I
คำว่า ปัญญาชน นั้น ใครจะเป็นผู้บัญญัติศัพท์ขึ้น
ข้าพเจ้าไม่ทราบ ทราบแต่ว่ามีคนมามอบยี่ห้อให้ข้าพเจ้าเป็นปัญญาชนสยาม
ยังสายชล สัตยานุรักษ์ ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว) ก็ได้กำหนดขอบเขตปัญญาชนแต่อดีตจนปัจจุบันไว้ ๑๐ คน
โดยมีข้าพเจ้าเป็นคนที่ ๑๐ และเป็นคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่
จึงขอเอาหมายเลขนี้มาเป็นชื่อปาฐกถาสำหรับวันนี้
โดยไม่มีอะไรพาดพิงไปถึงรัชกาลที่ ๑๐ ด้วยประการใดๆทั้งสิ้นคำว่า ปัญญาชน นั้น เรากำหนดขึ้นจากภาษาอังกฤษ Intellectual ดังมีข้อเขียนของ T.R. Fyvel เรื่อง Intellectual Today ตีพิมพ์ขึ้นแต่ ค.ศ.๑๙๖๘ (โดยสำนักพิมพ์ Chattos Windus) ดังขอแปลความมาตอนหนึ่งว่า
“ปัญญาชนเป็นแต่คนที่สร้างสรรค์ในทางนฤมิต (creative) เท่านั้น พวกนี้ได้แก่ คนที่ติดใจในแนวความคิดวงกว้างและต้องการให้ความคิดนั้นๆ น่าสนใจ และมีอิทธิพลเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าจะแปลความกันอย่างกว้างๆ (ดังที่พวกคอมมูนิสต์มักจะนิยาม) แล้วปัญญาชนย่อมได้แก่ ศัพท์ ที่ใช้ในวงวิชาชีพ สำหรับข้าราชการชั้นสูง ที่เป็นนักวิชาการ นักวิทยาศาตร์ ศาสตราจารย์ นักวิจัย นักบริหาร นักเขียน นักพูดวิทยุกระจายเสียงและนักสื่อสารมวลชนอื่นๆ หรือนัยหนึ่ง ปัญญาชนคือ Technical Intelligentsia นั่นเอง”
เมื่อพูดมาถึงเพียงนี้แล้ว ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องแปลคำว่า Intelligentsia ให้กระจ่างไปด้วย เพราะคาบเกี่ยวอยู่กับคำว่า Intellectual มิใช่น้อย ในที่นี้ จะขอใช้บทความของเซอร์ ไอไซอะ เบอร์ลิน เป็นหลัก (Isiah Berlin’s “The Role of Intelligentsia” The Listener 2 May 1968) ท่านผู้นี้เล่าว่าคำดังกล่าวเกิดขึ้นที่รัสเซียเมื่อประมาณร้อยปีมานี้เอง คนที่เรียกตัวเองว่า Intelligentsiya (ภาษารัสเซีย มาจากภาษาอิตาเลียนว่า Intelligenza ก็คือ Intelligence ในภาษละตินนั่นเอง) นั้นได้แก่ คน กลุ่มน้อยซึ่งได้โอกาสรับวัฒนธรรมตะวันตก พวกนี้มักจะอ่านภาษาฝรั่งต่างๆอย่างสบาย แล้วรู้สึกว่าตนเองถูกตัดออกจากมหาชน จนเหมือนกับว่าตนเป็นคนต่างชาติในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ในบรรดาคนเหล่านี้ ผู้มีมโนธรรมละเอียดอ่อน เห็นว่าตนควรมีความรับผิดชอบในอันที่จะต้องช่วยชนชาติเดียวกันที่ยังล้าสมัย กว่าตน และได้รับความสุขน้อยกว่าตน คนพวกนี้ค่อยๆตั้งตัวเป็น กลุ่มๆขึ้นมา และถือเป็นหน้าที่ว่าต้องพูดในที่สาธารณะ ต้องแสดงปาฐกถา ต้องเขียน นี้คือกิจจำเป็นอันพวกเขาต้องถือเป็นวัตรปฏิบัติ ทั้งนี้ก็เพราะระบบการปกครองรัสเซียเวลานั้นไม่ยอมให้มีการปฏิรูปใดๆ อันคนส่วนใหญ่จะขึ้นมาเสวยสุขเท่าเทียมกับชนชั้นปกครอง
จากคำนิยามของไอไซอะ เบอร์ลิน จะเห็นได้ว่าการคัดค้าน ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ มิได้ส่อให้เห็นว่าผู้ค้านจะต้องเป็น อินเตลลิเยนเซีย การคัดค้านนั้นจะต้องประกอบไปด้วยความเชื่อว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้น ต้องหันมาทำเช่นนี้ และการกระทำดังนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผล หรือความเชื่ออันมีเหตุผลสนับสนุน เมื่อทำแล้วย่อมเป็นไปในทางวัฒนะ ไม่ใช่หายนะ ผู้ที่ให้เหตุผลย่อมเป็นผู้มีความหวังดีอย่างแท้จริงต่อสังคม หาใช่บุคคลประเภทเยาะเย้ยถากถางสังคม เพื่อแสดงว่าในทางพุทธิปัญญา ตัวอยู่เหนือคนอื่นๆ แต่แล้วก็ปฏิรูปสังคมในทางสร้างสรรค์ อย่างหนึ่งอย่างใดมิได้ บุคคลประเภทนี้ เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า พวก Cynic หรือ อย่างที่เรียกกันในภาษาไทยว่าประเภทมือไม่พายฯ เขาจะคอยแต่จับผิดคนที่ทำการ และเขาจะมองแต่กลับไปในทางข้างหลัง โดยไม่มีหวังในทางข้างหน้า
เวลานี้เรามีบุคคลประเภทนี้อยู่ แต่ อินเตลลิเยนเซีย (ตามคำนิยามของเบอร์ลิน) เราไม่มี (นี่หมายถึงในปี ๑๙๖๘) ด้วยเหตุฉะนี้ดอกกระมัง นายเฮอเบิร์ต ฟิลิปส์จึงว่าเมืองไทยมีก็แต่ ลิเตอราตี (Literati) คือคนที่อย่างเก่งก็กลับไปมองหาความไพบูลย์จากอดีต ยิ่งกว่าจะคิดสร้างสรรค์ในทางอนาคต สถาบันต่างๆก็หันไปมองทางข้างหลัง ยิ่งกว่าจะมุ่งหวังทางข้างหน้า (ดู “The Culture of Siamese Intellectuals” by H.P.Phillips ซึ่งตีพิมพ์ใน Aspects of Culture in Thailand and Laos: Homage of Lauriston Sharp (Vol 1,1969) แต่ถ้าเรามองดูอดีตจริงๆแล้ว ขณะที่เกิด อินเตลลิเยนเซีย ที่รัสเซียนั้น ก็มีบุคคลประเภทนี้ที่กรุงสยาม ดังเอกสารเรื่อง เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลถวายความเห็น จัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดินร.ศ. ๑๐๓ เป็นพยานอยู่ (ปัญญาชนสยาม , สำนักพิมพ์สยาม พ.ศ.๒๕๑๒ หน้า ๕๔-๕๗)
ถ้าจะถือว่าท่านที่ลงพระนามและนามในหนังสือกราบบังคมทูลในปีร.ศ.๑๐๓ นั้น เป็นปัญญาชนรุ่นแรกของสยาม ก็คงเข้ากับคำนิยามของ Fyvel ว่า ท่านนั้นๆเป็น Technical Intelligentsia โดยที่ต่อๆมา แต่ละท่านก็ปรับตัวเข้ากับระบอบราชาธิปไตยไปตามๆกัน จนกลายเป็นขุนนางข้าราชการที่เดินตามพระราชาธิบดีอย่างเซื่องๆทุกท่านทุกคน จะมียกเว้นก็แต่เพียงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เท่านั้น ที่ถึงกับต้องหนีราชภัยไปทรงผนวชอยู่ที่ลังกาทวีปจนสิ้นรัชกาลที่ ๕ และเมื่อกลับมากรุงสยามในรัชกาลที่ ๖ ก็ทรงกลายเป็นบุคคลชายขอบอันไม่เป็นที่พึงปรารถนาของชนชั้นปกครองอีกต่อไป
จะว่าเทียนวรรณและกศร.กุหลาบเป็นปัญญาชนคนสามัญในรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ ทั้งคู่นี้ถูกรัฐบาลสยามลงโทษมาด้วยกันแล้ว โดยที่ชนชั้นบนไม่ยอมรับฟังถ้อยคำของเขาเอาเลย
II
ที่จริง คำว่า สยาม นั้น
ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางราชการก็เมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๔ นี่เอง
และความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในรัชกาลนั้น
คือการเปิดประเทศให้ฝรั่งเข้ามามีอิทธิพลเหนือราชอาณาจักร
แม้คนไทยทั่วๆไปจะนิยมชมชอบว่าเรารักษาอิสระอธิปไตยไว้ได้
แต่เราก็มักเมินข้อเท็จจริงที่ว่าเราเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไป
ทั้งทางเศรษฐกิจและทางศาล แม้การบริหารบ้านเมือง
ก็ถูกสะกดให้เดินตามทางของมหาอำนาจในตะวันตกแม้พระจอมเกล้าฯจะทรงพระปรีชาสามารถ แต่ก็ทรงได้รับการยกย่องอย่างเกินความจริงมากไป เพราะความสำเร็จและความล้มเหลวในการเปิดประเทศคราวนี้ ถ้าขุนนางคนสำคัญของฝ่ายตระกูลบุนนาคไม่เห็นดีเห็นงามด้วย ย่อมเป็นไปไม่ได้ และว่าไปทำไม ก็เพราะคนสำคัญในสกุลนี้ นี่แล ที่เป็นตัวกำหนดให้เชิญเสด็จเจ้าฟ้าพระมงกุฎ วชิรญาณเถระ มาเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ความข้อนี้ พระองค์ท่านก็ทรงทราบเป็นอย่างดี ดังมีพระราชดำรัสว่า
“ข้าพเจ้าจึงตั้งเป็นกฎไว้ ข้อหนึ่งว่า ถ้าต้องการจะทำอะไร ประการแรกต้องถามความเห็นของที่ปรึกษาชั้นสูงก่อน ถ้าเขาเห็นดีด้วย ข้าพเจ้าจึงจะทำ ข้าพเจ้าจะไม่ทำอะไรตามใจตนเองโดยขัดกับคำแนะนำของที่ปรึกษานั้นเลย”
แปลจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนของน.ส.นิออน สนิทวงศ์ พ.ศ.๒๕๐๔
อนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
พระหัตถ์ขวาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยเฉพาะในช่วงปลายรัชกาล
และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ได้ปรารภกับเทาน์สเอน แฮริส
ราชทูตอเมริกันว่า”พระเจ้าแผ่นดินที่อ้างพระสถานะโดยพระชาติวุฒินั้น
มักลืมตนว่ากำพืดเดิมก็มาจากประชาชนนั้นเอง
แล้วเลยถือตนว่าสูงส่งกว่าคนอื่น
จนไม่ฟังเสียงในเรื่องความทุกข์ยากจากพสกนิกรของพระองค์ ด้วยเหตุฉะนี้
ราชวงศ์หนึ่งๆ จึงมักอยู่ได้เพียง ๔ ชั่วคน”
(แล้วก็ต้องเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่)
แปลจาก Journal of Townsend Harris ed by Consenza (NY 1930)
(สถาบันพระมหากษัตริย์กับอนาคตของประเทศไทย ของ ส.ศิวรักษ์, มูลนิธิเสฐียรโกเศศฯ พ.ศ.๒๕๔๐ หน้า ๕๒-๕๓)พระจอมเกล้าฯทรงคับแค้น ขัดข้องพระหฤทัยอย่างไรหรือไม่ ที่ไม่ทรงมีพระราชอำนาจอย่างเด็ดขาด ความข้อนี้ไม่มีเอกสารยืนยัน แต่การที่ทรงหมกมุ่นในทางกามคุณจนมีพระราชโอรสธิดาถึง ๘๘ พระองค์ ในขณะที่เมื่อเสวยราชย์นั้น หลังทรงผนวชแล้วถึง ๒๗ พรรษา และสวรรคตเมื่อพระชนม์ ๖๔ เท่านั้นเอง นี่เป็นการหนีจากการแสดงพระราชอำนาจในทางโทสจริตไปหาราคจริตแทนจะได้ไหม และถ้าเจ้าจอมคนไหนขัดขืนพระราชปรารถนา ก็ทรงลงพระราชอาญาอย่างป่าเถื่อนเอาเลย ดังกรณีของเจ้าจอมทับทิม ที่แหม่มแอนนา ลีโอโนเวนส์เขียนบรรยายไว้ แล้วฝ่ายไทยปฏิเสธข้อเท็จจริง แต่ความจริงก็มีอยู่ไว้ให้ผู้ที่สนใจใฝ่รู้จะแสวงหาเอาได้
ถ้าพระราคจริตจะเป็นข้อด้อยของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ (ซึ่งก็ตกทอดมาถึงพระองค์ถัดไป) แต่พระอัจฉริยภาพทางด้านการศึกษานั้น ควรแก่การก้มหัวให้ แม้ศิษย์ผู้เป็นฆราวาสของพระองค์ยังเรียบเรียงเรื่อง กิจจานุกิจ ขึ้นมาใช้อย่างนำสมัยยิ่งนัก จนถึงกับปฏิเสธโลกทัศน์เดิมจาก ไตรภูมิพระร่วง เอาเลย และเรื่องนี้แลที่นายอาลาบาสเตอร์นำไปแปลและตีพิมพ์ในอังกฤษแต่ปี ค.ศ. ๑๘๗๑ ในชื่อว่า The Wheel of The Law ดังอาจถือได้ว่านี่เป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังนานาประเทศเป็นครั้งแรก
ยังคณะธรรมยุติที่ทรงก่อตั้งขึ้นแต่สมัยทรงผนวช ก็ช่วยให้คณะมหานิกายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควรมากขึ้น หากพุทธทัศนะที่ถือว่าต้องเป็นไปตามวิสัยของวิทยาศาสตร์กระแสหลักของตะวันตก ในเวลานั้น อาจปราบอคติของพวกมิชชันนารีได้มิใช่น้อย แต่การที่ถือตามวิทยาศาสตร์มากไป ทำให้พุทธศาสนิกที่หัวก้าวหน้าหมดความเชื่อในเรื่องโลกนี้โลกหน้า ในเรื่องเทวดาอารักษ์ และในเรื่องนรกสวรรค์ ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์กระแสหลัก นี้นับว่าเป็นโทษยิ่งกว่าเป็นคุณ
ยิ่งเมื่อพระราชโอรสซึ่งทรงมาบัญชาการคณะสงฆ์อย่างสิทธิขาดในรัชกาลที่ ๖ โดยทรงรับจัดการศึกษาของคณะสงฆ์แต่รัชกาลที่ ๕ ด้วยแล้ว ทรงเน้นเฉพาะแต่ในทางคันถธุระ โดยไม่คำนึงถึงวิปัสสนาธุระเอาเลย เป็นเหตุให้การศึกษาของคณะสงฆ์ขาดจิตสิกขาไปอย่างน่าเศร้า ทั้งการเรียนการสอนในวงการศาสนา ก็เอาอย่างทางโลก โดยเน้นที่หัวสมอง ให้สอบไล่ได้สูงๆขึ้นไปเพื่อเจริญสมณศักดิ์ หรือเพื่อสึกหาลาเพศไปรับราชการด้วยแล้ว คณะสงฆ์ก็เริ่มอ่อนแอลง การศึกษาของพระสงฆ์เป็นการไต่เต้าให้สูงส่งขึ้น โดยขาดมิติในทางโลกุตระไปอย่างน่าเสียดาย โดยที่คณะสงฆ์นั้นเป็นตัวแทนของธรรมจักร ซึ่งเคยคานอำนาจอาณาจักรไว้มาแต่ไหนแต่ไร แม้ในรัชกาลที่ ๔ พระราชาจะรู้สึกพระองค์ว่าทรงรอบรู้ดีกว่าพระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ แต่ก็ทรงรับคำเตือนจากพระสังฆเถระที่เป็นปราชญ์ทั้งทางโลกทางธรรมอย่างสม เด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง เป็นต้น โดยที่ก่อนหน้านี้ เรามีพระสังฆเถระผู้เป็นมโนธรรมสำนึกของพระราชามาแทบทุกรัชกาล ดังสมเด็จพระวันรัต วัดโพธิ์กับรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระญาณสังวร (ศุข) วัดพลับกับรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดท้ายตลาด กับรัชกาลที่ ๓ เป็นตัวอย่าง โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) วัดประยูรวงศ์ และพระธรรมอุดม (ถึก)วัดโพธิ์ ก็ยังได้
ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๕ นับเป็นครั้งแรก ที่โปรดให้ศาสนจักรอยู่ใต้อาณาจักรอย่างแนบสนิทเอาเลย ดังพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ เป็นพยาน และใช่แต่ทรงเอาชนะพระภิกษุสงฆ์เท่านั้นก็หาไม่ แม้นี่จะเป็นอนันตริยกรรมก็ตามที หากทรงต้องพระราชประสงค์จะทรงเอาชนะขุนนาง ข้าราชการ ที่เคยอุ้มชูพระราชามหากษัตริย์และประคับประคองพระราชวงศ์มาแต่ต้นรัชกาลที่ ๓ จนต้นรัชกาลที่ ๕ ความข้อนี้กลับไม่พอพระหฤทัยเอาเลย และทรงวางแผนทุกอย่างทุกประการ จนทรงสามารถเลิกตำแหน่งวังหน้าเสียได้ และเมื่อสิ้นบารมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์แล้ว ก็ทรงสถาปนาความเป็สมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นได้สมพระราชปณิธาน
การเมืองการปกครองที่ว่านี้คือการเอาอย่างราชาธิปไตยในยุโรป โดยเฉพาะก็รัสเซีย และปรัสเซีย ซึ่งสถาปนาเป็นจักรวรรดิเยอรมันขึ้นมาด้วยแล้ว พร้อมกันไปกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ออสเตรีย โดยไม่ทรงตระหนักเลยหรือว่าราชาธิปไตยที่ว่านี้ กำลังเสื่อมทรามและปลาสนาการไปหลังรัชกาลของพระองค์ท่านอีกไม่นานเท่าไร แม้สหราชอาณาจักรที่โปรดปรานมากนัก ก็ไม่เข้าพระทัยเอาเลยหรือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญญลักษณ์ ในขณะที่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่รัฐบาลและรัฐสภา
การเสด็จยุโรปทั้งสองครั้งในปีร.ศ.๑๑๖ และ ๑๒๖ ทรงได้รับความรู้ทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองน้อยมาก หากทรงพระสำราญกับราชสำนักต่างๆ ดังทรงเข้าพระทัยไปว่าได้ทรงเป็นพระราชาที่เสมอกันกับเจ้าฝรั่งนั้นๆ ไม่ทรงเห็นเลยว่าการที่จักรวรรดิอังกฤษยึดครองเอาอินเดีย แม้จนพม่า ไปเป็นเมืองขึ้นนั้น เป็นความผิดอย่างอุกฤษ กลับทรงเห็นว่าชนชั้นปกครองในประเทศนั้นๆโง่เขลาเบาปัญญาอย่างเทียบกับฝรั่ง ผู้เป็นนายไม่ได้ หน้าที่ของเราคือต้องให้เจ้าไทย แม้จนคนไทยที่มีแววว่าจะเป็นนักปกครองต่อๆไป ได้เรียนรู้เท่าทันฝรั่ง นั้นแลคือทางออกของสยาม
ทรงกำหนดพระหฤทัยไว้อย่างแน่วแน่ว่าบรรดาพระราชโอรส จำต้องทรงได้รับการศึกษาจากยุโรปทุกพระองค์ แม้โอรสองค์โตของพระอนุชาก็จะได้รับสิทธิในทำนองนี้ด้วยเกือบทุกองค์ ทรงหวังว่าเจ้านายเหล่านี้จะค้ำจุนราชบัลลังก์และธำรงรักษาสยามรัฐสีมา อาณาจักรให้ดำรงมั่นในทรงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อๆไปชั่วกาลนาน แม้คนนอกราชตระกูลจำนวนน้อยที่มีแววก็โปรดให้ไปเรียนเมืองนอกด้วยเช่นกัน แต่แล้ว Mr. Scott ซึ่งเป็นคนอังกฤษ ที่อยู่เมืองไทยมานาน ก็กราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อเสด็จลี้ภัยพาลไปประทับ ณ เกาะปีนัง ว่า “พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชของเราได้ทรงทำคุณประโยชน์ประทานแก่ประเทศชาติของ พระองค์อย่างล้นเหลือ ไม่มีสิ่งไรเปรียบพระองค์ได้ ทรงทำผิดแต่เพียงส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศแต่ยังเล็กเกินไปอย่างเดียวเท่า นั้น ควรหรือสิ่งเดียวเท่านั้นแหละ กลับมาเป็นเหตุให้ลบล้างสิ่งที่ประเสริฐสุดของพระองค์ท่านจนหมดสิ้น”
(ความคิดที่ขัดขวางและส่งเสริมประชาธิปไตยของไทย,ส.ศิวรักษ์,อักษรสาส์น ธันวาคม ๒๕๒๙)
ขอให้ย้อนมาดูกรุงเทพฯซึ่งโปรดให้ขยายไปจากเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ทางด้านสวนดุสิต ก็จะเห็นได้ถึงความศรีวิไลของสยาม ที่ลอกแบบฝรั่งมาอย่างจะๆ แม้วัดในทางพุทธศาสนาก็ต้องมีพระอุโบสถซึ่งทำด้วยหินอ่อน ดังพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เช่นกัน สมกับคำละตินที่ว่า เมื่อพระจักรพรรดิออกัสตัสเสวยราชย์นั้น กรุงโรมเต็มไปด้วยอาคารอิฐ ครั้นเมื่อตอนสวรรคต เต็มไปด้วยอาคารหินอ่อน
นอกจากพระราชวังของพระองค์เอง และของมเหสีเทวีแล้ว วังของพระราชโอรสแต่ละพระองค์ก็ตระการตาอย่างอาคารฝรั่งด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วพระอนิจลักษณะก็เข้าแสดงบทบาทให้เห็นได้ไม่ยาก ว่าบรรดาเจ้าของวังนั้นๆ เกือบทุกพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์ไปในชั่วคนเดียวหรือมีอันเป็นให้ต้องนิราศ ร้างไปจากวังนั้นๆ จนวังนั้นๆปราศจากเจ้านายไปในชั่วระยะเวลาอันสั้น ดังที่ราชววงศ์จักรีก็ได้สิ้นความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นแล
III
แม้คำว่า สยาม จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางราชการในรัชกาลที่ ๔ แต่ความเป็นสยามมาปรากฎตัวอย่างชัดเจนก็ในรัชกาลที่ ๕ ดังถึงกับลงพระปรมาภิไธยว่า สยามินทร์ ในขณะที่ในรัชกาลที่ ๔ ทรงเรียกพระองค์ในทางภาษาละตินว่า Rex Siamensis เท่านั้นในรัชกาลที่ ๕ นั้นเป็นครั้งแรก ที่มีการปลุกความสำนึกของราษฎรให้เห็นความสำคัญขององค์พระสยามินทร์ หากในรัชกาลที่ ๔ เรามีแต่พระสยามเทวาธิราช ซึ่งไม่ใช่มนุษย์ ส่วนในรัชกาลที่ ๕ นั้น พระสยามินทร์เป็นยอดของคนสยามและประเทศสยาม สมดังคำสรรเสริญพระบารมี ที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นว่า
ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาล บุญดิเรก เอกบรมจักริน พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณธรักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษฎ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจจะถวายไชย ฉะนี้
(รัชกาลที่ ๖ ทรงแก้ ฉะนี้ เป็น ไชโย)
นับได้ว่านี่เป็นคำโฆษณาชวนเชื่ออย่างอุกฤษ ดังระบบการศึกษาสมัยใหม่
ที่เริ่มในรัชกาลที่ ๕ ก็ยกย่องพระราชามหากษัตริย์อย่างสุดๆ
ซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อน เพราะในทางพุทธศาสนา
ถือว่าพระราชาเป็นตัวแทนของอกุศลมูล ในชาดกแทบทุกเรื่องที่พระแต่งขึ้น
