แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนดีกระหายเลือด

ที่มา Voice TV


ใบตองแห้ง Baitonghaeng

VoiceTV Staff

Bio

คอลัมนิสต์อิสระ


 
“มวลมหาประชาชน” (ซึ่งแปลว่าอยู่เหนือประชาชนธรรมดา) กำลังจะใช้วิธีการอันธพาลแบบพันธมิตรยึดสนามบิน แบบมุสโสลินียึดอำนาจ ใช้กำลังมวลชนสกัดขัดขวาง ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ดันทุรังจะให้นายกฯ ลาออก เพื่อตั้งนายกฯ คนกลางที่อ้างว่าจะมาปฏิรูปประเทศ 8 เดือนถึง 2 ปี

ปฏิรูปผีสางอะไรยังไม่รู้ แต่อ้างไปเรื่อยเพียงเพื่อล้มการเลือกตั้ง เพราะกลัวพรรคเพื่อไทยจะกลับมา

กระแสสังคมวงกว้างเห็นพ้องกับการเลือกตั้ง เพียงแต่ต้องการกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิรูปครั้งใหญ่ “ม็อบกำนัน” เข้ามุมอับ แต่อาศัยยังมีคนหลายหมื่น หรืออาจจะ “เป็นล้าน” ถ้านับรวมทั่วประเทศ ที่อยู่ในอารมณ์สุดโต่ง ไม่คิดหน้าคิดหลัง พร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อ “โค่นระบอบทักษิณ” แม้แต่ทำลายระบอบประชาธิปไตย

สถานการณ์คล้ายปี 2549 ที่ทักษิณยุบสภา แต่พันธมิตรไม่เลิก เรียกร้องให้ลาออก ขอ ม.7 ฝ่ายค้านบอยคอตต์เลือกตั้ง ซ้ำ “มวลมหาประชาชน” ยังดูจะมีจำนวนมากกว่า โกรธแค้นเกรี้ยวกราดกว่า เพราะอัดอั้นคลั่งแค้นมาอีก 7 ปี

แต่กระแสสังคมต่างกัน กระแสไม่ได้ไปทางเดียวเหมือนปี 49 อย่างน้อยสังคมยังมีสติ มีบทเรียนจากรัฐประหาร จากเหตุการณ์ปี 51, 52 และ 53 ทั้งยังมีมวลชนเสื้อแดง มีนักวิชาการสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่จึงเห็นว่าต้องเลือกตั้งเพียงทำอย่างไรจะ “ต่อรอง” กับพรรคเพื่อไทยให้ปฏิรูปการเมือง

กระนั้น พวกเขาก็มีฝูงชนที่ปลุกกันจนได้ที่ หลงตนสุดขั้วว่าเป็นคนดี เกลียดคนโกง คนอื่นๆ ในประเทศนี้เลว โง่ อย่าง “เสก โลโซ” จะไปเลือกตั้งก็เพราะมันเมายาเสพย์ติด

ฝูงชนเช่นนี้เป็นอาวุธที่ทำอะไรได้ทุกอย่าง ไม่ต่างจาก “เชิ้ตดำ” ของมุสโสลินี หรือเรดการ์ดของประธานเหมา ตั้งเป้าหมายรุนแรงภายใต้รูปแบบชุมนุมอย่าง “สันติ อหิงสา” อาศัยจำนวนมากเข้าว่า รัฐบาลไม่กล้าปราบ เดินขบวนไปเดินขบวนมา รถติด ประชาชนคนธรรมดาเดือดร้อนก็ไม่กล้าบ่น เพราะพวกท่านเป็น “มหาประชาชน” ไปไหนมาไหนก็กร่าง ผูกธงชาติกันโก้ อวดความดี สื่อมวลชนบ้างก็เอียงข้าง บ้างไม่กล้าวิจารณ์ เพราะกลัวพวกท่านบุกไปบังคับให้อมนกหวีด

จส.100 สวพ.91 เงียบกริบ ไม่มีใครกล้าบ่นม็อบทำให้รถติด นี่คือการคุกคามข่มขืนใจให้สังคมจำนน

