แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

ต่อสายคุยกับจำเลยที่ 1 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ ก่อนพิพากษาวันนี้ ‘คดีปีนสภา’ ยุคสนช.

ที่มา ประชาไท


คุยกับจอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งใน 10 เอ็นจีโอซึ่งเป็นจำเลยในคดีปีนสภาในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อยับยั้ง การออกกฎหมาย 11 ฉบับ ถามถึงเหตุผลเบื้องหลัง แรงจูงใจ ศาลนัดพิพากษาวันนี้ 10.00 น.
 
“คดีปีนสภา” ที่เอ็นจีโอ 10 คน ถูกฟ้องฐาน ยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย จากการปีนรั้วรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนการเลือกตั้งเพียง 11 วัน กำลังจะมีคำพิพากษาในช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค.นี้ ณ ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา รัชดาภิเษก
 
คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 เป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 โดยจำเลยทั้ง 10 คน ในคดีนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ได้รับการยอมรับ
 
 
ประชาไท มีโอกาสต่อสายพูดคุยกับ ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ เอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เจ้าของรางวัลแมกไซไซสาขาบริการภาครัฐเมื่อปี 2548 ในฐานะจำเลยที่ 1 ในคดี ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าอาจต้องเป็นผู้ต้องรับโทษสูงสุด ด้วยเหตุแห่งว่าตำแหน่งที่รับผิดชอบในการชุมนุมวันนั้นคือเป็นประธานคณะ กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ผู้จัดการชุมนุม เพื่อให้ทราบถึงแนวความคิดหลักของประชาชนนับพันที่มาร่วมชุมนุม และร่วมปฏิบัติการปีนสภาในวันนั้น ก่อนจะไปลุ้นระทึกกับการตัดสินคดีต่อไป
 
อย่างไรก็ดี นอกจากจอนแล้ว จำเลยอีก 9 คนในคดีนี้ประกอบด้วย ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย, สารี อ๋องสมหวัง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สุภิญญา กลางณรงค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรนักเคลื่อนไหว, สาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรฯ, พิชิต ไชยมงคล กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ นัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่, อำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
 
000
 
 
คดีนี้ที่ผ่านมามีการต่อสู้ในประเด็นไหนบ้าง ?
 
เราต่อสู้ว่า ประการแรก การที่พวกเราบางส่วนปีนรั้วสภาเข้าไปนั่งในห้องโถงหน้าห้องประชุม สนช.นั้น เราไม่ได้มีการกระทำที่ใช้ความรุนแรงแต่ประการใด ไม่ได้ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ได้มีการยุยงให้ผู้ที่มาร่วมชุมนุมปีนรั้ว แต่อยู่ในลักษณะการตัดสินใจของแต่ละคนเองในการที่จะปีนเข้าไป เป็นการตัดสินใจของแต่ละคน ไม่ได้มีการขึ้นไปกล่าวบนเวทีให้ผู้ชุมนุมรวมกันปีนรั้วสภา
 
ที่สำคัญ เราต่อสู้ในประเด็นว่า การชุมนุมนี้รวมถึงการไปนั่งชุมนุมกันอย่างสงบหน้าห้องประชุมของ สนช.เป็นการกระทำที่มีความชอบธรรมภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติและสาธารณะ เพื่อผลประโยชน์ในการคัดค้านการเร่งรีบออกกฎหมายอย่างไม่ระมัดระวังของ สนช.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ขณะนั้นกำลังใช้กลไกนิติบัญญัติกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของ ประชาชนอย่างร้ายแรงหลายฉบับ เช่น กฎหมายการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ฯลฯ
 
และกฎหมายอีกหลายฉบับที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต แทนที่ สนช.จะรอให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาบังคับใช้ในขณะ นั้น แต่ สนช.ก็เดินหน้าออกกฎหมายอย่างเร่งรีบ อย่างไม่รอบครอบ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีการวินิจฉัยว่าในหลายๆ ครั้งที่มีการผ่านกฎหมายที่ประชุม สนช.ก็ไม่ครบองค์ประชุม
 
เพราะฉะนั้นการที่เราไปประท้วงกันอย่างสงบ แม้ว่าเป็นการปีนรั้วก็ตาม แต่การชุมนุมกันอย่างสงบหน้าห้องประชุม สนช.ก็อยู่ในรอบที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญโดยเราไม่ได้มีเจตนาที่จะฝ่ายฝืน กฎหมาย แต่เรามีเจตนาที่จะยับยั้งการกระทำที่ค่อนข้างร้ายแรงของ สนช.ซึ่งไม่ใช่ตัวแทนของปวงชนชาวไทย
 
 
ทำไมคิดว่าการปีนรั้ว หรือการเข้าไปในอาคารรัฐสภาถือเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย?
 
