มนุษย์ทำแสงสว่างด้วยการจุดไฟมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ และคงจะสมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกเหมือนกัน ที่มนุษย์รู้จักเปลี่ยนวัสดุจุดไฟจากไม้มาเป็นน้ำมันพืชหรือไขสัตว์ เพราะทำให้เกิดควันน้อยกว่า สามารถนำมาจุดในบ้านเรือนได้ ซ้ำยังให้แสงสว่างได้นานกว่า โดยไม่ทิ้งเถ้าถ่านให้เลอะเทอะอีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือมนุษย์น่าจะคิดสร้างตะเกียงได้มาก่อนสมัยประวัติศาสตร์แล้ว เพราะขุดพบตะเกียงในทุกอารยธรรมตั้งแต่ยังไม่ได้ใช้ตัวอักษรทั้งนั้น
แต่เทียนเป็นประดิษฐกรรมล้ำหน้ากว่าตะเกียง แม้ว่าคงจะคิดต่อมาจากตะเกียงนั่นเอง กล่าวคือทำให้ตะเกียงกลายเป็นแท่งของไขสัตว์ (หรือน้ำมันพืชหรือขี้ผึ้ง) สอดไส้ไว้ในแท่งนั้นสำหรับจุดไฟได้ จึงสะดวกในการใช้มากกว่าตะเกียง ทั้งในบ้านเรือนหรือนอกบ้านเรือน
หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่า จีนเป็นคนกลุ่มแรกที่ประดิษฐ์เทียนขึ้นใช้ก่อนมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล แล้วต่อมาก็ขยายไปใช้ทั่วไปในอารยธรรมอื่นๆ ทั่วภาคพื้นยูเรเชีย รวมไปถึงตอนเหนือของแอฟริกาด้วย
แต่เทียนก็ไม่ใช่สิ่งที่จะผลิตได้ง่ายๆ ทุกครัวเรือน เมื่อเทียบกับการเติมน้ำมันผางประทีป ดังนั้น เทียนจึงมักถูกใช้ในเชิงพิธีกรรมมากกว่าใช้ให้แสงสว่างในชีวิตปรกติของสามัญ ชน
พิธีกรรมแรกตามความเข้าใจของผมที่นำเทียนไปใช้ คือพิธีกรรมทางศาสนา และก็ใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้เมื่อมีไฟฟ้าใช้กันแพร่หลายแล้ว เทียนจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ฝังแน่นอยู่กับศาสนา
การจุดเทียนเรียกร้องความสงบสันติจึงให้ความหมายลึกลงไปในความ รู้สึกของผู้คนโดยไม่ต้องพูดออกมาเป็นคำ รวมกลุ่มกันจุดเทียน บอกโดยไม่ต้องพูดว่ากลุ่มนี้ไม่คิดจะยกไปตีกับใคร แต่กำลังทำอะไรที่ “ศักดิ์สิทธิ์” เพราะมีความสำคัญแก่สังคมโดยรวม ในขณะเดียวกันเทียนก็เตือนให้รำลึกถึงความสงบสันติอย่างเดียวกับจุดมุ่งหมาย ทางศาสนา
เทียน (และตะเกียง) ยังเป็นแหล่งของแสงสว่างที่มนุษย์เคยชินมาแต่โบราณ ดังนั้น เทียน (และตะเกียง) จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาในหลายวัฒนธรรม ชาวพุทธไทยถวายเทียนให้พระระหว่างที่ท่านต้องจำพรรษาในฤดูฝน จะได้ใช้อ่านหนังสือเล่าเรียนธรรมะ ฝรั่งชอบใช้เทียน (หรือตะเกียง) ในตรามหาวิทยาลัย
ผมจึงเห็นว่า เทียนเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังมาก ที่จะแสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มดังกล่าว
น่าประหลาดอยู่เหมือนกันที่ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ผ้าเหลืองกลับไม่แสดงความสงบสันติเท่าเทียน ผมเข้าใจ (ซึ่งอาจผิด) ว่า แต่เดิมนั้น ผ้าเหลือง (กาสาวพัสตร์) ในสมัยพุทธกาลย่อมแสดงความไม่มี “โทษ” แก่ผู้อื่น หนุ่มฉกรรจ์ในผ้าเหลืองประกันว่าเขาไม่ใช่โจร ไปยืนขออาหารที่หน้าบ้านใครก็ไม่ต้องตกใจ จะให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้ อีกทั้งไม่ใช่คนร้ายที่มายืนหาลาดเลาเข้าโจรกรรมหรือทำร้ายเจ้าบ้าน ผมคิดว่าการเอาผ้าเหลืองไปผูกหรือห่มต้นไม้ของนักอนุรักษ์ชาวบ้าน คือการแสดงว่าต้นไม้อยู่ในสถานะที่ไม่พึงถูกทำร้าย ก็เป็นความคิดที่สืบมาจากคติโบราณเช่นนั้น
