ทั้งนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหลักใหญ่ใจความสำคัญของบทความเรื่อง “มวลมหาประชาชน” นี้ก็คือการทำความเข้าใจแบบแผนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ามวล มหาประชาชน โดย อ.นิธิได้ชี้ให้เห็นว่าที่สุดแล้ว มวลมหาประชาชนอันเป็นผลรวม(แบบหยาบๆ) ของมวลชนผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงผู้หงุดหงิด กับปัญหาคอรัปชั่นและเกลียดชังอดีตนายกทักษิณ ชิณวัตรนั้น หาใช่อะไรเลยนอกจากการรวมตัวตามแบบซึ่งในทางทฤษฎีเรียกกันว่ามวลชน หรือ Mass ที่มีลักษณะสำคัญคือการเป็นอณูหรือก็คือ:
“ประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่นเครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น... กลายเป็น...อณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ”[2]โดย อ.นิธิยังชี้ให้เห็นว่าในกรณีของไทยนั้น การเกิดขึ้นของอณูดังกล่าวจะสอดคล้องต้องกันกับกระแสของการแสดงออกถึงความจง รักภักดีอย่างล้นเกินต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์คือพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่-และดังนั้นจึงอาจ สร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับ-ชีวิตของอณูเหล่านี้[3] ในแง่นี้ มวลมหาประชาชน-จากสายตาของ อ.นิธิ-จึงไม่ต่างอะไรกับมวลชนซึ่งเป็นฐานให้กับการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการ เบ็ดเสร็จเฉกเช่นเดียวกับลัทธินาซีในเยอรมันหรือเผด็จการฟาสซิสต์ในอิตาลี ที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นทางอารมณ์ ความรู้สึกซึ่งไม่พอใจ-จนพร้อมจะล้มล้าง-กลไก สถาบันที่คอยค้ำจุนระเบียบการเมืองปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา กฎหมายหรือกระทั่งรัฐธรรมนูญซึ่งเอื้อให้ความฉ้อฉล(ตามสายตาของพวกเขา)ดำรง อยู่ได้[4]
ชัดเจนว่าข้อวิเคราะห์ของอ.นิธิข้างต้นเป็นข้อวิเคราะห์ภายใต้อิทธิพล จากกรอบทฤษฎีของฮานน่า อาเร็นดท์ (Hannah Arendt) หนึ่งในนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญเมื่อศตวรรษที่แล้ว โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมวลชนกับการเคลื่อนไหวแบบเผด็จ การเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ ในส่วนที่สามของหนังสือเรื่อง กำเนิดเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือ The Origins of Totalitarianism ซึ่ง ตีพิมพ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดไม่กี่ปี อาเร็นดท์ได้ชี้ให้เห็นว่าการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นไม่มีทางเกิด ขึ้นมาได้หากขาดปัจจัยรองรับสำคัญอย่างการสนับสนุนจากมวลชนซึ่งเป็นกลุ่มคน ที่อาเร็นดท์มองว่าปราศจากสำนึกถึงผลประโยชน์ร่วมทางชนชั้น ขาดความสนใจทางการเมืองอย่างจริงจัง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกระทั่งอาจไม่เคยไปเลือกตั้งด้วยซ้ำ[5] มวลชนสำหรับอาเร็นดท์จึงเป็นการรวมกลุ่มที่ไม่ได้วางอยู่บนการใช้เหตุผล ครุ่นคิดหรือวางแผนเพื่อต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ แต่จะเป็นการรวมกลุ่มที่หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยความเชื่อมั่นทางอารมณ์ตลอดจน ความเกลียดชังทางการเมืองเท่านั้น[6]
