การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากการตระหนักว่าสิทธิของผู้หญิงทั่วโลกนั้น กำลังถดถอยลง โดยเฉพาะในพื้นที่ของประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (espace francophone) ซึ่งมีสมาชิก 77 ประเทศ นับเป็นประชากรกว่า 220 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนผู้หญิง 120 ล้านคน และคาดว่าในปี 2050 ประชากรผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านคน โดยในเอกสารปูพื้นเรื่องบริบทระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงนั้น มีการระบุถึงการตั้งคำถามในการประชุมนานาชาติหลายเวทีเกี่ยวกับประเด็นสิทธิ ของผู้หญิงว่า เป็นสิทธิอันเป็นสากลจริงหรือไม่ และเริ่มมีการเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า "สัมพันธ์นิยมทางวัฒนธรรม" (cultural relativism) เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการไม่ยอมรับสิทธิของผู้หญิงในนามของประเพณี โบราณอันเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ (เช่น ประเพณีการมีผัวเดียวหลายเมีย การตัดอวัยวะเพศผู้หญิง การคลุมถุงชน ฯลฯ) ปรากฏการณ์ระดับนานาชาติครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความพยายามอันสวนทาง กับการต่อสู้เรื่องสิทธิสตรี โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรุนแรงและสิทธิในการเจริญพันธุ์
เมื่อกล่าวถึง "พื้นที่ของประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส" (espace francophone) โดยทั่วไปจะหมายถึงประเทศที่มีภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาสำคัญในการสื่อสาร อาจเป็นได้ทั้งภาษาราชการเพียงภาษาเดียว (โดยเป็นภาษาแม่ เช่นกรณีของฝรั่งเศส หรือเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารกันระหว่างประชาชนที่มีภาษาเป็นของตัวเอง เช่นคองโก และหมู่เกาะ Ivory Coast) หรือภาษาทางการร่วมกับภาษาอื่นๆ (โดยเป็นภาษาแม่ เช่นในสวิสเซอร์แลนด์และเบลเยี่ยม หรืออาจเป็นภาษาที่ประชาชนจำนวนมากเรียนรู้เพิ่มและใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่นในคาเมรูนและเกาะ Seychelles หรืออาจจะใช้สื่อสารกันระหว่างประชาชนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น เช่นในหมู่เกาะ Comoros) หรืออาจหมายถึงประเทศที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสแต่ไม่ได้รับการ ประกาศให้เป็นภาษาราชการ เช่นในประเทศแอฟริกาเหนือ (Maghreb) อย่างตูนีเซีย โมร็อกโคและอัลจีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างลาว กัมพูชาและเวียดนามก็นับเป็นประเทศในกลุ่มพื้นที่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเพียงน้อยนิดก็ตาม จะเห็นว่าพื้นที่นี้ครอบคลุมอาณาบริเวณที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสหรือ เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสยุคจักรวรรดินิยม
คำว่า "ประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส" (francophonie) นี้เริ่มใช้อย่างจริงจังในความหมายปัจจุบันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อต้นทศวรรษ 1960 และได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างโดยนักคิดนักเขียนอดีตประธานาธิบดีประเทศ เซเนกัล Léopold Sédar Senghor ในความหมายของ "การตระหนักรู้" ถึงการมีภาษาและวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศสเป็นจุดร่วมระหว่างคนจากหลากหลายชนชาติ มากกว่าที่จะเป็นผลของนโยบายราชการหรือสะท้อนข้อเท็จจริงเชิงอัตวิสัยใดๆ (objective) ต่อมา ภายใต้การริเริ่มผลักดันจากผู้นำจากหลายๆประเทศ เช่น ประธานาธิบดี Senghor และพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา การรวมตัวเป็นประชาคมข้ามพรมแดนนี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1970 ในปัจจุบัน ประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเน้นประเด็นเรื่อง "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" เป็นแกนกลางสำคัญในการทำงานร่วมกัน โดยมีภาษาและวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ยึดโยงอัตลักษณ์ข้ามชาติ
