ดังนั้น ประธาน ศปช.จึงสรุปว่า “การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็น ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเพื่อให้หันหน้ากลับมาปรองดอง กัน แต่เพื่อเป็นการแก้ไขความผิดพลาดของฝ่ายรัฐ และคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดี” และ ศปช.ยังเห็นว่า ในระยะยาว ไม่เพียงแต่ต้องผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคง แต่ต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งหมดอีกด้วย
การเคลื่อนไหวดังกล่าว สอดคล้องกับการที่ สภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดประชุมสมัยสามัญในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมจะกลายเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณา มีรายงานว่าในขณะนี้ มีกฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองแห่งชาติ รอการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาถึง 6 ฉบับตามชื่อผู้เสนอคือ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ฉบับ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ฉบับนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ฉบับนายสามารถ แก้วมีชัย ฉบับนายนิยม วรปัญญา ฉบับนายวรชัย เหมะ และ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แต่ฉบับที่พรรคเพื่อไทยได้มีมติแล้วว่าจะผลักดันสู่วาระการประชุมเพื่อ พิจารณาก่อน ก็คือ ฉบับของนายวรชัย เหมะ ซึ่งมี ส.ส.ผู้สนับสนุน 41 คน โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 สิงหาคม นี้
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ มีทั้งหมด 7 มาตรา โดยมีหลักการที่จะนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง การเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ด้วยเหตุผลว่าพฤติกรรมทาง การเมืองของประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเพื่อเป็นการให้โอกาส เป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้ หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ
ดังนั้น ในมาตรา 3 ของร่างกฎหมายนี้จึงระบุให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ เมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและ ความรับผิดโดยสิ้นเชิง และถ้าบุคคลนั้นอยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีไม่ว่าในขั้นตอนใด ให้ถือเป็นการสิ้นสุด
ปรากฏว่าในขณะนี้เมื่อใกล้ถึงวาระการพิจารณาก็ได้เกิดกระแสการต่อต้านคัด ค้าน ดังเช่นที่มีมา เช่นพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอว่า กฎหมายนี้จะนำประเทศไปสู่วิกฤต เพราะจะมีคนออกมาต่อต้าน จึงเสนอให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายออกจากสภา นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า ตามร่างกฎหมายของนายวรชัย เหมะ พวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และต่อมา นายอภิสิทธิ์ก็ได้กล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ว่า ตนเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับที่ผู้ก่อเหตุเผาสถานที่ราชการและ เอกชน รวมถึงทำผิดกฎหมายอาญาแล้วไม่มีความผิด ซึ่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ไม่ได้ระบุข้อยกเว้นความผิด ดังนั้น จึงชัดเจนว่า สุดท้ายจะนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย กฎหมายนี้จึงเป็นร่างที่ต้องคัดค้าน
แต่ที่น่าตกใจคือท่าทีของนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่ได้กล่าวกับสำนักข่าวทีนิวส์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมว่า กรณีสภาผู้แทนราษฎรเตรียมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมะ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะไม่ได้นิยามว่า เหตุการณ์ทางการเมืองคือ เหตุการณ์อะไรบ้าง และจะรวมมาตรา 112 หรือไม่ และกรณีที่อธิบายว่า จะไม่นิรโทษกรรมผู้สั่งการ แกนนำเสื้อแดงอาจจะอ้างว่า เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์จะได้หลุดพ้นจากความผิด “กฎหมายมันก็ยุ่งตายเลย”
สรุปแล้ว อธิบดีศาลวิตกว่า กฎหมายนี้จะนิรโทษพวกมาตรา 112 และจะช่วยแกนนำเสื้อแดงให้พ้นผิด ทั้งที่ยังไม่มีแกนนำคนเสื้อแดงคนใดอ้างตัวเป็นผู้สังเกตการณ์เลย ความวิตกของอธิบดีศาล จึงเป็นคนวิตกที่เกินกว่าข้อมูล แต่ปัญหาหลักในประเทศนี้ที่อธิบดีศาลไม่ได้พูดก็คือ การที่กระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐานมุ่งเล่นงานแต่คนเสื้อแดงฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ศาลได้สั่งเลื่อนการพิจารณาคดีพันธมิตรปิดสนามบินอีกครั้ง ผลจากกรณีนี้คือ ฝ่ายพันธมิตรยังไม่มีใครถูกลงโทษทั้งที่เหตุการณ์ปิดสนามบินเกิดมาแล้วเกือบ 5 ปี และการที่ผู้ต้องหาฝ่ายพันธมิตร 96 คนทุกคนได้รับการประกันตัว ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับผู้ต้องหาฝ่ายคนเสื้อแดงที่ต้องติดคุกล่วงหน้าเพราะ ไม่ได้รับการประกันตัว เช่นเดียวกัน กรณีเหตุการณ์เข่นฆ่า สังหารกลางเมืองเมื่อ พ.ศ.2553 ที่ผ่านมาแล้ว 3 ปี ฝ่ายคนเสื้อแดงถูกจำกุมลงโทษไปแล้วมากมาย แต่ฝ่ายก่อการเข่นฆ่าสังหาร ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีอะไรเลย ความคืบหน้าในขบวนการยุติธรรมในด้านนี้มีน้อยมาก
ยิ่งกว่านั้น การกีดกันผู้ต้องหากรณีมาตรา 112 จากการนิรโทษกรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ทุกคนก็เป็นเหยื่อของสถานการณ์ และไม่เคยได้รับความเป็นธรรม การที่ศาลปฏิเสธสิทธิการประกันตัวตั้งแต่แรก ทำให้นักโทษ 112 เช่นคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจำคุกมาแล้ว 5 ปีในความผิดที่ควรจะเป็นลหุโทษมาก คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณเอกชัย หงส์กังวาน และ คุณยุทธภูมิ มาตรนอก ที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความขัดแย้ง และเป็นผลิตผลจากความอยุติธรรมทั้งสิ้น การช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ออกจากคุก จะก่อให้เกิดวิกฤตภายในชาติได้อย่างไร ส่วนที่อ้างกันว่า กฎหมายนิรโทษกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เห็นมีมาตราใดที่จะโยงไปได้เช่นนั้น
กล่าวโดยสรุป การรัฐประหาร การก่อการสังหารหมู่ และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชนคนเสื้อแดงต้องสนับสนุนร่างกฎหมายของนายวรชัย เหมะ เพื่อจะส่งผลในเบื้องแรกให้เกิดการช่วยเหลือพี่น้องที่ยังคงติดอยู่ในคุก และคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ยังคงอยู่ภายใต้กระบวนการลงโทษภายใต้การใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน
ส่วนข้อบกพร่องหรือความไม่ถูกใจในเนื้อหาของกฎหมาย ก็คงจะต้องมีการผลักดันกันต่อไป และถ้าพรรคเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนี้ไม่สำเร็จ ก็คงจะต้องถึงเวลาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะต้องออกพระราชกำหนด เพื่อให้เกิดผลในการนิรโทษกรรมโดยทันที เพราะถ้ารัฐบาลไม่สร้างความเป็นธรรมในสังคม และยังปล่อยให้คนเสื้อแดงติดคุกต่อไป ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงคงจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด
ที่มา: โลกวันนี้วันสุข 3 สิงหาคม 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น