แต่มวลชนมิได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แม้มวลชนอาจเป็นหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่การก่อเกิดขึ้นของมวลชนย่อมต้องถูกกำกับจากเงื่อนไขทางสังคมโดยไม่อาจ หลีกเลี่ยงไปได้ ในแง่นี้ อาเร็นดท์จึงชี้ให้เห็นต่อมาว่าการก่อตัวดังกล่าวของมวลชนนั้น เอาเข้าจริงแล้วคือผลลัพธ์จากความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา พรรคการเมืองและสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นที่ไม่สามารถเชื่อมต่อ ประสาน ถ่ายทอดและสร้างผลประโยชน์ร่วมกับผู้คนจำนวนมากจนผลักไสให้พวกเขาเหล่านั้น กลายเป็นอณูอันล่องลอย ไม่สามารถยึดโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มก้อนทางการเมืองในระบบปกติ ทำให้กลายเป็นมวลชนผู้อัดแน่นไปด้วยความเกลียดชังต่อระเบียบการเมืองชุดเดิม และไม่ได้มีเป้าหมายอื่นใดนอกจากการทำลายล้างระเบียบดังกล่าวให้สิ้นซากลงไป ในท้ายที่สุด[7] นั่นจึงไม่แปลก ที่อาเร็นดท์จะย้ำให้เห็นว่าการรวมกลุ่มแบบมวลชนนั้นหลักๆแล้วจะเป็นการรวม กลุ่มของเหล่าชนชั้นกระฎุมพีในเมืองใหญ่ผู้ถูกผลักให้หลุดออกจากสายสัมพันธ์ ทางชนชั้นที่คอยเชื่อมโยงและเป็นตัวแทนพวกเขา(รวมทั้งผลประโยชน์ของพวก เขา)ในระบบการเมืองตามปกติ เพราะกระฎุมพีเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมเมืองที่เต็ม ไปด้วยการชิงดีชิงเด่น พึ่งพาได้แต่ตนเอง ไว้ใจใครไม่ได้และมักพบว่าตนเองคือผู้แพ้จากโลกของการแข่งขันอันโหดร้ายจน หมดสิ้นความหวัง ไร้ซึ่งความภาคภูมิใจต่อตนเองและกลายเป็นพาหะแห่งความคั่งแค้นต่อระบบ ระเบียบทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่สามัญสำนึกและการใช้เหตุผลขั้นพื้นฐานของตน[8]
โดยไม่จำเป็นต้องประเมินถึงการใช้ทฤษฎีของอาเร็นดท์เพื่ออธิบาย ปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยของอ.นิธิ(ซึ่งทำได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว) ลำพังแค่ข้อเสนอข้างต้นของอาเร็นดท์เองก็นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดโดย เฉพาะการชี้ให้เห็นถึงพลังทางการเมืองอันมหาศาลของมวลชน จริงอยู่ แม้คำอธิบายถึงการดำรงอยู่ของมวลชนอาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น เพราะนักปรัชญา/ทฤษฎีจำนวนไม่น้อยต่างก็เคยอธิบายถึงการดำรงอยู่ของมวลชนมา ก่อนแล้ว หากแต่คำอธิบายทางทฤษฎีเหล่านั้นมักเพิกเฉยต่อพลังทางการเมืองของมวลชนราว กับว่ามวลชนเป็นเพียงแค่ฝูงชนอันโง่เขลาที่ปราศจากการครุ่นคิดด้วยปัญญา ไร้รากทางวัฒนธรรมและเสพย์ติดสินค้าบันเทิงอันปราศจากแก่นสารจนเป็นได้แค่ เพียงเหยื่ออันโอชะที่รอคอยการกดขี่ขูดรีดจากชนชั้นปกครองและระบอบทุนนิยม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า[9] ด้วยเหตุนี้ คำอธิบายของอาเร็นดท์ที่ชี้ให้เห็น
ถึงผลลัพธ์จากความกระตือรือร้นทางการเมืองอันทรงพลังของมวลชนอย่างการ เคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจึงเป็นคำอธิบายที่นักทฤษฎีการเมือง นักรัฐศาสตร์ตลอดจนผู้สนใจวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองไม่อาจเพิกเฉย มองข้ามไปได้ โดยเฉพาะบทบาทของความเกลียดชัง(Terror) ที่สำหรับอาเร็นดท์แล้ว คือแรงผลักสำคัญต่อการรวมกลุ่มและแสดงออกอันคลุ้มคลั่งของมวลชน ในแง่นี้ นอกจากการรวมกลุ่มของมวลชน อีกเงื่อนไขหนึ่งที่คอยรองรับการก่อตัวของเผด็จการเบ็ดเสร็จจึงเป็นอย่าง อื่นไปไม่ได้นอกจากความเกลียดชังซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนอย่างสม่ำเสมอ[10]
