4 สิงหาคม, 2013 - 22:54 | โดย kasian
ปัญหาชนชั้นกับการปฏิวัติกระฎุมพี,
ลักษณะเด่นร่วมเชิงโครงสร้างของการปฏิวัติกระฎุมพี ๔ ประการ,
เงื่อนไขและลักษณะของการปฏิวัติกระฎุมพีที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์,
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ของคณะนิติราษฎร์มีลักษณะเด่นน่าสังเกตบางประการ และคำถามทิ้งท้าย
โดย เกษียร เตชะพีระ
สิงหาคม ๒๕๕๖
๑) ปัญหาชนชั้นกับการปฏิวัติกระฎุมพี
๑๕ ปีก่อน ในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖
อาจารย์ชัยวัฒน์
สถาอานันท์ได้ชักชวนผมไปกล่าวนำการเสวนาในงานปรีดีเสวนาครั้งที่ ๒/๒๕๔๑
ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถ.สุขุมวิทในหัวข้อ “๒๕ ปี ๑๔ ตุลาฯ ๒๕
ปีของอะไร?”
ท่านที่คุ้นกับงานของอาจารย์ Benedict Anderson
อาจทราบว่าครูเบ็นเห็นว่าการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเพื่อโค่นเผด็จการทหาร
อาญาสิทธิ์เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เปรียบเสมือน “การปฏิวัติ (กระฎุมพี) ๑๗๘๙”
ของไทย ในโอกาสดังกล่าวนอกจากเตรียมเนื้อหาไปพูดแล้ว
ผมจึงค้นอ่านทบทวนและทำโน๊ตย่อบทความสั้นเรื่อง “The Notion of Bourgeois
Revolution” ของ Perry Anderson บก. New Left Review
ปัญญาชนฝ่ายซ้ายชื่อดังผู้เป็นน้องชายของครูเบ็น
ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทความ English Questions (1992) ของเขาไปด้วย
๑๕ ปีผ่านไป ผมย้อนมาอ่านใหม่ ก็ยังเห็นความสมสมัย ช่วยเกาที่คันในใจโดยสอดรับกับโจทย์ข้อสงสัยปัจจุบันหลายประการ
เริ่มจากคำถามข้อโต้แย้งเกี่ยวกับลักษณะของความขัดแย้งทางการเมือง
ปัจจุบัน ที่ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน(เหลืองพันธมิตรฯขนานแท้และดั้งเดิม)
มีร่วมกันอย่างน่าอัศจรรย์ใจกับอาจารย์ปิ่นแก้ว
เหลืองอร่ามศรี(ผู้ยิ้มรับจากใจเมื่อใครแซวว่าท่านน่าเปลี่ยนนามสกุลเป็น
“แดงเจิดจรัส” แทน แหะ ๆ)
ถึงเห็นทางการเมืองแตกต่างตรงข้ามคนละขั้วกัน
แต่ทั้งสองท่านสงสัยตรงกันอย่างหนึ่ง
(ผมขออนุญาตสรุปเองจากที่เคยอ่านงานและพูดคุยถกเถียงกับทั้งคู่มา)
คือไม่เชื้อ
ไม่เชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีปัจจุบันมีลักษณะเป็นความขัดแย้ง
ทางชนชั้น เช่นระหว่างชนชั้นนำเก่า vs. นายทุนใหญ่
หรือระหว่างคนชั้นกลางฐานะดี-ปานกลางในเมือง vs.