คืออย่างนี้ อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ และอาจารย์อีกหลายท่าน รวมทั้ง อาจารย์โคทม อารียา ซึ่งเป็นพยานในฝ่ายเราได้อธิบายว่า บางครั้งมีความจำเป็นที่จะต้องฝ่าฝืนกฎหมายเล็กเพื่อรักษากฎหมายใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่ชัดเจนแล้วก็เข้าใจได้ เพราะฉะนั้น การที่อาจจะบอกว่าในทางเทคนิคเราได้บุกรุกเข้าไปในบริเวณรัฐสภา แต่ว่าในการกระทำของเรานั้นก็เพื่อเป็นการหยุดผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการ กระทำที่ผิด ที่ไม่ถูกต้องของสนช.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม และเดินหน้ารีบชิงออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มต่างๆ ซึ่งกลุ่มที่เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของ สนช. ได้แก่ หน่วยราชการต่างๆ รีบชิงออกกฎหมายก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้ามา จริงๆ ในขณะที่เร่งออกกฎหมายเหล่านั้น วันหนึ่งออกกฎหมายไปหลายสิบฉบับ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ถ้ารออีกประมาณ 10 กว่าวัน ก็จะสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้น อันนี้แสดงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ของ สนช.ในขณะนั้น
 
 
ถึงปัจจุบันกฎหมายที่ภาคประชาชนคัดค้านในวันนั้น มีการดำเนินการต่อไปหรือเป็นอย่างไรแล้วบ้าง? ได้มีการติดตามหรือไม่?
 
กฎหมายที่เราคัดค้าน หลังจากที่เราประท้วงในวันนั้นและเราก็ได้ประท้วงในวันอื่นๆ ถัดจากนั้นมา กฎหมายบางฉบับก็ได้ผ่าน สนช.โดยเราไม่สามารถทัดทานได้ ได้แก่ กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักรก็ฉบับหนึ่ง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการการกระจายเสียง การแพร่ภาพและกระจายเสียงก็ออกมา เข้าใจว่ากฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยก็ผ่าน
 
แต่กฎหมายบางฉบับที่เราคัดค้าน แม้จะผ่าน สนช.แล้ว แต่ปรากฏว่าในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นการออกกฎหมายโดย องค์ประชุมไม่ครบ ก็กลายเป็นโมฆะไปในบางฉบับ แต่บางฉบับก็ไม่มีหลักฐาน พิจารณาจนออกมาเป็นกฎหมาย ก็ถือว่า สนช.ผ่านไปส่วนหนึ่ง โดยฉบับที่ผ่านที่มีผลกระทบมากที่สุดก็คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่ปรากฏว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันก็เอามาใช้ในการจัดการผู้ชุมนุมโดยสงบที่เกิด ขึ้นในกรุงเทพมหานคร (กรณีการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ประกาศ วันที่ 22-30 พ.ย.55) 
 
 
ตัวอย่างกฎหมาย เช่น การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ในรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีการพิจารณาและมีท่าทีที่จะผ่านกฎหมายนี้เหมือนกัน มองว่าอย่างไร?
 
โดยหลักการพวกเราที่ประท้วงเราก็คัดค้านกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทุกรูปแบบ แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณากฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในรัฐสภาปัจจุบันจะมีโอกาสที่จะ รอบคอบมากกว่าในบริบทของสนช. เพราะว่าขณะนี้เรามี 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎรและมีวุฒิสภา
 
ในสมัยผมซึ่งมีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็มีกฎหมายมหาวิทยาลัยออก นอกระบบผ่านเหมือนกัน แต่พวกผมก็ได้แปรญัตติแก้ให้ผลกระทบจากการออกนอกระบบนั้นเบาลงได้สำเร็จใน บางส่วน เช่น ใส่เงื่อนไขว่ามหาวิทยาลัยจะไม่รับบุคคลเข้าเรียนเนื่องจากบุคคลนั้นไม่มี ค่าเล่าเรียนที่จะจ่ายนั้นทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าในรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็มีการผ่านกฎหมาย มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ผมคิดว่าการพิจารณาจะรอบคอบกว่า และมีความชอบธรรมมากกว่าการออกโดย สนช.ซึ่งเป็นสภาที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร
 
 
จากขบวนของเราที่คัดค้านการออกกฎหมายในสมัยของ สนช.จนมาเป็นคดีความถึงปัจจุบัน ถือเป็นบทเรียนอะไรของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนได้บ้าง?
 
