โดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ศูนย์ข่าว TCIJ 26 มีนาคม 2557
เปิดใจแรงงานรายวันซอยกีบหมู ย่านคลองสามวา
ทั้งเป็นคนงานก่อสร้าง-ช่างฝีมือ ที่ดั้นด้นจากต่างจังหวัด
เพื่อหางานทำในกรุงเทพฯ ยามว่างรับจ้างไปม็อบ
ระบุแม้คนละสีคนละฝ่ายกับที่ศรัทธาแต่ต้องทำเพื่อปากท้อง
ที่สำคัญในม็อบมีอาหารประทังชีวิต มีการแสดงบันเทิงใจ อุดมการณ์เก็บไว้ในใจ
อย่างน้อยลดค่าใช้จ่ายในห้องเช่าแคบๆ ที่ทำจากเศษไม้ก่อสร้าง
อุณหภูมิการเมืองไทยยังคงร้อนระอุ
แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงจะลดน้อยลงไปบ้าง หลังจาก
“กำนันสุเทพ” ประกาศยุบรวมลดจำนวนจุดชุมนุม ตามมาตรการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ”
จากเดิมที่มีการชุมนุมปิดการจราจรบริเวณแยกสำคัญ ๆ ใจกลางกรุงหลายจุด
เหลือเพียงบริเวณสวนลุมพินีเพียงจุดเดียว
กระนั้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันหรือเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าการชุมนุมที่มีมา
อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนจะยุติลงในเร็ววันนี้
การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยนั้น
เพิ่งจะมาชุกชุมกันจริง ๆ จัง ๆ เมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา หากจะนับกันจริง
ๆ ในยุคก่อนหน้านี้ ก็เห็นจะมีเพียงแค่ กรณี 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม
2519 นับเป็นการชุมนุมทางการเมือง ที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากเรือนแสน
ซึ่งการชุมนุมทั้งสองครั้งดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่มวลชนรวมตัวกัน
เพราะไม่พอใจในผู้มีอำนาจขณะนั้น
และเรียกร้องที่จะให้ประเทศเดินเข้าสู่ครรลองประชาธิปไตยที่แท้จริง
หลังจากตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหารมานับสิบปี
นอกจากนี้ยังมีกรณีพฤษภาคม 2535
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการทำรัฐประหาร ซึ่งคณะผู้ทำรัฐประหาร
มีความประสงค์ที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป
ขณะที่ประชาชนมีความต้องการให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
ทั้งสามเหตุการณ์ล้วนจบลงด้วยเหตุความรุนแรงและการสูญเสีย
แม้จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก แต่จนถึงบัดนี้
ข้อเรียกร้องในการชุมนุมทางการเมืองก็ยังคงใกล้เคียงการชุมนุมในอดีต
นั่นคือต้องการเห็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์
มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยนักการเมือง
และแม้ข้อเรียกร้องในการชุมนุนมจะมีความใกล้เคียงกัน
ทว่าสารัตถะและบริบทแวดล้อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เนื่องด้วยการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ ๆ ในอดีต
มีคู่ขัดแย้งคือประชาชนกับผู้ใช้อำนาจรัฐ
แต่การชุมนุมในยุคหลังนี้ดูเหมือนว่าคู่ขัดแย้งที่แท้จริงคือประชาชน
สองกลุ่ม ที่มีความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกัน
แม้ทั้งสองกลุ่มจะอ้างจุดหมายคือความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งดูเผิน ๆ
เหมือนจะมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
แต่รูปแบบและเนื้อหาของแต่ละฝ่ายนั้นแตกต่างกันอย่างมาก
เมื่อต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าประชาธิปไตยในรูปแบบที่ฝ่ายตนต้องการนั้นเป็นของ
“แท้” กว่าของอีกฝ่าย
การแสดงพลังของมวลชนเพื่อสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของแต่ละขั้ว
จึงถูกนำมาใช้ในการสร้างเงื่อนไขต่อรอง
เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มของตนเอง ดังปรากฏเป็นการชุมนุมหลายครั้ง
ในห้วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พันธมิตรฯ-เสื้อเหลือง)
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปช.-เสื้อแดง) กลุ่มเสื้อหลากสี
กลุ่มหน้ากากขาว เรื่อยมาจนถึง มวลมหาประชาชน ที่กำลังชุมนุมอยู่ในปัจจุบัน
เปี๊ยก (นามสมมติ)
อดีตชาวนาที่ผันตัวเองมาเป็นช่างก่อสร้างกินค่าแรงรายวัน อาศัยอยู่บริเวณ
ถ.สุเหร่าคลองหนึ่ง หรือ “ถนนกีบหมู” แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
ที่รู้จักกันในหมู่ผู้มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เล่าให้ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว
TCIJ ฟัง ว่า เป็นคนขอนแก่น บรรพบุรุษทำนามาตั้งแต่จำความได้
แต่ตนเข้ามาหางานก่อสร้างทำใน กรุงเทพฯ ตามคำชักชวนของเพื่อนได้หลายปีแล้ว
โดยมาอาศัยอยู่ย่านถนนกีบหมู เพราะหางานง่ายๆทำ
โดยทุกเช้าจะมีผู้รับเหมาขับรถเข้ามาหาช่างและกรรมกรในบริเวณนี้เป็นจำนวน
มาก
ส่วนค่าแรงที่ได้รับ เปี๊ยกตอบว่า
“แรงงานแถวนี้ไม่มีใครได้ค่าแรงขั้นต่ำสักคน กรรมกรผู้หญิงค่าแรงวันละ 500
บาท กรรมกรชาย 600 บาท ผมเป็นช่างปูนวันละ 700-800 บาท
แล้วแต่จะตกลงกับผู้รับเหมา ถ้าน้อยกว่านี้ผมไม่ไป
มันเหมือนดูถูกฝีมือตัวเอง”
แรงงานมารอที่บริเวณหน้าซอยกีบหมูทุกเช้า เพื่อให้นายจ้างมาเลือกไปทำงาน
เปี๊ยกจะมานั่งรอผู้รับเหมาทุกเช้า
ตั้งแต่เวลาประมาณหกโมงครึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกวันที่เปี๊ยกจะได้งาน
