม่
หากยังเห็นแค่ว่าพวกเขาเรียกร้องอะไรก็เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องทำการบ้านมาก
นัก ให้มีเสรีภาพในการแต่งเนื้อแต่งตัวตามใจชอบมากขึ้นเท่านั้น
ให้เรียนแต่เรื่องง่ายๆ จบง่ายๆ แค่นั้นละก็
คุณก็จะไม่ได้รับรู้ทัศนะจากคนที่ "รับการศึกษา"
ซึ่งรับรู้และเข้าใจปัญหาการศึกษาไม่น้อยไปกว่า "ผู้ให้การศึกษา"
2) นอกจากเนื้อหา วิธีการแสดงออกก็สำคัญ
บางทีการแสดงออกของวัยรุ่นอาจดูขัดหูขัดตาบ้าง บางคนพูดในลีลาชาวฮิปฮอป
บางคนอาจพูด "คำหยาบ" ปนบ้าง มีคำว่า "แม่ง" "เฮ้ย" "วะ" ฯลฯ บ้่าง
แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า
นั่นคือส่วนหนึ่งกระบวนการคิดในชีวิตประจำวันของพวกเขา
พวกเขาคิดด้วยคำเหล่านั้น คำหยาบ คำแสลงมีไวยากรณ์ของมันเอง
ไม่เชื่อลองคิดและเขียนผ่านคำหยายดู ไม่ง่ายเลยนะครับ
ไม่ใช่ว่าไม่มี "เด็กๆ" คนไหนพูดภาษาของผู้ใหญ่ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า
กว่าที่พวกเขาจะใช้ภาษาผู้ใหญ่ได้
เขาอาจหลงลืมประเด็นหรือข้อคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาของเขาไปหมดแล้ว
เขาอาจถูกขัดเกลาไปจนเชื่องหมดแล้ว ภาษาคือเครื่องประกอบความคิด
คนเราคิดผ่านภาษา หากเราพยายามแยกวัยรุ่นออกจากภาษาของพวกเขา
เราก็จะแยกความคิดออกจากภาษาของพวกเขา ออกจากการแสดงออกของพวกเขา
แล้วพวกเขาก็จะไม่แสดงความคิดเห็น พวกเขาก็จะไม่คุยกับคุณ
แล้วปัญหาของพวกเขาก็จะไม่ได้ถูกรับรู้ ถึงขนาด wisdom
ของพวกเขาที่แสดงออกในแบบของเขาก็จะไม่ได้รับการใส่ใจในสังคม
3) ในแง่โครงสร้างสังคมไทยโดยกว้าง หากเทียบกับนักเรียนรุ่นก่อนหน้า
คือรุ่น "คนเดือนตุลา" ผมคิดว่าลักษณะพิเศษของคนรุ่นนี้คือ
พวกเขามาจากโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับ "คนชั้นกลางใหม่" หรือ
"ชนชั้นกลางระดับล่าง" ไม่ใช่โรงเรียนแถวปากคลอง
หรือโรงเรียนแถวสามย่านอีกต่อไป น่าสนใจอีกจุดหนึ่งของวันนี้ คือ
มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่เรียน "เมืองนอก" อยู่ที่มหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ
มาร่วมฟังและแสดงความเห็นอย่างเอาใจใส่กระทั่งใส่อารมณ์ร่วมอยู่หลายคน
แต่พวกเขาไม่ใช่เด็กเนิร์ดเชื่องๆ พวกเขามีความเห็นที่ก้าวหน้า
ไม่ต่างจากนักเรียนจากชนชั้นกลางใหม่ น่าคิดว่า
ผู้นำทางความคิดในรุ่นต่อไปอาจจะมาทั้งจากคนที่มีพื้นฐานกว้างออกไป
ผสมกับคนที่มีพื้นฐานจากชนชั้นกลางเก่า
หากแต่มีแนวคิดที่แตกต่างอย่างยิ่งจากพ่อแม่ของพวกเขา
คนรุ่นนี้สนใจปัญหาใกล้ตัว ปัญหาตนเอง แล้วจึงค่อยๆ
ขยายไปสู่สังคมวงกว้าง ต่างจากสมัยก่อนที่สนใจปัญหาคนอื่น ปัญหาไกลตัว
และมีลักษณะเหมือนไปกอบกู้ ช่วยเหลือ สงเคราะห์ "ชนชั้นผู้ทุกข์ยาก"