นั่นจึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะตั้ง อยู่บนการสร้างศัตรูร่วมในจินตนาการทุกครั้ง สำหรับอาเร็นดท์แล้วประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าศัตรูร่วมดังกล่าวมีตัวตน ดำรงอยู่จริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการกระตุ้น ปลุกเร้าความรู้สึกเกลียดชังของมวลชนให้พร้อมออกมาต่อสู้ ทำลายล้าง “เป้าหมาย” เหล่านั้นให้สิ้นซากต่างหาก[11] (แม้ในหลายๆครั้งศัตรูที่กล่าวมานี้อาจเป็นเพียงแค่จินตนาการหาได้ต้องตรง กับความเป็นจริงแต่อย่างใด) ทั้งกำเนิดของลัทธินาซีซึ่งด้านหนึ่งอาศัยพลพวงจากความเกลียดชังชาวยิวของคน เยอรมันในขณะนั้น หรือการครองอำนาจของโจเซฟ สตาลินที่ใช้ความกลัวจากการปั้นแต่งให้ผู้คนที่มีทัศนะแตกต่างจากตนกลายเป็น ศัตรูของพรรคและต้องถูก “จัดการ” ให้หมดสิ้น ในแง่นี้ การทำความเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของมวลมหาประชาชนจึงมิเพียงแต่ต้องทำความเข้า ใจลักษณะเชิงสังคมวิทยาของผู้เข้าร่วม หากแต่ยังต้องชี้ให้เห็นถึงความเกลียดชังในฐานะแรงผลักที่คอยปลุกเร้าและ หล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ ซึ่งอาจารย์นิธิก็ไม่พลาดที่จะชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าว(แม้อาจไม่ได้กล่าว อย่างตรงไปตรงมานัก)ดังเนื้อหาในบทความที่ว่า:
“จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ...ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ... หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคม อณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่นตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง...เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ”[12]อย่างไรก็ตาม แม้การนำทฤษฎีของอาเร็นดท์มาใช้อธิบายการดำรงอยู่ของมวลมหาชนข้างต้น อาจเต็มไปด้วยความแม่นยำ น่าชื่นชม แต่การใช้ทฤษฎีดังกล่าวก็กลับสร้างความลักลั่นในระดับทฤษฎีอย่างไม่อาจหลีก เลี่ยงไปได้ เพราะมวลมหาประชาชนตามคำอธิบายของ อ.นิธินั้น หากกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือการรวมกลุ่มซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ชนชั้นกระฎุม พีเมืองกรุงเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วกลับคือ “เสียงข้างน้อย” เมื่อเทียบกับจำนวนของพลเมืองไทยทั้งสังคม มวลมหาประชาชนตามคำอธิบายของ อ.นิธิจึงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของเสียงข้างน้อย หากเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ย่อมจะต้องเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยเสียงข้าง น้อยดังที่ อ.นิธิได้เขียนว่า
“การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี...เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้ อย่างไร”แน่นอน หากพิจารณาจากประสบการณ์ทางการเมืองที่แต่ละคนคุ้นชิน คงไม่มีใครปฏิเสธว่า มวลมหาประชาชนดังกล่าว-หากคือการรวมกลุ่มที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชั้นกระฎุมพี ดังที่ อ.นิธิวิเคราะห์-คือการเคลื่อนไหวของเสียงข้างน้อย กระนั้น เมื่อพิจารณาการรวมกลุ่มตรงนี้ผ่านแว่นตาทางทฤษฎีที่มีชื่อว่า “มวลชน” คำอธิบายของ อ.นิธิก็กลับเกิดปัญหาในระดับทฤษฎีขึ้นมาโดยทันที เพราะถ้ามวลชนคือกรอบทฤษฎีที่ อ.นิธิใช้วิเคราะห์การรวมกลุ่มของมวลมหาประชาชน และถ้ามวลมหาประชาชนคือเสียงข้างน้อยของสังคม นั่นก็เท่ากับ อ.นิธิกำลังกล่าวว่ามวลชนคือเสียงข้างน้อยของสังคมตามไปด้วย ซึ่งผู้ศึกษาทางด้านปรัชญาหรือทฤษฎีการเมืองคงต้องรู้สึกแปลกแปร่งเป็นแน่ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงพัฒนาการทางความคิดของโลกตะวันตก(ซึ่งให้กำเนิดแนวคิด เรื่องมวลชน) ด้วยแล้ว ก็จะพบว่า “มวลชน” นั้นมิเพียงแต่ไม่สอดคล้องกับ “เสียงข้างน้อย” หากแต่ยังมีสถานะเคียงคู่กระทั่งเป็นคำที่ใช้แทน “เสียงข้างมาก” มากกว่า อันที่จริงการกล่าวถึงมวลชนในโลกตะวันตกยังมีนัยยะส่อถึงภัยคุมคามต่อการ ดำรงอยู่ของเสียงข้างน้อยด้วยซ้ำ[13] แม้แต่ อาเร็นดท์ในทฤษฎีที่ อ.นิธิใช้เองก็ยังไม่กล้าที่จะสรุปแบบ อ.นิธิว่ามวลชนคือเสียงข้างน้อย ใกล้เคียงที่สุดก็แค่กล่าวว่ามวลชนซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวเชิง เผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นหาได้นำมาสู่การจัดตั้งรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จที่สามารถ กำกับครอบงำผู้คนได้ทั้งสังคม[14] (หรือพูดง่ายๆคือมวลชนไม่เท่ากับคนทั้งสังคม แต่การไม่เท่ากับคนทั้งสังคมย่อมมิได้ทำให้มวลชนเท่ากับเสียงข้างน้อยเป็น แน่) ดังนั้นหากพิจารณาจากสายตาทางทฤษฎี แม้การวิเคราะห์ทำความเข้าใจมวลมหาประชาชนของ อ.นิธิ อาจเป็นการวิเคราะห์ที่แหลมคม ทรงพลัง แต่พร้อมๆกันนั้น การวิเคราะห์ดังกล่าวก็กลับเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่นโลดโผนพิสดารไม่น้อยที เดียว
กระนั้น การกล่าวข้างต้นนี้ย่อมมิได้มีเป้าประสงค์ที่จะโจมตี อ.นิธิ ว่าใช้ทฤษฎีผิดหรือมองไม่เห็นความลักลั่นจากการใช้ทฤษฎีของตน เพราะข้อจำกัดประการหนึ่งที่ผู้ศึกษาปรัชญาและทฤษฎีการเมืองสมควรตระหนักก็ คือ ทุกๆทฤษฎี-ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่-ต่างก็วางอยู่บนประสบการณ์ทางสังคมและการ เมืองภายใต้บริบท พื้นที่และห้วงเวลาที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ทฤษฎีของอาเร็นดท์ซึ่งตั้งอยู่บนประสบการณ์ทางการเมืองภายใต้ บริบทของยุโรปช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่แล้วที่อาจสัมพันธ์กับพัฒนาการทาง ภูมิปัญญาของโลกตะวันตกเท่านั้น[15] การนำทฤษฎีมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมจึงย่อมต้องได้รับการปรับแต่งไม่ มากก็น้อย หาไม่แล้ว ทฤษฎีก็คงเป็นได้แค่บทเรียนทางสังคมที่สรุปจากบริบทและห้วงเวลาหนึ่งๆโดยไม่ อาจก้าวข้ามไปสร้างความกระจ่างให้กับปรากฏการณ์ทางสังคมในบริบทอื่นๆได้เลย ในแง่นี้ ความน่าสนใจในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจมวลมหาประชาชนของ อ.นิธิ จึงมีได้เพียงแค่วางอยู่บนการนำทฤษฎีตะวันตกมาปรับใช้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ ทางการเมืองไทยอย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ยังอาจสร้างบทสนทนาทางทฤษฎีเพื่อสร้างความเป็นไปได้ให้ทฤษฎีดังกล่าว สามารถปรับระดับ ก้าวข้ามเพดานที่เคยจำกัดขอบเขตของตัวมันเองตามไปด้วย โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “มวลชน” ที่แม้ในโลกตะวันตกอาจมีนัยหมายถึง “เสียงข้างมาก” แต่เมื่อได้รับการปรับแต่งเพื่ออธิบายสังคมการเมืองไทยแล้ว มวลชน(แบบไทยๆ)ก็อาจไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการรวมกลุ่มของชนชั้นกระฎุมพี เมืองกรุงเอง
