แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

คุณภาพนักวิชาการก็ไม่ต่างจากคุณภาพนักการเมือง

ที่มา ประชาไท


คำประกาศล่าสุดของสุเทพ  เทือกสุบรรณ ที่ว่า “พวกเราไม่สนใจการเลื่อนเลือกตั้ง  เพราะไม่ใช่เป้าหมายของเรา  เป้าหมายของเราคือการปฏิรูปประเทศโดยประชาชน ไม่มีพรรคการเมือง นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”
ทั้งที่ผู้ประกาศข้อความดังกล่าวคือ “นักการเมือง” และ เป็นนักการเมืองแบบไหนมวลมหาประชาชน กปปส.ย่อมรู้อยู่แก่ใจ แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นและพร้อมจะเดินตามการนำของสุเทพ แม้ว่าจะเป็นทางเดินที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการล้มเลือกตั้ง ปล้นอำนาจประชาชน อันเป็นเงื่อนไขให้เกิดการปะทะบาดเจ็บล้มตายต่อเนื่องเป็นระยะๆ
ถามว่าจะล้มเลือกตั้ง เผชิญกับการปะทะบาดเจ็บล้มตายกันไปทำไม ในเมื่อที่สุดแล้วก็ต้องกลับเข้าสู่การเลือกตั้งอีกเช่นเดิม เราไม่สู้จะมองเห็นเหตุผลอื่นมากนัก นอกจากความหวังว่าจะได้ “ปฏิรูปประเทศ” ตาม คำประกาศของสุเทพ ซึ่งไม่ใช่คำประกาศที่ออกมาจาก “กึ๋น” ของสุเทพเองด้วยซ้ำ แต่เป็นคำประกาศที่ “ก๊อป” มาจากคำประกาศของสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตร (พธม.) ที่ประกาศไว้เมื่อหลายปีก่อน
คำประกาศดังกล่าว  สะท้อนความไม่เชื่อถือ  กระทั่งรังเกียจนักการเมืองอย่างถึงที่สุด ซึ่งจะว่าไปแล้วการสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลว โกงชาติบ้านเมืองมีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการกล่าวหาว่านักการเมืองเลว โกงชาติบ้านเมืองมักเปรียบเทียบกับความดี ความเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองของสถาบันกษัตริย์ กระทั่งกล่าวหาเลยเถิดไปว่า การปฏิวัติสยาม 2475 เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ของคณะราษฎร หลังจากนั้นสมาชิกคณะราษฎรก็แย่งชิงอำนาจกันมาตลอดไม่ได้มีความจริงใจสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
วีรบุรุษประชาธิปไตยจึงไม่ใช่นักการเมือง หากเป็นรัชกาลที่ 7 ที่พระราชทานรัฐธรรมนูญและทรงสละ “พระราชอำนาจ” ให้แก่ราษฎรชาวสยามทุกคน ไม่ใช่ให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ วีรบุรุษกู้วิกฤตความรุนแรงนองเลือดในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ ผ่านมา จึงเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ “นายกฯพระราชทาน” ในเหตุการณ์ 14 ตุลา เกี่ยวโยงกับการทรงระงับความรุนแรงนองเลือดในเหตุการณ์พฤษภา 35 และกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ในช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49
โดยมีนักวิชาการใหญ่น้อยมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างคำ อรรถาธิบายทางวิชาการรองรับความเชื่อที่ว่า “สถาบันกษัตริย์เสียสละเพื่อความสุขของราษฎร แต่นักการเมืองเลว โกงชาติบ้านเมือง” อีกทั้งออกหน้าสนับสนุนให้สถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพ ศาลมีอำนาจถ่วงดุลนักการเมือง เวลานักวิชาการวิจารณ์ความเลวของนักการเมืองที่ประชาชนเลือกได้นั้น ก็ใส่ไม่ยั้ง กระทั่งมองนักการเมืองเลวในระดับ “สปีชี่ส์” เลยด้วยซ้ำ ขณะที่ไม่เคยตั้งคำถาม ไม่วิพากษ์ระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้อย่างจริงจัง
นี่คือภาพสะท้อน “คุณภาพ”  ของนักวิชาการ ยิ่งเมื่อเราได้เห็นปรากฏการณ์ที่บรรดาอธิการบดีออกมาเป่านกหวีด  เดินขบวนต่อต้านรัฐบาล  ขึ้นพูดบนเวที กปปส., กปท.,คปท. จะเห็นว่าคุณภาพทางความคิดและการแสดงออกของนักวิชาการก็ไม่ได้ดีกว่านักการ เมืองที่พวกเขาโจมตี เพราะสิ่งที่พวกเขาแสดงออกก็มีตั้งแต่คำพูดสองแง่สองง่าม หยาบคาย กดเหยียดสตรีเพศ หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงการบิดเบือนหลักการประชาธิปไตย กระทั่งโชว์ความฉลาดทางตรรกะแบบ “ภาษา 5 ปริญญา” ก็มีให้เห็นกันอยู่เป็นจำนวนมาก
