วันที่ 1 ส.ค.นี้จะเริ่มเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป และพรรคเพื่อไทยระบุว่า วันที่ 7 ส.ค.นี้จะมีการหยิบยกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เสนอโดยวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทยมาพิจารณาเพียงร่างเดียว
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษรรมของกลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมืองเม.ย.-พ.ค.53 นั้นถูกนำเสนอเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนางพะเยาว์ อัคฮาด และตัวแทนกลุ่มญาติได้ตระเวนยื่นร่างดังกล่าวแก่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงอย่างพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ เพื่อใช้ช่องทางการรวมรายชื่อส.ส.ไม่ต่ำกว่า 20 คน บรรจุร่างนี้ในวาระการประชุมสภาสมัยนี้
เนื้อหาของร่างทั้งสองฉบับยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักกิจกรรม ในหมู่คนเสื้อแดงด้วยกันเอง ในหมู่ญาติผู้เสียหาย รวมถึงฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยขณะนี้ร่างของญาติผู้เสียหายฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุงขั้นสุดท้ายหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว
นอกเหนือจากเรื่องเนื้อหาว่าการนิรโทษกรรมฉบับของใครครอบคลุมแค่ไหนแล้ว (อ่านรายละเอียดที่ เปิด 5 ร่างปรองดอง 4 ร่างนิรโทษกรรม ฉบับไหน ใครรอด) ยังถกเถียงถึงกระบวนการผลักดันร่างนี้ด้วย
โดยนักเคลื่อนไหว คนเสื้อแดงจำนวนมาก รวมถึงนักโทษการเมืองในเรือนจำคาดหวังว่าร่างฉบับวรชัยจะสามารถผลักดันแบบ “ผ่าน 3 วาระรวด” ได้ด้วยเสียงข้างมากของรัฐบาล ขณะที่คนอีกส่วนเห็นว่าเป็นไปได้ยากที่จะไม่มีการแปรญัตติร่างกฎหมายดัง กล่าว แม้แต่รองประธานสภาผู้แทนฯ อย่างเจริญ จรรย์โกมล เองก็ระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะผ่าน 3 วาระรวด และน่าจะต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญ นอกจากนี้บางส่วนยังเสนอว่าความต้องการต่างๆ นั้นสามารถแก้ไขเพิ่มเติมกันได้ในชั้นกรรมาธิการ ขณะที่อีกส่วนก็ระบุว่าการเพิ่มเติมจากร่างหลักในชั้นกรรมาธิการนั้นทำไม่ ได้ ดังนั้นหากวรชัยต้องการนิรโทษกรรมทหาร(โดยการไม่เขียนให้ชัดแต่แรก) ก็ไม่สามารถเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการได้ ส่วนสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า ก็เสนอเลยไปถึงวาระ 2 เลยว่า ให้ใช้ร่างของญาติฯ เป็น “ร่างหลัก” ฯลฯ
ในโอกาสที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับ “กระบวนการของการพิจารณากฎหมาย” ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เราขอพาผู้อ่านกลับไปทบทวนเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับ “การเดินทางของกฎหมายในสภา” ผ่านการพูดคุยกับ “อิสร์กุล อุณหเกตุ” นักวิจัยของโครงการ ThaiLawWatch ประกอบกับศึกษาข้อมูลจากงานวิจัย “การปรับเปลี่ยนกระบวนการร่างกฎหมายของประเทศ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย ( 2549) เพื่ออธิบายขั้นตอนต่างๆ โดยละเอียดอีกครั้ง
ไม่เฉพาะเพื่อรองรับต่อการถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม แต่รวมถึงกฎหมายทั่วไปอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเมื่อประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการร่างกฎหมายต่างๆ มากขึ้น
คลิ๊กดูภาพขนาดใหญ่
การพิจารณากฎหมายนั้นโดยส่วนใหญ่กระทำในสมัยสามัญนิติบัญญัติ แต่จะพิจารณากฎหมายในสมัยสามัญทั่วไปเช่นเดียวกับครั้งนี้ก็ได้
หากเริ่มต้นตั้งแต่ก้าวแรก เราจะพบว่ากฎหมายมีที่มาจาก 3 ทางหลัก คือ 1.กฎหมายที่มาจากหน่วยงานรัฐทั้งหลาย ผ่านกระทรวง มายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2. กฎหมายที่ ส.ส.เป็นผู้เสนอ โดยต้องรวมชื่อส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 คน 3.ประชาชนเป็นคนเสนอ โดยรวบรวม 10,000 รายชื่อ และอีกส่วนหนึ่งที่เสนอกฎหมายได้ คือ ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนก็เป็นมหากาพย์อันยาวนาน ปัจจุบันกฎหมายลูกเรื่องนี้ก็มีการปรับแก้และอยู่ในชั้นการพิจารณาของ กรรมาธิการร่วมสองสภา