พระราชามักเป็นตัวเลวร้ายด้วยเสมอไป ไม่ว่าจะนิบาตชาดก ที่มาจากชมภูทวีป
หรือปัญญาสชาดกที่มาจากเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อเตือนพุทธศาสนิก
ไม่ให้เข้าไปใกล้ชิดกับอำนาจหรือหลงใหลได้ปลื้มกับทรัพย์ศฤงคาร
ชาวไร่ชาวนาพอใจกับความเป็นคนธรรมดาสามัญที่มีศักดิ์ศรี
โดยไม่ต้องการอ้าขาผวาปีกไปเป็นเศรษฐีหรือเป็นขุนนางจอห์น ครอเฟิร์ด ซึ่งเป็นผู้แทนลอร์ดเฮสติ้ง ที่อินเดีย และเข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้บันทึกไว้ว่า
“คนพวกกึ่งเปลือยกาย ราวกับคนป่าและเป็นทาสพวกนี้ บังอาจจะกล้ารู้สึกตัวว่าเป็นชาติที่สูงสุดในโลก และถือว่า การที่รับใช้ชาวต่างประเทศอย่างคนใช้ในทางใดๆ ก็ดี เป็นการเสียเกียรติอย่างที่สุด” เขายังโกรธเคืองอีก เมื่อเขียนว่า “ตลอด เวลาที่เราพักอยู่ในสยาม ไม่ว่าเราจะอ้อนวอนหรือสัญญาว่า จะให้ค่าจ้างอย่างดีเพียงใด ก็ไม่สามารถจะได้คนไทยมารับจ้างทำงานแม้แต่ในระหว่างคนชั้นต่ำที่สุด” เขาเขียนอีกว่า “คนไทยชาวนาที่ต่ำต้อยที่สุดถือตัวว่ามีฐานะสูงกว่าคนสำคัญชั้นสูงใหญ่โตที่สุดของชาติอื่นๆ” (เจ้าชีวิต , พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ , ริเวอร์บุ๊กส์ พ.ศ.๒๕๕๔ หน้า ๑๒๙)
การรวมศูนย์อำนาจในรัชกาลที่ ๕ และการศึกษาอย่างใหม่ที่เริ่มในรัชกาลนั้น เป็นต้นตอที่มาให้คนในชนบทรู้สึกว่าด้อยกว่าคนในกรุง ทั้งยังแลเห็นว่าชนชั้นสูงมีสถานะอันควรแก่การยกย่องและเอาเยี่ยงอย่าง เพราะพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นและพระเจ้าน้องยาเธอที่จัดการศึกษาทางโลกและ จัดการปกครองบ้านเมืองอย่างใหม่ เช่น กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และที่จัดการศึกษาทางธรรม และการปกครองคณะสงฆ์อย่างใหม่ เช่น กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ล้วนเสนอแนวคิดว่าบ้านเมืองที่ดี ต้องมีพระราชธิบดีที่ทรงคุณธรรมและความสามารถ ให้ทุกๆคนพากันจงรักภักดี นี้แลคือความเป็นไทย พระราชาที่ทรงคุณวิเศษย่อมทรงพระเมตตาปรานีพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ข้าราชการ ตลอดจนสมณพราหมณาจารย์ รวมถึงราษฎรทุกหมู่เหล่า ให้ทุกๆคนอยู่ดีกินดีตามสถานะของตนในลำดับของชนชั้นนั้นๆ เช่น เด็กทุกคนเมื่อเข้าเขตแห่งการเป็นวัยรุ่น ย่อมต้องโกนจุก ถ้าปราศจากทรัพย์ศฤงคารที่จะโกนจุกที่บ้านไม่ได้ ก็ไปโกนจุกได้ที่โบสถ์พราหมณ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งยังได้รับพระราชทานเงินทำขวัญคนละสลึงอีกด้วย ในขณะที่หม่อมเจ้านั้นได้เกษากันต์ พระองค์เจ้าโสกันต์ และเจ้าฟ้าต้องมีเขาไกรลาศเป็นพิเศษออกไป อย่างสิ้นเปลืองเป็นอันมาก ความข้อนี้ ไม่มีใครเห็นว่าขาดความชอบธรรม
ดังพระราชาคณะถือพัดยศยอดแหลม พระครูถือพัดยศไม่มียอด พระเปรียญถือพัดยศหน้านาง ก็ถือว่านั่นเป็นเรื่องของยศถาบรรดาศักดิ์ ดังขุน หลวง พระ พระยา ต้องขยับกันขึ้นไปเป็นขั้นๆนั้นแล
ศักดินาขัตติยาธิปไตยที่ว่านี้ เคยมีแต่ในวังและกับพระที่เข้าวัง แทบไม่มีนอกกรุงออกไป เว้นแต่กรุงเก่า ซึ่งมีเจ้าคณะเป็นถึงพระธรรมราชานุวัตร โดยที่เมืองต่างๆซึ่งห่างไกลออกไป พระรับสมณศักดิ์จากชาวบ้านให้เป็นครูบา ให้เป็นซา เป็นสมเด็จ การเรียนคันถธุระและวิปัสสนาธุระก็ตามสายของครูบาอาจารย์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเมืองกรุงด้วยประการทั้งปวง
ครั้นกรุงแผ่อำนาจออกไปทั้งทางการปกครองและการศึกษา รวมถึงทางเศรษฐกิจ ย่อมกระทบกับการปกครองตนเองของหัวเมืองต่างๆอยู่เองเป็นธรรมดา จนเกิดกบฎผีบุญขึ้นที่อุบลราชธานี กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ และกบฎแขกเมืองปัตตานี เป็นต้น นี่เป็นการมองจากแง่มุมของชนชั้นปกครองในกรุงเทพฯทั้งสิ้น ดังกบฎเจ้าอนุในรัชกาลที่ ๓ ก็เช่นกัน ถ้ามองในแง่มุมของฝ่ายตรงกันข้าม ย่อมแลเห็นได้ไหมว่า เขาไม่ต้องการกินน้ำใต้ศอกและต้องการปกครองตนเองอย่างไปพ้นการครอบงำของ ศักดินาขัตติยาธิปไตยจากกรุงเทพฯ ถ้าความข้อนี้แก้ให้ตกไปไม่ได้ แม้ในบัดนี้แล้ว เราย่อมไม่มีทางที่จะเติบโตเต็มที่สมกับความเป็นมนุษย์ และไม่อาจจัดการบ้านเมืองให้เป็นไปในทางสันติประชาธรรมได้ นี่ไม่เพียงแต่ที่สามสี่จังหวัดภาคใต้เท่านั้นห
สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิ เคยเล่าให้ฟัง ว่าท่านอยากลงมาเรียนที่กรุงเทพฯ ตอนปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อรัชกาลที่ ๖ ทั้งๆที่ท่านอยู่แค่ปักธงไชยนี่เอง ชาวบ้านยังขอร้องไม่ให้ท่านจากบ้านจากวัดไป เพราะกรุงเทพฯมียุงและน้ำก็ไม่สะอาด อาจเป็นโรคห่าตายได้ง่ายๆ ดังท่านพุทธทาสเข้าไปกรุงเทพฯจากไชยา เมื่อปลายรัชกาลที่ ๖ ต่อรัชกาลที่ ๗ แล้ว โดยท่านเห็นต่างไปจากสมเด็จธีร์อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ในขณะที่เจ้าคุณสมเด็จยอมรับสถานภาพอย่างใหม่ของกรุงสยามที่ครอบงำไปถึงคณะ สงฆ์แล้ว พระคุณท่านจึงตั้งใจเรียนภาษาบาลีตามระบบจนสอบได้ประโยค ๙ และรับสมณศักดิ์เป็นขั้นๆจนถึงได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ทั้งๆที่ท่านก็แลเห็นว่าคณะสงฆ์อ่อนแอลงเรื่อยๆ ความขัดกันในบรรดาผู้นำหมู่สงฆ์ และการสยบยอมให้กับนักการเมือง แม้จนเผด็จการอย่าง ส.ธนะรัชต์ ได้เข้ามาปู้ยี่ปู้ยำคณะสงฆ์ โดยเริ่มแต่หัวหน้าคณะรัฐประหาร กับวัดสามพระยามาเอาเลยด้วยซ้ำไป
แม้ท่านพุทธทาสจะได้มีโอกาสพบผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ และสนทนากันเป็นเอกเทศถึง ๔ ครั้ง โดยต่างก็ตั้งความหวังไว้ทางด้านธรรมิกสังคมนิยมกับสังคมสงฆ์และสังคมโลกของ สยามใหม่ แต่พระคุณท่านก็หันหลังให้เมืองกรุง ด้วยการกลับไปตั้งสวนโมกข์ขึ้นที่ไชยา โดยที่นี่น่าจะเป็นความหวังให้สังคมสยาม ในขณะที่ความหวังของคณะราษฎรแต่พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ปลาสนาการไปแล้วกับการรัฐประหาร ปี ๒๔๙๐