ว่าไปแล้ว ความพยายามในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงกับการ เคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในไทยนั้น ก็หาใช่การค้นพบที่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยที่สุด เบเนดิก แอนเดอร์สัน(Benedict Anderson) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังก็เคยชี้ให้เห็นเงื่อนปมความสัมพันธ์ดังกล่าวในบท ความ-ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงปัจจัยที่นำมาสู่เหตุการณ์ “ฆาตกรรมแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519-เรื่อง “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” โดย อ.แอนเดอร์สันได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชนชั้นใหม่ อย่างกระฎุมพีกับการก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งในรูปของผู้กระทำการ(ผ่านสายสัมพันธ์กับกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านตลอดไปจนถึงข้าราชการท้องถิ่น) และในรูปของเสียงโห่ร้อง สนับสนุนให้เกิดการปราบปรามขบวนการนักศึกษาในครั้งนั้น[16] ทั้งนี้ อ.แอนเดอร์สันได้วิเคราะห์ว่าการที่ชนชั้นกระฎุมพีสนับสนุนกระทั่งลุกขึ้นมา ก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวคือผลโดยตรงของความความเกลียดชังในหมู่พวก เขาซึ่งก่อตัวอยู่บนอาการวิตกจริต ไม่มั่นใจกับอนาคตที่จะมาถึงโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความโกลาหลทาง เศรษฐกิจและการเมืองไม่ว่าจะเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในพ.ศ. 2517 เสรีภาพอันล้นเกินของกลุ่มนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาหรือการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ จนทำให้ชนชั้นใหม่นี้-ซึ่งโดยตัวมันเองเป็นอณูอันล่องลอย ไม่อาจเชื่อมต่อเข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในอดีต-ต้องหันกลับไปยึด โยงตนเองเข้ากับสถาบันกษัตริย์ในฐานะพันธะเดียวที่ช่วยปลอบประโลมและสร้าง ความมั่นคงทางใจให้กับพวกเขาพร้อมๆกับเร่งเร้าความเคียดแค้นชิงชังที่มีต่อ ขบวนการนักศึกษาซึ่ง-ในสายตาของกระฎุมพีเหล่านี้แล้ว- คือผู้ทรยศ ไม่จงรักภักดีกระทั่งเป็นข้าศึกที่ควรต้องถูกชะล้างให้หมดสิ้นไป ดังย่อหน้าที่ว่า:
“ถึงตรงนี้ก็คงเป็นที่เข้าใจได้ชัดขึ้นว่า เพียงไม่นานหลังจากมีการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเสรีนิยม มีการยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ การตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เริ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มผู้ปกครองโกรธแค้นนักศึกษา นักพูดหัวรุนแรงเท่านั้น แต่เป็นเพราะกระบวนการอันต่อเนื่องของวิกฤติสังคมไทยทั้งหมด เริ่มตกผลึกรอบๆสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ การสิ้นสุดของเศรษฐกิจบูมที่มีมายาว ความหงุดหงิดอย่างคาดไม่ถึงที่เกิดจากการขยายการศึกษาอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งระหว่างวัย