คนชั้นกลางระดับล่างในหัวเมือง-ชนบท
ทั้งสองท่านเถียงหัวชนฝา ยืนกระต่ายขาเดียวว่าไม่จริ๊ง ไม่จริง
มีคนสังกัดชนชั้นต่าง ๆ อยู่ในทั้งสองสีสองฝ่ายนั่นแหละ
มันแยกชนชั้นขาดกันไม่ได้ จริง ๆ แล้วเป็นความขัดแย้งเรื่องอื่นต่างหาก
ไม่ใช่เรื่องชนชั้น
ผมคิดว่าบทความสั้นของ Perry Anderson ที่เอ่ยถึงข้างต้นมีประเด็นช่วยแก้ปมในใจนี้ได้บ้าง
Perry ชี้ว่าหากดูในสายคิดมาร์กซิสต์
ความสัมพันธ์ระหว่างนักคิดสายนี้กับแนวคิด
“การปฏิวัติกระฎุมพี”มีความยอกย้อนลักลั่นแปลกดี กล่าวคือ:
-มาร์กซกับเองเกลส์ สองปรมาจารย์เจ้าสำนัก
ได้เข้าร่วมต่อสู้และ/หรือสังเกตการณ์ในการปฏิวัติกระฎุมพีระลอก ค.ศ. ๑๘๔๘
ในนานาประเทศยุโรป เช่น ปรัสเซีย, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ฮังการี, ออกเตรีย,
โรมาเนีย ฯลฯ ซึ่งล้วนพ่ายแพ้ล้มเหลว
ไม่อาจแทนที่ระบอบกษัตริย์/สมบูรณาญาสิทธิ์เดิมด้วยระบอบสาธารณรัฐได้
-แต่พอเกิดการปฏิวัติกระฎุมพีระลอกถัดไปและประสบความสำเร็จในระหว่าง
คริสตทศวรรษ ๑๘๕๐ – ๑๘๗๐ (ได้แก่ การรวมชาติอิตาลี,
สงครามกลางเมืองอเมริกัน, การปฏิรูปเมจิในญี่ปุ่น, และการรวมชาติเยอรมนี)
พ่อเจ้าประคุณทั้งสองกลับห่วงพะวงถึงแต่การปฏิวัติสังคมนิยมที่ยังไม่มา
ไม่ค่อยได้ติดตามศึกษาค้นคว้าการปฏิวัติกระฎุมพีร่วมสมัยเหล่านี้จริงจัง
-เอาเข้าจริงมาร์กซใช้แนวคิด “การปฏิวัติกระฎุมพี”
ชัดถ้อยเต็มคำน้อยครั้งมากและเฉพาะในงานเขียนยุคต้นเวลากล่าวถึง
สงครามกลางเมืองในอังกฤษ, การปฏิวัติฝรั่งเศส,
และการต่อสู้ที่จะเกิดตามมาในเยอรมนีเท่านั้น
-พวกมาร์กซิสต์ที่ใช้แนวคิด “การปฏิวัติกระฎุมพี”
อย่างเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังครั้งแรกคือมาร์กซิสต์รัสเซีย(เพลคานอฟ,
เลนิน) เพื่อวิพากษ์และปฏิเสธแนวทางนารอดนิค (populism สไตล์รัสเซีย
มุ่งปลุกระดมชาวนาในชุมชนเลี้ยงตนเองพึ่งตนเองก่อนทุนนิยม
ให้ลุกฮือโค่นระบอบเก่า
ทำการปฏิวัติสังคมนิยมรัสเซียทันทีโดยโดดข้ามขั้นตอนการพัฒนาทุนนิยม
เพื่อเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ชาวนาโดยตรง)
โดยเพลคานอฟกับเลนินยืนกรานว่าการปฏิวัติรัสเซียต้องเป็นปฏิวัติกระฎุมพี
แม้จะนำโดยชนชั้นกรรมกรก็ตาม
(ซึ่งในที่สุดก็ไม่ปรากฏเป็นจริงในประวัติศาสตร์
รัสเซียปฏิวัติต่อเนื่องเข้าสู่สังคมนิยมรวดเดียวทันที
ตามทฤษฎีปฏิวัติถาวรของทรอตสกี้ ก่อนจะหยุดชะงักค้างกลางคันและยอมทำ
“สังคมนิยมในประเทศเดียว” ภายใต้สตาลินแต่นั่นมันอีกเรื่องต่างหาก.....)