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวที่ไร้เหตุผลไร้ความชอบธรรม ตั้งเป้าหมายถอยหลังประชาธิปไตยเช่นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าแกนนำและผู้ชุมนุมไม่เชื่อว่ามีอำนาจอะไรบางอย่างหนุนหลัง และอำนาจนั้นจะช่วยเบือนบิดให้บรรลุผล

สมัยมุสโสลินี นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นเสนอให้ประกาศกฎอัยการศึก แต่กษัตริย์อิตาลีไม่ลงพระปรมาภิไธย กลับเรียกมุสโสลินีไปตั้งเป็นนายกฯ (แล้วราชวงศ์อิตาลีก็จบลงพร้อมมุสโสลินี)

สมัยเรดการ์ด ก็มี “แก๊ง 4 คน” หนุนหลังให้ขจัดคู่แข่งแย่งชิงอำนาจ แต่แก๊ง 4 คนก็จบลงหลังปฏิวัติวัฒนธรรมนำประเทศหายนะ


วิบัติ กกต.

นักกฎหมายจอมแถของ กปปส.ใช้ข้ออ้างที่ไร้หลักการไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง แต่แถไปได้เพราะมีสื่อ มีฝ่ายค้าน มีผู้ที่อ้างตัวเป็นกลาง สร้างกระแสหนุน กันอย่างหน้าด้านๆ

ตัวอย่างเช่น เจษฎ์ โทณะวณิก อ้างมาตรา 187 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย”

ทั้งที่มาตรา 108 บังคับไว้ชัดเจนว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้ แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”

นั่นคือกฎหมาย ที่บังคับว่าต้องเลือกตั้งใน 45-60 วัน แล้วจะอ้างอย่างไรว่าเลื่อนการเลือกตั้งได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

กฎหมายเขียนไว้ยึดโยงกัน แต่คนพวกนี้ตัดตอนอ้างเฉพาะตัวบทที่เป็นประโยชน์ตัวเอง คนที่ทำแบบนี้มีแต่ “ทนายโจร” เลี่ยงข้อกฎหมายที่ชี้ชัดว่าโจรผิด หันไปอ้างมาตราที่โจรได้ประโยชน์ แต่นี่พวกเขาอ้างตัวเป็น “ทนายคนดี”

ที่ทุเรศกว่านั้นคือ กกต.ดันขานรับ ว่าเลื่อนเลือกตั้งได้ สมชัย ศรีสุทธิยากร พูดเอาดื้อๆ

“หากคุยกันว่าไม่ต้องวันที่ 2 ก.พ.2557 ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลก็จะหาทางออกเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดย กกต.พร้อมทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง”

เล่นลิ้นนะครับ คือโยนไปให้ “ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล” หาทางออก ไม่ใช่ กกต.วินิจฉัยว่าเลื่อนเลือกตั้งได้ จะเลื่อนอย่างไร ก็มันขัดรัฐธรรมนูญที่ให้เลือกตั้งใน 45-60 วัน แน่จริง กกต.ลองบอกข้อกฎหมายสิ ว่าจะอ้างมาตราไหน ให้เลื่อนเลือกตั้งได้ เป็นอดีตผู้พิพากษา เป็นนักรัฐศาสตร์ เป็นผู้รู้ ผู้วิเศษกันทั้งนั้น

กกต.อ้างว่าการยุบสภาสร้างความเห็นต่างในสังคม “โดยฝ่ายหนึ่งมองว่า รัฐบาลมีความชอบธรรมในการรักษาการ และเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออกของสังคม แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่ารัฐบาลไม่ควรรักษาการและควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไป อย่างน้อย 8 เดือน ถึง 2 ปี เพื่อจัดตั้งสภาประชาชนสำหรับออกกฎหมายให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม”

“ความคิดที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว หากยังไม่รีบจัดการแก้ไข การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ก็อาจไม่สามารถดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย กระทั่งอาจมีการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งเกิดขึ้น กกต.เห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดในการคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ คือทุกฝ่ายต้องหาทางประนีประนอมทางความคิด ไม่สุดขั้วไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยแต่ละฝ่ายต้องยอมลดความต้องการของตัวเองลง เพื่อให้อยู่ในจุดที่พอยอมรับกันได้ ไม่มีฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ”

พูดได้สวยจังครับ อ้างตัวเป็นกลาง ถีบทั้งสองข้างให้เป็นพวก “สุดขั้ว” แล้วให้ประนีประนอม ลดความต้องการ