เช่นเช้าวันนี้ที่ผู้สื่อข่าวไปพูดคุยด้วย เวลาล่วงไปถึงเกือบสิบโมง
มีผู้รับเหมาเข้ามาต่อรองราคาเพื่อว่าจ้างหลายราย แต่ยังตกลงกันไม่ได้
“มันก็มีวันที่ไม่ได้งานนะ
ผมก็ยืนรอจนถึงสิบเอ็ดโมง ถ้าไม่ได้ก็กลับ บางทีก็มีฟลุ๊ค ๆ
นะแบบจะกลับแล้วแต่ได้งานเข้ามาก็มี แต่ค่าแรงนี่ต่อให้เริ่มงานสาย
ก็ลดไม่ได้ เพื่อน ๆ แถวนี้ก็ไม่ลด มันมีเพดานอยู่ ถ้าเราไปรับ 500 บาท
เท่ากรรมกร ถ้าเพื่อนรู้มันด่าตาย”
“ช่วงนี้งานน้อย (เดือนมกราคม 2557)
ม็อบปิดกรุงเทพฯ หลายจุด ผู้รับเหมาเข้าไปทำงานไม่ได้
คนมาหากินที่นี่ก็มากขึ้นทุกวัน ตัวเลือกเยอะ พอหมดฤดูทำนาก็ลงมาอีก
ปีนี้เห็นว่าแล้ง ที่เคยมีน้ำทำนาปรังเขาบอกว่า จะไม่ทำนาปรังกัน
ที่กีบหมูนี่มีคนอยู่หลายหมื่นนะ เป็นแบบนี้อดตายแน่”
เปี๊ยกเล่าให้ฟังถึงอนาคตที่ดูจะไม่ราบรื่น
ภาพแรงงานต่อค่าแรงกับนายจ้าง
เมื่อถามว่า เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองบ้างหรือไม่
เปี๊ยกตอบว่า เคยไป คนแถวซอยกีบหมูเป็นคนอีสานกว่า 70 เปอร์เซนต์
อย่างที่ทราบกันว่า โดยมากเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่รู้ว่าใครเป็นโต้โผชักชวน
ก็ตาม ๆ กันไป มีการจัดรถมารับถึงที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า เคยได้รับเงินบ้างหรือเปล่า
เปี๊ยกระบุว่า ช่วงที่ตนไปร่วม ไม่ได้รับเงิน
แต่ก่อนหน้านั้นเพื่อนเล่าให้ฟังว่าได้รับเงินจริง
“ไปถึงเขาก็เอาบัตรประชาชนไว้ ให้มาก่อน 500 บาท
จะกลับก็มาเอาบัตรประชาชนคืน ถ้ากลับเช้าก็ได้อีก 500 เป็น 1,000 บาท
เหมือนทำงานสองกะ มันก็ใช้เงินกันทั้งนั้นแหละพี่ ทุกม็อบ”
เปี๊ยกพูดไปพลางหัวเราะไปพลาง
“เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีมารับนะ
เป็นรถตู้มากันหลายคัน คนเดินลงมาบอกว่าไปม็อบราชดำเนิน
พวกผมเป็นเสื้อแดงก็เลยโห่ไล่ มันก็เปิดไป แต่ก็เห็นไปรับแถวศาลาตรงโน้น
พี่อยากคุยมั๊ย” เปี๊ยกหันไปคุยกับเพื่อนซักถามกันว่า วันนั้นมีใครไปบ้าง
แล้วตะโกนพลางกวักมือเรียก
ตาชาติ (นามสมมติ) ดูจะมีอายุมากกว่าเปี๊ยกหลายปี
เล่าให้ผู้สื่อข่าว TCIJ ฟังว่า เดิมเป็นคนพื้นเมืองของ จ.สุรินทร์
เรียกตัวเองว่าชาวส่วย ต่อมาย้ายมาอยู่กับภรรยาที่บุรีรัมย์
ปัจจุบันทางบ้านยังมีอาชีพทำนา แต่เป็นนาเช่า
เสียค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งผลผลิต เจ้าของที่ดินจะได้ส่วนแบ่ง 30 เปอร์เซนต์
ส่วนตนได้ 70 เปอร์เซนต์
“เช้าๆ ต้องกรึ๊บซะหน่อย มือจะนิ่งทำงานดีมาก
ถ้าไม่ได้กินนี่ผมจะมือสั่น ปูกระเบื้องไม่ตรงแนวเลย แต่ไม่ต้องห่วง
กินนิดเดียว ไม่เสียงาน”
ตาชาติหมายถึงการดื่มเหล้าก๊งจากร้านขายชองชำละแวกนั้น
