แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

สงครามความชอบธรรม

ที่มา Thai E-News



นิธิ เอียวศรีวงศ์

(ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มีนาคม-3 เมษายน 2557 หน้า 30)


หลายคนพูดว่า ในความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ฝ่าย “อำมาตย์” หรือพูดให้เป็นวิชาการหน่อยคือ ฝ่าย “อำนาจในระบบ” (The Establisment) ทั้งหมด พากันเปิดหน้าออกมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยกันอย่างไม่อาย สำนวนของผมคือพากันแก้ผ้าหมด

อันที่จริงแล้ว ดูไม่จำเป็นเลย เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งพยายามสถาปนาระบอบปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไว้อย่างเป็นระบบระเบียบกว่าที่ผ่านมา ก็เพียงพอที่จะถ่วงดุลประชาธิปไตยให้อยู่ในกรอบที่น่าจะเป็นที่พอใจของพวก เขาอยู่แล้ว ซ้ำยังมีกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของฝ่ายอำนาจในระบบไม่มีทางทำได้ (เช่น ยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการสรรหาไม่ได้)

ทุกอย่างก็ดูจะไปได้ดีกับอำนาจที่สถาปนาไว้แล้วเหล่านี้ เหตุใดจึงต้องพากันออกมาแก้ผ้าหมดเช่นนี้ ผมตอบไม่ได้ (บางคนอธิบายว่า เป็นเหตุการณ์ “ปรกติ” ในปลายรัชกาลของไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่ผมก็ยังจับตรรกะของคำอธิบายนี้ไม่ได้สักที)

อย่างไรก็ตาม มีผีตองเหลือง และชีเปลือยเต็มเมือง (ขอประทานโทษชาวมราบลี ผมไม่เจตนาจะเหยียดชาติพันธุ์ แต่นึกคำไม่ออก อย่างน้อยผมคิดว่า “ผีตองเหลือง” เป็นจินตนาการของคนพื้นราบซึ่งไม่มีชาติพันธุ์นี้จริงในโลก)

พื้นฐานที่มาของอำนาจในระบบมีสองอย่าง คือกฎหมายและประเพณี เพียงเท่านี้ก็ดูเหมือนจะเพียงพอสำหรับให้พวกเขาได้กำกับควบคุมสังคมไทยไปใน ทิศทางที่ต้องการ หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์และสถานะของพวกเขาได้ แม้กระนั้นพวกเขาก็รู้ดีว่า การยอมรับของประชาชนมีความสำคัญ เพราะการยอมรับคือพื้นฐานที่แข็งแกร่งของกฎหมายและประเพณีที่ให้อำนาจแก่พวก เขา

แต่พวกเขาอาจลืมไปว่า การยอมรับนั้นไม่ได้มาจากกฎหมายและประเพณีเฉยๆ ที่สำคัญกว่านั้นคือความชอบธรรม ซึ่งไม่มีใครบัญญัติให้เป็นไปตามใจชอบได้ เราลองพิจารณาความชอบธรรมที่ว่านี่สักหน่อย

โดยไม่ต้องเรียนกฎหมายเลย มนุษย์ทุกคนก็พอหยั่งได้ว่า คำสั่ง, คำพิพากษา, หรือวิธีการใด ชอบธรรมหรือไม่ จริงอยู่การหยั่งรู้ความชอบธรรมของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่ก็พอจะมีแนวกว้างๆ ตรงกัน มิฉะนั้นก็คงเถียงกันไม่ได้ว่าคำสั่งนั้น, คำพิพากษานั้น, วิธีการนั้น เป็นธรรมหรือไม่

บางศาสนาเชื่อว่า สำนึกในความชอบธรรมนี้เป็นมโนธรรมซึ่งพระเจ้ามอบให้แก่มนุษย์ทุกคน จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็เห็นได้ว่า ในทุกวัฒนธรรม มนุษย์ถูกกล่อมเกลาสั่งสอนให้ยอมรับระบบคุณค่าของสังคม ยอมรับว่าอะไรดี อะไรถูก อะไรชั่ว อะไรผิดมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ฉะนั้น อย่างน้อยมโนธรรมสำนึกถึงความชอบธรรมของคน ถ้าไม่ได้มาจากพระเจ้าก็ย่อมต้องมาจากวัฒนธรรมอยู่ดี

วัฒนธรรมไทยก็วางรากฐานมโนธรรมสำนึกด้านความชอบธรรมไม่ ต่างจากวัฒนธรรมอื่น และนี่เป็นความแข็งแกร่งและน่าชื่นชมสำหรับวัฒนธรรมไทยซึ่งนักปราชญ์และ ปัญญาชนไม่ค่อยพูดถึง