ในกรณีที่หนึ่ง หากหน่วยงานรัฐเป็นผู้เสนอผ่านความเห็นชอบของ ครม.โดยทั่วไปแล้ว ครม. ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานก่อน แล้วจึงส่งกลับมายัง ครม.เพื่อให้ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ “วิปรัฐบาล” ไปหารือกับทางสภาเพื่อบรรจุวาระรวมถึง “จัดคิว” การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรด้วย
หากเป็นกรณีร่างกฎหมายที่ ส.ส.เสนอเองก็ไม่จำเป็นต้องส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบ
ส่วนร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ หากตรวจเช็ครายชื่อแล้วและประธานสภาพิจารณาแล้วว่าอยู่ในเงื่อนไขหมวด 3 (สิทธิเสรีภาพ) หมวด 5 (แนวนโยบายแห่งรัฐ) ของรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีสิทธิเสนอได้ ก็สามารถบรรจุเข้าวาระการพิจารณาได้
การพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร แบ่งเป็น 3 วาระ
วาระที่ 1 คือ การรับหลักการและสาระสำคัญ กรณีที่มีกฎหมายเรื่องเดียวกันแต่มีหลายเวอร์ชั่น มีคนเสนอหลายคน ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าวาระหนึ่งไปพร้อมๆ กัน อาจจะเข้าไล่เลี่ยกันไม่นานนักก็ได้ เพราะฉบับที่ผ่านวาระ 1 ก่อนจะไปกองรออยู่ที่ วาระ 2 เพื่อพิจารณาพร้อมๆ กัน
ในการพิจารณาวาระ 1 นี้ หากมีหลายร่าง ที่ประชุมสภาอาจโหวตให้รับหลักการเฉพาะร่างใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรับทุกฉบับ ร่างที่ไม่ได้รับการโหวตจะเป็นอันตกไป
ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีกฎหมายประกันสังคม ซึ่งมีทั้งหมด 4 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือฉบับที่ภาคประชาชนล่ารายชื่อเสนอเข้าไป สุดท้ายที่ประชุมสภาโหวตรับหลักการเพียงร่างของ ครม.และร่างของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ร่างประชาชนก็เป็นอันตกไปตั้งแต่วาระที่1 ทั้งที่มีเนื้อหาที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ที่ประชุมสภาจะกำหนดให้ด้วยว่า ในชั้นกรรมาธิการจะใช้ร่างใดเป็น “ร่างหลัก” ในการพิจารณา ส่วนร่างอื่นๆ นั้นใช้ประกอบการพิจารณา โดยปกติแล้วก็มักจะใช้ร่างของ ครม.เป็นร่างหลักเนื่องจากผ่านการตรวจสอบของกฤษฎีกาแล้ว แต่การใช้ร่างใดเป็นร่างหลักก็ยังไม่สำคัญเท่าสัดส่วนกรรมาธิการว่ามีแนว โน้มไปทางสนับสนุนร่างใด
ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า วาระที่ 1 นี้ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา ส.ส.สามารถอภิปรายกันได้ยาวนาน จากงานวิจัย พบว่าส.ส.ใช้เวลาส่วนนี้เยอะมาก โดยอภิปรายเลยไปถึงประเด็นเนื้อหา ไม่ได้จำกัดเฉพาะหลักการดังชื่อของวาระ
นอก จากนี้ในชั้นนี้ ส.ส.ยังสามารถโหวตให้มีการตั้ง กรรมาธิการเป็นกรณีพิเศษก่อนโหวตรับหลักการก็ได้ (ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อย) กรณีที่กฎหมายมีเนื้อหาสำคัญและยากแก่การวินิจฉัย หรือที่ประชุมเห็นต่างกันมาก ช่องทางนี้เปิดเพื่อการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบและเป็นการลดความขัดแย้ง
วาระที่ 2 แบ่งเป็นการพิจารณาชั้นคณะกรรมาธิการ และ การพิจารณารายมาตราของสภา
หลังผ่านวาระที่ 1 จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการที่จะพิจารณาร่างกฎหมายนั้น ซึ่งจะเป็นกรรมาธิการสามัญที่อยู่แล้วหลายคณะในสภาก็ได้ หรือจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเป็นการเฉพาะก็ได้ กรรมาธิการสามัญจะเป็นบรรดา ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลตามสัดส่วนที่ตกลงกัน ส่วนกรรมาธิการวิสามัญนั้นนอกจากจะมี ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ยังสามารถเชิญคนนอก/ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเป็นกรรมาธิการได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมีการพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนรวบรวมชื่อเสนอ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีตัวแทนภาคประชาชน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด
ชั้นกรรมาธิการจะเป็นการพิจารณาร่างกฎหมาย แบบละเอียดยิบไล่ไปทีละมาตรา โดยดูจากร่างหลักประกอบกับร่างอื่นๆ กรรมาธิการมีสิทธิที่จะแก้ไข ตัดทอน หรือกระทั่งเพิ่มมาตราขึ้นมาใหม่ก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น
หากกรรมาธิการคนใดเสนอความเห็นแล้วเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมไม่เห็นด้วย ไม่แก้ตาม กรรมาธิการผู้นั้นก็สามารถ “สงวนความเห็น” เพื่อมาอภิปรายให้ที่ประชุมใหญ่ ส.ส.เป็นผู้ตัดสินได้
อย่างไรก็ตาม การพิจารณากฎหมายก็ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่คนนี้ ส.ส.ที่ไม่ถูกเลือกให้ร่วมเป็นกรรมาธิการ ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ โดยการยื่นคำขอ “แปรญัตติ” ต่อประธานคณะกรรมาธิการล่วงหน้า จากนั้นส.ส.คนดังกล่าวก็ต้องมานำเสนอในที่ประชุมกรรมาธิการ หากเสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมกรรมาธิการเห็นด้วยก็แก้ตามกันไป แต่หากไม่เห็นด้วย ส.ส.คนดังกล่าวสามารถ “สงวนคำแปรญัตติ” เพื่อมาอภิปรายให้ที่ประชุมใหญ่ส.ส.เป็นผู้ตัดสินได้เหมือนกัน
ถามว่าการพิจารณาจะล่าช้าเพียงไหน ก็อยู่ที่จะมีผู้แปรญัตติขอแก้ไขร่างในจุดต่างๆ มากน้อยขนาดไหน ถ้าแต่ละมาตราของแต่ละร่างมีความแตกต่างกันมากก็จะล่าช้าเป็นธรรมดา โดยปกติในชั้นกรรมาธิการหากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน แต่ก็สามารถขยายเวลาได้ครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นกฎหมายอื่นซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณก็ไม่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลา
เมื่อเสร็จสิ้นในชั้นกรรมาธิการ ก็จะนำร่างกฎหมายกลับสู่การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร 500 คน โดยกรรมาธิการจะต้องทำรายงานเปรียบเทียบร่างเดิมและร่างที่กรรมาธิการแก้ไข เพิ่มเติม พร้อมแจ้งการสงวนคำแปรญัตติของผู้แปรญัตติหรือมีการสงวนความเห็นของ กรรมาธิการ
ในที่ประชุมใหญ่ กรรมาธิการจะมาชี้แจงด้วยตัวเอง หากมาตราใดที่ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการสงวนคำแปรญัตติ หรือกรรมาธิการไม่ได้สงวนความเห็นไว้ ก็จะผ่านการพิจารณาไปโดยไม่มีการอภิปราย
แต่ถ้ามาตราใดมีการแก้ไข และมีผู้สงวนคำแปรญัตติหรือกรรมาธิการสงวนความเห็นไว้ ที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายในมาตรานั้น โดยสมาชิกผู้ขอสงวนคำแปรญัตติหรือกรรมาธิการผู้ขอสงวนความเห็นมีสิทธิ อภิปรายแสดงความเห็นได้เฉพาะในประเด็นที่ขอสงวนไว้เท่านั้น ส่วนสมาชิกอื่นจะอภิปรายหรือซักถามได้เฉพาะมาตราที่กรรมาธิการได้เปลี่ยน แปลง แก้ไข หรือเพิ่มเติมเท่านั้น
หากอภิปรายแล้วมีข้อขัดแย้งกันมากก็ต้องมีการลงมติเพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว พิจารณาไล่ไปเรื่อยๆ จนจบทั้งร่าง
จากนั้นจะเข้าสู่วาระ 3 ที่เรียกว่า การลงมติทั้งฉบับ คือ การให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทั้งฉบับ ขั้นตอนนี้จะไม่มีการอภิปรายหรือแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น แค่เพียงให้ ส.ส.โหวตว่าจะเห็นชอบหรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบก็ผ่านไปสู่ชั้นวุฒิสภา แต่หากไม่เห็นชอบร่างกฎหมายนั้นก็ตกไป
นี่คือกระบวนการปกติในชั้นของสภาผู้แทน ราษฎร แต่กับกฎหมายบางฉบับที่ต้องการนำไปใช้บังคับเป็นการด่วน หรือเป็นกฎหมายที่มีรายละเอียดไม่มาก มีไม่กี่มาตรา ไม่ได้มีความคิดเห็นแย้งกันนัก ก็สามารถลดขั้นตอนการพิจารณาได้เร็วขึ้นอีก โดยครม. หรือ ส.ส. ไม่นอยกว่า 20 คน ยื่นขอให้พิจารณาโดย “กรรมาธิการเต็มสภา” ก็คือให้ทั้งสภาเป็นกรรมาธิการไปเลย ไม่ต้องยื่นคำขอแปรญัตติหรือสงวนคำแปรญัตติกันอีก ทำให้ลดขั้นตอนและนำสู่วาระ 3 ได้เลย