ถามว่าอันไหนคือความต้องการที่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย เป็นข้อตกลงร่วมกันของสังคม อันไหนเป็นความต้องการนอกกติกา ทำไมท่านไม่แยกแยะ

การเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันหลังยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน เลือก ส.ส.เลือกรัฐบาลใหม่ เป็นกติกาประชาธิปไตย เป็นกติกาสากล ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับ ไม่เฉพาะ 2550

นี่ไม่ใช่ความต้องการของใคร ไม่ใช่ความต้องการของรัฐบาล ไม่ใช่ความต้องการของนายกฯ ที่นายกฯ ยืนยันว่าลาออกไม่ได้ เลื่อนเลือกตั้งไม่ได้ ก็เพื่อปกป้องสิทธิและอำนาจของประชาชน 70 ล้านคน ปกป้องทั้งคนที่เลือกเพื่อไทย เลือกประชาธิปัตย์ หรือเลือกพรรคอื่น

นี่เป็นความต้องการที่สุดขั้วตรงไหน แล้วจะให้ลดความต้องการอย่างไร เพราะลดก็เท่ากับไม่ยึดกติกา
ตรงกันข้าม ความต้องการให้เลื่อนเลือกตั้ง 8 เดือนถึง 2 ปี ให้นายกฯ ลาออก แล้วตั้งรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าจะตั้งสภาประชาชนเพื่อออกกฎหมายให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นไปตามกติกาตรงไหน

กกต.เห็นว่าควรต่อรองกับความต้องการที่อยู่นอกเหนือกติกา ไม่เคารพสิทธิและอำนาจประชาชนทั้งประเทศ จะไล่รัฐบาลแล้วตั้งรัฐบาลจากไหนไม่ทราบ ตั้งสภาประชาชน 400 คนตามอำเภอใจ อย่างนั้นหรือครับ

กกต.ไม่ใช่แค่คนแก่ 5 คน อดีตผู้พิพากษา อดีตอาจารย์ อดีตนักการเมือง ที่จะมาแสดงความเห็นส่วนตัวเหลวไหลอย่างไรก็ได้ เพราะ กกต.คือผู้รักษากติกาในการเลือกตั้ง ผู้รักษากติกาต้องชี้ว่าอะไรถูกกติกา อะไรผิดกติกา ไม่ใช่ฟุตบอลเข้าประตูไปแล้ว ฝ่ายหนึ่งเถียงคอเป็นเอ็นว่ายังไม่เข้า แล้วกรรมการก็บอกว่าให้ไปเจรจากัน อย่าสุดขั้วทั้งสองฝ่าย

ถ้าผู้รักษากติกาเห็นว่าควรลดหย่อนกติกาได้ ถ้าผู้รักษากติกาไม่เคารพกติกาเสียเอง เราจะมี กกต.ไว้ทำไม

แล้วอะไรคือการ “ออกกฎหมายให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม” กกต.ยอมรับข้อเรียกร้องนี้หรือ แปลว่า กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจล้นฟ้า อย่างนั้นหรือ

กกต.มีหน้าที่ที่จะต้องตบอก ประกาศว่าจะดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า จะทำทุกอย่างไม่ให้พรรคเพื่อไทยชนะ เอ๊ย ไม่ใช่ จะทำทุกอย่างไม่ให้มีการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ แทรกแซงให้คุณให้โทษต่อการเลือกตั้ง ไม่ให้มีการซื้อเสียง เพราะ กกต.มีอำนาจแจกใบเหลืองใบแดง ไปจนกระทั่งยุบพรรค มีอำนาจย้ายข้าราชการ ย้ายผู้ว่า นายอำเภอ ย้ายตำรวจทั้ง 77 จังหวัด

ทำไม กกต.ไม่ประกาศ ไม่ทำหน้าที่ปกป้องกติกา สร้างความเชื่อมั่นว่าไม่ต้องไปหาคนกลางที่ไหนมาหรอก เรานี่แหละ จะดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเอง

กกต.ไม่ทำตามหน้าที่ แต่กลับเสนอให้ประนีประนอมกับข้อเรียกร้องเว้นวรรคประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ กกต.นอนตีพุงไม่ต้องจัดการเลือกตั้งอีกหลายปี