ผู้สื่อข่าว TCIJ
สังเกตเห็นตาชาติสวมเสื้อของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง
จึงสอบถามว่าชื่นชอบพรรคนี้เป็นพิเศษหรืออย่างไร ตาชาติปฏิเสธ
โดยตอบเลี่ยงว่า ไม่ได้ชอบพรรคนี้เป็นพิเศษ
เลือกตั้งคราวที่แล้วก็เลือกพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล “เค้าเอาเสื้อมาแจก
ก็รับไว้ แต่ไม่ได้แจกช่วงเลือกตั้งนะ พรรคเค้ารู้ เค้ากลัวใบแดง”
ระหว่างที่พูดคุยสอบถามนั้น
มีผู้รับเหมาขับรถมาจอดเพื่อต่อรองราคากับช่างฝีมือต่างๆ และคนงาน ราว 3-4
ราย แต่ตกลงราคากันไม่ได้ แรงงานก่อสร้างรายวันเหล่านี้ ดูจะทำตามที่พูด
คือไม่ยอมลดราคาค่าจ้างต่ำกว่าเพดานที่ตัวเองกำหนดเอาไว้
ขณะที่ผู้รับเหมาต้องการราคาที่ต่ำกว่านั้น
เพราะจำนวนชั่วโมงทำงานจะน้อยกว่า 8 ชั่วโมง
เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงสายๆของวันเข้าไปแล้ว
“วันนี้สงสัยจะตกงาน” ตาชาติหันมาบอก
ตาชาติเล่าให้ฟังว่า สำหรับแรงงานรับจ้างที่ถนนกีบหมูแล้ว
หากไม่เลือกงานและเกี่ยงราคามากจนเกินไป จะได้ทำงานทุกวัน
แต่สำหรับตนถ้าให้รับค่าแรงวันละ 500 บาท เท่ากรรมกร ตนคงไม่ทำ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงสภาพความเป็นอยู่
ตาชาติจึงชวนให้ไปนั่งคุยต่อที่ห้องเช่า ซึ่งอยู่ไม่ไกล
ก่อนจะลุกนำเดินลัดเข้าตรอกเล็ก ๆ ไม่มีชื่อซอย
สองข้างทางเต็มไปด้วยป้ายห้องว่างให้เช่า สำหรับสนนราคาค่าเช่า
เริ่มตั้งแต่ไม่ถึงเดือนละ 1,000 บาท บาท จนถึง 3,500 บาท
ห้องที่ตาชาติเช่าอยู่
ราคาถูกที่สุดเท่าที่จะหาได้ในย่านนี้ คือเดือนละ 800 บาท
ค่าน้ำจ่ายเหมาต่างหากเดือนละ 100 บาท
มีมิเตอร์แยกไฟฟ้าแยกต่างหากห้องใครห้องมัน ขนาดห้องเช่าประมาณด้วยสายตาคือ
3x3 เมตร พื้นและผนังห้องทำจากเศษไม้ที่เหลือจากการก่อสร้าง
เพราะมีขนาดไม่เท่ากันแม้แต่แผ่นเดียว หลังคามุงสังกะสี ห้องน้ำรวม
ภายในห้องตาชาติมีเพียงมุ้งหนึ่งหลัง พัดลมและหม้อหุงข้าวอย่างละเครื่อง
พร้อมรูปในหลวงติดอยู่ที่ข้างฝาเท่านั้น
“ก็แค่อาศัยนอน ผมเพิ่งย้ายเข้ามาไม่กี่วัน
ที่เก่าที่เคยอยู่เดือนละพันกว่าบาท”
ตาชาติชี้ให้ดูเศษกระดาษที่เขียนวันที่ที่ย้ายเข้ามาอยู่
เสียบตะปูที่ข้างฝาห้อง ซึ่งเป็นเวลาที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่วัน
เมื่อถามถึงเรื่องการร่วมชุมนุมทางการเมือง
ตามที่เปี๊ยกเล่าให้ฟังว่า ตาชาติเคยไปร่วมชุมนุมเมื่อไม่นานนี้
ตาชาติรับว่า เป็นความจริง เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมือง
พร้อมทั้งหยิบอุปกรณ์ เสื้อสีแดง และป้ายตราธงชาติ ออกมาเป็นเครื่องยืนยัน
“ช่วงวันแรก ๆ ของการชุมนุม จะมีรถมารับเลย
