แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ใบตองแห้ง : รัฐบาลต้องตัดสินใจยุบสภา

ที่มา ประขาไท


ม็อบอนาธิปไตยคนชั้นกลางชาวกรุง (และชาวใต้) ได้เริ่มก่อความเสียหายรุนแรงขึ้นในวันเสาร์ ทั้งยังเกิดเหตุปะทะระหว่างนักศึกษารามฯ กับมวลชนเสื้อแดงที่รัชมังคลา ซึ่งอาจลุกลามบานปลาย วันอาทิตย์ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อม็อบประกาศจะบุกทำเนียบรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างๆ ตลอดจนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ถ้ายอมให้ม็อบบุกทุกแห่ง รัฐบาลก็จะเป็นอัมพาต ตำรวจก็จะเป็นอัมพาต แล้วจะควบคุมสถานการณ์กันอย่างไร
เรื่องน่าประหลาดใจคือหลังผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันพฤหัส ท่ามกลางข้อเสนอให้ยุบสภา ทั้งจากฝ่ายก้าวหน้า เป็นกลาง และล้าหลัง รัฐบาลก็ยังนิ่งเฉย กระทั่งมหาตมะคานเทือกประกาศดีเดย์ 1 ธ.ค.รัฐบาลก็ยังเฉย เพียงประกาศพร้อมเจรจา ซึ่งน่าจะไม่พอ
รัฐบาลควรเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้อง “เจรจากับโจร” ไม่จำเป็นต้องยกระดับเทพเทือกเป็นคู่เจรจา แต่รัฐบาลต้องเจรจากับสังคม แสดงท่าทีต่อข้อเสนอทั้งฝ่ายนักวิชาการก้าวหน้า กลุ่ม อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ฯลฯ ที่เสนอให้ยุบสภาพร้อมกับลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แสดงท่าทีต่อข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดี หรือแสดงท่าทีต่อข้อเสนอของฝ่ายเป็นกลาง อย่างหอการค้า ที่เสนอตัวเป็นคนกลาง ประสานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อ จัดเจรจาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน
เออ มีคนเขายอมเป็นคนกลาง ทำไมรัฐบาลไม่รับ รัฐบาลนิ่งเฉยทำไมครับ
สถานการณ์อย่างนี้ รัฐบาลควรประกาศว่า “จะยุบสภา” “พร้อมยุบสภาในทันที” แต่เนื่องจากการยุบสภาเพียงอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาไม่ได้ จึงขอเชิญทุกฝ่ายมาร่วมกันหาทางออก มาหารือว่าจะแก้ไขปัญหาอะไรบ้างก่อนยุบสภา
แล้วก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง สมมติ เชิญทั้งพวกอธิการบดี หอการค้า สภาอุตสาหกรรม นักวิชาการก้าวหน้า อ.นิธิ หมอประเวศ อานันท์ ฯลฯ (เอามาเหอะน่า อย่างน้อยก็แก้วิกฤติ) เพื่อตกลงว่าจะให้รัฐบาลยุบสภาเมื่อไหร่และควรทำอะไรบ้างก่อนยุบ
นี่คือวิธีโดดเดี่ยวม็อบ เพราะต้องเข้าใจว่ากระแสสังคมส่วนใหญ่ ต่อให้คนที่ไม่พอใจรัฐบาล ก็ไม่เห็นด้วยกับม็อบ แม้แต่คนที่อ้างว่ามากันเป็นล้านเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะเห็นด้วยกับการบุกยึดสถานที่ราชการเสียทั้งหมด
แต่ที่แน่ๆ กระแสที่ลุกฮือมาแสดงความไม่พอใจรัฐบาล จะไม่มีวันหยุดจนกว่าจะมี “ผลลัพธ์” อย่างใดอย่างหนึ่ง