การจัดประชุมผู้หญิงผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสโลกในวันประชาคมผู้ใช้ภาษา ฝรั่งเศสนี้ (ทุกวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี) จึงมีนัยยะสำคัญในการพยายามผลัก "วาระผู้หญิง" ให้กลายมาเป็นวาระหลักเร่งด่วนของประชาคมที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศใน "แอฟริกาดำ" (Afrique noire) ซึ่งสถานะของผู้หญิงนั้นยังคงน่าเป็นห่วง โดยจุดมุ่งหมายหลักของการประชุมคือการยื่นข้อเรียกร้องของที่ประชุมต่อ ประธานาธิบดีฟรองซัว อัลลองด์ เพื่อขอให้ช่วยผลักดันข้อเสนอนี้ต่อไปยังผู้นำประเทศต่างๆในประเทศสมาชิก
ในการประชุมครั้งนี้ มีการเปิดเสวนาโต๊ะกลมในสามหัวข้อ คือ 1 ความรุนแรงและการประกันสิทธิทางกฎหมายแก่ผู้หญิง ในภาวะความขัดแย้งและสงคราม 2 การเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิง 3 ผู้หญิงในฐานะกำลังสำคัญของการพัฒนา กรณีที่เรียกความสนใจและการแสดงความคิดเห็นที่ดุเด็ดเผ็ดร้อนจากทั้งวิทยากร และผู้เข้าร่วมการประชุมมากเป็นพิเศษ คือปฏิบัติการข่มขืนหมู่รายวันในภาคตะวันออกของสาธารณรัฐคองโกโดยกลุ่มกอง กำลังติดอาวุธ ซึ่งมีผู้หญิงจากคองโกยกมือแสดงความเห็นและความรู้สึกมากมายหลายคน นอกจากนี้ ยังมีการประนามกระแสความพยายามบิดเบือนวาทกรรม "สัมพันธ์นิยมทางวัฒนธรรม" เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมให้กับวิถีปฏิบัติที่กดขี่ผู้หญิง ต่อมา เมื่อมีคนยกประเด็นเรื่องหลักศาสนาซึ่งอาจเข้าข่ายกรณีนี้ขึ้นมาในการประชุม ก็ทำให้เกิดความวุ่นวายในการแสดงความคิดเห็นเพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและ ไม่เห็นด้วย เรียกว่าการประชุมปิดฉากลงด้วยประเด็นแหลมคมและอ่อนไหว แต่นี่ย่อมหมายถึงโจทย์ที่ผู้หญิงทั้งหลายจะต้องร่วมกันขบคิดต่อไปในอนาคต
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการกล่าวถึงความสามารถของผู้หญิงในการช่วย ไกล่เกลี่ยปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่าควรมีการผลักดันให้ผู้หญิงกลายเป็นกุญแจสำคัญในการ เจราจาต่อรองเพื่อยุติปัญหาสงครามและความขัดแย้ง แน่นอนว่าดิฉันนึกถึงปัญหาเรื่องภาคใต้ในประเทศไทย ขอโอกาสเรียกร้องไปยังชายผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า ท่านควรจะรับประเด็นนี้เข้าไตร่ตรองอย่างจริงจัง และนอกจากนี้อาจจะต้องมองปัญหาภาคใต้ โดยนำมิติเรื่อง gender หรือเพศสถานะเข้ามาพิจารณาในการวิเคราะห์ผลกระทบและหนทางแก้ปัญหา ไม่ใช่มอง "ประชาชน" ในพื้นที่เป็นน้ำเดียวกันไปหมด เพราะเท่ากับว่าท่านกำลังมองว่าเป็น "ประชาชนเพศชาย" เท่านั้นโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น การประเมินผลกระทบของการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่นั้น จะต้องทำโดยการประเมินผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่แตกต่างระหว่างหญิงกับชาย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ข้อสรุปที่เห็นตรงกันในระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมคือ เรามีวาทกรรมสิทธิสตรี มีกฎหมายและหลักปฎิบัติที่ก้าวหน้ามากมาย แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่มีกลไกใดๆที่จะสนับสนุนให้เกิดการ บังคับใช้ ทั้งในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมสำหรับผู้หญิง ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจหรือทางสังคมวัฒนธรรม
สำหรับดิฉัน ตัวแทนจากประเทศไทยนั้น เห็นพ้องกับเพื่อนๆ ในอาเซียน (ซึ่งมีตัวแทนจากลาว กัมพูชาและเวียดนาม) ว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ประเด็นของผู้หญิงในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียนนั้นไม่ได้รับการกล่าวถึง ไม่มีแม้กระทั่งตัวแทนบนเวทีการเสวนา สถานะการกลายเป็น "หญิงผู้ที่ไม่มีใครเห็น" นี้ไม่ได้หมายความว่าภูมิภาคของเราไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิสตรี ในทางตรงกันข้าม เรามีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขายบริการ ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการท้องก่อนวัยอันควร ฯลฯ และที่สำคัญ ในความคิดของดิฉัน หากแอฟริกามีปัญหาเรื่อง Obscurantism (ภาวะที่ความรู้ถูกปิดบังให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด) เราเองก็มีปัญหาเรื่องเดียวกันนี้เช่นกัน และอาจจะพ่วงด้วยปัญหาเรื่อง Moralism ลัทธิศีลธรรมนิยมอันเป็นเพดานความคิดที่ทำให้เรามองปัญหาเรื่องผู้หญิงได้ อย่างคับแคบและติดกรอบความดี/ความเลว ดิฉันจึงรู้สึกประทับใจวิทยกรจากตูนีเซียท่านหนึ่งที่พูดถึงความสำคัญของ ประชาธิปไตยกับการผลักดันเรื่องสิทธิสตรี ว่าการเรียกร้องสิทธิสตรีนั้นไม่สามารถจะทำได้เลยหากประเทศยังไม่มี ประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นสากล หมายความว่า เราไม่สามารถจะพอใจและยอมรับคำอธิบายประเภท "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" (ที่แท้จริงคือการปฏิเสธหลักการประชาธิปไตยนั่นเอง) ได้ หากเราเป็นคนที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี เพราะประชาธิปไตยแบบสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรมเช่นนี้นี่เองที่เป็นปฏิปักษ์ กับหลักการเรื่อง "สิทธิ" และ "ความเท่าเทียม" ดังนั้น การเรียกร้อง "ความเป็นสากล" ของประชาธิปไตยและหลักการเรื่องสิทธิมนุษยนชน รวมไปถึงจุดยืนที่ไม่ประนีประนอมให้กับข้ออ้างเชิงวัฒนธรรมนิยมนี้เท่านั้น ที่จะทำให้งานด้านสิทธิสตรีไม่สูญเปล่า
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง เทียบเท่ากับภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนต่อไปอีกแล้วนั้น วาทกรรมที่ใช้ในการ "วางตำแหน่งแห่งหน" ให้กับภาษาฝรั่งเศส คือวาทกรรมทางวัฒนธรรมว่าด้วย "คุณค่าของสิทธิมนุษยชน" ดังเห็นได้จากการเลือกนำเสนอภาษาฝรั่งเศสในฐานะภาษาที่มาพร้อมกับคุณค่า เรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม ในกรณีนี้คือสถานภาพและสิทธิของผู้หญิง (ดูบทสัมภาษณ์ Yamina Benguigui กับ Voice TV ระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในคณะของนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐฝรั่งเศส Jean-Marc Ayrault เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 http://shows.voicetv.co.th/divas-cafe/64891.html)
อัตลักษณ์ของผู้ใช้่ภาษาฝรั่งเศสจึงไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่าง ภาษาจีนหรืออำนาจทางการเมืองและการต่อรองอย่างภาษาอังกฤษ แต่เป็นคุณค่ามนุษยนิยมที่ยึดโยงกับมรดกทางอุดมการณ์และทางสังคมของการ ปฏิวัติฝรั่งเศส (มากกว่ามรดกจากยุคล่าอาณานิคม) การปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งหนเช่นนี้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายทางสังคมที่ประธานาธิบดีจากฝ่ายซ้ายคน ปัจจุบันเร่งผลักดันอย่างเต็มที่ เช่น การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน นับเป็นการเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ภาพลักษณ์ที่น่าสนใจและน่าติดตามในระดับของ การเมืองระหว่างประเทศ
ภาพบรรยากาศการประชุม
นายฟรองซัว อัลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ร่วมงานและรับข้อเสนอจากที่ประชุม
ผู้เขียนและผู้ร่วมประชุมจากกลุ่มประเทศอาเซียน
บรรยากาศในการเสวนา วันที่ 20 มี.ค. 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น