แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

เสวนา "แนวทาง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง" - สังคมต้องเป็นผู้ตัดสิน !!

ที่มา Thai E-News



วันที่ 24 มี.ค. 56 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง” โดยมี กิตติศักดิ์ ปรกติ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ และ โคทม อารียา ร่วมเสวนา ทั้งนี้ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการเสวนา  
การพูดถึงสถานการณ์ความขัดแย้งอันนำมาซึ่งความรุนแรงภายใต้ความพยายามของหลายฝ่ายที่จะผลักดันกฎหมายในรูปพ.ร.บ.นิรโทษกรรม/ปรองดองเพื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แต่ก็มีปฏิกิริยาจากหลายภาคส่วนของสังคมเช่นกัน ที่ตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์ที่แฝงเร้นและกระบวนการผลักดันว่าเป็นไปเพื่อประชาชนและสังคม หรือเป็นไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง
ภายใต้สภาวการณ์ที่คลุมเครือเช่นนี้ การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อหวังเป็นทางออกของประเทศ แต่หากสังคมยังไม่สามารถสร้างบรรทัดฐาน/ข้อตกลงร่วมกันได้เสียก่อน ทางออกดังกล่าวก็อาจกลายเป็นทางตันและอาจนำมาสู่วิกฤตทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้
นิรันดร์ "กฎหมาย ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการปรองดอง"
 
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เน้นย้ำความสำคัญของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมภาคประชาชนในขณะนี้ว่า ควรเป็น "การสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองเสียใหม่"
เพราะที่ผ่านมาการออกกฎหมายดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง เพราะการนิรโทษกรรมของไทยที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือของผู้ถือชัยชนะทางการเมือง เป็นเพียง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” และหลายครั้ง ความยุติธรรมถูกกำหนดโดยกรอบของวัฒนธรรมความเป็นไทย คือ ขอให้เรื่องจบไปเสีย อย่ารื้อฟื้นหรือแก้แค้น ฉะนั้นภายใต้ประวัติศาสตร์ของความรุนแรง ความจริงจึงปรากฎตัวให้สังคมรับรู้น้อยมาก
นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า ช่วงเวลานี้ค่อนข้างเหมาะสม ที่จะพูดถึง การนิรโทษกรรม แต่การที่นักการเมือง หรือ ส.ส. มองว่า “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การปรองดองได้นั้น เป็นความคิดที่ผิด การปรองดองต้องทำเป็นกระบวนการเป็นขั้นตอน และกฎหมายจะเป็นส่วนสุดท้าย โดย รัฐต้องสร้างบรรยากาศของความไว้วางใจให้กับประชาชน ไม่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องตนเอง กฎหมายต้องให้ประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องสร้างความไว้วางใจให้กับสาธารณะ
ส่วน “บรรทัดฐาน” ที่สังคมไทยควรทำให้เกิดขึ้นนั้น นิรันดร์ กล่าวว่า คือ  “ความรับผิด” ของรัฐ-ในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ แล้วผลของการใช้อำนาจดังกล่าวไปละเมิดประชาชนหรือกลุ่มทางสังคมทั้งเหลือง-แดง ที่ผ่านมา นักการเมือง “รับชอบ” โดยปราศจาก “การรับผิด” อีกทั้งยังต้องอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเรื่อง “สิทธิ” ด้วย
นิรันดร์ เสนอว่า แนวทางการปรองดอง ควรมี ดังนี้
1.    ผลักดันให้เกิด “ประชาเสวนา” สร้างพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ซึ่งถือเป็นสิทธิหนึ่งของประชาชน ซึ่งหากประชาชนในแต่ละฝ่าย แต่สีเสื้อมีพื้นที่พูดคุยกัน จะทำให้เกิดการยอมรับการอดทนอดกลั้น มีการสร้างข้อตกลงเบื้องต้นในการนิรโทษกรรมกัน ซึ่ง นิรันดร์ เสนอว่า ไม่ควรรวมการทุจริต แต่ควรรวมการใช้สิทธิการชุมนุมทางการเมือง
2.    สิทธิ ในการรับรู้ความจริง ควรมี คณะทำงานเพื่อหาความจริงว่า ใครคือ ชายชุดดำ พล.อ.ร่มเกล้า, คนเสื้อแดง เสียชีวิตอย่างไร และเกิดอะไรในวัดปทุมวนาราม ซึ่งแม้จะมีรายงานจาก คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ทาง ดีเอสไอ กลับไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดในทางปฏิบัติ
3.    สิทธิในการเอาคนผิดมาลงโทษ นิรันดร์ กล่าวว่า การที่สังคมไทยติดกับคำอธิบายที่ว่า “จะต้องไม่จองเวรกัน” ทำให้คนทำผิดลอยนวล และอาจทำให้เกิดอาชญากรรมซ้ำซาก
4.    สิทธิในการได้รับการชดเชยเยียวยา นิรันดร์ เสนอว่า ต้องมองให้ไปจากการให้เงิน เพราะสุดท้าย สิ่งที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องการมากที่สุด คือ “ความจริง” ว่า ครอบครัวหรือคนที่เขารักนั้น เสียชีวิตอย่างไร ใครเป็นคนทำ การชดเชยเยียวยาเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการปรองดอง ที่ต้องทำแต่ละขั้น คือ มีการจัด ประชาเสวนา  การค้นหาความจริง การนำคนผิดมาลงโทษ และ การชดเชยเยียวยา ซึ่งหากเยียวยาโดยการให้เงินอย่างเดียว อาจเป็นการ “เอาเงินปิดปาก”
นิรันดร์ กล่าวสรุปว่า การปรองดองหาทำตามกระบวนการข้างต้นที่กล่าวว่า กฎหมายจะมีความสำคัญเป็นลำดับสุดท้าย ในฐานะเครื่องมือที่นำมาสู่การปรองดอง แต่ถ้าออกกฎหมายโดยไม่ดำเนินตามหลักสิทธิข้างต้น กฎหมายที่ออกมาจะทำให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝักฝ่าย เกิดความไม่ไว้วางใจมากขึ้น และย่อมไม่นำไปสู่การปรองดอง
นอกจากนั้น จะต้องไม่ละเลย การปฏิรูปหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิด ตุลาการภิวัฒน์ เผด็จการรัฐสภา รัฐประหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมไม่อาจแก้ได้ด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม ประชาชนที่ได้รับผิดกระทบ ในฐานะหญ้าแพรกจะไม่แหลกลาญเมื่อช้างสารชนกัน ต้องลุกขึ้นมาปรับแก้โครงสร้างที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนต้องมีบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น
 