ต้องเข้าใจว่า กระแสอารมณ์คนชั้นกลาง แม้เริ่มต้นมีเหตุผล เกิดจากความไม่ชอบธรรมในการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่พอเป็นอารมณ์แล้วก็พร้อมจะเตลิดไปเรื่อย จนทะลุเป้าอย่างใดอย่างหนึ่งจึงค่อย “หายบ้า” นี่ไม่ว่าเป้าหมายนั้นเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยหรืออนาธิปไตย
ก็สมัยม็อบมือถือไล่สุจินดา เรียกร้องให้นายกฯ มาจากเลือกตั้ง ได้อานันท์ ปันยารชุน ยังโห่ร้องกันซะงั้น
แน่นอน รัฐบาลมีที่มาชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ม็อบตั้งข้อเรียกร้องนอกวิถี ปล่อยให้อาละวาดไป ก็ยิ่งเสียความชอบธรรม ชาวบ้านด่ากันพึม แต่ไม่ใช่ว่าคิดอย่างนี้แล้วรัฐบาลจะนิ่งเฉย ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ เพราะสถานการณ์ผันแปรได้ทุกวัน อุบัติเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
รัฐบาลต้องตัดสินใจยุบสภา เพราะเป็นวิถีทางที่ชอบธรรม เนื่องจากสภาใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งทั้ง “เสียสัตย์” และลักหลับ เพียงแต่การยุบสภานั้นต้องให้สังคมมีส่วนร่วม รัฐบาลต้องแสดงท่าทีพร้อมยุบสภาวันนี้ เดี๋ยวนี้ แต่เปิดให้คนกลางทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจว่าควรยุบเมื่อไหร่ ควรทำอะไรก่อนยุบ (รู้หรอกน่าว่าบางคนก็ไม่เป็นกลาง แต่ให้มีความหลากหลาย)
ซึ่งถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลก็ควรผลักดันข้อเสนอของนักวิชาการก้าว หน้า ยุบสภาพร้อมลงประชามติ ซึ่งอาจเลื่อนไปยุบสภาปลายเดือนมกราคม โดยประกาศลงประชามติในราชกิจจานุเบกษาก่อน
หรือถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลก็ควรเสนอให้ “คนกลาง” ร่วมให้ฉันทามติ ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลืองตั้งแต่หลัง รัฐประหารจนถึงเหตุการณ์พฤษภา 53 ตามเจตนารมณ์เดิมของร่างวรชัย (รวมครั้งนี้ด้วยก็ได้แต่ยกเว้นแกนนำ)
ข้อเสนอนี้ไม่แน่ใจว่าช้าไปหรือไม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนทุกวัน รัฐบาลไม่ตัดสินใจวันหนึ่ง สถานการณ์ก็แย่ลงไปอีกวันหนึ่ง ยังไม่แน่ว่าเมื่อถึงวันที่ 5 ธ.ค.ถ้าเทพเทือกยึดทำเนียบได้แล้วจัดถวายพระพรร่วมกับ กทม.อะไรจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ต้องยืนหลักที่พร้อมยุบสภา และใช้การหารือกับทุกฝ่าย หาฉันทามติสังคม แต่จะปรับอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์วันต่อวัน สมมติเช่น อาจจะออกทีวีรวมการเฉพาะกิจในวันอาทิตย์ ประกาศเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ยุบสภา โดยเชิญที่ประชุมอธิการบดี หอการค้า สภาอุตสาหกรรม นักวิชาการ ภาคส่วนต่างๆ ที่เรียกร้องให้ยุบสภา มาหารือกำหนดขั้นตอน


ไม่เข้าใจความชอบธรรม

พรรคเพื่อไทยมักเข้าใจแต่ว่าตัวเองได้อำนาจมาโดยชอบธรรม แต่ไม่เข้าใจการใช้อำนาจอย่างชอบธรรม ไม่เข้าใจการอยู่ในอำนาจอย่างชอบธรรม ไม่เข้าใจกระทั่งว่าทำอย่างไรให้คนไม่รักแต่ก็ไม่เกลียด
