ที่มา
Thai E-News
การเมืองว่าด้วย “พลังงานไทย” (ตอนที่สอง):
ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงานจริงหรือ?
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2556
ขบวนการ
“ทวงคืนพลังงานไทย” มีจุดประสงค์ที่แท้จริงทางการเมืองคือ
อาศัยความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันแพง มาปลุกระดมความไม่พอใจ
โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรัฐบาล โดยอ้างว่า
เบื้องหลัง ปตท.ก็คือ “กลุ่มผลประโยชน์” ที่เข้ามาควบคุม
ปตท.ด้วยการแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน
แล้วเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2544 คนพวกนี้จึงเรียกร้องให้
“ทวงคืน ปตท.” ซึ่งก็คือ ถอน ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ยกเลิกหุ้น ปตท.
และหวนคืนสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปดังเดิม
นิยาย
พลังงานไทยที่คนพวกนี้ผูกเรื่องขึ้นมาโดยคร่าว ๆ คือ
ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน มีทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบปริมาณมหาศาล
แต่คนไทยกลับต้องใช้น้ำมันราคาแพงเพราะมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาฮุบทรัพยากร
เริ่มตั้งแต่สมคบกับบริษัทขุดเจาะต่างชาติที่ได้สัมปทานแบ่งส่วนผลประโยชน์
ให้รัฐไทยน้อยมาก แอบส่งออกน้ำมันดิบไทยไปขายในตลาดโลก
แล้วนำเข้าน้ำมันดิบราคาแพงจากตะวันออกกลางเข้ามากลั่น
บวกต้นทุนเทียมและตั้งราคาหน้าโรงกลั่นเพื่อกินกำไรส่วนต่าง
จัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีราคาขายปลีกแพงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก!
คนพวกนี้
กล่าวหาว่า มีการปกปิดบิดเบือนข้อมูลโดยหน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้อง
และหันไปอ้างแหล่งข้อมูลต่างประเทศที่ดูขลังน่าเชื่อถือแทน เช่น
การสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา หรืออีไอเอ เป็นต้น อ้างไปถึงว่า
เป็นข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐหรือซีไอเอก็มี
ทั้งที่ถ้าลงมือตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ก็จะพบว่า
ข้อมูลพลังงานไทยจากแหล่งข้อมูลต่างประเทศ เช่น อีไอเอ และบีพีโกลบอล
ก็ใกล้เคียงกับข้อมูลที่หน่วยราชการไทยเผยแพร่ ทั้งนี้ก็เพราะว่า
แหล่งข้อมูลในต่างประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เอาข้อมูลจากหน่วยราชการไทยไป
เผยแพร่อีกทีหนึ่งนั่นเอง
ความจริงคือ
ประเทศไทยไม่ได้เป็นเศรษฐีพลังงานแต่อย่างใด
ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบ แม้จะผลิตได้เองจำนวนหนึ่ง
ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากทุกปี
ปริมาณสำรองที่มีอยู่ก็ไม่มากนักและถ้าไม่มีการค้นพบเพิ่มอีก
ก็จะหมดไปในอีกไม่เกินสิบปี
ข้อมูลจาก
อีไอเอ บีพีโกลบอล และจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยให้ตัวเลขใกล้เคียงกัน
ในปี 2555 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วประมาณ
10-10.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นอันดับที่ 42 ของโลก และเป็นเพียงร้อยละ
0.1 ของปริมาณสำรองทั้งโลก ไทยมีอัตราการผลิตก๊าซจำนวน 1.3
ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี ด้วยอัตรานี้
ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่เพิ่มอีก
ก๊าซธรรมชาติของไทยจะหมดไปภายใน 7-8 ปี
แต่ประเทศไทยมีการบริโภคก๊าซธรรมชาติปีละ 1.6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ผลก็คือ
ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านปีละ 3
แสนล้านลูกบาศก์ฟุต
ในส่วน
น้ำมันดิบ ข้อมูลแหล่งต่าง ๆ ก็ยังให้ภาพรวมที่ใกล้เคียงกัน ในปี 2554
ประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้วประมาณ 440 ล้านบาร์เรล
เป็นอันดับที่ 47 ของโลกและเป็นเพียงร้อยละ 0.02 ของปริมาณสำรองทั้งโลก
ในปี 2555 ไทยมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบและคอนเด็นเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว)
รวมกันประมาณ 240,000 บาร์เรลต่อวันหรือราว 86 ล้านบาร์เรลต่อปี
ในอัตราการผลิตนี้ ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำดิบเพิ่มอีก
น้ำมันดิบไทยก็จะหมดไปในเวลาเพียง 5 ปี
โรงกลั่น
น้ำมันในประเทศไทยใช้น้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลางเป็นหลัก