แต่ดูเหมือนผ้าเหลือง ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความสงบสันติในเมืองไทยไปเสียแล้ว เพราะผ้าเหลืองเข้าไป “ฝักฝ่าย” กับการประท้วงของทุกฝ่ายมาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่ “กองทัพ” ธรรม ไปจนถึงผ้าเหลืองที่ใช้ไม้ฟาดลงไปที่รถนั่งของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการขึ้นเวทีปราศรัยจนเป็นแม่ทัพคนหนึ่งของ กปปส. ในการรณรงค์ (แปลว่าการรบ) ปิดกรุงเทพฯ
ผ้าเหลืองจึงไม่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบสันติ หรือแห่งความมีสติปัญญาในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ความหมายของผ้าเหลืองเช่นนั้นเป็นเพียงความหมายตามประเพณี ที่เข้าไม่ถึงจิตใจผู้คนเสียแล้ว ต้นไม้ที่ห่มผ้าเหลืองจึงถูกโค่นมาไม่รู้จะกี่พันกี่หมื่นต้นแล้ว
และในการประท้วงของทุกฝ่ายในปัจจุบัน เราจึงไม่ได้เห็นผ้าเหลืองเป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวของฝ่ายใดเลย อันที่จริงจะพูดเลยไปถึงว่า พระพุทธศาสนาเองก็ไม่เป็น “ประเด็น” ของการเคลื่อนไหวของทุกฝ่ายเลยก็ว่าได้ เราวางท่านไว้บนหิ้งที่ฝุ่นจับเขรอะมานานแล้ว
ธงที่ทุกฝ่ายใช้โบกไสวคือธงชาติเท่านั้น ไม่มีใครโบกธงธรรมจักร
ในส่วนธงชาติหรือ “ชาติ” นั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังแค่ไหน?
ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจมากทีเดียว เพราะในส่วนหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าทรงพลังอย่างมาก เพราะทำให้คนจำนวนหนึ่งคิดว่า สิ่งที่ตัวร่วมละเมิดกฎหมายด้วยนั้น เป็นการกระทำเพื่อรักษา “ชาติ” เอาไว้ ในอีกส่วนหนึ่งก็ทรงพลังน้อย เพราะฝ่ายอื่นกลับไม่ใช้หรือแทบไม่ใช้ธงชาติเป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหว
คงไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่เรามีธงไตรรงค์เป็นธงชาติมา ที่ความเป็นชาติถูกนิยามให้แตกต่างกันมากเท่าครั้งนี้ ลอง เปรียบเทียบกับเทียนดูสิครับ เทียนมีความหมายอย่างไร ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันหมด จะต่างกันก็ตรงที่ บ้านเมืองเราเวลานี้เป็นเวลาสำหรับการจุดเทียนหรือดับเทียนกันแน่เท่านั้น แต่ธงชาติให้ความหมายถึง “ชาติ” ที่แตกต่างกันสุดขั้วไปเลย
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าธงชาติหรือ “ชาติ” ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังแก่คนกลุ่มหนึ่ง การติดธงชาติไว้กับตัวมุ่งจะสื่อมากกว่าสนับสนุน กปปส. แต่รวมถึงว่าผู้สนับสนุน กปปส. กำลังแสดงความรักชาติและกำลังปกป้องชาติด้วย
แม้กระนั้น ก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่รู้สึกอย่างเดียวกันกับสัญลักษณ์ธงชาติที่ กปปส. ใช้ อย่างน้อยก็ไม่ดึงดูดให้เขาเข้าขบวนแห่ธงชาติไปยึดบ้านเมืองร่วมกับ กปปส.