มิตรสหายชาวใต้ท่านหนึ่ง ตำหนิรัฐบาลว่าสาเหตุที่คนใต้ลุกฮือ ทั้งขึ้นรถบัสรถไฟมาจากภาคใต้เป็นหมื่นๆ รวมกับคนใต้ในกรุงอีกเป็นหมื่นๆ ก็เพราะรัฐบาลไม่รู้จักเอาใจคนใต้เลย คือรู้อยู่แล้วว่ายังไงคนใต้ก็เลือกหมากับเสาไฟฟ้าที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งมา แต่ทำอย่างไรให้เขาไม่เลือกแต่ไม่เกลียด รัฐบาลไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย ขณะที่แมลงสาบเป่าหูคนใต้ทุกวัน
พรรคเพื่อไทยดันทุรังในการใช้อำนาจ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั่นเห็นชัด แต่กระทั่งเรื่องที่ถูกต้อง เช่น การที่รัฐสภาประกาศไม่รับอำนาจศาล รัฐสภาซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนก็ไม่ใส่ใจการชี้แจงประชาชน ไม่ใส่ใจการตอบโต้ ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย มีแต่นิติราษฎร์ กับนักกฎหมายบางคนชี้แจงให้ ฝ่ายการเมืองไม่สามารถแปรเป็นวาทกรรมทางการเมือง ไม่เหมือนประชาธิปัตย์ที่ตวัดลิ้นเก่ง
รัฐสภาทำถูก แต่ไม่รู้จักตอบโต้ข้อกล่าวหา เช่นที่ว่ารัฐสภาปฏิเสธอำนาจศาล ต้องบอกว่าในกรณีที่เป็นร่าง พ.ร.บ.เช่นเงินกู้ 2 ล้านล้าน รัฐสภา รัฐบาล ล้วนยอมรับอำนาจศาล แต่กรณีของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่รับเพราะเป็นอำนาจของรัฐสภาตามมาตรา 291
โดยเฉพาะประเด็นกระบวนการ ซึ่งมีพยานหลักฐานให้โต้ เช่นข้ออ้าง “ร่างปลอม” เอาเข้าจริงไม่ผิดข้อบังคับการประชุม ญัตติที่เสนอต่อสภา ผู้เสนอสามารถแก้ไขได้ตราบใดที่ยังไม่บรรจุวาระ ร่างที่เข้าวาระ 1 คือร่างที่แก้ไข แล้วก็ใช้อภิปรายมาจนวาระ 3 ไม่ได้ปกปิดใคร ข้อนี้ไม่ผิดเลย การเสียบบัตรแทนกัน 2-3 คนก็ไม่ทำให้มติเสียไป และไม่ได้เป็นเหตุให้ถอดถอนคนอื่นๆ การที่ประธานไม่ยอมให้ฝ่ายค้านอภิปราย อาจไม่เหมาะสม แต่ฝ่ายค้านก็ประกาศตีรวนลากยาวมาแต่แรกแล้ว
แต่จุดอ่อนของรัฐสภาคือ เมื่อเห็นว่าตัวเองมีอำนาจถูกต้อง ก็กลับไม่ทำความเข้าใจกับสังคมซะงั้น แล้วก็เป๋ไปเป๋มา ตอนแรกจะประชุมลงมติไม่รับอำนาจศาล ให้เป็นมติของอำนาจนิติบัญญัติ แต่พอม็อบคุกคาม ก็ไม่กล้าลง แล้วทีนี้จะเอาอะไรไปสู้เขาละครับ
การรับมือกับม็อบ การต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองกับม็อบก็มีปัญหา รัฐบาลมอบหมายให้ ศอ.รส.ซึ่งก็มีแต่ตำรวจ ไม่มีมือการเมือง โอเค ถูกต้องแล้วที่ตำรวจไม่ใช้กำลัง ไม่ปะทะ แต่ทำไมไม่เอาภาพโทรทัศน์ที่เทพเทือกนำฝูงชนบุกกระทรวงการคลัง บุกที่ต่างๆ มาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ให้กว้างขวาง ให้มากที่สุด ทำไมไม่เอาภาพตำรวจที่ถูกฝูงชนทำร้าย หรือเอาตำรวจที่ต้องอดทนอดกลั้นให้ฝูงชนด่า มาถ่ายทอดความรู้สึกออกสื่อให้มากๆ
รัฐบาลมอบหมายให้ใครรับมือม็อบ มอบหมายคนพิการ เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์
