คนต้องเท่าเทียมกัน คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ของคานธี
มหาตมะ คานธี มักถูกผู้คนทั่วไปเรียกว่า Bapu บาปู ซึ่งแปลว่า พ่อ โดยนัยยะอาจสื่อถึงความเคารพและศรัทธาในตัวมหาบุรุษผู้นี้ จนกระทั่งถูกขนานนามให้เป็นพ่อแห่งประชาชาติอินเดีย ในช่วงวัยเด็ก คานธีเกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง โดยบิดารับราชการฝ่ายการคลังในศาลแห่ง Kathiawar หลังจบการศึกษาขั้นต้น คานธีเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษในสาขาวิชากฎหมาย[1] หากพิจารณาจากโครงสร้างทางสังคมในระบบวรรณะของอินเดีย คานธีผู้มาจากตระกูลพ่อค้าและได้รับโอกาสการศึกษาอันดี คงจะมีต้นทุนทางสังคมพอสมควร มิได้เริ่มจากศูนย์หรือตั้งต้น ณ จุดติดลบ
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ คานธีเริ่มทำงานด้วยการเป็นทนายความที่บอมเบย์ จุดเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้งคือ การได้เดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อว่าความ ณ ที่แห่งนั้นคานธีได้ประสบพบเห็นความเลวร้ายอย่างมากที่สุดในการลดทอน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีและคนอินเดีย[2] ซึ่งคานธีเอง แม้จะได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีจากอังกฤษ ก็ไม่ถูกยกเว้นจากการถูกดูหมิ่นดังกล่าว ความไม่เท่าเทียมนี้ ทำให้คานธีเริ่มปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ และแสดงให้ชาวอินเดียตระหนักรู้ถึงความอยุติธรรมดังกล่าว หากจุดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการต่อสู้เพื่อมวลชนของมหาตมะ คานธี เราพอจะมองเห็นหรือไม่ว่า คานธีเองก็พยายามสร้างตัวตนจากการต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม
เข้าใจอหิงสา เข้าใจคานธี
หากจะสรุปย่อความคิดและปรัชญาคานธีอย่างเรียบง่าย การเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจหลักคิดอหิงสาและสัตยเคราะห์ย่อมเป็นสิ่งที่ ควรค่าแก่การพิจารณา อหิงสา (Ahimsa) หรือ หลักการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นหลักการสำคัญที่คานธีประมวลและปรับใช้จากแนวคิดที่มีอยู่เดิมในสังคม อินเดีย โดยดึงการปฏิบัติในระดับปัจเจกบุคคลสู่การดำเนินการอหิงสาในระดับมวลชน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดระบบความคิดดังกล่าวสู่สังคม คานธีหยิบเอาแนวคิดของการไม่ทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตใดๆ (Non-Injury to any creatures)[3] มาเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยการไม่ใช้ความรุนแรงดังกล่าว มิได้ครอบคลุมแค่ทางกาย แต่หมายรวมไปถึงการงดเว้นความรุนแรงที่ปรากฏในความคิดและวาจา แค่เพียงปราศรัยปลุกเร้าด้วยคำเท็จ ปั้นแต่งและหยาบคาย ภายใต้จิตใจที่มุ่งล้มล้าง ห้ำหั่น แม้บุคคลนั้นจะประกาศกล้าว่าใช้หลักอหิงสา แต่ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า แท้ที่จริงคือมายาที่แฝงไว้ด้วยความรุนแรง นอกจากนี้ หลักการอหิงสาของคานธี มิได้มุ่งให้เกลียดชังฝ่ายตรงข้าม แต่เน้นการเปิดประตูแห่งความอารีให้ทั้งมิตรและศัตรู แม้จะแลกมาด้วยความทุกข์ของตนเองก็พึงกระทำ