-ประเด็นอยู่ตรงแนวคิด “การปฏิวัติกระฎุมพี”
ถูกนำไปใช้ในวิวาทะมาร์กซิสต์รัสเซีย vs. นารอดนิคนี้ไม่ใช่เพื่อคิดเรื่อง
“การปฏิวัติกระฎุมพี” โดยตัวมันเอง
แต่เพื่อคิดเรื่องลู่ทางความเป็นไปได้ของ “การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ”
อันเป็นประเด็นใจกลางของวิวาทะ, “การปฏิวัติกระฎุมพี”
ถูกหยิบยกมาอภิปรายในฐานะด้านลบด้านกลับของ “การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ”
เท่านั้นเอง ผลก็คือ แนวคิด
“การปฏิวัติกระฎุมพี”ที่ปรากฏขึ้นในวิวาทะจึงเป็นแค่เงาด้านกลับของโมเดล
“การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ” และถูกทึกทักว่า “การปฏิวัติกระฎุมพี”
ก็ย่อมมีโครงสร้างสอดรับคล้องจองกับ “การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ” นั่นแหละ
กล่าวคือ:
การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ = ชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรม ประจัญบานกับ ชนชั้นกรรมกรในโรงงาน ฉันใดการปฏิวัติกระฎุมพี (เงาด้านกลับของการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ) = ชนชั้นเจ้าที่ดินศักดินา ประจัญบานกับชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรม ฉันนั้น
-เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง
บรรดานักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์นานาประเทศก็พากเพียรศึกษาค้นเขียนประวัติ
“การปฏิวัติกระฎุมพี” ในประเทศตน และก็ประสบกับปัญหาคล้ายกัน
คือไม่เจอเหตุการณ์ปฏิวัติกระฎุมพีแห่งชาติที่ “ชนชั้นเจ้าที่ดินศักดินา
ประจัญบานกับ ชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรม” แบบเพียว ๆ ชัด ๆเลยแฮะ
มีแต่ข้อมูล/ภาพรวมที่ชนชั้นต่าง ๆ
ปนเปื้อนคละเคล้าอยู่ทั้งสองฝ่ายลักลั่นกันไปหมด
เอาเข้าจริง สิ่งที่ส.ว.คำนูณและอาจารย์ปิ่นแก้ว (รวมทั้งคุณอานันท์
ปันยารชุนและม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร among others)
ร้องแย้งลักษณะชนชั้นของความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบัน
ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างและเป็นการร้องซ้ำสิ่งที่นักประวัติศาสตร์อนุรักษนิยม
Hugh Trevor-Roper ของอังกฤษร้องแย้ง Christopher Hill,และ Alfred Cobban,
Francois Furet, Denis Richet ของฝรั่งเศสร้องแย้ง Albert Soboul
มาก่อนแล้วนั่นเอง
๒) ลักษณะเด่นร่วมเชิงโครงสร้างของการปฏิวัติกระฎุมพี ๔ ประการ
แทนที่จะยึดติดกับแนวคิด “การปฏิวัติกระฎุมพี” แบบ ๒ ชนชั้นประจัญบาน
(เจ้าที่ดินศักดินา vs.นายทุนอุตสาหกรรม) ของมาร์กซิสต์รัสเซีย (เพลคานอฟ,
เลนิน) อันเป็นเงาด้านกลับของ “การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ” Perry Anderson
เสนอให้สร้างแนวคิดทฤษฎีว่าด้วย “การปฏิวัติกระฎุมพี”