เท่าที่ทราบ คนในพรรค คนในรัฐบาล จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เพราะเชื่อว่ายังครองอำนาจได้อยู่ (ก็พวกนี้แหละที่ดันทุรังสุดซอยโดยเชื่อว่าไม่มีปัญหา) ขอบอกว่าคิดผิดครับ เสถียรภาพรัฐบาลอยู่บนเส้นด้าย เหมือนมีระเบิดเวลาอยู่ใต้เก้าอี้ ต่อให้พรุ่งนี้ม็อบเลิกไปก็กลับมาใหม่ได้ทุกเมื่อ เพียงแค่เป่านกหวีด
การดันทุรังไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากทำลายพลังประชาธิปไตย รัฐบาลต้องเลือกรักษาวิถีประชาธิปไตยมากกว่าอำนาจ ซึ่ง ถึงอย่างไรก็ยังมีโอกาสกลับมาใหม่ ต่อให้ผลการเลือกตั้งพลิก ปชป.ชนะ ก็ยังมีโอกาสกลับมาใหม่ ถ้าอยู่ต่อไป มีอุปสรรคขวากหนามอีกเยอะ เช่น นายกรัฐมนตรี 312 ส.ส. ส.ว.ถูกยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ถอดถอน หรือสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ก็จะครบ 90 วันที่ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทยไม่เคยเข้าใจว่า พลังประชาธิปไตยยังอยู่ในสถานะเป็นรองพลังอนุรักษ์นิยม ไม่ใช่แค่ศาล ทหาร องค์กรสถาบันต่างๆ แต่รวมถึงวิธีคิดแบบดั้งเดิม ความเชื่อเรื่องชั่วดีที่ไม่สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย ซึ่งแสดงออกในพลังมวลชนครั้งนี้ การต่อสู้ของพลังประชาธิปไตยจึงต้องยึดมั่นในหลักความชอบธรรม ยึดการมีส่วนร่วม โอนอ่อนตามพลังทางสังคมในบางประเด็น
แน่นอนละ ก็พรรคเพื่อไทยไม่ใช่นักประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ แต่ได้อำนาจด้วยกระแสประชาธิปไตย ถ้ายังรอดไปถึงการเลือกตั้ง ก็ต้องปรับรื้อครั้งใหญ่ ขบวนประชาธิปไตย มวลชนเสื้อแดง ต้องวิพากษ์พรรคเพื่อไทยเพื่อให้ปรับตัวครั้งใหญ่


ต้องทำให้ค้างกลางเหว

อันที่จริง ช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์มันส์มาก เพราะมันคือ Hello Test! Hello Test! ว่าภูมิคุ้มกันระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยยังเข้มแข็งเพียงไร
การชุมนุมที่มีคนเป็นล้าน! (ไม่ถึงก็ไม่เป็นไรน่า คนมาไม่ได้อีกเพียบ) มวลมหาประชาชนชั้นกลางเก่าออกมาต่อต้านรัฐบาลมากมายมหาศาลขนาดนี้ ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อน รัฐบาลโดนรัฐประหารไปเรียบร้อยแล้ว หรือไม่ก็จะมีคนปลุก “นายกฯ พระราชทาน” แต่ครั้งนี้เงียบ นอกจากพวกกองทัพธรรมกองทัพประชาชนอะไรนั่นของมหาจำลอง เทพเทือกอ้าง “ระบอบพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์” แต่วันรุ่งขึ้นก็เปลี่ยนเป็นรัฐบาลประชาชน สภาประชาชน (ซึ่งก็คือเผด็จการเสียงข้างน้อยโดยคนชั้นกลางชาวกรุงและชาวใต้)
ไม่มีใครกล้าเรียกหารัฐประหาร แม้อาจจะหวังอยู่ลึกๆ ไม่มีใครกล้าพูดถึงนายกพระราชทาน แม้วาดฝันเป็น agenda