แน่นอนว่า เรื่องนี้อธิบายง่ายๆ ได้ว่า เกิดขึ้นจากความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทุกคนในฝ่ายที่ไม่ได้ร่วมกับ กปปส. ต่างยืนยันในความรักชาติของตน ดังนั้น นอกจากความเห็นต่างทางการเมืองแล้ว ผมคิดว่ายังมีความเห็นต่างในเรื่องความเป็นชาติด้วย “ชาติ” หมายถึงอะไรกันแน่ คนไทยที่รักชาติเหมือนกัน คิดถึงเรื่องนี้ไม่เหมือนกันแล้ว
ชาตินิยมที่ผลิตจากข้างบนลงมาครอบคนส่วนใหญ่ข้างล่าง อันเป็นชาตินิยมแบบไทยมาแต่เริ่มแรก กำลังไม่ทำงานอย่างที่เคยทำไปเสียแล้ว
ทั้งนี้เพราะ “ชาติ” ในความหมายที่ชนชั้นนำผลิตขึ้น ขาดสาระสำคัญสองประการของความเป็น “ชาติ” ของโลกสมัยใหม่ นั่นคือหลักอธิปไตยเป็นของปวงชน และ (เมื่อเป็นเช่นนั้น) ทุกคนจึงเสมอภาคเท่าเทียมกัน “ชาติ” ในความหมายของชนชั้นนำคือ ที่รวมของคนหมู่มากที่มีความจงรักภักดีเดียวกัน (ต่อพระมหากษัตริย์และระบบคุณค่าทางศาสนา) แต่ชาติมิได้เป็นสมบัติของประชาชน และหาได้มีความเท่าเทียมกันไม่
อันที่จริงหลักการของ “ชาติ” ที่เป็นสมบัติของประชาชนซึ่งเท่าเทียมกันนั้น เป็นหลักการสำคัญของคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 แต่มาถูกทำลายลงในการรัฐประหาร 2490 สมาชิกคณะราษฎรซึ่งยังอยู่ในอำนาจไม่สามารถต้านทานกระแสกดดันของฝ่ายตรงข้าม จนหลักการนี้สูญสลายไปอย่างสิ้นเชิงในการร่วมมือกันยึดอำนาจของชนชั้นนำเดิม และกองทัพใน พ.ศ. 2500
ตั้งแต่นั้นมา “ชาติ” ในแบบเรียนและในการโฆษณาของปัญญาชนสยาม ก็กลายเป็นราชสมบัติ ไม่ได้เป็นของประชาชนอีกต่อไป
“ชาติ” ในความหมายที่ไม่ใช่สมบัติร่วมกันของประชาชน และปราศจากความเท่าเทียมนี่แหละครับ ที่หมดมนตร์ขลังแก่ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทย ธงไตรรงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของ “ชาติ” แบบนี้ แม้ยังเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ของเขา แต่ไม่อาจใช้เป็นตัวแทนของความใฝ่ฝันของเขาได้อีก
ในทางตรงกันข้าม กปปส. ซึ่งอ้างว่าผู้สนับสนุนคือคนชั้นสูงและคนชั้นกลางระดับบน จึงสมเหตุสมผลที่จะใช้ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ดังที่ผู้นำการชุมนุมกล่าวเองว่า พวกเขาเป็นเจ้าของชาติมากกว่า และคนไทยนั้นหาได้ควรมีสิทธิเท่าเทียมกันทางการเมืองไม่ จะหาอะไรเป็นตัวแทนของอุดมการณ์เช่นนั้นได้ดีไปกว่าธงไตรรงค์
ในขณะที่มองเทียนและธงไตรรงค์ในฐานะสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางการ เมือง ผมอดคิดถึงเสื้อแดงไม่ได้ เพราะกลุ่มเสื้อแดงเคยเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผลิตสัญลักษณ์ออกมา ได้มาก และมีพลังมาก่อน
ทำไมจึงเลือกใช้สีแดงมาแต่ต้น ผมก็ไม่ทราบ ในสถานการณ์ตอนนั้น เขาย่อมเลือกสีเหลืองไม่ได้ แต่สีแดงมองเห็นได้ชัด และความชัดเจนว่าเขาคือคนหมู่มากในสังคมมีความสำคัญในการต่อสู้ช่วงนั้นแน่
เขานิยามตัวเองว่าเป็น “ไพร่” คำนี้มีและเคยมีความหมายหลายอย่างในภาษาไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นความหมายใด คำนี้ก็บ่งบอกถึงความไม่เป็นธรรมในระบบการเมืองการปกครอง ความเป็นคนหมู่มาก ความทุกข์ยาก และการถูกเหยียดอย่างไม่เป็นธรรม ดังนี้ คำคำเดียวนี้เองก็บอกเล่าถึงความคับข้องใจ (grievances) ทางการเมืองทั้งหมดของพวกเขาได้ทะลุปรุโปร่งหมด
พื้นที่ซึ่งเขาเลือกยึดในกรุงเทพฯ เพื่อจัดการชุมนุมคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันเป็นสัญลักษณ์ “ประชาธิปไตย” ที่ถูกใช้มาโดยกลุ่มประท้วงทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่การยึดราชประสงค์ (กระจายมาถึงสี่แยกปทุมวัน) เป็นสิ่งที่กลุ่มประท้วงอื่นไม่เคยทำมาก่อน ราชประสงค์-ปทุมวัน คือวิถีชีวิตของชาวกรุงกลุ่มหนึ่งซึ่งดำรงอยู่ได้บนความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจของสังคมไทย การแต่งกายและวิถีชีวิตของชาวเสื้อแดงยิ่งเน้นให้เห็นความแปลกปลอมของพวกเขา ในพื้นที่ดังกล่าว ความแปลกปลอมนั่นแหละ ที่ส่งสารอันมีพลังแก่สังคมโดยรวม มากกว่าการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้มีอำนาจ