อดุลย์ "ผมไม่ให้น้ำหนักการฝ่ายการเมือง - สังคมต้องเป็นผู้ตัดสินเรื่องนี้"
 
อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ’35 เสนอว่า ประเด็นการนิรโทษกรรมนั้น ไม่ให้น้ำหนักกับฝ่ายการเมือง เพราะความเห็นจากทางฝั่งการเมืองทั้งสองสีสองพรรค รวมไปถึงทหาร ไม่เคยพูดในเรื่องเดียวกัน ฉะนั้นควรให้ความสนใจกับภาคประชาชน สังคมจึงควรเป็นผู้ตัดสินในเรื่องนี้ ซึ่งการที่ออกแถลงการณ์และมีการระดมความเห็นจากประชาชนนาภาคส่วนต่างๆ ทำให้ได้ข้อสรุปดังนี้
1 สังคม ขานรับ การออกเป็น พ.ร.บ.
2 ต้องระบุเขตเขตของผู้ได้รับการ นิรโทษกรรมว่า ในภาคประชาชนจะมีใครบ้าง ซึ่งประชาชนผู้ทำผิด พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรได้รับการนิรโทษกรรม หรืออย่างน้อยควรได้รับการประกันตัวออกไป
อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ขอบเขตดังกล่าว ต้องไม่รวมคน กลุ่มที่จะไม่ได้รับอานิสงค์จากการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องผ่านกระบวนการหาความความจริง คือ1) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ในขณะเกิดเหตุการณ์ 2) แกนนำกลุ่มเสื้อแดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 3) นายทหารระดับสั่งการจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)  และ 4) ฝ่ายค้านในขณะที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในขณะนั้น (พรรคเพื่อไทย)
อดุลย์ กล่าว ทิ้งท้ายว่า จะต้องเป็นการสมานฉันท์ของภาคประชาชน ไม่ใช่การสมานฉันท์ของภาคการเมือง 