ขึ้นมาใหม่ที่ครอบคลุมกรณีการปฏิวัติใหญ่ ๘ ครั้ง ใน ๗ ประเทศ ช่วง ๔
คริสตศตวรรษ (ดูตารางในภาพประกอบ)
จากนี้ เขาสรุปลักษณะเด่นร่วมเชิงโครงสร้างของการปฏิวัติกระฎุมพีเหล่านี้ออกมา ๔ ประการ ได้แก่:
๑)
ความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ร่วมกันได้ยาวนานระหว่างระบบศักดินากับระบบทุนนิยม
ในระยะผ่าน ฐานร่วมของมันคือระบบทั้ง ๒
ต่างเป็นระบบทรัพย์สินเอกชนเหมือนกัน
(ตัวเปรียบต่างคือความแตกต่างขัดแย้งระหว่างระบบทุนนิยมกับสังคมนิยม
หรือระหว่างระบบทรัพย์สินเอกชนกับระบบทรัพย์สินสังคม)
เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่ชนชั้นเจ้านายขุนนางกับชนชั้นกระฎุมพีจะติดต่อ
สัมพันธ์แบบอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน
กระทั่งรอมชอมปรองดองกันแบบอินทรียภาพ (เข้ากันได้ พึ่งพาอาศัยกัน
ทำงานคล้องจองสอดรับกัน ราวอวัยวะร่วมองคาพยพเดียวกัน) - นี่คือเหล่าปัจจัยที่มาประชุมกันกำหนดการปฏิวัติกระฎุมพีจากเบื้องบน (the overdetermination of bourgeois revolution from above)
๒)
ระยะผ่านจากระบบศักดินาไปสู่ระบบทุนนิยมไม่เคยเป็นแค่เรื่องความสัมพันธ์สอง
ขั้วสองข้างระหว่างชนชั้นเจ้านายขุนนาง กับ ชนชั้นกระฎุมพีเลย
เพราะระบบศักดินาย่อมต้องมีชนชั้นชาวนาที่ไม่ได้ถือครองที่ดินเป็น
กรรมสิทธิ์ในชนบทให้ชนชั้นเจ้านายขุนนางเจ้าของที่ดินได้ขูดรีดค่าเช่า
ในทางกลับกัน
ระบบทุนนิยมก็ย่อมต้องมีกรรมกรรับจ้างไร้สมบัติให้นายจ้างกระฎุมพีขูดรีดแรง
งานรับจ้างส่วนเกินไปเป็นกำไร
ฉะนั้นมวลชนชาวนาชนบทกับกรรมกรในเมืองจึงดำรงอยู่ข้างล่างคู่ขัดแย้งเจ้านาย
ขุนนาง vs. กระฎุมพี
ประดุจกระสายยาของความขัดแย้งทางสังคมที่ทุนนิยมเปิดปล่อยออกมา
วิกฤตการปฏิวัติกระฎุมพีจึงไม่อาจเป็นการดวลเดี่ยวระหว่างชนชั้นเจ้านายขุน
นาง vs. ชนชั้นกระฎุมพีสองต่อสองได้
เพราะโดยโครงสร้างมันจะต้องเกิดความสัมพันธ์สามเส้าสี่เส้ากับชาวนาและ
กรรมกรอยู่แล้วเสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่ง
มวลชนชั้นล่างย่อมปรากฏตัวพัวพันนัวเนียในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการ
เมืองจากสังคมศักดินาไปสู่สังคมทุนนิยมเสมอ - นี่คือเหล่าปัจจัยที่มาประชุมกันกำหนดการปฏิวัติกระฎุมพีจากเบื้องล่าง (the overdetermination of bourgeois revolution from below)
๓) ชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรมโดยธาตุแท้เป็นแค่คนกลุ่มน้อย
ยิ่งทุนนิยมพัฒนาไป ยิ่งสะสมทุน
ทุนยิ่งจะรวมศูนย์และนายทุนใหญ่ก็มีจำนวนหดเล็กน้อยลงเรื่อย ๆ
ฉะนั้นลำพังชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรมล้วน ๆ จึงทำปฏิวัติกระฎุมพีไม่ได้
แคบเล็กไป ต้องลากดึงเอา ขบวนทัพมวลชน นอกชนชั้นตนไปร่วมด้วยให้มีน้ำหนัก
ขบวนทัพมวลชนกระฎุมพีที่ว่าประกอบด้วย ก) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ นักบริหาร
