คำลวงของฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจเก่าคือ ขอให้มีนายกฯคนกลางเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศไทย แล้วค่อยมาคุยกันเรื่องเลือกตั้ง ฟังดูสวยงามดี แต่จุดประสงค์เบื้องหลังที่แท้จริงคือ นายกฯ/รัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นหัวหอกร่วมกับอำนาจตุลาการ ในการบิดเบือน-งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา กระทำทุกวิธีการที่ขัดรัฐธรรมนูญในนามของรัฐธรรมนูญ โดยจุดประสงค์ในระยะยาวคือ ทำให้ระบบรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอลง ผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อยสองมาตรา คือ 1. สส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง 2. นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก สส.
เมื่อ สส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง มุ้งเล็กๆ ที่สังกัดอยู่ในพรรคใหญ่จะแยกตัวออกมา พรรคเล็กพรรคน้อยจะเกิดขึ้นเต็มไปหมด พวกเขาจะมีอำนาจต่อรองกับพรรคใหญ่มากขึ้นเพื่อให้พวกของตนมีที่นั่งใน ครม.มากที่สุด สภาวะต่อรองเช่นนี้จะเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบเข้ามากดดันแทรกแซง-ต่อรองให้ ผลประโยชน์กับพรรคเล็กเหล่านี้ เพื่อแลกกับการสนับสนุนคนนอกให้เป็นนายกฯ พรรคเล็กเหล่านี้จะทะเลาะกันตลอดเวลาเพราะไม่พอใจที่เค้กของตนนั้นเล็กกว่า เค้กของอีกพรรคหนึ่ง แต่ก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะมียืนยันในนโยบายใดๆ ส่วนนโยบายการพัฒนาประเทศจะตกอยู่ในมือของข้าราชการเทคโนแครตเป็นสำคัญ
นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2520 ที่ทำให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สามารถอยู่ในอำนาจได้ถึง 8 ปี โดยไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยรัฐสภาแม้แต่ครั้งเดียว และประชาชนก็ไม่สามารถโจมตีได้ว่า สถานะนายกฯของพลเอกเปรมไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ นี่คือสภาพที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องการแก้ไข จึงบังคับให้ สส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่นี่กลับเป็นสภาพที่กลุ่มอำนาจเก่าต้องการให้เกิดขึ้นอีกในปี พ.ศ.นี้ เพื่อพวกเขาจะได้แทรกแซง-ควบคุมระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้ต่อไป เพื่อทำให้อำนาจการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนมีความหมายต่อการเมืองไทย น้อยที่สุด
นี่คือส่วนหนึ่งของ “การปฏิรูป” ที่กลุ่มอำนาจเก่าต้องการให้เกิดขึ้น แต่การปฏิรูปที่บรรดานักวิชาการ เอ็นจีโอ เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ไปร่วมกับ กปปส. ต่างฝันหวานนั้น จะไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูประบบภาษี เพราะไม่มีวันที่กลุ่มอำนาจเก่าที่มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับกลุ่มธุรกิจ ขนาดใหญ่ทั้งหลาย จะกล้าทำสิ่งที่ขัดกับผลประโยชน์ของตนเอง สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ การเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองการกระจายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นายกฯคนกลางไม่เคยเป็นกลางจริงๆ แต่คือ คนที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มอำนาจเก่า/อนุรักษ์นิยมให้เป็นผู้ดำเนินนโยบาย แบบที่พวกเขาจะได้ประโยชน์ ถ้าจะต้องแบ่งสรรทรัพยากรที่มีจำกัด กลุ่มคนจน-คนชนบทที่ไร้อำนาจต่อรอง จะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะถูกคิดถึง
อย่าฝันหวานว่าพวกเขาจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น มากขึ้น พวกเขารังเกียจการเลือกตั้งทุกระดับ จำได้ไหมว่าการรัฐประหาร 2549 ได้ยกเลิกการเลือกตั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในทันที พวกเขามองว่าการเลือกตั้งทำให้ข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นเป็นอิสระจาก อำนาจของกรุงเทพฯมากขึ้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นต้องทำตัวเป็นแขนขาให้กับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ที่พวกเขาปกครองอยู่
อย่าฝันหวานว่าพวกเขาจะปฏิรูประบบความยุติธรรม (ที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ อัยการ และศาล) ให้มีความรับผิดและถูกตรวจสอบจากประชาชนได้มากขึ้น ระบบความยุติธรรมที่ประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้เผชิญชะตากรรมอยู่ทุกวัน และเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความคับแค้นใจให้กับคนในพื้นที่ จะไม่มีวันถูกแก้ไขเยียวยาด้วยระบอบอนุรักษ์อำนาจนิยม
เช่นเดียวกัน องค์การอิสระ-ตุลาการทั้งหลายที่ยึดมั่นในหลัก “สองมาตรฐาน” และสร้างความคับแค้นใจต่อประชาชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะไม่ถูกแตะต้อง พวกเขาจะยังคงถูกเลือกสรรโดยพวกเดียวกัน จะไม่มีกลไกใดๆที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบ-เอาผิดพวกเขาได้ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มอำนาจเก่าจะพยายามคิดค้นข้อกฎหมายอันพิสดารเพื่อเสริมสร้างให้องค์กร อิสระ-ตุลาการเหล่านี้มีอำนาจเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้นไปอีก
เช่นนี้แล้ว เราจึงไม่สามารถยอมให้เกิดนายกฯคนกลาง และปล่อยให้พวกเขาทำให้มันกลายเป็นสิ่งถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หากปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น การต่อต้านคัดค้านก็จะยากยิ่งเป็นทวีคูณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น