มันสรุปยากว่าเป็นบทเรียนอย่างไร คือมันก็เป็นรูปแบบการต่อสู้ ผมไม่ได้คิด ผมไม่ได้มองว่าการที่เราต่อสู้คดีหรือถูกดำเนินคดีในคดีนี้เราทำผิดพลาด แต่ผมคิดว่าเราทำถูกต้องแล้ว เราทำถูกต้องตามความเชื่อของเราในการคัดค้านสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
 
เมื่อในการกระทำนั้นผลมันออกมาเป็นว่าต้องมาต่อสู้คดีอาญา ตรงนี้ก็จะเป็นคำต่อสู้ในคดีอาญานั้น แล้วในการต่อสู้เราก็ได้พยายามแสดงว่าการกระทำของเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำ ผิดกฎหมาย แต่เรามีเจตนาที่จะต้องมีการกระทำในลักษณะของการประท้วงเพื่อที่จะแสดงออก ความรู้สึกของเรา ว่าการออกกฎหมายโดย สนช.ก่อความเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก
 
ถ้าเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งอย่างในปัจจุบัน เราก็คงไม่ได้ใช้วิธีนี้ เพราะว่าในแง่หนึ่งเราต้องเคารพการตัดสิน แม้ว่าชาวบ้านอย่างเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ออก ซึ่งเราสามารถที่จะชุมนุมประท้วงได้ แต่เราก็คงไม่ถึงขั้นที่จะไปปีนรั้ว เพราะว่าเราก็ต้องเคารพความเห็นของสภาที่ประชาชนของประเทศเลือกเข้ามา แต่ในกรณีของสนช.ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
 
 
หากมองในส่วนคดีความ คิดว่าอะไรคือความท้าทายของการพิจารณาคดีในครั้งนี้ และจะสามารถสร้างบรรทัดฐานหรือแนวความคิดบางอย่างได้หรือไม่?
 
เรากำลังต่อสู้กับหลักการบางอย่างที่เกี่ยวกับความมุ่งหมายของรัฐธรรม สิ่งที่ท้าทายตอนนี้ก็คือดูว่าผลของคดีนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลของศาลชั้นต้น หรือว่าในกรณีหากเราจำเป็นต้องมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ผลในที่สุด ระบบศาลถ้าจะยอมรับในเจตนาของเราที่จะทำในสิ่งที่อาจมองได้ว่าเป็นการฝ่าฝืน ต่อกฎหมายในบางฉบับ แต่ว่าในขณะเดียวกันเราก็ทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในการที่จะสามารถแสดงออกได้โดยสันติ
 
 
รวมไปถึง ‘การชุมนุมอย่างสงบ’ ด้วย?
 
ข้อกล่าวหาต่อเราในคดีนี้รุนแรงมากนะ มีการกล่าวหาว่าเราใช้กำลังประทุษร้าย เรามีลักษณะของการยุยงให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปและใช้กำลังประทุษร้าย อันนี้เราปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาเหล่านี้ คือจริงๆ ในทางปฏิบัติ พยานของเราได้อธิบายว่า ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ในบางครั้งศาลพอจะยกเว้น เห็นใจได้
 
ยกตัวอย่างเช่น ถึงตรงนี้ตามกฎหมายจะใช้เครื่องขยายเสียงก็ต้องขออนุญาต ถ้าผู้ชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาตก็อาจจะถูกดำเนินคดีได้ แต่ถ้าเทียบความผิดอันนั้นกับหลักประกันที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ว่าคุณสามารถที่ จะชุมนุมได้ และในการชุมนุมมันมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม โดยที่ทุกคนได้มีความเข้าใจร่วมกัน ก็จะเห็นได้ว่าบางครั้งในศาลหรือกฎหมายมันก็มีเหตุผลที่น่าจะรับฟังได้    
 