IV
เมื่อเกิดการอภิวัฒน์ขึ้นในกรุงสยาม เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น คณะราษฎรได้ประกาศหลัก ๖ ประการ ดังนี้๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
นี่กว่า ๘๐ ปีล่วงไปแล้ว น่าจะต้องถามดูว่าข้อความในหลักทั้ง ๖ นั้น มีอะไรก้าวหน้าหรือถอยหลังไปอย่างไร
๑.เอกราชในทางการเมืองและในทางศาลนั้น รัฐบาลคณะราษฎรได้แก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้สำเร็จในปี ๒๔๘๑ ดังมีเพลงที่ร้องกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้นว่า
๒๔ มิถุนา ยนมหาสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอา รยะประชาธิปไตย
เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญสำเริง รื่นเริงเต็มที
เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์
เวลานี้ เรายังมีเอกราชสมบูรณ์อยู่อีกหรือเปล่า หรือว่าอิสรภาพของรัฐไทยและคนไทยอยู่ภายใต้ฉายาของจักรวรรดิอเมริกันและ จักรวรรดิจีน มิใยต้องเอ่ยถึงบรรษัทข้ามชาติ
ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ มาแล้ว ที่ราษฎรไทยได้สิทธิเท่าเทียมกันอย่างเลิกชนชั้นทางกฎหมายด้วยประการทั้งปวง ศาลไทยที่เคยพยายามให้ความยุติธรรม เพราะเกรงว่าอารยประเทศจะดูแคลนขบวนการยุติธรรม อันจะทำให้เราไม่ได้อิสรภาพในทางศาล ได้สร้างบรรทัดฐานทางการพิจารณาคดีอย่างควรแก่การก้มหัวให้ แม้เมื่อหมดสภาพนอกอาณาเขตไปแล้ว ศาลไทยก็ยังเป็นที่น่าเชื่อถือ ถึงจะเกิดเผด็จการขึ้น ก็ต้องตั้งศาลพิเศษหรือศาลทหารสำหรับชำระคดีนักโทษการเมือง แต่แล้วศาลก็เริ่มเอนเอียงมาแต่เกิดกรณีคดีสวรรคตเรื่อยมา ดังคำแถลงปิดคดีของข้าพเจ้าต่อศาลอาญาคราวที่สุจินดา คราประยูรกล่าวหาข้าพเจ้า ขออ่านถ้อยคำดังกล่าวให้ฟัง ดังนี้
รัฐบาลใช้พยานเท็จปั้นแต่งขึ้นในเรื่องคดีสวรรคต จนผู้บริสุทธิ์ ๓ คนต้องถูกประหารชีวิตไป คือนายเฉลียว ประทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน แม้จะขึ้งถึงศาลฎีกาแล้วก็ตาม ทั้งๆที่ทั้งหมดนี้กระทำไปเพียงเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองคือนายปรีดี พนมยงค์ และก็สมดังคำของนายปรีดีที่ว่า คดีดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะมีการสืบพยานโจทก์ปากสำคัญโดยไม่มีจำเลยหรือทนายจำเลยร่วมฟังอยู่ด้วย เลย ผลก็คือผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ นายตายเปล่า นายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานปากสำคัญนั้น ต่อมาได้ไปบวชพระ และยอมสารภาพผิดว่าตนได้เป็นพยานเท็จ แต่ก็ไม่อาจช่วยชีวิตของผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ นั้นได้แล้ว ดังคดีของข้าพเจ้าคราวนี้ ก็มีพยานเท็จอย่างเห็นได้ชัด แสดงว่ากรมตำรวจแต่สมัยพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จนบัดนี้ จะมีวี่แววที่ดีขึ้นก็หาไม่” (ผจญมาร รสช. ของ ส.ศิวรักษ์, สถาบันสันติประชาธรรม ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๘)
ในบัดนี้ มีใครในแวดวงตุลาการเห็นคุณค่าของการเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจนศาลไทยได้รับ อิสรภาพเต็มที่ในปี ๒๔๘๑ บ้างไหม โฆษกของศาลที่ออกมาให้ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา สัมภาษณ์เมื่อคืนวันที่๑๑-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เรื่องการทุบอาคารศาลฏีกา พูดว่าการเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้น มาจากบารมีของพระเจ้าแผ่นดิน ๓ พระองค์ คือในหลวงรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ซึ่งออกกฎหมายมาให้ฝรั่งรับรอง โดยไม่ยอมเอ่ยถึงบทบาทของคณะราษฎรเอาเลย โดยที่ถ้าไม่มีปรีดี พนมยงค์ สิทธิสภาพนอกอาณาเขตจะยืนยาวไปอีกนานเท่าไร ในขณะที่นายปรีดีเทอดทูนกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยด้วยที่ทรงช่วยในแง่นี้ แต่คนสมัยนี้ลืมบุญคุณคนกันง่ายๆ แล้วจะมีนิมิตรหมายแห่งความเป็นคนดีได้อย่างไร
อย่างน้อย อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา คนปัจจุบันก็ยอมรับว่า
“รัฐธรรมนูญปี ๕๐ มากำหนดบทบาทศาลต่างๆ เช่น ให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ หรือให้ไปคัดเลือกองค์กรอิสระ ก็เลยเอาศาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและความขัดแย้งโดยที่ไม่ถูกต้องเลย
ทำให้ภาพลักษณ์ศาลเสียหายมาก ต้องยอมรับ ปฏิเสธไมได้เลย พอไปยุ่งเกี่ยวกับองค์กรอิสระ มันก็เป็นเรื่องการเมือง มีคนได้คนเสีย หรือการมีศาลฎีกาฯ ที่เป็นศาลเดียวยิ่งทำให้ทุกอย่างพุ่งมาที่ศาลโดยตรง ถ้าแบ่งเป็น ๓ ศาล หรือจะเริ่มต้นที่ศาลอุทธรณ์แล้วไปจบที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา มันก็ยังดี กระบวนการมันยาวหน่อย แต่แบบนี้ศาลเดียว มันรวดเร็วมาก ก็ทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากเห็นบทบาทของศาลก็ยิ่งโต้แย้ง ยิ่งหากผลคำตัดสินไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ก็ยิ่งไปใหญ่ ก่อนหน้านี้ศาลจะเข้าไปเมื่อมีคดีความเท่านั้น การมอบหมายให้ศาลเอาสถาบันทั้งสถาบัน ซึ่งไม่เคยมีการทำมาก่อน พอมาทำแบบนี้ มันเลยเป็นเรื่องใหญ่ แทนที่จะเกิดผลดี กลับเกิดผลเสีย ถูกวิจารณ์ทั้งลบและบวก” (แทบลอยด์ ไทยโพสต์ No 744 ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖)