ซึ่งมีคุณสมบัติที่มีสารเจือปนน้อย (เช่น สารปรอท)
และกลั่นได้น้ำมันดีเซลเป็นสัดส่วนมาก
ตรงกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทย
แต่น้ำมันดิบที่พบในประเทศไทยบางส่วนมีสารเจือปนสูง
และที่พบในอ่าวไทยก็มีองค์ประกอบที่กลั่นแล้วได้น้ำมันเบนซินในสัดส่วนสูง
ถ้าโรงกลั่นในไทยรับซื้อและกลั่นออกมา
ก็จะมีน้ำมันเบนซินเหลือเกินความต้องการของตลาด
น้ำมันดิบไทยส่วนนี้จึงถูกส่งออกไปขายต่างประเทศแทน ทั้งนี้ ในปี 2555
ประเทศไทยส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศเป็นปริมาณ 41,000 บาร์เรลต่อวัน
เป็นมูลค่าเพียง 51,000 ล้านบาทเท่านั้น
นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกซึ่งส่ง
ออกกันเป็นแสนเป็นล้านบาร์เรลต่อวัน
น้ำมันดิบ
ไทยที่โรงกลั่นในไทยสามารถใช้ได้จึงมีราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน
แต่ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันดิบราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ประเทศไทยจึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน
ข้อมูลในอดีตแสดงว่า
ในแต่ละปี น้ำมันดิบที่ผลิตในไทยสามารถสนองความต้องการใช้ในประเทศได้เพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้น นอกนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
กระทรวง
พลังงานมีนโยบายที่จะเลิกส่งออกน้ำมันดิบไทยโดยสิ้นเชิงและให้โรงกลั่นในไทย
กลั่นน้ำมันดิบทั้งหมดเอง แต่ก็มีข้อโต้เถียงกันอยู่ว่า
ต้องมีการลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นปัจจุบันให้สามารถรับสารเจือปนปริมาณสูงได้
ซึ่งใช้เวลาหลายปี ที่สำคัญคือ น้ำมันดิบส่วนนี้มีปริมาณไม่มาก
และเมื่อกลั่นออกมาก็จะได้น้ำมันเบนซินสัดส่วนสูง
ก็จะต้องมีแผนการส่งออกน้ำมันเบนซินส่วนเกินนี้ไปต่างประเทศอีกอยู่ดี
ทั้งหมดนี้จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่
พวก
“ทวงคืนพลังงานไทย” อ้างว่า
ประเทศไทยผลิตก๊าซและน้ำมันดิบได้มากกว่าประเทศเศรษฐีพลังงาน เช่น บรูไน
ซึ่งก็เป็นความจริง ในปี 2554 บรูไนผลิตก๊าซธรรมชาติ 440,000
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (เป็นหนึ่งในสามของประเทศไทย)
ผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทได้ 126,000 บาร์เรลต่อวัน
(เป็นครึ่งหนึ่งของประเทศไทย) แต่คนพวกนี้ไม่บอกว่า บรูไนมีประชากรเพียง 4
แสนคน มีอัตราการบริโภคก๊าซธรรมชาติเพียง 107,000
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและบริโภคน้ำมัน 16,000 บาร์เรลต่อวัน
บรูไนจึงสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ 330,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
และส่งออกน้ำมันดิบ 136,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นสามเท่าของประเทศไทย
บรูไนจึงเป็นเศรษฐีส่งออกก๊าซและน้ำมัน
คนพวกนี้
ชอบอ้างว่า ในประเทศเศรษฐีน้ำมัน ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก เช่น
เวเนซูเอลา ซาอุดิอาระเบีย และที่อ้างบ่อยที่สุดคือ มาเลเซีย
แต่ตรรกะที่ว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน คนไทยจึงต้องได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาถูก ก็เป็นตรรกะที่ผิดอย่างสิ้นเชิง
ทรัพยากรธรรมชาติทั้งก๊าซและน้ำมันใช้เวลาก่อกำเนิดหลายร้อยล้านปี
มีปริมาณจำกัด ใช้หมดไปแล้วสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้ ถึงมีมากสักเพียงใด
ก็มีวันหมด
หนทางที่ถูกต้องจึงต้องประหยัดการใช้ให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างที่สุด
ถ้าตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วใช้หมดในเร็ววัน
เราและลูกหลานก็ต้องหาพลังงานทดแทนที่มีราคาแพงกว่ามาใช้
นโยบายของรัฐบาลในต่างประเทศที่อุดหนุนราคาให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาถูกจึงเป็นนโยบายที่ผิด ประเทศไทยไม่ควรเอาอย่าง
ต้องให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาที่สอดคล้องกับความหาได้ยากที่แท้
จริงของทรัพยากร ส่วนความจริงที่ว่า
ราคาน้ำมันบางชนิดในประเทศไทยมีราคาแพงเพราะนโยบายบิดเบือนราคาของรัฐบาล
นั้น ก็เป็นความจริง ซึ่งก็ต้องวิจารณ์กันบนข้อเท็จจริง
ไม่ใช่บนนิยายที่แต่งขึ้นมาหลอกกันเอง
ดูเพิ่มเติม
การเมืองว่าด้วย “พลังงานไทย” (ตอนที่หนึ่ง):