 
การที่จะมีคำตัดสนคดีในวันที่ 28 มี.ค.นี้ มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
 
ก็เตรียมหลักประกันที่จะต้องนำมาประกันตัว โดยคาดว่าถ้าศาลมีการลงโทษ ผมคงเป็นคงที่ได้รับโทษสูงสุดในบรรดาจำเลยทั้ง 10 คน และจะมีการเตรียมเรื่องการยื่นขอประกันตัวในวันนั้นหากจะต้องมีการอุทธรณ์คำ ตัดสิน
 
ส่วนจะสู้คดีกันอีกยาวหรือไม่ ยังไม่อยากจะทำนาย เพราะทุกอย่างจะเกิดก็ต้องเกิด
 
ถ้าเกิดโทษที่จะต้องได้เป็นผู้ต้องขังก็คงจะต้องประกันตัวระหว่างขอ อุทธรณ์ คือโดยหลักการ หากว่าศาลวินิจฉัยว่าเรามีความผิด ก็เป็นเรื่องที่มีแนวโน้มอาจจะต้องอุทธรณ์อยู่แล้ว เพราะการสู้ของเราเป็นการต่อสู้เรื่องของหลักการ คือถ้าเรื่องที่เราต่อสู้ ได้สำเร็จ มันก็จะมีความหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหว ยกตัวอย่างก็เคยมีกรณีคล้ายๆ เราเกิดขึ้น เช่น กลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งมายื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่สนใจไยดี สมัชชาคนจนจึงมีการปีนรั้วของทำเนียบรัฐบาล ก็ไม่ได้มีการดำเนินคดี
 

เคยมี ‘การปีนรั้ว’ ลักษณะเดียวกันนี้ของสมัชชาคนจนมาแล้ว?

เคยมี แต่เขาไม่ได้โดน คิดว่าที่เราโดนเพราะความไม่พอใจของผู้ใหญ่ใน สนช.ขณะนั้น ที่มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแจ้งความดำเนินคดีกับพวกเรา
 
อีกอย่างที่อยากจะพูดคือ มีความรู้สึกว่านโยบายของสำนักงานอัยการสูงสุดในการดำเนินคดีกับเรานั้น มันเปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาลหรือตามยุคสมัย เพราะในระยะแรก ช่วงที่เราต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประจำทุกเดือน เราได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่ามีแนวโน้มว่าข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ นั้นจะถูกลดลงในชั้นของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่มาภายหลังมีการเปลี่ยนรัฐบาล และจากนั้นสำนักงานอัยการสูงสุดได้สั่งตำรวจให้หาข้อมูลเพื่อตั้งข้อหาเพิ่ม ขึ้น เป็นข้อหาที่ใหญ่ขึ้นต่อพวกเรา จึงรู้สึกว่ามีการดูกระแสทางการเมืองในการพิจารณาข้อหาที่ตั้งต่อเรา

ผม ค่อนข้างเข้าใจว่า ไม่ว่าเป็นระบบอัยการหรือระบบศาลในปัจจุบันนี้ จะถือว่าเหตุการณ์หรือกระแสต่างๆ ไม่มีอิทธิพลเลย คงอาจเป็นไปได้ยากในความรู้สึกของผม
 
 
คิดว่านับแต่ยุค สนช.ที่ภาคประชาชนร่วมคัดค้านกฎหมายบางฉบับ หรือการดำเนินการทำหน้าที่ของ สนช.ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน สนช.ได้ทิ้งบาดแผลหรือปัญหาอะไรไว้กับสังคมบ้าง?

มรดกที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่สังคมดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าเป็นบทบาทในด้านการออกกฎหมาย โดยกฎหมายบางฉบับก็ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชนใน ปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน หรือกฎหมายที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็เป็นกฎหมายที่ออกโดย สนช.ซึ่งถูกเอามาใช้ในลักษณะที่ไม่ยุติธรรมต่อสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตหลายส่วน การปิดเว็บไซต์ ซึ่งโดยข้อเท็จจริง บางครั้งเนื้อหาในเว็บไซต์เหล่านั้นไม่น่าจะผิดกฎหมาย แต่กลับถูกปิดไป 

ปัญหาของ สนช.นั้น นอกจากจะไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนแล้ว ปรากฏว่าสมาชิก สนช.จำนวนมากเป็นข้าราชการประจำหรือคนที่มีหน้าที่การงานประจำ ไม่มีเวลาที่จะมาพิจารณากฎหมายโดยละเอียดรอบคอบ และไม่ค่อยรับฟังความเห็นจากประชาชน ในฐานะที่ไม่ได้เป็นตัวแทนก็จะไม่ได้รับรู้ว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรต่อ กฎหมายเหล่านั้น หรือจะได้รับผลกระทบอย่างไร เหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดจาก สนช.
 