ช่างเทคนิคที่มีสภาพชีวิตแบบกระฎุมพี และ ข) นายทุนน้อยชั้นชนต่าง ๆ
ซึ่งลากเส้นพรมแดนแบ่งแยกจาก ก) ได้ไม่ชัดเจน
แตกต่างกันในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพโดยเฉพาะในหมู่ผู้ประกอบการรายย่อย
สรุปก็คือเนื้อในของชนชั้นกระฎุมพีเละตุ้มเป๊ะหลากหลายมาก
ไม่กลมกลืนเกาะกลุ่มเป็นเนื้อเดียวชัดเจนเหมือนเจ้านายขุนนางหรือกรรมกร
โครงสร้างข้างในของชนชั้นกระฎุมพีนี้ไม่เป็นระบบระเบียบ
ผิดเพี้ยนจากแบบแผนปกติเสมอ - นี่คือเหล่าปัจจัยที่มาประชุมกันกำหนดการปฏิวัติกระฎุมพีจากภายใน (the overdetermination of bourgeois revolution from within)
๔)
แบบวิถีการผลิตทุนนิยมจำต้องมีรัฐชาติมาสร้างสภาพบังคับให้เกิดการผลิตซ้ำ
ตัวมันอย่างมีเสถียรภาพเหนือดินแดนแว่นแคว้นหนึ่ง ๆ
ตราบใดที่ยังต้องมีรัฐชาติทำหน้าที่นี้ให้
ชนชั้นกระฎุมพีก็มักจะโผล่มาเป็นคู่แข่งแก่งแย่งอำนาจทรัพยากรกับชนชั้นเจ้า
สมบัติในรัฐอื่น
การปฏิวัติกระฎุมพีจึงมีพลวัตจะนำไปสู่การเผชิญหน้าและขัดแย้งกับอริแวดล้อม
ภายนอกเสมอ - นี่คือเหล่าปัจจัยที่มาประชุมกันกำหนดการปฏิวัติกระฎุมพีจากภายนอก (the overdetermination of bourgeois revolution from without)
โดยสืบเนื่องจาก ๑) แบบแผนปรุพรุนของระบบศักดินาจากเบื้องบน ๒)
การดำรงอยู่ของชนชั้นผู้ถูกขูดรีดทั้งหลายที่มิอาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้าจาก
เบื้องล่าง ๓) ทีทรรศน์องค์ประกอบที่ผสมปนเปภายในของชนชั้นกระฎุมพีเอง และ
๔) แรงกดดันแก่งแย่งช่วงชิงของรัฐคู่แข่งจากภายนอก เหล่านี้
ทำให้ธาตุแท้ของการปฏิวัติกระฎุมพีไม่แน่นอนลงตัว
มันไม่เคยเป็นเส้นทางสายตรงที่เดินโดยองค์ประธานการปฏิวัติชนชั้นเดียวเลยใน
สภาพเช่นนี้ ข้อยกเว้นทั้งหลายจึงกลายเป็นกฎเกณฑ์
(คิดเผื่อไว้ได้เลยว่ามันออกนอกกฎเสมอ) ทุก ๆ
การปฏิวัติกระฎุมพีจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นลูกเถื่อนนอกสมรสทั้งสิ้น
๓) เงื่อนไขและลักษณะของการปฏิวัติกระฎุมพีที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์
ระยะหลายปีหลังนี้
ในบรรดากลุ่มนักวิชาการที่สนใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
ในเชิงภูมิปัญญาสาธารณะ
(ศึกษาหาความรู้เพื่อแสวงทางออกเชิงปฏิบัติแก่สังคมการเมืองที่กำลังเผชิญ
วิกฤตอับตัน แล้วนำเสนอต่อสาธารณชนโดยรวม) ย่อมไม่มีใครเกินคณะนิติราษฎร์
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของคณะนิติราษฎร์มีลักษณะเด่นน่าสังเกตบางประการ
๑) ถือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นกรณี “การปฏิวัติกระฎุมพี” ของสยาม (ซึ่งยังติดขัดค้างคาไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์)
๒) ถือการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
และกระบวนการสืบเนื่องทางการเมืองและกฎหมายหลังจากนั้นเป็นตัวแบบ/แบบอย่าง
(model) ในการเปรียบเทียบ