ผมคิดว่า พลังของการใช้สัญลักษณ์ของเสื้อแดงนั้น เป็นอันตรายต่อ “สถานะเดิม” ของสังคมเสียยิ่งกว่าจำนวนของคนที่สวมเสื้อแดง และนั่นคือเหตุผลที่ต้องใช้ความรุนแรงในการปราบปรามอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นวิธีเดียวที่ชนชั้นนำไทยรู้จัก
แต่ในการคัดค้านต่อต้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ กปปส. ในครั้งนี้ เสื้อแดงแทบไม่ได้ผลิตสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวของตนเลย ประหนึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่กำลังสูญสิ้นพลังทางการเมืองของตนไปแล้ว
ผมอธิบายความเฉื่อยทางการเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้ แต่มีคำอธิบายเกี่ยวกับขบวนการเสื้อแดงหลายอย่างที่ผมได้ยินมา
บางคนกล่าวว่า แกนนำเสื้อแดงมีนโยบายที่ชัดเจนในการไม่เผชิญหน้า เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง อันเป็นโอกาสให้ทหารเข้ามาแทรกด้วยการทำรัฐประหาร ข้อนี้เห็นได้ชัดอยู่แล้ว จากการตัดสินใจเลิกชุมนุมที่สนามราชมังคลาฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว
แต่สัญลักษณ์สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจผลิตนอกการชุมนุมได้ ดังเช่นเทียนเป็นต้น
ยังมีคำอธิบายที่สลับซับซ้อนกว่านั้น นั่นคือการจัดองค์กรของกลุ่มเสื้อแดงเองเปลี่ยนไปจนทำให้พลังน้อยลง ในช่วงที่เสื้อแดงมีพลังสูงนั้น (2551-2554) แกนนำไม่ได้มีเฉพาะที่ส่วนกลาง แต่กระจายลดหลั่นไปถึงแกนนำในระดับท้องถิ่นย่อยๆ แต่ไม่มีสายการประสานงานร่วมกันอย่างชัดเจนนัก แกนนำในระดับท้องถิ่นมีความเป็นอิสระสูง และต้องตอบสนองต่อสมาชิกในท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา พูดง่ายๆ คือความกระตือรือร้นทางการเมืองของคนเสื้อแดงดำรงอยู่บนความกระตือรือร้นของ คนเล็กคนน้อยในหมู่บ้าน มากกว่าการนำของแกนนำส่วนกลาง (เท่าที่ผมได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับขบวนการเสื้อแดงมาบ้าง พบว่าตรงกับคำอธิบายนี้)
แต่พรรคเพื่อไทย หรือเหล่าเจ๊ๆ เฮียๆ ของพรรคเพื่อไทย ต้องการเสื้อแดงเป็นฐานคะแนนเสียง มากกว่าเป็นตัวแทนทางการเมืองของพวกเขา แม้สามารถดึงเอาแกนนำบางส่วนมาไว้ภายใต้การอุปถัมภ์ของตนได้ แต่ก็เอื้อมไม่ถึง (หรือไม่อยากเอื้อม) แกนนำระดับท้องถิ่นย่อยๆ อีกมาก การจัดองค์กรเพื่อเป็นฐานคะแนนเสียงแก่พรรคการเมือง กับการจัดองค์กร เพื่อใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือผลักดันนโยบายนั้นต่างกันลิบลับ ผลก็คือเกิดความรวนเรในขบวนการอย่างหนัก ไม่ได้หมายความว่าจะกลับไปเป็นลิ่วล้อของอำมาตย์นะครับ แต่ความเป็นปึกแผ่นซึ่งเป็นที่มาของพลังหายไปกว่าครึ่ง
โชคดีของพรรคเพื่อไทย ที่ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ (ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอีกหลายองค์กร) ช่วยทำให้พรรคเพื่อไทยได้ฐานคะแนนเสียงกลับคืนมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ หลังจากได้ปู้ยี่ปู้ยำคนเสื้อแดงด้วย พ.ร.บ. เหมาเข่งมาหยกๆ
ขบวนการทางการเมืองที่เริ่มจะไร้วิญญาณเช่นนี้ ย่อมไม่สามารถผลิตสัญลักษณ์ที่ทรงพลังทางการเมืองได้เป็นธรรมดา
การต่อสู้เพื่อสร้าง “ชาติ” อันเป็นสมบัติของทุกคนซึ่งมีความเท่าเทียมกัน กำลังเลื่อนจากเสื้อแดงมาสู่คนกลุ่มใหม่ที่ไม่มีพันธะทางใจกับพรรคการเมือง ใดเลย นอกจากประชาธิปไตย
ผมคิดว่า นี่เป็นนิมิตหมายที่ดีแก่สังคมไทยโดยรวม
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2557 หน้า 30
ที่มา: http://www.sujitwongthes.com