แต่อหิงสาอย่างเดียวมิได้นำมาซึ่งความสำเร็จ คานธีนำเอาหลักคิดเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง สู่การปฏิบัติผ่านหลักการ สัตยเคราะห์ในฐานะเครื่องมือและวิธีการ สัตยเคราะห์หรือการแสวงหาความจริงนั้น เป็นหลักการที่ฝึกฝนจิตใจโดยผ่านความเจ็บปวดและทุกข์ทน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง หาใช่การมุ่งสร้างความเดือดร้อนหรือความทรมานแก่ผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะของตน กล่าวคือเครื่องมือไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรงของคานธี คือเครื่องมือบริหารจิตใจของตัวเรา มิใช่อาวุธสร้างความปราชัยแก่ผู้อื่น โดยมีวิธีการดังตัวอย่างต่อไปนี้[4]
- การไม่ให้ความร่วมมือ (Non-Cooperation) แนวทางนี้มาจากพื้นฐานทางความเชื่อว่า กิจการอันไม่เป็นธรรมของรัฐจะดำเนินต่อหากประชาชนให้ความร่วมมือ ดังนั้น เพื่อคัดค้านการกระทำของรัฐดังกล่าว ประชาชนสามารถรวมตัวกัน และไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งมีรูปแบบดังนี้คือ
- การประท้วงหยุดงาน (Strike) เป็นการรวมตัวเพื่อสร้างปรากฏการณ์ต่อต้านผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม การหยุดงานต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และให้หยุดเฉพาะหน่วยเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก หากเป็นเช่นนั้นตามที่คานธีได้เน้นไว้ ในส่วนการบริการสังคมและประชาชน สาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ต้องดำเนินต่อไปเพื่อความปรกติสุขของสังคม
- การปิดเส้นทางคมนาคม (Picketing) เน้นการปิดการสัญจรของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งประสงค์จะกระทำการอย่างใดอย่าง หนึ่ง ทั้งนี้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงหรือความไม่สุภาพในการปฏิบัติการดังกล่าว ดังนั้น การปิดเส้นทางคมนาคมใดๆ หากมิได้กำหนดเป้าหมายให้กระทบต่อผู้ใดเป็นการชัดเจน อาจสร้างความลำบากแก่บุคคลอื่นในสังคม ซึ่งมิอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักการของการไม่ใช้ความรุนแรง
- การคว่ำบาตรทางสังคม (Social boycott or Social ostracism) ตามที่คานธีเสนอในหลักการสัตยเคราะห์ต้องเป็นการคว่ำบาตรบุคคลที่ท้าทาย หรือฝ่าฝืนเสียงหรือความเห็นของสังคม ทั้งนี้ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี และดำเนินการด้วยความอดทนและอดกลั้นอย่างถึงที่สุด
- อารยะขัดขืน (Civil Disobedience) แนวทางนี้มาจากคติที่ว่า เราต้องไม่จำนนต่อความไม่ถูกต้อง ดังนั้น เราต้องฝ่าฝืนกฎ หากกฎหมาย หรือข้อบังคับนั้น นำไปสู่ความเดือดร้อน หรือเป็นภัยแก่สังคมและประชาชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม ในข้อนี้นั้นคานธีได้เสนอว่า อารยะขัดขืนที่พึงปฏิบัติต้องมีความจริงใจ มีความเคารพ อดทนอดกลั้น และต้องตั้งอยู่ในความเข้าใจที่ว่า ผู้ร่วมอารยะขัดขืน ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของสิ่งที่ตนเองขัดขืนและต้องการนำ เสนออย่างเพียงพอ อีกทั้งต้องไม่เปลี่ยนแปลงในหลักการโดยง่าย และที่สำคัญหลักการดังกล่าวต้องไม่แฝงเร้นด้วยจิตไม่บริสุทธิ์หรือความคั่ง แค้นอยู่เบื้องหลัง
- การอดอาหาร (Fasting) แนวทางนี้มาจากปรัชญาที่ว่า การอดอาหารถือเป็นวิธีการชำระล้างจิตใจและร่างกายให้บริสุทธิ์ ในขณะเดียวกัน การแสดงออกดังกล่าว เป็นการเล่นกับมนุษยธรรมของผู้กระทำผิดว่า จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้มีวินัยอดอาหารซึ่งมีจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง บริสุทธิ์ มีมนุษยธรรมและศรัทธาได้อย่างไร ทั้งนี้ คานธีเสนอว่า การอดอาหารควรเป็นวิธีการสุดท้ายหลังจากได้ลองทุกแนวทางแล้ว