๓) ใช้วิธีการศึกษาแบบนิติศาสตร์เป็นหลัก
ขณะที่องค์ความรู้และวิธีการศึกษาทางนิติศาสตร์มีความสำคัญอยู่แล้วโดย
ทั่วไป และจำเป็นคับขันยิ่งขึ้นในสถานการณ์รัฐประหารและตุลาการธิปไตย
(judicial rule) หลายปีหลังนี้
อีกทั้งก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าการศึกษาแบบนิติศาสตร์เป็นความถนัดสันทัด
เชี่ยวชาญของคณาจารย์นิติราษฎร์ที่ได้อบรมฝึกฝนมาโดยเฉพาะ
แต่กระนั้นก็เหมือนแขนงความรู้และวิธีการศึกษาทั้งหลายทั้งปวง
มันย่อมเป็นเครื่องมือที่มีสมรรถนะเหมือนกรอบแว่น/แว่นขยายส่องโลก
กล่าวคือมันอาจช่วยให้เห็นบางส่วนชัดขึ้นแต่อาจเห็นบางส่วนลางเลือนลงมันอาจ
ช่วยให้เห็นบางสิ่งที่อยู่ในกรอบแต่อาจทำให้ไม่เห็นหรือมองข้ามผ่านเลยสิ่ง
อื่นที่อยู่นอกกรอบนั้นไปดังที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบวิธีการศึกษา
แบบนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ขั้นต้นบางประการเมื่อต้นปีนี้(ดูภาพประกอบ)
ข้อคิดของ Perry Anderson ที่ปรากฏในบทความ “The Notion of Bourgeois
Revolution” (มีที่มาจากคำบรรยายของเขาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ. ๑๙๗๖)
มีส่วนช่วยให้เห็นความข้อนี้ชัดเจนขึ้น เพราะมันจัดวาง
การปฏิวัติฝรั่งเศสปี ๑๗๘๙
และโดยนัยสืบเนื่องย่อมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของสยาม
ลงในแบบแผนและบริบทเงื่อนไขที่วิวัฒน์เปลี่ยนแปลงไปของการปฏิวัติกระฎุมพี
โดยทั่วไป ทั้งในทางแนวคิดทฤษฎีและประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ
Perry แบ่งการปฏิวัติกระฎุมพี ๘ กรณี ๔
คริสตศตวรรษที่เขาค้นคิดเปรียบเทียบออกเป็น ๒ ยุคหรือ ๒ วงจรใหญ่
ตามบริบทเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป (ดูภาพประกอบ)
๑) วงจรแรกระหว่างคริสตศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘
ซึ่งเป็นยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ทุนนิยมส่วนใหญ่ยังเป็นทุนกสิกรรมหรือทุนพาณิชย์เท่านั้น
การปฏิวัติกระฎุมพีในวงจรนี้ (ซึ่งรวมทั้งการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี ๑๗๘๙)
จะมีลักษณะเด่นร่วมกันดังนี้:-
-ชนชั้นเจ้าที่ดินพาณิชย์และผู้กว้างขวางกระฎุมพีทำพันธมิตรการเมืองกับชนชั้นล่าง ลูกนา พ่อค้า หัตถกรได้
-ชูคำขวัญเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
-มวลชนคนชั้นล่างยากไร้ในเมืองมีบทบาทลุกฮือต่อสู้เข้าลุยชนกับอำนาจ
เก่าอย่างดุเดือดแข็งขัน
การรุกโจมตีทางการเมืองของมวลชนมีบทบาทในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโดดเด่นเหนือ
พลวัตทางเศรษฐกิจของทุน ซึ่งยังอ่อนแออยู่
๒) วงจรที่สองในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ เป็นยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว
ทุนกลายเป็นทุนอุตสาหกรรมซึ่งขัดแย้งเผชิญหน้าโดยตรงกับกรรมกรในกระบวนการ