 
000
 
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องว่า ผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, มาตรา 362 เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, มาตรา 364 เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก, มาตรา 365 ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364
 
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.55 ศาลนัดสืบพยานโจทก์ ครั้งแรกโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.  เข้าเบิกความต่อศาลเป็นคนแรก ต่อมาศาลได้ยกเลิกนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ที่เหลืออีก 12 วัน ไปสืบต่อในช่วงวันที่ 15 ม.ค.-15 มี.ค.56
 
ทั้งนี้ สามารถติดตามอ่านคำย่อการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งหมด 51 ปาก พร้อมบันทึกการสืบพยานคดีฉบับเต็มของพยานบางปาก ได้ที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และติดตามข้อมูลคดีได้ใน http://freedom.ilaw.or.th/th/case/468#detail
 
 

ประมวลเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

12 ธ.ค.50
 
เวลา 7.00 น. ภาคประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเครือข่ายพันธมิตรองค์กรประชาชน รวมทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไปประมาณกว่า 1,000 คน ชุมนุมบริเวณหน้าอาคารสภา เพื่อปิดสภาไม่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่อีกต่อไป
 
เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ชุมนุมนำรถเครื่องเสียงเคลื่อนขบวนไปขวางทางเข้าออกสภาทั้ง 3 ทาง ปิดสภาโดยประชาชนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี แม้จะปิดประตูทางเข้าทั้ง 3 ทางได้สำเร็จ แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังสามารถเข้าสู่ภายในอาคารรัฐสภาได้ผ่าน ทางประตูพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น (ติดกับพระที่นั่งวิมานเมฆ) ซึ่งเป็นประตูที่ไม่ค่อยได้เปิดใช้ เว้นแต่มีกิจกรรมพิเศษ ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติสามารถเปิดสภาพิจารณากฎหมายต่อไปได้ตามปกติ
 
 
ประชาชนประกาศปิด ‘สนช.’
 
หลังปิดประตูทางเข้าสภา 3 ทาง นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า วันนี้มาปิดสภาโดยวิธีอารยะ ด้วยสันติวิธี เพื่อให้สภาทราบว่า ประชาชนจำนวนมากรับไม่ได้กับการทิ้งทวนผลักดันกฎหมาย เช่น การเอากฎหมาย 40-60 ฉบับมาพิจารณาให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เพื่อเอาอำนาจข้าราชการมาปกครองแทนที่จะเสริมอำนาจประชาชน
 
นายจอน กล่าวด้วยว่า เสียใจที่ที่ผ่านมา สนช.ได้ผ่านกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกทำลาย ในขณะที่กฎหมายที่ร้ายที่สุดกำลังจ่ออยู่ในสภา คือ พ.ร.บ. ความมั่นคง (พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ...) ที่จะสถาปนาอำนาจทหารคู่รัฐบาลพลเรือนตลอดไป
 
นายจอน ยังกล่าวอีกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควรจะเปลี่ยนชื่อจาก สนช. เป็น สนด. คือ สภาหน้าด้าน การมาแสดงพลังวันนี้เพื่อให้เห็นว่า รับไม่ได้กับการออกกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน โดยเฉพาะในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในไม่กี่วันนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้สมาชิก สนช. ที่เห็นแก่ประชาชนลาออกจากตำแหน่งด้วย จากนั้นจึงอ่านคำประกาศปิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติรักษาการ
 
ประกาศ ‘ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ หยุดการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน’
 
