ประเทศไทย
6 ธันวาคม 2556
เรื่อง การทำประชามติ เพื่อหาทางออกประเทศไทย
เรียน คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดย สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และมวลมหาประชาชน
กว่า 1 เดือนที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ กปปส.และมวลมหาประชาชน ได้จัดการชุมนุม ยึดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ แล้วบีบบังคับข่มขืนใจให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับข้อเสนอของท่านแต่ข้างเดียว ในการจัดตั้งสภาประชาชน และจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 นั้น มีข้อพึงต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
1.คุณสุเทพมักจะอ้างอยู่เสมอ ให้ข้าราชการฯเลือกว่า “จะอยู่ข้างประชาชนหรือข้างรัฐบาล” ต้องพิจารณาด้วยว่า ประชาชนไทยทั้งมวลไม่ได้เห็นดีเห็นงามตามคุณสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน ไปเสียทั้งหมด สถานการณ์นี้ต่างไปจากความขัดแย้งทางการเมืองในกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2553 ที่ประชาชนไทยรวมใจเป็นเอกฉันท์ฝ่ายหนึ่ง ในการขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นการขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย คือฝ่ายคุณสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน กับประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชนทั้งประเทศ หากคุณสุเทพบังคับข่มขืนใจให้ประชาชนไทยที่สนับสนุนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทน ยอมรับการบังคับกดดันของฝ่ายคุณสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชน ก็น่าจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ยุ่งยากไปในภายหน้า อาจนำไปสู่สถานการณ์แตกแยกรุนแรงเป็นสงครามกลางเมืองแบบเดียวกับอียิปต์ หรือซีเรียได้ จึงพึงต้องตระหนักในข้อนี้ให้มาก
2.การอ้างจำนวนผู้ชุมนุมซึ่งคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. ใช้คำเรียกว่า “ มวลมหาประชาชน” นั้น ก็ไม่อาจเป็นตัวแทนของประชาชนไทยทั่งมวลได้ ซึ่งการอ้างว่ามียอดผู้ชุมนุมออกมามากที่สุดถึง 1 ล้านคนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศที่เป็นกลาง ทั้ง AP,REUTERS, BLOOMBERG ต่างรายงานตรงกันว่ามีผู้ชุมนุมเพียง 1 แสนคนเท่านั้น(ตัวอย่างรายงานของ Reuters)
แต่ถึงแม้จะมีถึง 1 ล้านคนตามที่คุณสุเทพอ้าง ก็มิใช่จะอ้างได้ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือเป็นตัวแทนของประชาชนไทยทั้ง ประเทศ ซึ่งมีถึง 64 ล้านคนได้
3.การเสนอตั้งรัฐบาลรักษาการ และนายกฯมาตรา 7 นั้น เป็นข้อเสนอที่ขัดต่อพระราชกระแสดำรัสที่เคยพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่ว่า
“ ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า ไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา ไม่มีที่เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน จะขอนายฯ พระราชทานไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ พูดแบบมั่ว แบบไม่มีเหตุผล”
“ไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จๆ ไป ถ้าไม่ได้ เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะพระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ ที่จะไปมั่ว ”
นายสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน พึงระมัดระวังที่จะไม่กระทำการมิบังควรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
4.ทั้งคุณสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน ฝ่ายหนึ่งกับประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องฟังมติของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ 64 ล้านคนที่รักประเทศชาติ รักความสงบ ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องไม่แอบอ้างว่า ฝ่ายตนเป็นเสียงข้างมาก เป็นเสียงของประชาชนทั้งประเทศบังคับให้อีกฝ่ายทำตาม
เพื่อเป็นการแสวงหาทางออกของประเทศ จึงใคร่ขอเสนอแนะให้ทำประชามติ ถามประชาชนทั้งประเทศโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 และพระราชบัญญัติประชามติ เพื่อถามประชาชนว่า
- เห็นด้วยกับแนวทางของนายสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชน ที่จะให้คุณสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชน จัดตั้งสภาประชาชนแล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรวมทั้งรัฐบาล
-เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลที่จะยังคงการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง แล้วสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ถ้าการลงประชามติฝ่ายคุณสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชนได้คะแนนเสียงมากกว่า คุณสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน ก็จะมีความชอบธรรมที่จัดตั้งสภาประชาชน นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อไป
แต่ถ้าผลออกมาในอีกทางหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุนแนวทางตามรัฐธรรมนูญที่มีสภาฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้คะแนนเสียงมากกว่า ก็คงเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะให้คุณสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชน หยุดชุมนุมและคืนพื้นที่ สถานที่ราชการต่างๆที่ยึดไว้ ให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาแนวทางการทำประชามติหาทางออกให้ประเทศไทย อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น