และความวิตกที่เกิดการการถอนตัวทางยุทธศาสตร์ของอเมริกา รวมทั้งผู้นำทหารที่หมดความน่าเชื่อถือ วิกฤติต่างๆที่ผูกโยงกันอยู่นี้เป็นประสบการณ์ที่หนักหน่วง สำหรับพวกกระฎุมพีใหม่ พวกชนชั้นใหม่นี้นั้นถือว่าสถาบันกษัตริย์เป็นทั้งหลักชัยและเกราะคุ้มกัน ทางจิตใจ รากลึกทางประวัติศาสตร์และความมั่นคงของสถาบันดูจะเป็นของขลังกั้นยันความ ไร้ระเบียบและความพินาศให้ และไม่ว่าจะมีความเลวร้ายของชีวิต หรือการที่ต้องพึ่งพิงทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจต่อชาวต่างชาติจะเป็นเช่น ไรก็ตาม สมาชิกของชนชั้นนี้ก็รู้สึกว่าความเป็นชาตินิยมของตัวตนนั้น ประกันได้ด้วยความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์รวมของมรดกชาติ ดังนั้น การโจมตีใดๆต่อสิทธิอันชอบธรรมของราชบัลลังก์ ไม่ว่าจะเป็นโดยอ้อมก็ตาม จะเป็นที่รู้สึกได้เลยว่าคุกคามต่อเกราะคุ้มกันนั้น”[17]น่าสนใจว่าขณะที่มวลชนโดยทั่วไป(หรืออย่างน้อยในโลกตะวันตก) อาจสัมพันธ์กับกลุ่มคนผู้ผูกขาดเสียงข้างมาก มวลชนแบบไทยๆกลับคือชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงผู้เต็มไปด้วยความเกลียดชังซึ่ง แม้อาจไม่ได้เป็นเสียงข้างมากของสังคม แต่ก็ครอบครองพื้นที่สื่อสารมวลชนที่คอยขยายระดับความดังให้กับเสียงของพวก เขาจนจำนวนอันน้อยนิด(เมื่อเทียบกับผู้คนทั้งประเทศ)หาได้เป็นอุปสรรคต่อ พลังและการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของพวกตนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม-หากเราเชื่อตามข้อสรุปของ อ.แอนเดอร์สัน-หรือในรูปของมวลมหาประชาชนในครั้งนี้ จริงอยู่ แม้ยุคสมัยที่แตกต่างอาจทำให้รายละเอียดของทั้งสองเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน แต่ความเกลียดชังที่รายล้อมควบคู่ไปกับความภักดีอย่างล้นเกินต่อสถาบันพระ มหากษัตริย์ ก็อาจไม่ได้ทำให้บทบาทของชนชั้นกระฎุมพีมีความแตกต่างจากเมื่อปี พ.ศ.2519 มากนัก คำถามสำคัญก็คือ ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ทศวรรษหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ชนชั้นกระฎุมพีรวมทั้งสังคมไทยโดยรวมไม่เคยเรียนรู้ถึงความโหดร้ายของตนเลย หรือ? เหตุใดชนชั้นกระฎุมพีไทยถึงยังไม่สามารถก้าวข้ามความเกลียดชังซึ่งเคยหลอก หลอนตนเมื่อเกือบสี่ทศวรรษที่แล้วไปได้? บางที คำตอบอาจมาจากข้อเท็จจริงอันโหดร้ายที่ว่าพลังจากความเกลียดชังดังกล่าวไม่ เคยเลยที่จะประสบพบเจอกับความพ่ายแพ้ ตรงกันข้ามกับลัทธินาซี ฟาสซิสต์ที่ต่างก็พ่ายแพ้ในสงครามโลกจนถูกทำลายล้างอย่างราบคาบ พลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จซึ่งขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังกลับยังคงดำรงอยู่ แฝงฝังและเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีไทยมาโดย ตลอด[18] ไม่ ว่าจะเป็นความเกลียดชังต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ พ่อค้ายาเสพย์ติดหรือระบอบทักษิณในปัจจุบัน และคงไม่ใช่เรื่องแปลกหากความเกลียดชังดังกล่าวอาจดำรงอยู่ต่อไปถ้าการ เคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนในครั้งนี้ประสบกับ “ชัยชนะ”
หรือนี่คือราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายสำหรับการทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นเพียงบาดแผลทางประวัติศาสตร์เท่านั้น...