ไม่อยากขุดเลยว่า เมื่อปี 51 ตอนม็อบพันธมิตรบุกทำเนียบ สมชัยเรียกร้องให้ยุบสภา แต่ปี 53 เสื้อแดงเรียกร้องให้ยุบสภา สมชัยบอกไม่ต้องยุบ จุดยืน ที่มา ของ กกต.ชุดนี้มีข้อกังขาอยู่แล้ว เมื่อมาแสดงท่าทีอย่างนี้เสียแต่ต้น จะให้ผู้คนที่ยึดมั่นประชาธิปไตยเชื่อถือได้อย่างไร

ท่าทีของ กกต.ทำให้ “โจรปล้นกติกา” ได้ใจ และจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีข้ออ้างล้มเลือกตั้ง


เป้าหมาย “นองเลือด”

ภายใต้ข้ออ้าง “ปฏิรูปประเทศ” “ปฏิรูปการเมือง” ที่เอาเข้าจริงก็เลอะเทอะ ไม่มีข้อเสนอปฏิรูปอะไร ไม่มีข้อเสนอที่ใช้สติปัญญา นอกจากหลอกมวลชนว่า “โค่นระบอบทักษิณ” แล้วจะดีเอง จะมีสูตรสำเร็จที่มองไม่เห็นมาแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ขอให้เชื่อมั่น เพราะกำนันสุเทพไม่เคยทุจริตคอร์รัปชั่นแม้แต่สตางค์แดงเดียว

กปปส.ใช้พลังคนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมที่สุดโต่ง เชื่อว่ามีแต่พวกตนเป็นคนดี ด่าทอคนเห็นต่าง ดูหมิ่นเหยียดหยามคนจน มาคุกคามการเลือกตั้ง แล้วเครือข่ายต่างๆ ที่เอียงข้างอยู่แล้ว ทั้งสื่อ องค์กรอิสระ สถาบันวิชาการ ก็ขานรับ เสแสร้งเป็นห่วง กังวล ปรารถนาดี ฯลฯ น่าจะเลื่อนเลือกตั้งไปก่อน น่าจะปฏิรูปก่อน ฯลฯ หลอกสังคมทีละ step เลื่อนเลือกตั้งแล้วก็บีบนายกฯ ลาออก นำไปสู่นายกฯ คนนอก จากนั้นก็จะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ

ขั้นต้น ถ้าสามารถสร้างกระแสหาข้ออ้างให้พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตต์เลือกตั้งได้ อย่างเช่นท่าที กกต.ก็ทำให้ ปชป.ห้อยโหนได้ แล้วระดมคนให้มากที่สุดในวันอาทิตย์ แม้พรรคการเมืองอื่นไม่บอยคอตต์ แม้ไม่ใช่ “การเลือกตั้งพรรคเดียว” และคงไม่สามารถกล่าวโทษเพื่อไทยจ้างพรรคเล็ก แต่พวกเขาก็จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปจนเกิดความรุนแรงล้มการเลือกตั้ง

เพราะรัฐบาลถูกมัดมือชก รัฐบาลไม่สามารถใช้ความรุนแรง กระแสสังคมเรียกร้อง อย่าใช้ความรุนแรง ต้องปล่อยให้ม็อบอาละวาดได้ตามอำเภอใจ

บางคนอาจเถียงว่าม็อบคนชั้นกลางชาวกรุง ไฮโซเซเลบส์ ก็พับเพียบเรียบร้อยดี ดีกว่าสมัยพันธมิตรตั้งเยอะ ใช่ครับ แต่หลังเวทีคือ “นักรบ” จากภาคใต้ และข้างๆ กันคือม็อบ คปท.ที่อุดมด้วยพวกฮาร์ดคอร์ และนักเรียนอาชีวะ พวกเขาฉลาดรู้จักใช้ทั้งสองด้าน ภาพที่แสดงต่อสังคมคือด้านสันติ สงบ หรือกระทั่ง (สาวๆ) น่ารัก แต่เวลาบุกเวลาลุยก็มีกำลังหลักที่พร้อมจะ “ฆ่ามัน”

ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 ถ้า ปชป.ไม่ลงเลือกตั้ง และม็อบไปปิดกั้นขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯอาจขลุกขลัก เพราะต้องเลี่ยงการปะทะระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย (องค์กรวิชาชีพสื่อเรียกร้องว่าอย่านำมวลชนมาเผชิญหน้า แปลว่าเสื้อแดงต้องหนีสุดฤทธิ์ ให้เขาไล่จนตกแม่น้ำโขง) แต่อาจรับสมัครได้ โดยต้องเปลี่ยนที่ ต้องเลื่อนวัน และต้องไม่มีกองเชียร์

แต่ในต่างจังหวัดล่ะ ทางภาคใต้ ผู้สมัครคนไหนคิดจะสมัครรับเลือกตั้งต้องเพิ่มวงเงินประกันชีวิตไว้ให้ลูก เมีย ในภาคเหนือภาคอีสาน ถิ่นเสื้อแดงไม่มีปัญหา แม้อาจปะทะกันพอหอมปากหอมคอ แต่ในจังหวัดกันชน เช่นแถวภาคตะวันออก ตะวันตก ภาคเหนือตอนล่าง ที่กองเชียร์ 2 ฝ่ายพอฟัดพอเหวี่ยงกันสิครับ น่าวิตก

แล้วจะหาเสียงกันอย่างไร บางพื้นที่ แค่วิ่งรถแห่หาเสียงก็ไม่ได้

ทั้งหมดนี้ แทนที่จะโทษ กปปส.โทษพรรคประชาธิปัตย์ และมวลชนไร้สติ พวกเขาก็จะรวมหัวกันโทษรัฐบาล โทษนายกฯว่าไม่ยอม “เสียสละ” โดยอาศัยเสียงข้างมากในสื่อ ในสถาบันวิชาการ ในองค์กรเครือข่ายต่างๆ ท้ายที่สุดภาคธุรกิจ สถาบันราชการ ก็จะออกมาบีบนายกฯ ให้ลาออก ตั้งนายกฯคนกลาง โดยกลัวบ้านเมือง “พินาศฉิบหาย” โดยไม่มองความฉิบหายยิ่งกว่าที่จะเกิดขึ้นภายภาคหน้า

หรือถ้าลากไป ยื้อไป ไม่สิ้นสุด ปปช.ก็อาจเป็นตัวจบ ด้วยการชี้มูลความผิดนายกฯ ชี้มูลถอดถอน 383 ส.ส. ส.ว.ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็จะมีการตีความนำไปสู่นายกฯ คนกลางจนได้

ตลอดทั้งกระบวนการนี้พวกเขาไม่กลัวที่จะเกิดความรุนแรง เพราะเชื่อมั่นว่าเกิดความรุนแรงเมื่อไหร่ กองทัพจะออกมา รัฐบาลไม่กล้าใช้ความรุนแรง เพราะใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ กองทัพจะออกมา แต่เมื่อใดที่พวกเขาตั้งรัฐบาลได้ แล้วมวลชนเสื้อแดงลุกฮือ กองทัพก็จะออกมา

พวกเขาไม่กลัวการนองเลือด เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ใช่ฝ่ายที่ต้องนองเลือด ต่อให้แพ้ รัฐบาลก็ไม่สามารถจับเทพเทือกแขวนคอ พวกเขาเชื่อมั่นในศาล

พวกเขาไม่กลัวการนองเลือด เพราะเชื่อว่าถ้าเสื้อแดงเลือดนอง จะยุติปัญหาได้ จะ “โค่นระบอบทักษิณ” อย่างหมดจด พวกเขาเชื่อว่าวิธีนี้เท่านั้นจึงจะสามารถ “ปกป้องสถาบัน” ให้สืบทอดยั่งยืนไปอีกหลายสิบปี นี่คือเป้าหมายสูงสุด ที่ชี้นำการเคลื่อนไหวให้สุดขั้วสุดโต่ง

ผมไม่สามารถปรักปรำว่า “มวลมหาประชาชน” ที่ใส่หน้ากากไฮโซ ผู้ดีมีศีลธรรม คิดเช่นนี้ทั้งหมดหรือไม่ แต่พวกฮาร์ดคอร์ พวกที่สั่งสมความเกลียดชังตระกูลชินวัตรและเสื้อแดงจนคลุ้มคลั่งคิดเช่นนี้ คิดว่ารัฐประหาร 2549 อ่อนแอเกินไป คิดว่าเมื่อปี 2553 ควรจะกวาดล้างปราบปรามเสื้อแดงให้เหี้ยน