ด้วยปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร ที่ยึดอำนาจการปกครองมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้กระทำการออกกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ระบบราชการและเพื่อประโยชน์ให้นาย ทุน แต่กลับทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน และกำลังจะนำพาสังคมไทยถอยหลังไปสู่ระบบอำมาตยาธิปไตย แทนที่การสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตย เช่น การผลักดันร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เพื่อให้ทหารมีอำนาจครอบงำรัฐและสังคม ร่างกฎหมายป่าชุมชนและร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิกถอนสิทธิชุมชน ร่างกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้หน่วยราชการผูกขาดเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสากิจ เพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการ ดำเนินชีวิตให้แก่กลุ่มทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 6 มหาวิทยาลัย เพื่อแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นการบริหารโดยอาศัยกลไกตลาดที่ปิดกั้นผู้ยากไร้ให้ไม่สามารถเข้าถึงการ ศึกษา และร่างกฎหมายประกอบกิจการขนส่ง เพื่อโอนกิจการขนส่งให้นายทุน
 
พวกเรา มีความเห็นว่าการออกกฎหมายหลายฉบับดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง โดยที่สภานิติบัญญัติชุดนี้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนสำหรับผลที่บังเกิด ขึ้นแต่ประการใด ภายหลังจากพ้นตำแหน่ง
 
พวกเราเชื่อว่า หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ยังคงทำหน้าที่ออกกฎหมายต่อไปก็จะเป็นการทำ ร้ายสังคมไทยจนยากต่อการแก้ไขเยียวยา ประกอบกับเวลาที่เหลืออยู่เพียง 13 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปก็จะมีการเลือกตั้ง เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้จึงไม่ควรทำหน้าที่อีกต่อไป
 
พวกเราในฐานะพลเมืองของประเทศไทย จึงขอใช้สิทธิประกาศ ‘ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ เพื่อหยุดการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน’
 
ประกาศ วันที่ 12 ธันวาคม 2550
 
ณ บริเวณหน้ารัฐสภา
 
 
‘สุรพล’ โต้พวกเกลียดตัวกินไข่
 
รศ.ดร.สุรพล นิตไกรพจน์ สมาชิก สนช.ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า หากผู้ที่มาชุมนุมจะบอกว่าสภานี้ไม่มีความชอบธรรมเพราะมาจากคณะรัฐประหาร นั้นก็แสดงว่าไม่มีความชอบธรรมแต่ต้น แต่ขอถามว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น กฎหมายออกมาจากไหน สนช.ชุดนี้เป็นผู้ผ่านกฎหมายให้มีการเลือกตั้ง สังคมไทยต้องมีคนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ไม่ใช่ไม่พอใจกฎหมายบางฉบับแล้วออกมาบอกว่า สนช.ไม่ชอบธรรม การพูดเช่นนี้เหมือนเกลียดตัวกินไข่ อย่างไรก็ตาม การประท้วงของภาคประชาชนในครั้งนี้ก็เป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ที่ประชุม สนช.จะพิจารณากฎหมายฉบับต่างๆ น.ส.พจนีย์ ธนวราณิช รองประธานคนที่ 1 ซึ่งเป็นประธานการประชุมได้แจ้งแก่สมาชิกว่า รศ.สุริชัย หวันแก้ว ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิก สนช.แล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.โดยประธานการประชุมไม่ได้แจ้งเหตุผลของ รศ.สุริชัย ต่อที่ประชุมแต่อย่างใด
 
ขณะที่ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น กล่าวว่า ในกรณีการลาออกของ รศ.สุริชัย นั้นยังไม่เพียงพอ แต่ควรขอโทษต่อประชาชนที่ไปเป็นส่วนสร้างความชอบธรรมให้คณะรัฐประหาร เป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กับเผด็จการ พร้อมกับเรียกร้องให้บริจาคเงินเดือนที่ได้รับในการดำรงตำแหน่ง สนช.เข้ากองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เนื่องจากเป็นภาษีของประชาชน
 
 
ปีนรั้วสภา ไปบอก ‘สนช.’ ว่า ‘วันนี้ไม่มีประชุมสภา’
 
เวลาประมาณ 11.30 น. นายจอนและแกนนำเครือข่ายต่างๆ อาทิ สารี อ๋องสมหวัง (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค), สุภิญญา กลางณรงค์ (เลขาธิการ คปส.), วสันต์ สิทธิเขตต์ (เครือข่ายศิลปิน), นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ (กลุ่มเพื่อนประชาชน), นายไพโรจน์ พลเพชร (ส.ส.ส.), นายสาวิตย์ แก้วหวาน (สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) รวมทั้งผู้มาร่วมชุมนุมได้นำบันไดไม้ไผ่มาพาดรั้วเพื่อพยายามปีนข้ามเข้าไป ในสภา
 
