ที่มา Voice TV
ฮิวแมนไรท์วอทช์
เรียกร้องกลุ่มกปปส.เลิกข่มขู่ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง
ชี้เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน คุกคามระบอบประชาธิปไตย
วอนแกนนำทุกกลุ่มสั่งพลพรรคหยุดป่วน แนะรัฐบาลรักษากม. ยับยั้งเหตุรุนแรง
ในวันอังคาร ที่ 28 มกราคม องค์กรสิทธิมนุษยชน
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก ออกแถลงการณ์
เรียกร้องให้คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น
ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
หยุดขัดขวางการเลือกตั้งในประเทศไทยโดยทันที
พร้อมกับแนะรัฐบาลไทยอนุญาตให้มีการประท้วงโดยสันติ
คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน
และเข้ายับยั้งการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มต่างๆ
แถลงการณ์ระบุว่า
ประเทศไทยกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้
คณะกรรมการการเลือกตั้งรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม
กปปส.ขัดขวางผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า
ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ์ของตนได้
ในภาพรวม มีประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ 440,000
คนในจำนวนผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าประมาณ 2 ล้านคน
การขัดขวางการเลือกตั้งของกปปส.ทำให้ต้องยกเลิกการลงคะแนนใน 48
เขตจากทั้งหมด 50 เขตของกรุงเทพมหานคร
"ผู้ประท้วงอ้างว่า พวกตนต่อสู้กับการคอรัปชั่น
และต้องการการปฏิรูป แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลอันชอบธรรมที่พวกเขาจะใช้กำลัง
และใช้การข่มขู่เพื่อขัดขวางการออกเสียงเลือกตั้ง" แบรด อดัมส์
ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
"การขัดขวางประชาชนไม่ให้ออกเสียงเลือกตั้ง
เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างร้ายแรง
และเป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตย"
แถลงการณ์ยังรายงานถึงการก่อเหตุรุนแรงในหลายกรณีที่เกิด
ขึ้นในระหว่างการชุมนุมและเดินขบวนของกลุ่มกปปส.
เหตุโจมตีสถานที่เตรียมการเลือกตั้ง และเหตุโจมตีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล
"ประเทศไทยกำลังจมดิ่งสู่วังวนความรุนแรงทางการเมือง
ขณะที่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลก็ตอบโต้เหตุโจมตีและการยั่วยุเหล่านั้น"
อดัมส์กล่าว "แกนนำของทุกฝ่ายต้องปรามผู้สนับสนุนฝ่ายตน
สั่งการให้ยุติการก่อเหตุโจมตี
และเปิดการเจรจาทางการเมืองที่เคารพหลักการประชาธิปไตย
ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปกว่านี้"
@ ผู้ประท้วงชูป้ายต่อต้านรัฐบาล ระหว่างการชุมนุมในกรุงเทพ เมื่อ 27 มกราคม 2557
|
ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องด้วยว่า
ทางการต้องคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน โดยใช้มาตรการตามกรอบกฎหมาย
และมีความสมควรแก่เหตุ เจ้าหน้าที่ต้องใช้สันติวิธีก่อนที่จะใช้กำลัง
เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและการใช้อาวุธได้
ทางการจะต้องใช้ความอดกลั้น และปฏิบัติตามหลักความสมควรแก่เหตุ
"ทางการไทยมีพันธะต้องเคารพสิทธิในการชุมนุมโดยสันติ
แต่รัฐบาลจำเป็นต้องรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยด้วย" อดัมส์กล่าว
"นั่นหมายความถึงการเข้าระงับเหตุรุนแรงโดยเร็ว
และปฏิบัติโดยไม่เลือกฝักฝ่าย เพื่อหยุดยั้งเหตุรุนแรง."
ที่มา : Human Rights Watch
ภาพ : AFP
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น