หลายปีมานี้ เราได้เห็นข้อเสนอแปลกแปร่งของนักวิชาการ เช่นเสนอหลักการว่าบทบาทของนักวิชาการควร “วิจารณ์ข้อดีข้อเสียของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม” ทั้ง ที่หลักการนี้ใช้ไม่ได้จริง เพราะวิจารณ์อำนาจนอกระบบอย่างเท่าเทียมกับที่วิจารณ์อีกฝ่ายไม่ได้ บ้างก็เสนอให้สุภาพนุ่มนวลกับอภิสิทธิ์ชน จะพูดจาอะไรก็ควรเคารพความรู้สึกของคนรักเจ้า รักษาประเพณีหมอบคลานเอาไว้ไม่เสียหายอะไร เพราะเป็นวัฒนธรรมอันดี ฯลฯ
ขณะที่นักวิชาการบอกว่าคนที่ออกมาชุมนุมกับ กปปส.ส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีการศึกษา มีความคิด มีเหตุผลของตัวเอง (ซึ่งที่จริงเราก็ยอมรับและเคารพพวกเขา แต่พวกเขามีสิทธิ์อะไรมาละเมิดสิทธิเลือกตั้งของเรา หรือยึดอำนาจของพวกเราไปปฏิรูประเทศตามแนวทางของกลุ่มตน) แต่กลับพูดถึงคนรากหญ้าที่มาชุมนุมทางการเมืองว่าไม่รู้ประชาธิปไตย เอาประชาธิปไตยไปให้ก็ไม่ต่างอะไรกับเอาเทคโนโลยีไปให้ ชาวบ้านก็จะถามว่า “เทคโนโลยีกิโลละเท่าไร?” กระทั่ง บันทึกประวัติศาสตร์การชุมนุมของเสื้อแดงในปี 2553 ผ่านงานวรรณกรรมด้วยท่วงทำนองว่า ชาวบ้านมาชุมนุมเพราะต้องการช่วยให้ทักษิณกลับบ้าน ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ไม่รู้เรื่องอะไร แกนนำพูดบนเวทีเรื่องสองมาตรฐาน เขาก็นึกถึง “ถาน (ส้วมพระในชนบท)” แล้วพวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อและถูกฆ่าตาย
หลายปีมานี้ บรรดานักวิชาการมีบทบาทอย่างสำคัญในการผลิตวาทกรรม คำอธิบายผ่านการแสดงความเห็น  งานวิชาการ กระทั่งบทกวี วรรณกรรม ที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาวิกฤตการเมืองที่เป็นอยู่มีสาเหตุมาจากนักการเมือง เลว  (อย่างที่พูดว่า “คนที่ทำรัฐประหารไม่ใช่อยู่ๆ ไปนั่งกินเหล้ากันแล้วปรึกษาตกลงใจทำรัฐประหาร มันต้องมีสาเหตุมาก่อนคือนักการเมืองโกง” กลายเป็นการไปรับรองโดยนัยสำคัญว่า “รัฐประหารเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างจำเป็นจากการคอร์รัปชันของนักการเมือง” ซึ่งไม่จริง และไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น) และพูดถึงชาวบ้านว่าไม่รู้ประชาธิปไตย เป็นเหยื่อนักการเมือง กระทั่งมองว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาเป็นการเลือกตั้งที่ทำให้ตัวเองกลายเป็น “ซอมบี้” ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง (โดยไม่วิจารณ์การกระทำของมวลมหาประชาชน กปปส.ว่าทำให้ตนเองมีสิทธิ์ต่อรองหรือไม่ อย่างไร) นี่ยังไม่นับนักวิชาการใหญ่น้อยที่สนับสนุนการยึดอำนาจรัฐโดย กปปส.
ฉะนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ จึงไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองเลวหรือไม่มีคุณภาพจนเลือกไม่ลงเท่านั้น แต่เรายอมรับความจริงหรือไม่ว่า “ทุกสถาบัน” ล้วนแต่คุณภาพแย่ เสื่อมความน่าเชื่อถือกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเมือง กองทัพ ศาล องค์กรอิสระ นักวิชาการ สื่อมวลชน สถาบันสงฆ์ กระทั่งสถาบันที่ตรวจสอบไม่ได้อื่นๆ การปฏิรูปที่แท้จริง จึงต้อง “ปฏิรูปทุกสถาบัน” ซึ่งต้องใช้เวลานาน และต้องจัดกระบวนการปฏิรูปตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้นจึงอาจหลีกเลี่ยง ความรุนแรงนองเลือดได้
เลิกเสียทีเถิดครับท่านนักวิชาการกับการกล่าวหานักการเมือง (ที่ประชาชนเลือกได้) ให้เป็น “แพะ” รับบาปของความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย หากมีนักการเมืองคอร์รัปชันก็ต้องยืนยันให้จัดการเอาผิดพวกเขาตามกฎหมาย ตามวิถีทางประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันทุกสถาบันก็ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ตามหลักการประชาธิปไตยใน มาตรฐานเดียวกับที่วิจารณ์ตรวจสอบนัการเมืองด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น