โดยชุดแรกที่ปีนข้ามไปได้ประมาณ 20 คนได้วิ่งตรงเข้าไปหน้าอาคารสภาอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เฝ้าประตูจึงรีบวิ่งไล่ตามทำให้บริเวณรั้วไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล มากนัก ผู้ชุมนุมชุดต่อๆ มาจึงปีนเข้าไปในสภาได้สำเร็จประมาณ 60 คน
 
แกนนำระบุว่าการปีนรั้วเข้าไปในสภาครั้งนี้ต้องการเข้าไปบอกแก่ สนช. ว่า ‘วันนี้ไม่มีประชุมสภา’
 
ขณะที่ภายในห้องประชุมในระหว่างที่มีการประชุม นางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช.ได้ขอหารือถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า ค่อนข้างรุนแรง จึงขอให้ปิดประชุมก่อนจนกว่าจะมีการเจรา ซึ่ง น.ส.พจนีย์ ธนวราณิช รองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานได้ตอบว่า ไม่ทราบว่า ใครเป็นคนไปเจรจา เรายังทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า สนช.ต้องทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.และต้องประชุมไปจนกว่าจะมีการเปิดประชุมรัฐสภา
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสอบถามความเห็นที่ประชุมว่าควรจะเปิดประชุมต่อไปหรือพักการประชุม ไว้ก่อน ที่ประชุมก็ลงมติว่าให้เลื่อนการประชุมออกไป หลังจากที่ภายนอกผู้ประท้วงได้ปักหลักชุมนุมหน้าห้องประชุมแล้วกว่า 10 นาที
 
 
‘ครูหยุย’ รับประสานประธานสภา ยันอยู่มีประโยชน์กว่าลาออก
 
ในระหว่างการประท้วงด้านนอกห้องประชุม นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ออกมาหารือกับแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อทำความเข้าใจว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอะไร ซึ่งนายจอนได้ให้รายละเอียด ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนเรียกร้องให้นายวัลลภลาออกจากตำแหน่งสมาชิก สนช.
 
นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังถามถึงองค์ประชุมว่าครบหรือไม่ นายวัลลภยืนยันว่าครบ มีผู้มาประชุม 140 กว่าคน และตนได้เสนอให้ประธานสภาเลื่อนการประชุมออกไปเพราะสถานการณ์ตึงเครียด นอกจากนี้ยังเสนอด้วยว่าไม่ควรพิจารณากฎหมายใหม่ที่เข้ามาเป็นวาระแรกจำนวน 15 ฉบับ แต่ให้พิจารณากฎหมายที่ยังค้างวาระ 2 และ 3 เท่านั้น
 
ส่วนเรื่องที่ภาคประชาชนเสนอให้ สนช. ลาออกนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ถึงลาออกก็ไม่มีประโยชน์ แต่เห็นด้วยว่ากฎหมายหลายฉบับเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรต้องถกเถียงกันกว้างขวาง ไม่ควรเร่งพิจารณา
 
นายวัลลภรับจะเป็นสะพานเชื่อมนำข้อเรียกร้องต่างๆ เข้าหารือกับประธานสภา
 
 
‘ครูแดง’ เสนอส่งตัวแทนเจรจา ‘จอน’ ยอมถ้าถอน ‘พ.ร.บ. ความมั่นคง’
 
นอกจากนี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช. ได้ออกมาเยี่ยมผู้ชุมนุม และกล่าวว่า อยากให้มีการคุยกันระหว่างภาคประชาชนกับ สนช. เพราะเห็นว่าข้อเรียกร้องของภาคประชาชนมีเหตุผล สนช.เองก็พิจารณากฎหมายในช่วงใกล้เลือกตั้งมากเกินไป โดยมีกฎหมายบางฉบับที่ภาคประชาชนห่วงกังวลอย่างยิ่ง ดังนั้นจะเสนอสมาชิกเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจากับตัวแทนผู้ชุมนุม
 
เมื่อสื่อมวลชนถามถึงข้อเรียกร้องภาคประชาชนที่ต้องการให้สมาชิก สนช. ลาออกเพื่อแสดงสปิริต นางเตือนใจตอบว่า การลาออกไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะถึงลาออกองค์ประชุมก็ยังทำงานต่อไปได้ แต่ถ้ายังอยู่จะสามารถผลักดันกฎหมายดีๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น พ.ร.บ.สัญชาติ หรือ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร ซึ่งผ่านการพิจารณามาอย่างรอบครอบแล้ว
 
