ธีรยุทธ บุญมี ผู้ชายเดือนตุลาคนหนึ่งผู้เคยนำการปฏิวัติประชาชนเมื่อคราว40 ปีก่อน ถึงกับออกมาแถลงว่า ไม่ว่าการต่อสู้ของ กปปส. ครั้งนี้จะบรรลุชัยหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ “คุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากทั้งปวงอยู่แล้ว” ที่ได้เกิด “ประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของ ภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก”
แน่นอนว่า ม็อบ “เทพ” ในรูปของ กปปส. หนนี้ ได้อาศัยร่มพระบรมโพธิสมภารในการโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” เช่นเดียวกับพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตยในอดีต ทว่าการลดทอนขบวนการเคลื่อนไหวของพวกเขาให้เหลือเป็นเพียงขบวนการของ ฝ่ายอนุรักษนิยมหรือกษัตริย์นิยมนั้น อาจนำไปสู่ความเข้าใจสภาพการณ์ทางสังคมการเมืองที่เป็นจริงอันบกพร่องคลาด เคลื่อนได้เช่นเดียวกัน
กล่าวคือ ฐานทางอุดมการณ์และภูมิปัญญาที่รองรับการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อต้านระบอบ ทักษิณ–นับตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเสนอ “การเมืองใหม่” จนถึง กปปส.ซึ่งเสนอ “สภาประชาชน”–มิได้มีลำพังแต่กษัตริย์นิยม-อนุรักษนิยม-ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ทว่ายังประกอบไปด้วยสิ่งที่เรียกกันว่า “การเมืองภาคประชาชน” ซึ่งกำเนิดและเติบโตเรื่อยมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 2530ด้วยเป็นสำคัญ
พูดอีกอย่างหนึ่ง ปรากฏการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและต่อเนื่องด้วย กปปส. นั้น มิใช่การหักเห/บิดเบี้ยวของ “การเมืองภาคประชาชน” ตรงกันข้าม ปรากฏการณ์ดังกล่าวกลับนับเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของการเมืองภาคประชาชนต่าง หาก ดังข้อเสนอของอุเชนทร์ เชียงเสน ที่ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ “การเมืองภาคประชาชน” ผ่านกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งค้นพบว่า การเมืองภาคประชาชนนั้น แม้จะกำเนิดขึ้นในยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ทว่ากลับพัฒนาไปจนถึงขั้นปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทนในระบบรัฐสภาในท้ายที่ สุด
หากเราได้เสพเนื้อหาบางช่วงบางตอนของ กปปส. และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของ “นักเลือกตั้ง” และ “ทุนสามานย์” แล้วเชื่อมโยงกับประสบการณ์และความคับข้องใจทางการเมืองของแต่ละคนในช่วง2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ย่อมอาจหลงใหลไปได้กับศัพท์แสงแบบ “หัวก้าวหน้า” ซึ่งบางครั้งข้อเสนออย่าง “สภาประชาชน” ก็ถึงขนาดชวนให้จินตนาการเพริศแพร้วไปยังการปฏิวัติประชาชนของขบวนการ สาธารณรัฐหรือฝ่ายสังคมนิยมในอดีตของหลายประเทศได้เลยทีเดียว
ถ้าพิจารณาอย่างเป็นธรรม การวิพากษ์หรือกระทั่งการปฏิเสธระบบการเมืองแบบเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยแบบ รัฐสภานั้น ในแง่หนึ่ง ก็อาจมิใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง หากคิดจะสถาปนา “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” หรือจะกระทำการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคนไปสู่สังคมอุดมคติที่ปลด ปล่อยผู้คนจากโซ่ตรวนทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างแท้จริง แต่ปัญหาคือว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในอดีตหรือ กปปส. ในปัจจุบัน พร้อมด้วยข้อเสนอ “การเมืองใหม่” หรือ “สภาประชาชน” นั้น กำลังจะปลดปล่อยสังคมไทยไปสู่อะไรกันแน่
กล่าวถึงที่สุด ทั้งวิธีการและเป้าหมายดังกล่าว อันวางอยู่บนพื้นฐานของการกดทับเสรีภาพขั้นพื้นฐานและความเสมอภาคของผู้คน ส่วนใหญ่ รวมทั้งอ้างอิงความชอบธรรมและกวาดต้อนผู้คนให้ขึ้นต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ใต้ ร่มพระบรมโพธิสมภารนั้น ย่อมไม่สามารถปลดปล่อยไปสู่ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประเภทไหนได้เลย นอกเสียจาก ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (แบบไทยๆ)อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อมาถึง ณ จุดนี้ มวลมหา “ภาคประชาชน” ภายใต้พระบรมโพธิสมภารก็ได้แปลกแยกกับ “ประชาชน” และสถาปนาตนเองขึ้นเถลิงถวัลย์ อยู่เหนือหัวเราทุกๆ คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
สารบัญ
หมู่บ้านโลกเนตรดาว เถาถวิล
การบริโภคและการกักขังอัตลักษณ์ชนบทไทยของชนชั้นกลางในเมือง
ทุนนิยาม
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
ภูมิศาสตร์แรงงาน (2) : ภูมิทัศน์ของทุนและบทบาทผู้กระทำของแรงงาน
ขอบฟ้าความคิด
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
ฐานทางปรัชญาของ Antonio Negri : จาก Spinoza สู่ multitude
ทัศนะวิพากษ์
เกษียร เตชะพีระ
จาก “สังคมเข้มแข็ง” สู่ “สังคมอนารยะ” : โต้ธีรยุทธ บุญมี ผู้อุปถัมภ์ทางความคิดของสุเทพ ณ กปปส.
ธีรยุทธ บุญมี
“การปฏิวัตินกหวีด” มองเชื่อมโยงกับปัญหาอนาคตการเมืองไทย
อุเชนทร์ เชียงเสน
ประวัติศาสตร์ “การเมืองภาคประชาชน” : ความคิดและปฏิบัติการของ “นักกิจกรรมทางการเมือง” ในปัจจุบัน
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
วิหารไม่ว่างเปล่า : ประวัติศาสตร์ (ฉบับย่อ) ของพุทธศาสนาหัวก้าวหน้าหลัง 14 ตุลา (พ.ศ. 2516-2541)
พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์
สถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ : จาก 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49
บทความปริทัศน์
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
ธนาพล อิ๋วสกุล
ประวัติศาสตร์แห่งการต่อต้าน
รักษ์ธรรม รักษ์ไทย
ความในใจของผู้เขียน “ความจริง ย่อมลอยขึ้น เหนือน้ำ เหนือฟ้าเสมอ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น