เงื่อนไขประชาธิปไตยที่สังคมไทยเข็ดรัฐประหารแล้ว เงื่อนไขประชาคมโลก เงื่อนไขเศรษฐกิจไทยในโลกาภิวัตน์ เรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ฯลฯ ทำให้พวกเขาไม่กล้าเรียกหารัฐประหาร และผู้นำเหล่าทัพก็ไม่กล้าทำรัฐประหารง่ายๆ ตราบใดที่รัฐบาลไม่ได้เป็นฝ่ายสร้างความรุนแรง ม็อบกลับเป็นฝ่ายรุกไล่อยากให้เกิดความรุนแรง
ม็อบพยายามจุดสถานการณ์ พยายามอาละวาดอย่างรุนแรงขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมใดๆ แล้ว ถ้ารัฐบาลตอบโต้ ป้องกัน เกิดคนบาดเจ็บล้มตายก็เข้าทาง ถ้าไม่ พวกเขายึดทำเนียบรัฐบาลได้ ยึดสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ ก็กลายเป็นบ้านเมืองไม่ขื่อแป รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ นั่นคืออีกจุดที่พวกเขาหวังให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ
นี่คือเดิมพันครั้งสำคัญ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ พลังคนชั้นกลางเก่า ขบวนการไทยสลิ่ม ที่คิดว่าตัวเองเป็นไทยสปริง ยิ่งใหญ่กว่า 14 ตุลา กำลังต่อสะพานมาถึงกลางเหว หวังให้มีใครต่อสะพานมารับ หวังว่าจะเป็นกองทัพ หวังว่าจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อให้ไม่มีใครอยากรับ ก็พยายามกดดัน สร้างความปั่นป่วนเพื่อให้กองทัพหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องลงมาจัดการ ปัญหาการเมือง
ถ้าพวกเขาทำไม่สำเร็จ ก็จะตกเหวตาย เป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ของประชาธิปไตย แต่ถ้าทำสำเร็จ ประชาธิปไตยก็ลงเหว ล้าหลังไปอีกหลายปี
ที่บอกว่าตกเหวไม่ได้สาปแช่ง แต่ลองคิดดูว่าถ้าคนเหล่านี้ไปเกิดในอังกฤษ เบลเยียม นอรเวย์ คุณจะลุกฮือมาเรียกหารัฐประหารหรือนายกพระราชทานไหม เพราะทุกคนก็รู้ รัฐบาลประชาชน สภาประชาชน เป็นไปไม่ได้ แค่เอามาขายฝันให้คลุ้มคลั่ง
ถ้าตกเหวตายจะได้ต่อสู้ใหม่ เหมือนคนอังกฤษ เบลเยียม นอรเวย์ สเปน ถ้าไม่พอใจพรรคเพื่อไทย คุณก็เข้าไปร่วมพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิรูปประชาธิปัตย์ หรือถ้าไม่เอาทั้งสองพรรคก็ตั้งพรรคใหม่ หรือถ้าไม่ตั้งพรรคการเมืองก็รวมตัวเป็นขบวนประชาสังคม ซึ่งไม่ว่าทางไหนก็ทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้า กว่าลุกฮือมาโค่นล้มรัฐบาลอย่างไม่มีทางออก
รัฐบาลต้องพึ่งพลังทางสังคมเข้าสู้ ไม่ใช่เชื่อในกำลัง ไม่ว่ากำลังอำนาจรัฐ หรือกำลังมวลชน ต้องเชื่อว่าสังคมไทยเติบโตและมีบทเรียนแล้ว จากรัฐประหารเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ประเทศนี้อาจมีคนไม่ชอบรัฐบาล 40% 50% แต่คน 80-90% ก็เห็นว่าไม่มีวิถีทางอื่นนอกจากการเลือกตั้ง ที่จะทำให้บ้านเมืองสงบ เพียงแต่เขาอาจต้องการรัฐบาลที่ถูกใจกว่านี้ซักนิด (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าประชาธิปัตย์) เท่านั้นเอง
       ใบตองแห้ง
       1 ธ.ค.56
..........................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น