ข้อความที่ยกมานี้ อย่างน้อยก็แสดงว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาในปัจจุบันกล้าพูดความจริงบางประการ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ก็คือการเรียนกฎหมายในสถาบันต่างๆ แทบไม่มุ่งที่ความยุติธรรมเอาเลย แถมการแต่งตั้งผู้พิพากษา ก็เลือกเอาจากการสอบแข่งขัน โดยที่บุคคลนั้นๆแทบไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการว่าความมาก่อนเอาเลยด้วย ซ้ำ พอขึ้นถึงบัลลังก์ก็มักอ้าขาผวาปีก แสดงอำนาจราชศักดิ์ว่าตนสูงส่งกว่าคนอื่นๆ ยิ่งจะให้ตนเองยอมเข้าไปสัมผัสกับทุกข์ยากของคนในเรือนจำซึ่งแน่นเกินไป และเต็มไปด้วยความฉ้อฉลนานับประการ ย่อมเป็นไปไม่ได้เอาเลย
ถ้าแก้ไขให้ศาลเป็นอิสระเสรีและมีความยุติธรรมอย่างประกอบไปด้วยการุ ณยธรรมไม่ได้ สังคมย่อมไม่มีความหวัง ดังระบบเศรษฐกิจของสังคมสยามก็ล้มเหลวไปแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมรับ เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ยิ่งบัดนี้มีบรรษัทข้ามชาติและจักรวรรดิอเมริกันและจักรวรรดิจีนเข้ามา ปู้ยี่ปู้ยำระบบเศรษฐกิจของเราอีกด้วย แค่ปลดแอกอันนี้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่สังคมสยามจะคงความเป็นไทไว้ได้
๒.ความปลอดภัยในบ้านเมืองเวลานี้ มีน้อยกว่าเมื่อ ๘๐ ปีก่อนยิ่งนัก ทั้งนี้เพราะระบบราชการล้มเหลวและผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลายเป็นผู้ทำลาย สันติราษฎร์ไปแล้ว โดยขบวนการยุติธรรมทั้งหมดก็สั่นคลอนรวนเร ยังสื่อสารมวลชนกระแสหลักก็เน้นในทางโทสจริต ราคจริต และโลภจริต โดยมีโมหจริตเป็นเจ้าเรือน ซึ่งรวมถึงระบบการศึกษาอีกด้วย มิใยต้องเอ่ยถึงว่า ระบบเจ้าขุนมูลนายได้คืนกลับมา โดยเฉพาะก็แต่ส.ธนะรัชต์ยึดอำนาจ
๓. ดังได้กล่าวแล้วว่า การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจนั้น คณะราษฎรล้มเหลวแต่เมื่อไม่รับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมา พิจารณานั้นแล้ว และคำอ้างของทักษิณ ชินวัตรที่ว่าจะเกื้อกูลคนยากคนจนนั้น เป็นถ้อยคำที่หลอกลวงอย่างมีอันตรายยิ่งนัก
ใช่แต่เท่านั้น การที่เราเชื่ออเมริกันว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะอาศัยสังคมอุตสาหกรรม ทำให้เราทิ้งเกษตรกรรมอันเป็นเนื้อหาสาระเดิมของวัฒนธรรมสยามไปอย่างน่า เศร้าสลดที่สุด ดังคำว่า พัฒนา ได้เข้ามาทำลายธรรมชาติ และเอาเปรียบชาวไร่ชาวนา ตลอดจนวิถีชีวิตอันเรียบง่ายตามชนบทอย่างเลวร้ายยิ่ง รวมถึงการทำลายพุทธศาสนาอย่างถอนรากถอนโคน โดยคนส่วนใหญ่ไม่แลเห็นเอาเลย
๔. สิทธิอันเสมอภาคกันนั้นเป็นคุณภาพที่สำคัญยิ่งของระบอบประชาธิปไตย และมีอยู่ในคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้ามาก่อนแล้ว หากถูกระบอบศักดินาขัตติยาธิปไตยทำลายลง และระบบการศึกษาในปัจจุบันก็ช่วยทำลายลงอีกด้วย แม้จนสื่อมวลชนกระแสหลักก็เน้นไปทางด้านความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และวัฒนธรรมแห่งการมอมเมา อันโยงไปถึงไสยเวทวิทยา ผนวกไปกับลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม อย่างน่ารังเกียจยิ่งนัก
๕. เสรีภาพจะมีได้ก็ต้องกล้าท้าทายความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ และศักดินาขัตติยาธิปไตยในทุกรูปแบบ ผู้คนต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ต้องเน้นที่สัจจะ อย่างไม่สยบยอมให้กับนายทุน ขุนศึก หรือเจ้าเหนือหัวใดๆทั้งสิ้น ต้องเน้นการอภิปราย การวิพากษ์วิจารณ์ การรับฟังจากอีกฝ่ายแม้จะไม่เห็นด้วย ก็ควรเคารพทัศนคติที่ต่างไปจากเรา
นักการศึกษาและนักสื่อสารมวลชน ตลอดจนคนที่ถือตนว่ามีเกียรติ และมีทรัพย์ศฤงคารทั่วๆไป ล้วนหลอกตัวเองแทบทั้งนั้นว่าตนมีเสรีภาพ ทั้งๆที่ตนเองยอมไกล่เกลี่ยกับความกึ่งจริงกึ่งเท็จ อย่างไม่กล้าแสวงหาสัจจะกันอย่างจริงจัง เช่นมีใครกล้าเอ่ยถึงการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ อย่างจังๆบ้างไหม แม้เจ้าชาย ๔ องค์ที่เป็นหลานเธอในรัชกาลปัจจุบันซึ่งอยู่นอกประเทศ ยังไม่กล้าเอ่ยถึง ยังการที่คนเล็กคนน้อยอย่างเจริญ วัดอักษร ที่ถูกฆ่าตายอย่างเป็นปริศนานั้นเล่า มิใยต้องเอ่ยถึงคนอื่นๆที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอีกเป็นอันมาก โดยเฉพาะก็ชนกลุ่มน้อย และคนปลายอ้อปลายแขม เราก็ลืมความอยุติธรรมในสังคมไปเสียได้อย่างสนิท แล้วนี่หรือคือการมีเสรีภาพในการแสดงออก ให้สมกับคนที่มีอิสรภาพ
พูดไปทำไมมี จำเดิมแต่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ลี้ภัยไปอยู่เมืองจีนนั้นแล้ว ที่สื่อมวลชนของเราขาดอิสรภาพ เสรีภาพเรื่อยมา ดังความกล้าหาญทางจริยธรรมในแวดวงของโทรทัศน์ ก็มีอยู่เพียงคนเดียวก็ว่าได้คือนายสรรพสิริ วิริยะสิริ เรามีเสรีภาพปลอมจากคนอย่างคึกฤทธิ์ ปราโมช จนตราบเท่าทุกวันนี้
๖. การศึกษาในเวลานี้ คือการมอมเมาเราดีๆนี่เอง สอนให้คนอยากไต่เต้าเอาดีในทางทรัพย์ศฤงคารและอำนาจวาสนา ยิ่งกว่าการแสวงหาสัจจะ โดยสอนไม่ได้ในทางจริยธรรมด้วยประการทั้งปวง ทุกมหาวิทยาลัยล้มเหลว ผลิตคนให้เป็นยนตรกรรม ยิ่งกว่าการเป็นมนุษย์ที่เอื้ออาทรต่อคนอื่น สัตว์อื่นและธรรมชาติทั้งหมด ควรต้องมองไปยังการศึกษาทางเลือก ให้เกิดไตรสิกขาอย่างสมกับกาลสมัยแล้วละกระมัง
ในที่นี้ ขอแนะนำเรื่อง ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่ง อภิวัฒน์ รัตนวราหะเป็นบรรณาธิการ(คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ๒๕๕๖) ซึ่งชี้แจงแสดงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในหลายปริบท นับว่าน่าอ่านนัก
V
การแก้ไขสังคมสยามหรือสังคมโลก รวมถึงตัวเราแต่ละคน
ต้องเริ่มที่การศึกษานั้นแลเป็นประการแรก เราต้องรู้จักตัวเราเองก่อน
เพราะการเรียนตามแบบตะวันตก เรารู้จักแต่ภายนอก เราใช้แต่หัวคิด cogito
เราไม่รู้จักใช้หัวใจ ทั้งๆที่การหายใจนั้นสำคัญสุดสำหรับการดำรงชีวิต
เราแต่ละคนต้องการหายใจฉันใด สรรพสัตว์ และธรรมชาติ ก็ต้องการหายใจฉันนั้น