[2]เพิ่งอ้าง
[3]เพิ่งอ้าง
[4]เพิ่งอ้าง
[5]Hannah Arendt, The Origins of Totalitarianism(New York: A Harvest Book, 1968), pp 311-2
[6]Ibid., p 311
[7]Ibid., pp 312-5
[8]Ibid., pp 315-8
[9]ดู Jose Ortega y Gasset, The Revolt of the masses (New York: w.w. Norton & Company, Inc, 1964) และ Dialectic of Enlightenment: Philosophical Fragment.
Edmund Jephcott (Translated), Gunzelin Schmid Noerr (Edited)(Stanford:
Stanford University Press, 2002), Ch.3 อนึ่ง
ทัศนะที่มองมวลชนว่าเป็นเพียงกลุ่มคนที่ปราศจากพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม
และมักตกเป็นเหยื่อของชนชั้นปกครองตลอดจนระบอบทุนนิยมนั้นยังเป็นทัศนะที่
ทรงพลังมาจนถึงทุกวันนี้
ไม่เว้นแม้แต่ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ที่แม้อาจพยายามชี้ให้เห็นพลังของมวลชน
แต่ก็ยังมิวายพิจารณาว่าพลังดังกล่าวคือความเงียบ
ความเฉยชาที่สื่อและสัญลักษณ์ต่างๆไม่สามารถทำหน้าที่ดูดกลืน
ถ่ายทอดและแสดงตนเป็นตัวแทนของมวลชนได้ โปรดดู Jean Baudrillard, In The Shadow of The Silent Majorities, Paul Foss, John Johnston, Paul Patton and Andrew Berardini(Translated)(Los Angelis: Semiotext(e), 2007)
[10]Arendt, “On the Nature of Totalitarianism: an Essay in Understanding”, in Essays in Understanding 1930-1954: Formation, Exile, and Totalitarianism, pp 341-4.
[11]Ibid., p 342
[12]นิธิ
เอียวศรีวงศ์, “มวลมหาประชาชน”.
และแทบจะเป็นเรื่องตลกร้ายที่เดียวที่บุคคลซึ่งอาจยืนยันความถูกต้องจากการ
ใช้ทฤษฎีของอาเร็นดท์ดังกล่าวก็คือ อ.อรรถจักร
สัตยานุรักษ์ผู้ออกตัวอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของ อ.นิธิ
ดังเนื้อหาในบทความที่ต้องการจะโต้ อ.นิธิในเรื่องนี้ ซึ่ง
อ.อรรถจักรเองยังยอมรับถึงปฏิสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกระหว่างมวลมหาประชาชน
กับความเกลียดชังทั้งที่ถูกสร้างโดยระบอบทักษิณและที่มีต่อตัวระบอบทักษิณ
เอง ปัญหาเดียวที่ดูเหมือน อ.อรรถจักร มีต่อข้อวิเคราะห์ของ
อ.นิธิก็คือการไม่เห็นด้วยที่
อ.นิธิมองว่ามวลมหาประชาชนเป็นการรวมตัวของอณูที่ปราศจากความคิด ตรงกันข้าม
อ.อรรถจักรกลับมองว่า
ความรู้สึกหวาดกลัวต่อระบอบทักษิณต่างหากที่ทำให้มวลมหาประชาชนต้องคิดและ
ลุกขึ้นมาแสดงตัวตนบนท้องถนน ( ดู อรรถจักร สัตยานุรักษ์, “มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นอณูในสุญญากาศ” เข้า
ใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556) แน่นอน ข้อวิจารณ์ของ
อ.อรรถจักรตรงนี้ย่อมเป็นข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย
โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับ
การคิด ซึ่งคงน่าสนใจเป็นอย่างมากหากว่า
อ.อรรถจักรจะไม่กล่าวอ้างไปถึงฐานทฤษฎีของอาเร็นดท์
เพราะสำหรับอาเร็นดท์แล้ว
อารมณ์ความรู้สึกกับการคิดเป็นคุณลักษณะทางจิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกอาจตอกย้ำถึงชีวิตและการเป็นส่วนหนึ่งที่
สัมพันธ์กับครรลองของสังคมและโลก
การคิดกลับเป็นกิจกรรมที่ผู้คิดต้องแยกตัวออกจากโลกและกิจกรรมต่างๆในชีวิต
ประจำวัน
เพื่ออยู่(และสนทนา)กับตนเองเพียงลำพังโดยทิ้งโลกซึ่งคุ้นเคยอยู่ตรงหน้าเอา
ไว้เบื้องหลัง ดู Arendt, The Life of the Mind(New York: Harcourt, 1978), 1:197-9.