ขนคนไป คือเวลาเขาประกาศรวมพล วันแรก ๆ นี่เขายังมากันไม่พร้อม
ก็มาขนคนกีบหมูนี่แหละไป จ่ายเงินหัวละพันๆ ทุกม็อบแหละ
ถ้าวันนั้นผมตกงานก็ไป รถเข้ามารับสาย ๆ มาหลายคัน รถตู้บ้าง
เหมาสองแถวมาบ้าง อุดมการณ์ทางการเมืองผมก็มีอยู่ แต่นี่ก็เรื่องปากท้อง
คิดซะว่าไปทำงาน ตอนไปเลือกตั้งผมจะเลือกใครมันก็สิทธิ์ของเรานะ
ไม่มีใครมาจับมือกา”
ตาชาติเล่าต่อว่า ถ้าม็อบจุดติดแล้ว มีมวลชนเป็นของตนเอง
การใช้เงินจ้างก็จะหยุดลง
กระนั้นก็ยังแวะเวียนไปตามที่ชุมนุมในวันที่ไม่ได้ทำงานบ้าง
เพราะมีอาหารให้รับประทานตลอดทั้งวัน และยังมีการแสดงให้รับชม
“อยู่ที่ห้องมันเปลืองค่าไฟ ต้องเปิดทีวี
เปิดพัดลม ไปม็อบมีข้าวกินครบทุกมื้อ บางทีก็ขัดใจบ้าง ที่เค้าพูดบนเวที
มีด่าชาวนา ด่าคนเสื้อแดง ก็ทำเป็นไม่ได้ยินซะ”
เมื่อถามถึงความตื่นตัวทางการเมือง ตาชาติให้ความเห็นว่า
ปัจจุบันคนต่างจังหวัดมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง เพราะเห็นได้ชัดว่า
มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง อาทิ นโยบายประกันสุขภาพ กองทุนหมู่บ้าน
หรือแม้กระทั่งล่าสุดคือนโยบายจำนำข้าว
ซึ่งจะเห็นได้ว่านโยบายที่ตาชาติจดจำได้ ล้วนเป็นนโยบายประชานิยมทั้งสิ้น
“ผมไม่รู้ว่าประชานิยมจริง ๆ คืออะไรหรอกนะ
ถ้าหมายถึงประชาชนนิยม ล่ะก็ใช่ เพราะมันได้ประโยชน์ คนก็ต้องนิยม
แถวบ้านผมเมื่อก่อนเจ็บป่วยก็รักษากันตามมีตามเกิด
เดี๋ยวนี้ลองไปดูตามโรงพยาบาล คนไปรักษากันจนแทบไม่มีที่เดิน
ก็มันแทบไม่เสียเงิน”
“คนไม่เคยทำนาเค้าไม่รู้หรอก
ความเหนื่อยยากของชาวนา ทำมาปีๆหนึ่ง จะขายได้ราคาเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้
ที่แน่ ๆ หนี้มันรออยู่แล้ว เพราะต้องไปเอาปุ๋ย เอายา เค้ามาก่อน
บางปีก็ขาดทุนเข้าเนื้อไปเลยนะ ยิ่งทำก็ยิ่งจน พอมีจำนำข้าวมันรู้แน่ ๆ
เลยว่าจะขายได้เท่าไหร่ มันดีมากเลย แต่ทีนี้ไม่รู้ยังไงนะ
ปีนี้พวกที่จำนำข้าวมันยังไม่ได้เงินกันหลายเดือนแล้ว
เค้าก็บ่นว่าเดือดร้อน ต้องไปกู้มาก่อน
ทีนี้หลายเดือนเข้าเจ้าหนี้ก็ร้อนใจว่าจะโดนเบี้ยวมั้ย จะได้เงินมั้ย
ดอกเบี้ยก็ส่งทุกเดือน ๆ รัฐบาลไม่ได้มาเดือดร้อนด้วย” ถึงกระนั้น
ตาชาติก็ยังวิเคราะห์ว่า หากมีการเลือกตั้ง
พรรคการเมืองเดิมก็คงได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีก
เนื่องจากตัวเลือกอื่นที่มี
ยังไม่สามารถสร้างความนิยมชมชอบให้กับชาวบ้านได้
ส่วนเรื่องการซื้อเสียงนั้น ตาชาติยอมรับว่า ยังคงมีอยู่
ทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่น ตั้งแต่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ.