ถ้าเรารู้จักหายใจอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเอาความสงบเข้าไป (สมถะ) แล้วเดินลมหายใจจนรู้จักตรวจตราตัวเราอย่างไม่ติดยึด (วิปัสสนา)
รู้ข้อบกพร่องและจุดอ่อนของเรา
แล้วแก้ไขให้เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างจริงใจ
พร้อมทั้งแลเห็นว่าอัตตาเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ
หากเรียนรู้ที่จะโยงใยถึงคนอื่น สัตว์อื่น
อย่างต่อเนื่องกันไปทางอิทัปปัจจยตา อย่างแลเห็นบุญคุณของคนอื่น สัตว์อื่น
แม้ศัตรูที่มุ่งร้ายต่อเรา เขาก็มีบุญคุณ ที่อุดหนุนให้เรารู้ตัวทั่วพร้อม
ฝึกฝนที่จะไม่เกลียดเขา ไม่โกรธเขา โดยรู้จักแปรความเกลียดให้เป็นความรัก
แปรความโลภให้เป็นการให้ และแปรความหลงให้เป็นความรู้อย่างเป็นองค์รวมพระพุทธเจ้าตรัสว่า เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ปู่ย่าตายายเราสวดเมตตากรณียสูตรเป็นนิจ เมื่อเร็วๆนี้ พระพม่าก็สวดบทนี้ ขณะที่ท่านท้าทายอำนาจรัฐอันเป็นเผด็จการ แม้ทหารและตำรวจจะตีท่าน ทรมานท่าน เปลื้องจีวรท่าน ท่านก็สวดบทนี้ตลอดไป ดังจะถือว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พม่าหันมาทางประชาธิปไตยในบัดนี้ จะได้ไหม
บทสวดนั้น ตอนหนึ่งแปลได้ความว่า
“มารดาถนอมบุตรคนเดียวของตนด้วยชีวิต ฉันใด บุคคลพึงเจริญเมตตาจิตไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น”
และพระสูตรนี้ขึ้นต้นด้วยความว่า
“ผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประสงค์จะบรรลุแดนสงบ พึงอบรมสิกขาสาม ผู้นั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นคนตรง แน่วแน่ ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่ถือตัว”
มาฝึกตนให้เป็นคนที่มีคุณลักษณะดังกล่าวนี้ได้ไหม
ถ้าเรารู้จักปรับเปลี่ยนตัวเราได้ นี่คือปฐมฐานแห่งการศึกษา โดยอาศัยกัลยาณมิตรเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกจากภายนอก ที่คอยบอกเรา คอยเตือนเรา ด้วยถ้อยคำที่เราไม่อยากฟัง แต่ถ้าฟังแล้วเกิดสำนึก ก็จะช่วยปรับปรุงตัวเราให้ดีขึ้น
ความเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน จะช่วยให้มนุษย์งอกงามขึ้น มีศักยภาพยิ่งๆขึ้น และถ้าเราเป็นชนชั้นกลาง ควรออกไปหากัลยาณมิตรจากชนชั้นล่าง ซึ่งจะช่วยให้เราเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ให้ได้แลเห็นว่าเขาเหล่านั้นถูกโครงสร้างทางสังคมเอาเปรียบในทุกๆทาง ในนามของการพัฒนา ชนชั้นบนกล่าวหาว่า พวกเขาล้าหลังและไร้การศึกษา ทั้งยังเกียจคร้านและยากจน ทั้งๆที่เขารวยน้ำใจและส่วนใหญ่ขยันหมั่นเพียร ทั้งพวกเขายังใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยวิถีชีวิตของเขาก็อยู่กันอย่างเป็นชุมชน ที่มีศักดิ์ศรีดีกว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูง แม้พวกเขาจะถูกท้าทายและถูกปู้ยี่ปู้ยำมามิใช่น้อย แต่เขาก็ยังมีศักดิ์ศรีและเขารวมตัวกันเป็นสมัชชาคนจนเอย เป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างที่เมืองกาญจน์เอย เป็นกลุ่มต่อต้านเหมืองโปแตสอย่างที่อุดรเอย ต่อต้านท่อแก๊สอย่างที่สงขลาเอย รวมถึงชุมชนที่รักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนและศักดิ์ศรีของผู้คนดังที่บ่อนอก และบ้านกรูดเอย ผู้คนในชั้นรากหญ้าเหล่านี้แลคือคำตอบของสังคมสยาม ดังเราอาจโยงใยผู้คนเช่นนี้ไปที่ลาว เขมรและพม่า ก็จะเห็นได้ว่า ราษฎรต่างก็มีศักยภาพปานๆกัน แม้จะโดนเผด็จการหรือนายทุนคุกคาม เขาก็ต่อสู้อย่างน่าชื่นชม ศาสนธรรมและวัฒนธรรมประจำถิ่น มีความสำคัญสำหรับพวกเขา ดังทัศนคติในทางบวกและการให้ยิ่งกว่าการรับของชุมชนพวกนี้น่ายินดีปรีดานัก เราควรดูไปที่ลาดั๊กกับเกเรร่าในอินเดีย และภูฐาน เป็นต้น แม้วัฒนธรรมในดินแดนนั้นๆจะถูกทำให้สั่นสะเทือนไปมากแล้ว แต่ Gross National Happiness ก็ยังมีค่าและน่าสมาทานยิ่งนัก Gross National Product เป็นไหนๆ
แม้ในทางตะวันตก ซึ่งเน้นไปทางวิทยาศาสตร์กระแสหลัก และเทคโนโลยี่ ตลอดจนระบบเศรษฐกิจที่ผนวกไปกับโลภจริต ระบบการเมืองที่ผนวกไปกับโทสจริต และระบบการ
เรียนรู้ที่ผนวกไปกับโมหจริต แต่แม้ในดินแดนนั้นๆอย่างสหรัฐและยุโรป ก็มีชุมชนทางเลือกมากยิ่งขึ้นทุกที เยาวชนคนรุ่นใหม่ แม้ในสถาบันการศึกษากระแสหลัก ก็มีเวลาภาวนาให้รู้จักใช้ลมหายใจมาสะกดให้หัวสมองเชื่อง ให้ลดความเห็นแก่ตัว เพื่อมุ่งความสุขของผู้อื่น และสัตว์อื่นยิ่งกว่าตน โดยที่เยาวชนคนเหล่านี้ยังมีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้ยากไร้ในดินแดนต่างๆอีก ด้วย ดูนี่จะเป็นความหวังที่สำคัญ
ถ้าชาวสยาม แม้ไม่ใช่คนไทย มองให้กว้างไกลออกไปยังเพื่อนบ้าน ทั้งที่ใกล้และไกล โดยเรียนรู้จากกันและกัน อย่างเป็นกัลยาณมิตรกัน นั่นจะพยุงสถานะของความเป็นมนุษย์ให้เราทุกๆคน
แม้เมืองจีน ซึ่งมีพรรคคอมมูนิสต์อย่างเป็นเผด็จการ ผู้คนก็เริ่มแสวงหาสัจจะมากยิ่งๆขึ้น และคนรุ่นใหม่เกิดความกล้าหาญทางจริยธรรมยิ่งๆขึ้น กล้าท้าทายอำนาจรัฐอันฉ้อฉลมากยิ่งขึ้น โดยที่รัฐบาลอเมริกันซึ่งอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย สมัยบุชเรืองอำนาจมาสองรัชกาล ก็มีความเป็นเผด็จการอย่างฉ้อฉลมิใช่น้อย คล้ายกับรัชสมัยของแทตเชอร์และแบลร์ ที่อังกฤษ แต่แล้ว ผู้คนก็เริ่มตื่นขึ้นยิ่งๆขึ้นแล้ว และรัฐบาลต่างๆก็หมดความชอบธรรมยิ่งๆขึ้นด้วยแล้วเช่นกัน
แม้อำนาจนิยม ทุนนิยม และบริโภคนิยม คงจะไม่ปลาสนาการไปได้ง่ายๆ แต่ถ้ามีการกล้าท้าทายอย่างถูกวิธี โดยมีการตีไปที่โครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรงอย่างจังๆ โดยใช้สัจจะและอหิงสา นี้น่าจะเป็นคำตอบ