ขณะที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ ตอบประเด็นข้อเสนอในการเจรจาว่า ไม่รู้จะเจรจาอะไรกับ สนช.เพราะเราเรียกร้องให้ สนช. ปิดหรือยุติบทบาท และที่สำคัญคือภาคประชาชนรู้ดีว่าที่ประชุม สนช.ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ก็เพราะต้องการผลัก พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนรับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการประกาศถอน พ.ร.บ. ความมั่นคงจากการพิจารณาอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะชน ก็จะยอมเจรจา
 
 
‘มีชัย’ แถลงยัน ‘สนช.’ ต้องทำหน้าที่ต่อตาม รธน.กำหนด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. ที่อยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลได้โทรศัพท์สอบถามเหตุการณ์ตลอด เวลา จากนั้นได้รีบเดินทางเข้ามาที่รัฐสภา พร้อมกับเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการ สนช. ผู้อำนวยการอาคารสถานที่ของ สนช.และสภาผู้แทนราษฎร นายวิษณุ เครืองาม สนช. พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.วัชพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจกองปฏิบัติการพิเศษ 191 พ.ต.อ.ปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ ผู้กำกับการ สน.ดุสิต เพื่อหาทางรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
 
ในที่ประชุมนายมีชัย เสนอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณอาคารรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมต่อในเวลา 13.30 น. แต่มีผู้ท้วงติงว่า อาจเกิดการกระทบกระทั่งจนบานปลายได้ ในที่สุดนายมีชัยได้ตัดสินใจเปิดแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าว ขอเลื่อนการประชุมไปโดยไม่มีกำหนด
 
ระหว่างการแถลงข่าว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ และยืนยันว่าในวันนี้จะไม่มีการประชุม สนช.ต่อไป ส่วนจะมีการประชุมอีกเมื่อใดนั้น ไม่สามารถระบุได้ โดยต้องพิจารณาไปตามภารกิจ
 
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของ สนช.ในการพิจารณากฎหมาย เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช.ต้องทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาใหม่ และที่ผ่านมาไม่ได้มีการเร่งรัดการพิจารณากฎหมาย หรือตั้งเป้าในการพิจารณากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นพิเศษ
 
ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ สนช.ลาออกนั้น เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะมีผลผูกพันหน้าที่เอาไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าหากกฎหมายใดที่มีความไม่พอใจ ก็สามารถให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกหรือแก้ไขได้
 
 
สำเร็จชั่วคราว ‘ปิดสภา’ 1 วัน
 
หลังจากเครือข่ายภาคประชาชนปักหลักชุมนุมกดดันต่อตลอดช่วงบ่าย จนนายมีชัยแถลงยืนยันการปิดการประชุมในวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าไปประท้วงประชิดห้องประชุมได้กลับออกมาด้านนอก
 
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ขึ้นแถลงบนเวทีปราศรัยหน้าสภาว่า เราประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่กดดันจน สนช.ไม่มีการประชุมในวันนี้ แต่ไม่ใช่ความสำเร็จในขั้นสุดท้าย คือ การปิด สนช.ถาวร อย่างไรก็ตาม ประชาชนได้เรียนรู้ว่าสามารถทำให้เขาปิดประชุมได้ด้วยความจริงใจของพวกเรา ที่รับไม่ได้กับกฎหมายอุบาทว์ และครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สามารถบุกเข้าได้ถึงห้องประชุมสภา
 
นายจอน กล่าวด้วยว่าสำหรับข้อเรียกร้องให้สมาชิก สนช.ลาออกนั้นคือจุดที่จะบอกว่าใครอยู่ข้างประชาชน ใครอยู่ข้างเผด็จการ และอย่างน้อยการที่ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ประกาศลาออก (11 ธ.ค.50) ก็เป็นการแสดงออกว่าอยู่ข้างประชาชน แต่ใครที่ไม่ลาออกแสดงว่ามีจิตใจเผด็จการ และเราจะสู้ต่อไป
 
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายจอนเข้าพบที่ทำเนียบในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.56) เนื่องจากกังวลว่าการประท้วงอาจลุกลามเกิดความรุนแรง และอาจเป็นเงื่อนไขที่จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวัน ที่ 23 ธ.ค.นี้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น