- การอพยพย้ายถิ่นฐานไปด้วยความเต็มใจเพื่อประท้วงรัฐ (Hijarat) ถือเป็นการแสดงความเข้มแข็งและกล้าหาญ อีกทั้งเป็นการกล้าที่จะประท้วงด้วยการย้ายจากถิ่นฐานอันเป็นที่รัก รวมถึงตัดขาดความสัมพันธ์กับประเทศ ญาติพี่น้อง และผองเพื่อน เพื่อแสดงว่าตนไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตาม น้อยนักที่จะสามารถปฏิบัติได้
อหิงสาแบบไทย ประยุกต์ใช้หรืออ้างคานธี
หลักคิดแบบอหิงสา และวิธีการแบบสัตยเคราะห์มีอิทธิพลอย่างมากต่อการต่อสู้และขบวนการภาค ประชาชนในอินเดีย นอกจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษแล้ว แนวคิดของคานธียังมีอิทธิพลต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ดังตัวอย่างขบวนการโอบกอด (Chipko Movement) ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ทางภาคเหนือของประเทศ ขบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่หญิงชนเผ่าได้รวมตัวกันต่อต้านการเข้ามาทำ สัมปทานพื้นที่ป่า ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์และธรรมชาติของพื้นที่ โดยหญิงชนเผ่าดังกล่าวใช้วิธีการโอบกอดต้นไม้ เพื่อป้องกันการถูกตัดจากเครื่องมือไฟฟ้าของคนภายนอก การประท้วงดังกล่าวส่งผลให้นางอินธิรา คานธี นายกรัฐมนตรีของประเทศในขณะนั้น ยุติและยกเลิกการตัดไม้ในพื้นที่ป่าถึง 15 ปี รูปแบบการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับความนิยมและประสบผลสำเร็จ เนื่องจากนำหลักการไม่ใช้ความรุนแรงของคานธีมาประยุกต์ใช้[5] ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับ และเป็นต้นแบบของขบวนการทางสิ่งแวดล้อมในหลายแห่งทั่วโลก ไม้เว้นแม้แต่กระทั่งในประเทศไทย NGOs หลายคนที่ปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมก็ถ่ายทอดแนวคิดคานธีผ่านขบวนการโอบกอด ให้กับชุมชน แม้เราจะไม่ได้ใช้สตรีเป็นปราการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า แต่การยึดโยงภาพของศาสนาที่มีผลต่อจิตใจ ทำให้หลายแห่งของประเทศก่อรูปพิธีกรรมบวชป่า (นำผ้าจีวรพระห่อหุ้มต้นไม้) เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้วยความไม่รุนแรง
ในช่วงปี 2554 สาธารณรัฐอินเดียมีการตื่นตัวอย่างมากในการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากข้อวิตกเรื่องปัญหาคอรัปชั่น Anna Hazare เป็นแกนนำคนสำคัญในขบวนการภาคประชาชน เขาใช้วิธีการของคานธีหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือการอดอาหาร เพื่อกดดันให้สภาเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการทุจริต นับว่าการอดอาหารของ Anna Hazare ได้ปลุกกระแสมวลชน และสร้างปรากฏการณ์การต่อสู้ภาคประชาชนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของประเทศ[6] ไม่เพียงแต่ Anna Hazare ในประเทศไทยก็มีหลายบุคคลที่ใช้วิธีการดังกล่าว อาทิ เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร อดอาหารให้นายกรัฐมนตรี (พลเอกสุจินดา คราประยูร) ลาออกในปี 2535 และประท้วงการทำรัฐประหารในปี 2549[7] พลตรีจำลอง ศรีเมือง อดอาหารให้นายกรัฐมนตรี (พลเอกสุจินดา คราประยูร) ลาออกในปี 2535[8] นักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อดอาหารประท้วงให้ได้เข้ารับการศึกษาต่อ ในปี 2555[9] นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข อดอาหารประท้วงกรณีบิดา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดี ม.112 ในปี 2555[10] คณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยกรณีเขาพระวิหาร - มลฑลบูรพา อดอาหารประท้วงการสมยอมของรัฐบาลกับกัมพูชากรณีประสาทพระวิหาร ในปี 2556[11] และล่าสุด พระสุวัฒน์ สุวฑฺฒโน อดอาหารประท้วงจนกว่ารัฐบาล (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จะลาออก ในเดือนมกราคม 2557[12] เป็นต้น ในหลายกรณีเราได้เห็นแรงกระเพื่อมของสังคมจากการกดดัน และเสียงตอบรับจากประชาชนในการสนับสนุนการอดอาหารดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน ในหลายครั้งการอดอาหารก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อหวังผล ประโยชน์ โดยวางภาพพจน์แบบ “สันติ และ อหิงสา” เพื่อเลียนแบบพฤติกรรมและแอบอ้างคานธี โดยมิได้ใส่ใจในหลักการ ความถูกต้อง และความชอบธรรม
อย่างไรก็ตาม เรามิอาจปฏิเสธว่าในหลักคิดแบบอหิงสาของคานธี และหลักการแบบสัตยเคราะห์มีคุณูปการต่อการสร้างและเสริมพลังในการต่อสู้ภาค ประชาชน ดังนั้น การนำมาประยุกต์ใช้จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่การแอบอ้าง สกัดแต่เปลือก หรือหยิบยืมเพียงชื่อมาเรียกขาน นอกจากจะทำลายคุณค่าของหลักการดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเครื่องล่อลวงให้เกิดความรุนแรง และสถาปนาผู้สร้างตราบาปในคราบนักบุญรายใหม่ให้แก่สังคม
คานธี สันติ อหิงสา ใช่ว่าไม่มีคนค้าน
เรามักได้ยินแต่ภาพงดงามของคานธี หลักการสันติภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน แม้กระทั่งในสังคมอินเดียเองก็ยังมีงานวิพากษ์คานธีให้เห็นมากขึ้นในยุคหลัง คำค้านดังกล่าว ผูกโยงหลักอหิงสาให้เป็นเพียงแค่อาวุธทางการเมือง ฉายภาพคานธีแค่เพียงบุรษผู้ใช้ศีลธรรมเป็นเกราะกำบังในการขึ้นสู่อำนาจ เสนอมุมคานธีในฐานะชนชั้นนำของสังคมที่ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องประโยชน์ของ วรรณะสูง โดยมิได้ใส่ใจต่อชนชั้นล่างของสังคมอย่างแท้จริง ภาพทั้งหลายเหล่านี้ถูกเสนอและตีแผ่ชีวิตคานธีให้ผู้คนได้รับทราบ ได้วิจารณ์ ได้เรียนรู้ แต่ในสังคมของไทย เรารู้จักคานธีเพียงคำว่า สันติและอหิงสา โดยมิได้หยั่งลึกในแก่นของปรัชญา และมิได้พิจารณากับข้อท้าทายเชิงวิพากษ์ที่ตั้งคำถามต่อหลักการดังกล่าว เราจึงรู้จักคานธีเพียงด้านเดียว และที่สำคัญอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากคานธีเลย
เกี่ยวกับผู้เขียน: ปิยณัฐ สร้อยคำ นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[1] N D Arora, Political Science for Civil Servant Examination, New Delhi: Tata Mcgraw Hill Education Private Limited, 2011.
[2] Prem Arora and Brij Grover, Selected Western and Indian Political Thought, New Delhi Cosmos Bookhive, ND.
[3]
บรรยายเรื่องปรัชญาการไม่ใช้ความรุนแรงในนโยบายต่างประเทศ โดย Prof. J
Laxmin Narasimha Rao ในรายวิชาการต่างประเทศอินเดีย
ซึ่งผู้เขียนได้จดบันทึกขณะศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุสมาเนีย สาธารณรัฐอินเดีย
[4] Prem Arora and Brij Grover, Selected Western and Indian Political Thought, New Delhi Cosmos Bookhive, ND.
[5] Amities Mukhopadhy, Environmental Movement ใน Amities Mukhopadhy, Social Movement in India (pp 124 - 136), New Delhi: Pearson, 2012.
[12] อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น