 
กิตติศักดิ์ "ควรใช้รูปแบบ นิรโทษกรรมแบบแอฟริกาใต้"
 
กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวยกปรากฎการณ์ความขัดแย้งที่เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์ และนำมาสู่การปรองดองมา 3 กรณี ด้วยกัน คือ
1. ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อทางการเมือง
ในสงครามการเมืองที่สหรัฐอเมริกา ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา 4 ฉบับ โดยฉบับแรกออกในสมัยของประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น โดยเป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่รวมในส่วนของแกนนำและผู้สั่งการ ซึ่งในเวลาต่อมาเกิดความขัดแย้งกันภายในขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีอาการออกกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาอีก 4 ฉบับ ในสมัยของประธานาธิบดี แอนดรู จอห์นสัน ที่มีเนื้อหาขยายการนิรโทษกรรมไปจนครอบคลุมทั้งหมด
2. ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนผิวสีและคนขาวในประเทศแอฟริกาใต้
ที่สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายผิวสี แต่เมือคนผิวสีได้รับชัยชนะแทนที่จะล้างแค้นคนผิวขาว แต่กลับออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมนั้นต้องร้องขอผ่านคณะกรรมการนิรโทษกรรม โดยให้ผู้ที่จะขอการนิรโทษกรรมต้องให้การตามความเป็นจริงตามความผิดที่ได้กระทำหรือการกระทำที่อาจสงสัยได้ว่าจะเป็นความผิด และให้เปิดเผยคำให้การนั้นให้สาธารณะชนได้รับทราบ
3. การปรองดองระหว่างคณะราษฎร์ - คณะเจ้า
เป็นการปรองดองระหว่าคณะราษฎรกับคณะเจ้านายหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม เนื่องจากในขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คณะเจ้า และฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อยู่ในต่างประเทศร่วมมือกับคณะราษฎรที่อยู่ในประเทศไทยจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น และในเวลาต่อมาได้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ.2488
เราควรแสวงหาแนวทางในการปรองดองอย่างไรในสังคมไทย ??
กิตติศักดิ์ เสนอทางเลือกทั้งหมด 3 แนวทาง แนวทางแรกคือ การนิรโทษกรรมแบบไม่มีข้อจำกัด ซึ่งผลที่ตามมาคือเกิดการวิจารณ์ว่าท้ายที่สุดคนที่กระทำผิดจะไม่ได้รับโทษ แนวทางที่สองคือ การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข ซึ่งมีข้อดีคือ คนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็จะได้รับการนิโทษกรรม หรืออาจถูกอนุญาติให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ข้อเสียคือ ผู้ที่กระทำความผิดก็จะไม่ได้รับโทษเลยเช่นเดียวกัน และแนวทางที่สามคือ การดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด และบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายกิตติศักดิ์ พิจารณาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้วเห็นว่า ควรใช้รูปแบบการนิรโทษกรรมของประเทศแอฟริกาใต้ โดยให้ "นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ร้องขอที่เห็นว่าตนได้กระทำความผิด" หรือสงสัยว่าจะกระทำความผิด โดยผ่านคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่ประกอบด้วยรัฐบาล องค์กรกลาง และภาคประชาชน
โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ร้องขอการนิรโทษกรรมต้องสารภาพว่ากระทำผิดเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง เช่น สารภาพว่ากระทำไปเพราะจะปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือกระทำไปเพราะไม่ยอมรับการรัฐประหาร เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ถ้าคณะกรรมการนิรโทษกรรมพิสูจน์ได้ภายหลังว่าผู้ร้องขอการนิรโทษกรรมให้การเท็จ ก็สามารถยื่นต่ออัยการเพื่อเพิกถอนการนิรโทษกรรมได้
โคทม "อย่าให้บทสรุปทางการเมือง จบลงที่รัฐประหาร หรือรัฐสภา"
 "โคทม" หนุนเดินหน้า "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"
นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม เห็นตรงกับนายกิตติศักดิ์ ว่าผู้ที่ได้รับการนิโทษกรรมต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมือง โดยได้นิยามเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าต้องประกอบด้วย การเมืองแลพความรุนแรง ฉะนั้น การต่อสู้ทางการเมือง ต้องเป็นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง หรือด้วยความรู้สึกไม่เป็นธรรม และที่สำคัญ สังคมไทยสรุปบทเรียนของการต่อสู้หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หรือยัง
นายโคทม กล่าวต่อว่า อย่าให้บทสรุปในประเด็นทางการเมืองไปจบลงโดยการรัฐประหาร หรือแค่ในรัฐสภา แต่ให้สรุปลงที่ชัยชนะของการปกครองของกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย และให้เปลี่ยนแนวคิดจากกระบวนการยุติธรรมเชิงลงทัณฑ์ ที่เห็นว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย และต้องลงโทษผู้ที่กระทำความผิดต่อรัฐ ให้เป็นการมองว่า เหยื่อ คือผู้เสียหายหลัก เหยื่อในที่นี้คือเหยื่อในทางการเมืองที่ยังรู้สึกสับสนว่าใครเป็นผู้มากระทำกับตน โดยไม่เน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอาญา
ทั้งนี้ นายโคทม เห็นต่างกับนายกิตติศักดิ์ ตรงที่ ในเวลานี้การปรองดองตามแนวทางของนายกิตติศักดิ์ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะจะมีใครออกมายอมรับว่าตนเป็นผู้กระทำความผิดในขณะที่ยังมีความผิดทางอาญาแขวนอยู่ โดยนายโคทม เห็นว่า การจะเกิดแนวทางดังกล่าวได้ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส โดยบริบทของสังคมและสภาพแวดล้อมจะดำเนินไปจนถึงจุดที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าถ้ายังขัดแย้งกันต่อไปจะไปไม่ไหว หรือมีจุดร่วมในผลประโยชน์ที่ตรงกัน เช่น ในประเทศไทยกว่ากระบวนการนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องรอให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อน เป็นต้น
ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน/เราพร้อมหรือยัง ?
นายโคทม กล่าวว่า คนที่ร่วมต่อสู้โดยการใช้ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2549 ส่วนหนึ่งสรุปบทเรียนได้แล้วว่ามันไม่ใช่วิธีการที่จะดำเนินต่อไปได้ เช่น การรัฐประหาร เป็นต้น นายโคทม เสนอมุมมองของความเปลี่ยนแปลงหรือช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความปรองดองเป็นบันได 3 ขั้น คือ ช่วงที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่าน (คือช่วงปัจจุบัน) ช่วงที่น่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่านได้ และช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความขัดแย้งปกติ
นอก จากนี้นายโคทม ยังได้แบ่งระดับของแกนนำ ผู้สั่งการ และฝ่ายรัฐ เป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ไม่ต้องรับโทษ เช่น ทหารหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการ ซึ่งระดับนี้จะไม่ต้องรับโทษ และระดับแกนนำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง จะเป็นระดับที่เข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม
นายโคทม สรุปว่า เราต้องลดความขัดแย้งทางการเมืองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยใช้กฎหมายเป็นใหญ่ และเปลี่ยนจากกฎหมายเชิงลงทัณฑ์เป็นกฎหมายเชิงสมานฉันท์ เพราะการใช้กฎหมายเชิงลงทัณฑ์ท้ายที่สุดจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ไม่สามารถนำผู้ก่อการรัฐประหาร ผู้สั่งการหรือแกนนำ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างสมบูรณ์ มีแต่ประชาชนที่ต้องรับโทษ
"ตอนนี้สังคมไทยกำลังขยับไปเรื่อยๆ สู่บรรยากาศที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่าน โดยเริ่มต้นจากการจำกัดวงในการนิรโทษกรรม ไปสู่การนิรโทษกรรมตามกระบวนการที่มีเงื่อนไข และไปสู่การนิรโทษกรรมในวงกว้างจนกลับไปสู่ความขัดแย้งปกติ" นายโคทม กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น