เมื่อมาถึงในชั้นวุฒิสภาก็ จะทำแบบเดิมอีก คือ พิจารณา 3 วาระ ต่างแต่เพียงว่า ในชั้นของวุฒิฯ นั้นมีการกำหนดเวลาการพิจารณาชัดเจนว่า หากเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน 30 วัน หากเป็นร่างกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเงินให้เวลา 60 วัน ความเห็นของวุฒิที่ออกมาแบ่งเป็น 3 กรณี
1.หากวุฒิสภาเห็นชอบด้วยกับร่างที่สภาผู้แทนราษฎรแก้ก็เป็นอันจบ ให้นายกฯ ทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ลงประปรมาภิไธยและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
2.หากวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร
3.หากวุฒิสภามีมติให้แก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปยังสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นก็จบ แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการแก้ไข ก็จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมของทั้ง 2 สภาเพื่อพิจารณาร่างนั้นอีกครั้ง เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จ ก็รายงานไปยัง 2 สภา หากทั้ง 2 สภาเห็นชอบก็เป็นอันจบ แต่หากสภาใดสภาหนึ่งไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างนั้นไว้ก่อน
กรณีที่มีการยับยั้งร่าง ไม่ว่าจากการที่วุฒิฯ ไม่รับหลักการในวาระ 1 หรือไม่เห็นชอบในวาระ 3 หรือกรณีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบเวอร์ชั่นหลังตั้งกรรมาธิการร่วมแล้วก็ตาม เมื่อเรื่องถูกส่งกลับสภาผู้แทนฯ แล้ว ไม่สามารถพิจารณาต่อได้ทันที (ถ้าไม่ใช่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน) ต้องรอไว้ 180 วันก่อนจึงจะสามารถหยิบร่างนั้นมาพิจารณาใหม่ ในชั้นนี้สภาผู้แทนฯ จะมีสิทธิลงมติยืนยันร่างเดิมที่ผ่านสภาตนก็ได้ หรือยืนยันร่างกรรมาธิการร่วมก็ได้ แต่เสียงต้องเกินกึ่งหนึ่ง
ขั้นตอนสุดท้าย
หลังจากเสร็จสิ้นการพิจารณาของทั้งสองสภา ก็จะเข้าสู่การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพ.ร.บ.นั้น ซึ่งแบ่งเป็นหลายรูปแบบ
1.ถ้าเห็นว่าร่างกฎหมายนั้นไม่ถูกต้องตาม รธน. กรณีที่เป็น ร่าง พ.ร.บ. ก็ให้ส.ส.หรือ ส.ว.หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา (หากเป็นกรณีร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน) เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานคนดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา วินิจฉัย แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ
2.ถ้าเห็นว่าร่างกฎหมายนั้นไม่ถูกต้องตามรธน. นายกรัฐมนตรีส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบก็ได้เช่นกัน
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายมี ข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป แต่หากข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแล้วให้ร่างพระราช บัญญัตินั้นเป็นอันตกไปด้วย แต่หากไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ดำเนินการต่อได้
ขั้นเกือบสุดท้ายคือ นายกฯ นำร่างพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เนื่องจากพระราชอำนาจในการตรากฎหมายเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่จะทรงตราขึ้นได้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาเท่านั้น
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความ เห็นชอบจากรัฐสภา ก็จะทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วนายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราช บัญญัตินั้นไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
แต่หากไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีก ครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายใน 30 วันให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้ บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหา เวลา 15.10 น. (31 ก.ค.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น