ในที่สุดแล้วทุกวันนี้นักศึกษากลุ่ม "เดือนตุลา"ส่วนหนึ่งจึงกลายเป็น
"ชนชั้นกลางระดับสูง" ที่ขัดแย้งกับ "ชนชั้นกลางระดับล่าง"
ที่พวกเขาไม่ได้รู้จักจริงจัง แต่เคยพยายามเป็นตัวแทนต่อสู้ให้มาก่อน
มาวันนี้ คนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้ลุกขึ้นมาสู้ด้วยตนเองแล้ว
ลูกหลานของพวกเขาเข้ามาอยู่ในระบบโรงเรียน ออกมาต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ
ต่อสู้กับการครอบงำที่ไร้เหตุผลของระบบ "ด้วยตนเอง" มากขึ้นแล้ว
นี่ยังไม่นับว่า "คนเดือนตุลา"
ยังจะต้องทนกับความคิดแตกต่างของลูกหลานตนเอง ที่ก้าวหน้ากว่าพวกตน
อย่างน้อยก็เท่าที่เห็นในวันนี้
4) ดูจากบรรยากาศวันนี้แล้ว ผมว่าสังคมไทยมีความหวังมาก
แม้ว่าเราจะยังไม่ค่อยได้พูดกันถึงทางออกที่เป็นรูปธรรม
ยังสร้างบทสรุปสำหรับผู้บริหารที่อ่านอะไรยาวๆ เกินแปดบรรทัดไม่เป็นก็ตาม
(ก็ช่วยไปคิดกันเอาเองบ้างเถอะครับพวกผู้บริหารน่ะ
จะมาคอยอ่านบทสรุปอย่างเดียวก็ไม่รู้จะจ้างพวกคุณมาทำอะไร) แต่ผมคิดถึงว่า
วันรุ่นพวกนี้เขามาไกลพอสมควรแล้ว ผมสงสัยว่า
กิจกรรมที่จัดขึ้นวันนี้จะจัดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเราที่ไหนได้บ้าง
ที่เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่าน่ะไม่มีทาง ที่อินโดนีเซีย
ฟิลิปปินส์ ผมไม่รู้
รู้แต่ว่าหากเราไม่มุ่งหวังถึงขนาดเป้าหมายสูงส่งอย่างในยุโรป ในอเมริกา
การศึกษาในประเทศไทยมีความหวังกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศมากนัก แต่แน่นอนว่า
เราควรใฝ่สูง ฝันไกลๆ เอาไว้กับการศึกษาไทยไว้ด้วย
สุดท้าย อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณผู้ร่วมเสวนาให้ข้อคิดสำคัญว่า
การศึกษาไม่ได้แยกขาดจากสังคมด้านต่างๆ
จะมุ่งคิดแก้ปัญหาการศึกษาอย่่างเดียวไม่ได้
บก.ลายจุดซึ่งนั่งเสวนาอยู่ด้วยกันอีกคนชวนให้คนที่วิพากษ์การศึกษาออกมาทำ
โรงเรียน ทำมหาวิทยาลัยขนาดย่อม ที่ตอบโจทย์การมีชีวิตมากกว่าปัจจุบัน
แต่ผมเสนอให้สู้ในระบบ ผมเลือกจะสู้ในระบบ
ผมคิดว่่ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนต้องเป็นอิสระจากระบบราชการให้มากกว่า
นี้ ขณะนี้มหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมากขึ้นจนเกินครึ่งตัวในทางเศรษฐกิจ
แต่ยังถูกควบคุมครอบงำอยู่มากในทุกด้าน ทั้งด้านการจัดการศึกษา
การสร้างความรู้ และการบริการสังคม
โรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน ผู้ปกครอง
และชุมชนเข้าไปมีส่วนบริหาร ธรรมศาสตร์กำลังจะมี
แต่ยังไม่รู้ว่าจะฝ่าด่านการสืบทอดอำนาจบริหารในมหาวิทยาลัยไปได้แค่ไหน
แต่นั่นเป็นเพียงข้อเสนอห้วนๆ ที่ยังต้องการรายละเอียดอีกมากมายยิ่งนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น