และการเลือกตั้งระดับชาติ โดยการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนั้น
มีการใช้เงินแพร่หลายกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ
เพราะผู้ลงสมัครมีโอกาสได้รับเลือกใกล้เคียงกัน
ต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ ที่ผู้ได้รับเลือกมีคะแนนทิ้งห่างกันเยอะ
“เลือก ส.ส. คราวก่อนโน้น
บ้านผมคนชนะได้สามหมื่นกว่าคะแนน คนที่ได้ที่สองได้หมื่นกว่า ๆ
ผมบอกได้เลยว่า คนชนะไม่ได้ซื้อเสียง คนแพ้น่ะซื้อแน่ ๆ
ญาติผมเป็นหัวคะแนนของคนที่ชนะ ที่ไม่ใช้เงินไม่ใช่มั่นใจว่าจะชนะ
หรือเงินไม่มีนะ เงินน่ะมีอยู่ เตรียมไว้แล้ว
แต่ตัดสินใจไม่ใช้เพราะลูกน้องของคู่แข่งตามดูตลอด
เค้าลือว่ากกต.จังหวัดอยู่ฝ่ายโน้น ถ้าแจกเงินเมื่อไหร่โดนจับใบแดงแน่
คนแพ้ใช้เงินยังไงก็แพ้ เราจะกาใครไม่มีใครรู้หรอก เค้าเอาเงินมาให้ก็รับไป
เลือกใครมันอยู่ที่เรา”
“คนอยู่บ้านนอกนี่ไม่ได้โง่หรอกนะ เช้า ๆ
มาคนเฒ่าคนแก่ไปดูเถอะ เค้าก็คุยกันเรื่องการเมืองทั้งนั้น ที่ร้านกาแฟบ้าง
ที่วัดบ้าง จานดาวเทียมมีกันเกือบทุกบ้าน เดี๋ยวนี้มันราคาถูก
เมื่อก่อนทั้งหมู่บ้านมี ทีวีไม่กี่บ้าน ต้องขึ้นเสา โน่น สูงลิ่วเลย
ยังไม่ชัดอีก เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนก่อน โทรศัพท์มือถือก็มีกันทุกคน
คนดูข่าวมันก็ตามทันนะ เช้ามาก็เอาแล้วจับกลุ่มคุยการเมือง”
“คนที่เข้มข้นมาก ๆ นี่
เค้าไม่คบเลยนะต่างขั้ว มันอยู่ลำบาก ในหมู่บ้านรู้จักกันหมด
ถ้าคิดต่างก็ต้องเงียบ แสดงออกไม่ได้เลย จะเป็นตัวแปลกประหลาด
อย่างผมที่ไปม็อบถ้าเมียรู้ผมโดนด่าเละแน่ ๆ อย่างที่บอกอุดมการณ์ผมมีอยู่
แต่ปากท้องก็อีกเรื่อง ใครเอาเงินมาให้ก็เอา
แต่ถ้ามันอันตรายเสี่ยงชีวิตก็ไม่เอานะ เอาชีวิตไว้ก่อนดีกว่า
ถ้าถามว่าม็อบรับจ้างมีจริงมั้ย อันนี้มีแน่ ก็ผมนี่ไง”
ตาชาติทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มแบบคนซื่อ
ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด
การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของกลุ่มคนที่มีความเชื่อในสาระและวิธีการของการได้มา
ซึ่ง “ประชาธิปไตย” ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลง
ที่คนทั้งสองกลุ่มต้องการจะเกิดขึ้นหรือไม่ ด้วยรูปแบบอย่างไรก็ตาม
วิถีชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำของแรงงานก่อสร้างในย่านถนนกีบหมู
ก็อาจจะยังคงดำเนินต่อไป
บุคคลย่อมมีสิทธิ์ที่จะคิดที่จะเชื่อ
รวมทั้งใช้ชีวิตในวิถีที่ตนได้เลือกแล้ว
แม้ในบางครั้งสิ่งที่เชื่อและการแสดงออกก็อาจจะดูขัดแย้งกันเองบ้าง
ตามเหตุและปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคน แม้เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขาเหล่านั้น
อย่างน้อยที่สุดเราก็ควรที่จะเคารพสิทธิ์ในการตัดสินใจของบุคคลนั้น
สถานะทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจ อาจเป็นตัวแบ่งชนชั้นทางสังคม
แต่ความคิดความเชื่อทางการเมืองนั้นไม่ใช่
คุณค่าความเป็นคนและศักดิ์ศรีเป็นมนุษย์
มิอาจถูกลดทอนได้ด้วยความแตกต่างทางความคิด
มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเป็นคนโดยเท่าเทียมกัน แม้จะคิดเห็นต่างกัน
ซึ่งก็อาจเป็นเพราะแต่ละคนล้วนผ่านประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น