โดย ผู้สื่อข่าวพิเศษไทยอีนิวส์
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2544 ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
มหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ร่วมกันให้การบรรยาย ณ Chicago Public Library
ต่อผู้เข้าฟังที่มีทั้งคนไทยในนครชิคาโก้ และชาวต่างชาติ
โดยหัวข้อการบรรยายคือ “Thailand: Political Crisis and the Monarchy”
มีผู้เข้าร่วมการบรรยายทั้งสิ้นประมาณ 60 คน การบรรยายเริ่มขึ้นเมื่อเวลา
13:30 น. และสิ้นสุดเมื่อเวลา 16:00 น.
ศ.ดร.ชาญวิทย์ ได้กล่าวเปิดการบรรยายในหัวข้อ Two
Twilights in Modern Thailand/Siam ย้ำว่า
เราจะไม่สามารถเข้าใจการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบันได้
หากมิได้ศึกษาควบคู่กับ
บทบาทของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน
แต่เราจะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น หากศึกษาโดยเปรียบเทียบระหว่าง 2
รัชสมัยอันยาวนานของระบอบ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ในรัชกาลที่ 5
ที่ยาวนานกว่า 40 ปี กับระบอบ "พระราชอำนาจนำ" ในรัชกาลที่ 9 เกือบ 70 ปี
นอกจากนี้ อาจารย์ชาญวิทย์ยังกล่าวด้วยว่า
ในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
เนื่องจากได้เกิดปัญหาขึ้นมากมายที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้ง
ใหญ่ในสยาม และเหตุการณ์นี้เอง อาจสามารถนำมาใช้พิจารณา
วิเคราะห์และคาดการณ์ปรากฏการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยปัจจุบัน
รวมทั้งสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยต่อไป
ข้อความสำคัญที่อาจารย์ชาญวิทย์ได้ทิ้งท้ายไว้นั้นคือ
หากสถาบันกษัตริย์จะมั่นคงและอยู่คู่กับสถาบันประชาธิปไตยต่อไป
เงื่อนไขสำคัญคือการต้องปฏิรูปสถาบันเอง
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทางด้าน รศ.ดร.ปวิน ได้กล่าวในหัวข้อ “Thailand’s
Political Crisis and the Future of the Throne”
โดยได้กล่าวเสริมต่อสิ่งที่อาจารย์ชาญวิทย์ได้ทิ้งท้ายไว้
โดยพิจารณาถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และการแทรกแซงทางการเมืองในยุค
ปัจจุบัน
และท้าวความถึงการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ
พตท.ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในขณะนี้
ซึ่งส่วนหนึ่งคือการเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองโดยตรงของพระบรมวงศานุวงศ์
บางองค์ ทำให้การอ้างถึงการอยู่เหนือการเมืองนั้นไม่สามารถทำต่อไปได้
และสถาบันกษัตริย์ก็มิได้เป็นกลางอย่างที่หลายคนเข้าใจ
อาจารย์ปวินกล่าวต่อว่า
ในการปกป้องพระราชอำนาจต่อภัยทางการเมืองที่มาในรูปของ “ระบอบทักษิณ” นั้น
ฝ่ายรอยัลลิสต์ได้ใช้เครื่องมือหลายประการในการต่อสู้กับศัตรูทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ การใช้อุดมการณ์ราชานิยมสุดโต่ง
และการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างฟุ่มเฟือย
ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อสถาบันกษัตริย์แม้แต่น้อย
การเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์นั้น
จะกลายมาเป็นประเด็นหลักของรัชสมัยต่อไปที่จะเริ่มต้นด้วยการขาด
“ทุนทรัพย์ทางด้านอำนาจและบารมี”
นอกเสียจากว่ารัชสมัยต่อไปนั้นจะให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
อย่างแท้จริง อนาคตของสถาบันอาจจะประสบปัญหามากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะในส่วนของการยอมรับจากภาคประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น