แต่เพราะมโนธรรมสำนึกความชอบธรรมมาจากวัฒนธรรม มันจึงไม่หยุดนิ่งกับที่ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นที่เคยยอมรับสถานภาพสูงต่ำของคน และยอมรับอภิสิทธิ์และสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกัน ก็เริ่มยอมรับได้น้อยลง มองเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างน้อยก็ด้านอำนาจทางการเมืองเป็นความไม่ชอบธรรมไป แล้ว

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กฎหมายยับยั้งไว้ไม่ได้ ตรงกันข้ามเสียซ้ำ กฎหมายจะมีความศักดิ์สิทธิ์ต่อไปได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึกความชอบธรรมที่เปลี่ยนไป

ในแง่นี้แหละ ที่ผมเห็นว่าความชอบธรรมอยู่เหนือกฎหมายเสียอีก อย่าพูดถึงการตีความของเนติบริกรที่อ่านกฎหมายเพื่อเอาใจอำนาจเลย นั่นยิ่งหาความชอบธรรมใดๆ ไม่ได้เลย

การแก้ผ้ากันถ้วนหน้าของอำนาจที่สถาปนาไว้แล้วในวิกฤตการ เมืองครั้งนี้ คือการละทิ้งทั้งกฎหมายและละทิ้งทั้งความชอบธรรม ไม่ว่าในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด, การระงับโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การปฏิเสธไม่รับพิจารณาคำร้องว่า กปปส. ฝ่าฝืนมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ, การห้ามมิให้รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายในการจับกุมและดำเนินคดีผู้นำ กปปส., การกีดกันการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง, การตั้งบังเกอร์ทั่วกรุงเทพฯ ของกองทัพบก โดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้รับผิดชอบทางการเมือง, การไม่ออกหมายจับให้แก่ผู้กระทำความผิด “ซึ่งหน้า” จำนวนมาก, ฯลฯ

องค์กรและสถาบันของอำนาจในระบบตามรัฐธรรมนูญ 2550 ออกมาทำงานกันอย่างสุดตัว โดยไม่ต้องเคารพทั้งกฎหมายและความชอบธรรม สอดรับกับการเคลื่อนไหวของ “ผู้ใหญ่” ของอำนาจในระบบ ที่เสนอนายกฯ คนกลางบ้าง เว้นวรรคทางการเมืองบ้าง ฯลฯ แม้แต่คนที่อำนาจในระบบไม่ยอมรับให้เป็น “ผู้ใหญ่” ก็ยังออกมาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

การยอมสละละทิ้งความชอบธรรมของกลไกตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ จะเป็นภาระอันหนักแม้แต่แก่อำนาจในระบบในอนาคต รัฐบาลคนกลางซึ่งถึงอย่างไรก็จะมีอำนาจจำกัด (เพราะส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งของสังคมไทยย่อมไม่อาจยอมรับได้) ย่อมไม่สามารถแบกรับภาระอันหนักอึ้งขององค์กรอิสระเหล่านี้ไว้ได้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็ต้องปรับเปลี่ยนบุคคลในองค์กรเหล่านี้ ด้วยความหวังว่าจะเพิ่มความชอบธรรมแก่ตนเองขึ้นมาบ้าง

อย่าว่าแต่บุคคลและองค์กรอิสระเลย แม้แต่ตัวรัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งคงถูกระงับใช้ไปหลายมาตราพอสมควร) ยังจะรักษาไว้ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ระบบตุลาการซึ่งการอภิวัฒน์ใน พ.ศ. 2475 ไม่ได้แตะเข้าไปถึง ก็อาจจำเป็นต้องถูกปฏิรูปในระดับหนึ่ง หรือถูกปฏิรูปอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะจะต้องถูกตรวจสอบอย่างมีนัยยะสำคัญจากคนภายนอก ที่เชื่อมโยงกับประชาชนบ้าง หากความพยายามจะตั้งรัฐบาลคนกลางไม่ประสบความสำเร็จ

และหากความพยายามนี้ล้มเหลว ไม่เพียงแต่ระบบตุลาการเท่านั้นที่จะถูกปฏิรูปขนานใหญ่ ผมสงสัยว่าจะถึงเวลาที่ The Establishment หรืออำนาจในระบบทั้งยวง จะถูกปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ตามไปด้วย เพราะบัดนี้มองเห็นชัดเจนแล้วว่า ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยไทยนั้น แท้จริงแล้วมาจากองค์กรและสถาบันทั้งหมดของอำนาจในระบบนี่เอง หากเราจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานาเพื่อไปให้ถึงสังคมประชาธิปไตย อย่างไรเสียก็ต้องเข้ามาจัดการกับอำนาจในระบบเหล่านี้ให้ได้