ช่วงต้นเดือนธันวาคม ผมเจอนักข่าวรุ่นน้อง พวกพันธมิตรสุดขั้ว คุยโขมงโฉงเฉง ลำพองใจในชัยชนะ บอกว่าผมประเมินผิด ทักษิณกับเสื้อแดงย่ามใจเกินไป ให้คอยดู ถ้าพวกอำมาตย์ยึดอำนาจได้เมื่อไหร่ เสื้อแดงจะตายเป็นเบือ ตระกูลชินวัตรจะไม่มีแผ่นดินอยู่ เผลอๆ หนีไม่ทันจะโดนประชาทัณฑ์

“เขาไม่เอาไว้หรอก ขึ้นบัญชีดำไว้แล้ว 3,000 ศพ พวกเสื้อแดงขี้โม้ รัฐประหารเมื่อไหร่จะลุกฮือ ไม่มีทาง เป็นไปได้ที่ไหน มีแต่ตายเป็นเบือ ต่อให้เอาม็อบมาชนม็อบ พี่ก็ลองคิดดูสิ คนชั้นกลางชาวกรุงที่พี่ชอบด่า เขามีปืนกันทั้งนั้น อย่างน้อยก็มีปืนเก็บไว้ในรถ พวกเสื้อแดงมีอะไร มีแต่มือเปล่า พี่มีปืนหรือเปล่า ผมยังมีปืนเลย อยู่ในรถผม พี่จะดูไหม”

แล้วผมจะไปเถียงอะไรมันได้ ได้แต่กลืนน้ำลายทำหน้าจืดๆ เพราะผมไม่มีปืนจริงๆ

เปล่า ที่เล่านี่ไม่ได้หมายความว่าเป็นตุเป็นตะ เป็นจริงเป็นจัง มันเกทับบลัฟฟ์ผมเสียมากกว่า แต่ถ้าสถานการณ์เลวร้ายถึงที่สุด ก็น่าคิด

คำถามสุดท้ายคือแล้วเราจะยึดถืออะไรได้ สังคมยังมีทางออกไหม ผมคิดว่าต้องวัดใจ วัดพลังทางสังคม ว่าจะปล่อยให้คนพวกนี้ใช้วิธีอันธพาลลากประเทศลงเหว หรือจะยืนหยัดไปสู่การเลือกตั้ง แล้วแก้ปัญหาร่วมกัน

เพราะอย่างที่พูดแต่ต้น สังคมไทยเติบโตจากปี 49 ตระหนักในบทเรียนว่า วิถีประชาธิปไตยคือหนทางแก้ไขความขัดแย้งได้ดีที่สุด หนทางอื่นมีแต่เพิ่มวิกฤติ เพียงแต่ความเติบโตนี้จะเข้มแข็งพอทัดทานกระแสจารีตนิยมได้หรือไม่

กระนั้นถ้าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เพราะท้ายที่สุด ต่อให้ยึดอำนาจได้ ต่อให้มีนายกฯ คนกลาง คนดีสักแค่ไหน มาจากไหนก็ตาม ขบวนการสุดขั้วสุดโต่งก็จะพาลงเหว “ยกพวง” ไปด้วยกัน ไม่ใช่ด้วยการต่อต้านของเสื้อแดงด้วยซ้ำ แต่เพราะความไร้หลักการ ไร้เหตุผล ไร้สติ ที่แม้แต่ในพวกกันเองก็ยังสับสนปนเป มีแต่ความหน้ามืดเฉพาะหน้าชี้นำเท่านั้น

นายกฯคนกลาง นายกฯ คนกลาง นายกฯ คนกลาง อดใจรอแทบไม่ไหวแล้วครับ อยากเห็น “จุดจบ” เสียทีเหมือนกัน ถึงแม้ไม่อยากให้เกิด แต่พวกเขากำหนดเอง อยากหลีกเลี่ยงเพียงไร ท้ายที่สุดก็เลี่ยงไม่พ้น

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    20 ธ.ค.56
......................................


20 ธันวาคม 2556 เวลา 17:24 น.
View: 2197

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น