[13]ทัศนะ
ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในกลุ่มผู้ชื่นชม “วัฒนธรรมชั้นสูง” (High
Culture) อย่างแวดวงวรรณคดีศึกษาและวรรณกรรมวิจารณ์ในช่วงต้นศตวรรษก่อน
ที่มองว่าการเติบโตของมวลชนนั้นหาใช่อะไรเลยนอกจากสัญญาณทางวัฒนธรรมที่
บ่งบอกว่ารสนิยมอันสูงส่งแบบชนชั้นนำ(ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม)
กำลังถูกคุกคามจากรสนิยมอันต่ำช้า
สามานย์ของคนทั่วไป(หรือก็คือกลุ่มคนส่วนมากของสังคม) ดู F.R. Leavis, “Mass Civilization and Minority Culture”, In Popular Culture : A Reader, Raiford Guins, Omayara Zaragaza Cruz (Edited)(London: Sage Publications, 2005),pp 33-8
[14]Arendt, The Origins of Totalitarianism, p 310
[15]ดูรายละเอียดได้ใน Dana Villa, “Totalitarianism, Modernity and the Tradition”, in Politics, Philosophy, Terror: Essays on the Thought of Hannah Arendt(Princeton: Princeton University Press, 1999) , ch.8
[16]เบเนดิก แอนเดอร์สัน, “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม”, ใน จาก 14 ถึง 6 ตุลา,
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์(บรรณาธิการ)(กรุงเทพฯ:
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551), หน้า 99-164.
[17]เพิ่งอ้าง, หน้า 135 การเน้นข้อความเป็นของผู้เขียน
[18]ตัวอย่าง
อันน่าเศร้าที่ช่วยสะท้อนประเด็นดังกล่าวได้อย่างชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น
สถานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เอง
ดังข้อมูลจากงานวิจัยของ อ.ธงชัย วินิจจะกุล
ที่ชี้ให้เห็นว่านอกจากไม่ค่อยได้รับการตระหนัก จดจำจากสังคมเท่าที่ควรแล้ว
การกระทำอันโหดร้าย
ป่าเถื่อนในเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เคยถูกประเมินว่าเป็นการกระทำที่ผิดพลาด
ไม่สมควรเกิดขึ้นแม้แต่น้อย
โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้กระทำความรุนแรงในเหตุการณ์วันนั้นเองที่แม้อาจเก็บตัว
เงียบ
ไม่ออกมาแก้ต่างการกระทำของตนแต่ก็เป็นความเงียบที่ยังคงเป็นชัยชนะอยู่วัน
ยังค่ำ ดู ธงชัย วินิจจะกุล, “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549:
จากชัยชนะสู่ความเงียบ(แต่ยังชนะอยู่ดี)”, ใน ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์(บรรณาธิการ)(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2553), หน้า 407-512.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น