ผลิต ทุนกับแรงงานเริ่มแบ่งแยกขัดแย้งปฏิปักษ์
นับวันเชื่อมต่อเป็นแนวร่วมพันธมิตรยากขึ้นทุกที
การปฏิวัติกระฎุมพีในวงจรนี้ (อาจจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
เข้าข่ายวงจรหลังนี้ได้) จะมีลักษณะเด่นร่วมกันดังนี้: -
-สูตรปฏิวัติแบบจาโคแบงที่ให้ทำพันธมิตรระหว่างชนชั้นเจ้าสมบัติกับชน
ชั้นล่างในการลุกฮือขึ้นสู้กับอำนาจเก่าใช้ไม่ได้อีกต่อไป พ้นสมัย
ด้วยฐานะเชิงโครงสร้างและผลประโยชน์เชิงชนชั้นที่แปลกแยกแตกต่างขัดแย้งกัน
ชัดเจน,
มวลชนคนชั้นล่างยากไร้ในเมืองกลายเป็นภัยคุกคามต่อทรัพย์สินเอกชนของทุนและ
ความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่าแนวร่วมปฏิวัติทางการเมือง,
ฉะนั้นการปฏิวัติ ๑๘๔๘ - ๔๙ จึงล้มเหลวทั่วยุโรป
นับเป็นเส้นแบ่งสองยุคของการปฏิวัติกระฎุมพีออกจากกัน
-กลายสภาพเป็นการปฏิวัติจากเบื้องบน (R?volution d’en haut
แทนที่จะมีลักษณะเป็นการปฏิวัติจากเบื้องล่างที่มวลชนยากไร้ลุกฮือเข้าทำเอง
ดังในยุคแรกหรือ R?volution d’en bas)
การปฏิวัติยุคสองนี้ไม่ก่อให้เกิดความคิดการเมืองใหม่ใด ๆ
ที่คืบหน้าไปไกลกว่าของเดิมในการปฏิวัติกระฎุมพียุคแรก (i.e. เสรีภาพ
เสมอภาค ภราดรภาพ) ความวุ่นวายจลาจลของม็อบน้อยมาก มีความรุนแรงบ้าง
แต่เป็นลักษณะจัดกองทัพประจำการกรีธาเข้ารบกันอย่างเป็นระเบียบแบบแผน
มากกว่า (สงครามกลางเมืองอเมริกัน,
กบฎบวรเดช)มีการนำทางทหารและติดอาวุธสงครามแบบอุตสาหกรรมในการปฏิวัติ
-อุดมการณ์หลักขยับย้ายไปสู่ “ชาติ” ไม่ใช่ “สังคม”, คำขวัญหลักกลายเป็น “เพื่อชาติกับอุตสาหกรรม”
-อำนาจและพลวัตทางเศรษฐกิจของทุนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเป็นตัว
น้อมนำการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติมากกว่าการรุกโจมตีทางการเมืองของมวลชน
๔) คำถามทิ้งท้าย
หากนำข้อคิดเหล่านี้มาพิจารณาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน คำถามที่น่าถามก็คือ:
-ใช่ไหมว่ามวลชนคนชั้นล่างยากไร้ในเมือง (เสื้อแดง) ถูกมองอย่างระแวงระไวว่าเป็นภัยคุกคามมากกว่าแนวร่วมของทุน?
-ใช่ไหมว่าไม่มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมให้สร้างพันธมิตรอันยั่งยืน
ระหว่างชนชั้นนายทุนกับกรรมกรและมวลชนคนชั้นนล่างยากไร้ในเมืองอีกต่อไป?
-แล้วอะไรคือเงื่อนไขเศรษฐกิจสังคมใหม่ของทุนนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป
(จากยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม)ในปัจจุบัน ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ?
คำถามและการหาคำตอบเหล่านี้น่าจะช่วยจัดวาง นิติศาสตร์
รวมทั้งคำถามและคำตอบเชิงกฎหมายมหาชนและรัฐธรรมนูญ
ให้อยู่ในบริบทเงื่อนไขของการพิจารณาทางเศรษฐกิจการเมืองเปรียบเทียบเชิง
ประวัติศาสตร์ที่กว้างขวางรอบด้านยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น