ที่หนังสือพิมพ์ฝรั่งบางฉบับให้ความเห็นว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ประกาศให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ อาจเป็นโอกาสทางบวก คือทำให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กลับมาลงเลือกตั้งใหม่และการเมืองไทยเดินต่อไปได้ ผมคิดว่าเป็นการมองที่ตื้นเขินเกินไป พรรค ปชป. นั้นกระจอกเกินกว่าจะเป็นอุปสรรคของการเมืองแบบประชาธิปไตยในเมืองไทยได้ ปชป. ยอมตัวเป็นเครื่องมือของอำนาจในระบบ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมืองให้แก่ตนเอง ในสนามที่ไม่ต้องมีการแข่งขันอย่างยุติธรรมต่างหาก

โอกาสทางบวกของคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ หากจะมีจริง ก็คือการละเมิดความชอบธรรมอย่างอุจาดในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเป็นครั้งแรกที่จะรื้อโครงสร้างของอำนาจในระบบลงทั้ง หมดต่างหาก

คราวนี้ หันกลับมาดูว่า ฝ่ายประชาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยจะต่อสู้กับอำนาจในระบบ ซึ่งได้ละทิ้งความชอบธรรมไปจนสิ้นเชิงนี้อย่างไร

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมเป็นอันขาดก็คือ เรากำลังเข้าสงครามความชอบธรรม ไม่ใช่สงครามปะทะกันด้วยกำลัง ฉะนั้น การต่อสู้ต้องทำบนฐานของความชอบธรรมอย่างเคร่งครัด แฉโพยความไม่ชอบธรรมของอำนาจที่สถาปนาไว้แล้วในทุกวิถีทาง รวมทั้งการล่อให้พวกเขาทำสิ่งที่ไร้ความชอบธรรมอย่างเห็นๆ มากขึ้น ไม่ใช่เห็นเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น แม้แต่คนต่างประเทศก็ได้เห็นความไม่ชอบธรรมไปพร้อมกันด้วย

ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ควรยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กกต. และ กปปส. บังคับให้พวกเขาต้องให้คำพิพากษาที่ใครๆ ทั้งในและต่างประเทศก็เห็นว่าไม่ชอบธรรม (เพราะการลงทุนทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่สามารถให้คำพิพากษาที่ชอบธรรมได้)

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตราบเท่าที่ยังปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลอยู่ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก กกต. ในขณะเดียวกันก็ผลักดันการฟ้องร้องคดีอาญากลุ่ม กปปส. อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้หน้าที่การฟ้องร้องเอาผิดกับ กปปส. กลายเป็นหน้าที่ของรัฐบาล (อย่างที่ คุณฉลาด วรฉัตร พูด) ซึ่งแม้แต่รัฐบาลใหม่ที่มาจากอำนาจในระบบ จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามได้ยากที่สุด

ถ้ารัฐบาลคนกลางคิดว่าแน่มาก ก็ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเลย ยิ่งจะทำให้ใครๆ เห็นต้นสายปลายเหตุและความไม่ชอบธรรมยิ่งขึ้น

เรื่องเล็กๆ เช่น สวมเสื้อสีบางสี หรือจุดเทียนประท้วง หรือโพกศีรษะด้วยข้อความประท้วง ฯลฯ ถูกจับกุม หรือถูกอันธพาลซ้อม ก็ยิ่งแฉโพยความไม่ชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น เพราะการสวมเสื้อ, จุดเทียน, ประดับศีรษะ เป็นกิจกรรมปรกติในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป กลับถูกห้ามหรือถูกกำกับควบคุม อำนาจที่ใช้ในการห้ามหรือกำกับควบคุมก็จะกลายเป็นอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม อย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น

สงครามกลางเมืองจะเกิดหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับเรา แต่สงครามความชอบธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่สงครามที่แบ่งแยกประเทศตามภูมิภาค แต่เป็นสงครามที่แบ่งแยกระหว่างความชอบธรรมและความไม่ชอบธรรม จะมีคนอีกมากในทุกภาคของประเทศที่อยู่ฝ่ายเดียวกับเรา คือฝ่ายความชอบธรรม

แล้วเราจะชนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น