รัชกาลที่ ๕ เสด็จไปอินเดียในปีสุดท้ายที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ทรงเรียนรู้อย่างฉกรรจ์มาจากบริติชราชย์ ๓ ประการ คือ (๑)
ต้องใช้การศึกษามอมเมาให้ผู้คนสยบยอมกับชนชั้นปกครอง (๒)
ต้องรวบอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง (๓) ต้องมีกองทหารที่สามารถ
ไว้ปราบปรามพวกที่ขัดขวางการรวบอำนาจดังกล่าว*
*ดู ลอกคราบเสด็จพ่อ ร.๕ ของ ส.ศิวรักษ์ ประกอบโทษสมบัติทั้งสามประการนี้ ยังมีอยู่กับชนชั้นปกครองของเราจนตราบเท่าทุกวันนี้ เราไม่เคยมองไปที่อินเดียเลยว่า รัฐธรรมนูญของเขานั้นร่างโดยคนจัณฑาล ที่หันมาถือพุทธและรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังดำรงคงอยู่ตลอดมา โดยไม่มีการเลิกล้มไป ยังคนจัณฑาลที่หันมาสมาทานพุทธศาสนาก็มีเป็นล้านๆคน อย่างน่าสนใจยิ่ง แต่คนไทยที่ไปอินเดียไม่ได้ตระหนักถึงความข้อนี้เอาเลย เพียงแต่ไปสังเวชนียสถานอย่างเป็นนักทัศนาจร ที่อ้างว่าไปแสวงบุญเท่านั้นเอง ยิ่งขบวนการสรรโวทัยของคานธี ตลอดจน สัตยาเคราะห์ และ ไฮน์สวาราช ของท่าน ก็ไม่ได้เข้ามาสู่ญาณของชนชั้นนำในเมืองไทยเอาเลย ยิ่งในบัดนี้ ขบวนการที่ราชาโคปาลปลุกมโนธรรมสำนึกของชุมชนรากหญ้าทั่วภารตประเทศให้ตื่น ขึ้นมา เพื่อท้าทายอำนาจรัฐอย่างสันติวิธี โดยเรียกร้องต้องการให้ทุกๆคนมีที่ทำมาหากินอย่างมีศักดิ์ศรี กำลังได้ผลอย่างน่าเอาเยี่ยง ถ้าผู้นำในขบวนการเสื้อแดงและเสื้อเหลืองหันมาหาราษฎรส่วนใหญ่ โดยลงไปเรียนรู้จากชุมชนรากหญ้านั้นๆ และรวมพลังกันเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของราษฎร นี่ย่อมเป็นไปได้
ในขณะที่ราษฎรไร้ที่น่าคาที่อยู่ แต่นายทุนมีที่ทิ้งไว้อย่างเป็น absentee landlords เป็นจำนวนมาก นี่มีความชอบธรรมละหรือ ในขณะที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินราวๆ ๓๐% ของที่ดินทั้งหมดในเมืองกรุง แล้วไล่คนเช่าที่เดิมออกไปอย่างไร้มนุษยธรรมเพื่อให้นายทุนและบรรษัทข้าม ชาติเข้ามาเช่าอยู่ในอาคารอย่างใหม่ นี่ถูกต้องแล้วละหรือ ในขณะที่คนอย่างนายเจริญ สิริวัฒนภักดีมีที่ดินมากยิ่งๆขึ้นทุกที รวมทั้งการสร้างคอนโดมิเนียมที่ขยายไปเรื่อยๆ โดยคนเล็กคนน้อยถูกเอาเปรียบด้วยประการต่างๆนั้น เราจะปล่อยให้สภาพเช่นนี้ดำรงคงอยู่ต่อไป อีกละหรือ
ถ้าเราเรียนรู้จากขบวนการประชาชนของคนอินเดีย เราก็ควรเรียนรู้จากรัฐบาลธิเบตในประเทศนั้นบ้างก็ยังได้
โดยเราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลพลัดถิ่นสำคัญนัก ดังนายปรีดี พนมยงค์ก็พยายามตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่น สมัยญี่ปุ่นยึดครองบ้านนี้เมืองนี้ และรัฐบาลพลัดถิ่นของนายพลเดอโกลด์ก็กู้ชาติฝรั่งเศสให้ได้เป็นอิสระเสรี ขึ้นมาได้ โดยเราเข้าใจใช่ไหมว่ารัฐบาลธิเบตพลัดถิ่น ก็อาจได้อำนาจในการปกครองตัวเอง แม้จะไม่ได้เป็นเอกราชอันสมบูรณ์ก็ตาม
รัฐบาลธิเบตนอกประเทศอาจไม่มีความหมายสำหรับคนที่ติดอยู่กับอำนาจและการ เมืองการปกครองในกระแสหลัก โดยเราต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจกระแสหลักก็กำลังถึงซึ่งความอับปาง ดังการเมืองการปกครองกระแสหลักด้วยเหมือนกัน แม้ธิเบตจะถูกจีนปู้ยี่ปู้ยำมา
กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว หากการต่อสู้ด้วยสัจจะและอหิงสาของธิเบตอาจได้รับความสำเร็จก็ได้ ดังขบวนการของคานธี ถ้าเนห์รูไม่รีบรวบอำนาจเร็วเกินไป จนเขาเองกลายเป็นตัวแทนของจักรวรรดิอังกฤษไปภายหลังได้รับเอกราช สัตยาเคราะห์ และ ไฮน์สวาราช ของคานธี อาจจะเป็นคำตอบให้อินเดียและโลกก็ได้ แทนที่อินเดียจักกลายไปอยู่ใต้จักรวรรดิอเมริกันอย่างในปัจจุบัน
โดยที่ไทยเราได้อยู่ใต้จักรวรรดิอเมริกันเป็นมาก่อนอินเดียเกือบกึ่ง ศตวรรษ และบัดนี้เรายังเพิ่มการอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิจีนและบรรษัทข้ามชาติเข้า ไปอีกด้วย
ถ้าเราจะปลดแอกให้ตัวเราเอง เราต้องหาอิสรภาพให้ตัวเราดังได้กล่าวมาแล้ว และถ้าเราจะมองหาแบบอย่างสำหรับสยามในอนาคต น่าจะลองมองไปที่ลาดั๊กและที่ภูฐาน ตลอดจนรัฐบาลธิเบตพลัดถิ่น นี่อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีกว่าชนชั้นนำในสมัยราชาธิปไตยของสยามที่มองไปยัง เมืองแก้ว อันกล่าวแล้วคือสหราชอาณาจักรอังกฤษ ทั้งๆที่ชนชั้นนำนั้นๆก็เข้าใจอังกฤษได้ไม่ตลอด หรือในสมัยหลังๆมานี้ เรามองไปที่สหรัฐอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์เอาเลย
ถ้าจะมองไปที่รัฐบาลธิเบตพลัดถิ่น เพียงดูนโยบายของเขา ก็น่าเอามาปรับใช้ได้บ้างดอกกระมัง
๑.รัฐบาลธิเบตอุดหนุนให้ผู้คนประกอบสัมมาชีพ แม้การเลี้ยงสุกรและเป็ดไก่ รัฐก็ไม่สนับสนุน มิใยต้องเอ่ยถึงการผลิตอาวุธ ยาพิษ ยาบ้า ฯลฯ แล้วธนาคารเล่า ควรลดการเอาเปรียบคนฝากเงินได้อย่างไรบ้าง
๒.กิจกรรมใดๆ ควรเป็นไปในทางที่เป็นคุณกับโลกสีเขียว ในทุกๆทาง
๓.การพัฒนาต้องเป็นไปในทางด้านความยั่งยืนทุกอย่าง ทุกประการ ความข้อนี้ ภิกขุ
ปยุตฺโตได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนมาก ในเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน ของพระคุณท่าน ดังหนังสือภาษาอังกฤษเล่มใหม่ของข้าพเจ้า ก็มีชื่อว่า The Wisdom of Sustainbility : Buddhist Economics for the 21st Century
๔.กิจการใดๆที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ยากไร้ ต้องไม่ดำเนินไป อะไรๆที่เป็นไปเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ควรได้รับการสนับสนุน
สี่ข้อนี้น่าจะเป็นอุทธาหรณ์สำหรับพวกเรา ดังเราควรกลับไปหาหลักหกประการของคณะราษฎร แล้วแปลความหมายมาให้สมสมัยอีกด้วย
๔ บวก ๖ เท่ากับ ๑๐ จากปัญญาชนหมายเลข ๑๐ จึงควรยุติคำบรรยายลงได้ด้วยประการฉะนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น